โหมล้างมรดกคสช. ม็อบหอบแสนชื่อจี้รื้อรธน. มติวิปวุฒิฯปล่อยฟรีโหวต


เพิ่มเพื่อน    


     นับหนึ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ! รัฐสภานัดประชุมสมาชิกถกแก้ 6 ญัตติ ให้เวลารัฐบาล-ฝ่ายค้าน-ส.ว. ฝ่ายละ 7 ชั่วโมง 20  นาที “ชวน” ขีดเส้นห้ามฟุ้งเกินเที่ยงคืน 24 ก.ย. ก่อนขานชื่อลงมติเรียงคน “พรเพชร” นั่งประชุมวิปวุฒิฯ 2 ชั่วโมงก่อนไฟเขียวฟรีโหวต ลือหึ่ง! รอรัฐบาลส่งซิกหนุนญัตติเดียว ส่วนของฝ่ายค้านถีบทิ้ง “พปชร.” กำชับทั่นผู้ทรงเกียรติเข้าประชุมพร้อมเพรียง “ปชป.” มาแต่ไก่โห่ ชงชื่อ กมธ.แล้ว “ประยุทธ์” ย้ำไม่ใช่คู่ขัดแย้ง บช.น.ปูดมีผู้เข้าข่ายความผิดชุมนุม 19 ก.ย. 3 กลุ่ม อดีตเด็ก รปช.ฟ้องฟันท่อน้ำเลี้ยงแล้ว
    ในวันพุธที่ 23 กันยายน รัฐสภาได้นัดประชุมตามที่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการรัฐสภา ได้มีหนังสือด่วนมากที่  สผ 0014/ร 9 ถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เรื่องการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) จะพิจารณาเรื่องด่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 6 ญัตติ ประกอบด้วย 1.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กับคณะเป็นผู้เสนอ) 2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) (นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กับคณะ เป็นผู้เสนอ)     
3.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช .... (ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 ที่นายสมพงษ์กับคณะเป็นผู้เสนอ) 4.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ที่นายสมพงษ์กับคณะเป็นผู้เสนอ) 5.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช .... (ยกเลิกมาตรา 279 ที่นายสมพงษ์กับคณะเป็นผู้เสนอ) และ 6.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม ที่นายสมพงษ์กับคณะเป็นผู้เสนอ)
     ทั้งนี้ มีการประชุมวิป 3 ฝ่าย ระหว่างวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา เพื่อเตรียมความพร้อมการประชุมดังกล่าวในระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย. โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การพิจารณาแต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. โดยคืนแรกจะจบที่เวลา 01.30 น. ส่วนคืนที่ 2 จะอภิปรายให้เสร็จภายในเวลา 18.00 น. โดยวิธีพิจารณาจะพิจารณารวมกันทั้ง 6 ญัตติ และทั้ง 3 ฝ่ายจะได้เวลาอภิปรายแต่ละฝ่าย 7 ชั่วโมง 20 นาที แล้วลงมติในคราวเดียวด้วยวิธีการขานชื่อ และสมาชิกรัฐสภาจะลงมติด้วยวาจาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติใดบ้าง ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สัดส่วนคนนอก ก็แล้วแต่โควตาของแต่ละฝ่ายว่าจะให้คนนอกเข้ามาเป็น กมธ.จำนวนเท่าใด 
     นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงวิธีการลงมติว่า จะเรียกชื่อสมาชิกรัฐสภา แล้วให้ลงมติด้วยวาจาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยรายฉบับ โดยจะพิจารณาให้เสร็จสิ้น และลงมติไม่เกินเที่ยงคืนวันที่ 24 ก.ย. หากผ่านรับหลักการ ก็จะมีการตั้ง กมธ. 45 คน ประกอบด้วย สัดส่วน ส.ว. 15 คน พรรคการเมืองขนาดใหญ่ 8 คน และลดหลั่นกันตามสัดส่วนจํานวนสมาชิกรัฐสภาของแต่ละพรรคการเมือง ส่วนกำหนดวันแปรญัตติก็แล้วแต่ที่ประชุมตกลงร่วมกัน
     วิปวุฒิฯ ไฟเขียว ส.ว.ฟรีโหวต
     นายชวนยังกล่าวถึงกลุ่มไอลอว์ที่เข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เจ้าหน้าที่สภาพยายามตรวจให้เร็วกว่ากรอบเวลา 45 วัน แต่ก็ไม่สามารถบรรจุในระเบียบวาระได้ทันวันที่ 23-24 ก.ย.นี้
     ขณะเดียวกัน มีการประชุมวิปวุฒิสภา โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. เป็นประธาน โดยเป็นการประชุมลับเพื่อวางกรอบการพิจารณาของ ส.ว.ในเรื่องดังกล่าว โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งนายพรเพชรให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ที่ประชุมวิปวุฒิฯ ให้สิทธิ์ ส.ว.โหวตอิสระในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าไม่มีใบสั่งมาจากฝ่ายใด แต่ยอมรับว่าขณะนี้ ส.ว.มีความเห็นต่างกันในเรื่องการลงมติ ส่วนกรณีกลุ่มนิสิต-นักศึกษามาชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันที่ 24 ก.ย.นั้น ยอมรับเป็นความกดดัน แต่ไม่มีผลต่อการลงมติของ ส.ว. เพราะแต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเอง โดยอยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมติดตามการอภิปรายอยู่ที่บ้านจะดีกว่า หากไม่เห็นด้วยกับประเด็นใด สามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ และเป็นการช่วยเหลือ ส.ว.ด้วย
     นายพรเพชรกล่าวต่อว่า ในการประชุมวิปวุฒิฯ ยังมีการรายงานให้ทราบถึงข้อเสนอจากที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เมื่อช่วงเช้าวันที่ 22 ก.ย. ที่เสนอไม่ให้ลงมติในวันที่ 24 ก.ย. โดยให้ใช้วิธีการตั้ง กมธ.เพื่อศึกษาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด เพื่อความรอบคอบ ซึ่งตามระเบียบระยะเวลาการศึกษา 45 วัน สามารถใช้เวลาช่วงที่ปิดสมัยประชุม และนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งช่วงเปิดสมัยประชุมวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งข้อเสนอไม่ใช่มาจาก ส.ว.
     สำหรับแนวทางการเสนอให้ตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 121 วรรค 3 โดยแนวทางดังกล่าวเป็นข้อเสนอจากทางวิปรัฐบาล เพื่อยืดเวลาไม่ให้ลงมติในวันที่ 24 ก.ย. เพราะขณะนี้เสียงของ ส.ว.มีความเห็นต่างเป็นอย่างมากในเรื่องของการแก้หรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาในแนวทางใด 
     นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายไม่มีการเสนอเรื่องดังกล่าว เป็นเพียงการเสนอทางออกเท่านั้นว่าควรเป็นอย่างไรบ้าง แต่ทำอย่างนั้นไม่ได้ อย่างไรก็ต้องมีการโหวต เพราะทุกคนก็ลงชื่อสนับสนุนในญัตติแล้ว 
นายสุทินกล่าวเช่นกันว่า ไม่มีการเสนอว่าตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในที่ประชุมพูดกันเฉพาะเรื่องกรอบเวลาพิจารณาเท่านั้น แต่ได้ยินความคิดนี้มานานแล้ว ซึ่งจะทำให้สังคมมองว่าเป็นการแตะถ่วง ดังนั้นต้องโหวต และในที่ประชุม ส.ว.ก็รับปากชัดเจนว่าอย่างไรก็ต้องจบและต้องโหวต
     มีรายงานจาก ส.ว.แจ้งว่า ขณะนี้เสียง ส.ว.ยังก้ำกึ่งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญกับฝ่ายที่ต่อต้านการแก้ไข โดยฝ่ายคัดค้านการแก้มีเสียงเกือบ 100 เสียงไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะไม่มั่นใจว่าจะไม่แก้เนื้อหาเลยเถิดไปถึงหมวด 1 และ 2 ด้วย ขณะที่กลุ่มสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญมีอยู่ประมาณ 60 เสียง ส่วนใหญ่เป็น ส.ว.ที่มีฐานเสียงทางภาคอีสาน และมีแนวโน้มจำนวนเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเสียงจาก ส.ว.สายทหาร ตำรวจ และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เคยสงวนท่าทีมาสนับสนุน
     “การลงมติของ ส.ว.กลุ่มนี้ จะให้ความเห็นชอบเฉพาะญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น เพื่อใช้ร่างดังกล่าวเป็นหลักในการแก้ไข ส่วนเนื้อหาที่จะแก้ไขอย่างไรให้ไปว่ากันในอนาคต ส่วนญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 4 ญัตติ จะไม่ให้ความเห็นชอบ ขณะนี้กำลังรอสัญญาณสุดท้ายจากรัฐบาลยืนยันจะให้โหวตผ่านร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ คาดว่าจะมีเสียง ส.ว.เกิน 84 เสียง สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึง ส.ว.ที่คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญจะกลับลำมาสนับสนุนร่างของรัฐบาลเช่นกัน”
     ส่วนที่ทำการพรรค พปชร.มีการประชุม ส.ส. โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาฯ วิปรัฐบาล ได้แจ้งให้ ส.ส.เข้าร่วมประชุมในการประชุมร่วมรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย.นี้อย่างพร้อมเพรียง โดยพรรค พปชร.จะมีเวลาอภิปราย 3 ชั่วโมง
ปชป.ชงชื่อ 3 กมธ.แล้ว
     น.ส.พัชรินทร์ ซําศิริพงษ์  โฆษกพรรค พปชร. แถลงผลประชุม ส.ส.พรรคว่า พรรคยังไม่มีมติว่าจะลงมติรับร่างใดบ้าง โดยยืนยันว่าพรรคจะลงตามมติของวิปรัฐบาลแน่นนอน แต่สิ่งหนึ่งที่พรรคยืนยันคือไม่แก้หมวด 1 และ 2 แน่นอน ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่เตรียมเดินทางมาชุมนุมที่รัฐสภานั้น พรรคไม่มีความกังวลหรือกดดัน เพราะการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เรายึดตามหลักการและเหตุผล
     นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า มี ส.ส.แสดงความจำนงที่จะอภิปรายจำนวนมาก นำทีมโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ซึ่งที่ประชุม ส.ส.พร้อมสนับสนุนร่างที่พรรคได้ยื่นต่อประธานรัฐสภา คือให้แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มเติมให้มีส.ส.ร. โดยพรรคจะเสนอบุคคลเพื่อไปทำหน้าที่คณะ กมธ.วิสามัญในวาระที่สอง 3 คนคือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายสุทัศน์ เงินหมื่น และนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ  
     ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร.กล่าวถึงกรณีนายสรศักดิ์ไม่ได้บรรจุญัตติ ขอให้รัฐสภาส่ง 4 ญัตติของฝ่ายค้านให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ว่ารู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งการที่เลขาฯ สภาฯ มากล่าวว่าไม่สามารถบรรจุญัตติได้เพราะมีปัญหาทางกฎหมาย อาจเป็นการทำให้ตนเองเสียหายและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หากญัตติไม่ได้รับการบรรจุ จะฟ้องคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเพื่อรักษาความชอบด้วยกฎหมายต่อไป 
     วันเดียวกัน ในช่วงบ่าย กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ได้เดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้า MRT เตาปูน มายังรัฐสภา เพื่อนำรายชื่อประชาชน 100,732 รายชื่อส่งให้รัฐสภา     ยืนยันเจตจำนงของประชาชนในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเมื่อกลุ่มไอลอว์เดินทางมาถึง โดยมีรถเครื่องขยายเสียง รถซาเล้ง และประชาชนประมาณ 500 คน มาร่วมชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไม่แก้รัฐบาลต้องลาออก ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาได้ปิดประตูทางเข้า-ออก รัฐสภา ถนนสามเสน ขณะที่ตำรวจ สน.บางโพ นำแผงเหล็กมากั้นพื้นที่หน้ารัฐสภา เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
     ทั้งนี้ มี ส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ นายสุทิน และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และสมาชิกพรรคมาร่วมให้การต้อนรับ โดยนายพิธากล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเยี่ยมซุ้มของไอลอว์ วันนี้พวกท่านและประชาชนเดินทางมาที่รัฐสภาแห่งนี้ เป็นไปได้หรือที่จะไม่มาต้อนรับ การเข้าชื่อของประชาชนจำนวนกว่า 1 แสนรายชื่อ ใช้เวลาเพียง 43 วันเท่านั้น จึงถือเป็นอานุภาพของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นความร่วมแรงร่วมใจของประชาชน ขอคำนับประชาชนที่ทำให้ทั้งหมดนี้เป็นไปได้
     “วันนี้ไม่ใช่เวทีของผม วันนี้เป็นเวทีของประชาชน พรุ่งนี้ผมจะใช้เวทีรัฐสภาอภิปรายเรื่องนี้อย่างเต็มที่” นายพิธากล่าวทิ้งท้าย
     ในช่วงที่กลุ่มไอลอว์ทำกิจกรรมอยู่ ปรากฏว่าแนวร่วมไอลอว์คนหนึ่งได้ถ่ายภาพบริเวณป้ายกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ที่ตั้งอยู่เยื้องกับรัฐสภา ทำให้ทหารนอกเครื่องแบบที่อยู่ด้านในวิ่งเข้ามาล็อกตัวพร้อมขอให้ลบภาพ แต่แนวร่วมฯ ยืนยันว่าไม่ลบภาพ ขณะเดียวกัน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ที่ได้เดินทางมาร่วมได้เข้ามาสอบถามรายละเอียด จากนั้นได้โต้เถียงกับนายทหารชั้นผู้น้อยทั้ง 3 นายว่าใช้สิทธิ์อะไรมาล็อกตัว มาจากหน่วยไหน ใครสั่งมา และขอให้แสดงบัตรประจำตัวทหาร จนในที่สุดนายทหารยอมทำตามได้แสดงบัตรทหาร และอ้างว่านายสั่งมา ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมรอจะพูดคุยกับนายคนดังกล่าว ในเวลาต่อมา ตำรวจจาก สน.บางโพได้เข้ามาระงับเหตุ พร้อมกับเชิญตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายไปสอบสวนสาเหตุที่โรงพักต่อไป  
ย้ำไม่ใช่คู่ขัดแย้ง
     สำหรับความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมจะไปเคลื่อนไหวในวันที่ 24 ก.ย.ที่หน้ารัฐสภา ว่าไม่ได้สั่งอะไรเป็นพิเศษ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการ ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายต่างๆ ทุกประการที่มีอยู่  
     “ผมไม่อยากให้เป็นความขัดแย้งกันต่อไปอีก เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ที่ผ่านมาพยายามให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดกลั้น อดทน เสียสละ และเรื่องอื่นๆ ต้องขอบคุณบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยที่ช่วยกันดูแลลูกหลานของท่าน หลายๆ อย่างปรากฏมาให้เห็นแล้ว ก็เป็นเรื่องของสังคมจะตัดสินจะวิเคราะห์กันเอง ผมว่าวันนี้เราต้องสร้างการเรียนรู้กันให้มากขึ้น มีหลักคิด มีหลักการและเหตุผลในการที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนโดยรวม มันจะทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส ประชาชนก็เสียโอกาสไปด้วย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผมอยากฝากพวกเรา ไม่มีใครแพ้ชนะหรอก แต่สิ่งที่มันจะตามมาคือประเทศชาติเราจะเสียหาย ผมเป็นกังวลตรงจุดนั้นมากกว่า” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว  
     ก่อนหน้านี้ ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์งานมหกรรม JOB EXPO THAILAND 2020  ว่าวันนี้มีการรวมตัวกันของคนหลายรุ่นอยู่ที่ทำเนียบฯ โดยมีการส่งต่ออัตลักษณ์วัฒนธรรมของไทยผ่านรุ่นสู่รุ่น และด้วยความรักความสามัคคีของทุกคนในชาติจะช่วยให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าไปได้ ตอนนี้บ้านเมืองประสบกับปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต้องระวังและช่วยกันตักเตือน เราทุกคนต้องช่วยกันฟันฝ่าวิกฤตินี้ไปให้ได้ ในวันข้างหน้าสถานการณ์จะกลับมาดีขึ้น  
     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวในประเด็นนี้ว่า ไม่เป็นอะไร สภามีการเตรียมความพร้อมรับอยู่แล้ว ในส่วนของฝ่ายความมั่นคงดูให้เกิดความสงบเรียบร้อยเท่านั้น จะไปทำอะไร จะไปดูอะไร และเขาก็ไม่บุกอยู่แล้ว
     แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงระบุว่า ได้ประเมินเบื้องต้นในการชุมนุมวันที่ 24 ก.ย.ว่าไม่น่ามีความรุนแรงอะไร เป็นเพียงการรวมตัวกดดัน ส.ว.และ ส.ส. เพราะในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. ซึ่งเป็นการชุมนุมใหญ่ ภาพรวมก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อีกทั้งในวันนั้นมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนน้อยกว่าที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินในตอนแรก ดังนั้นในวันที่ 24 ก.ย. คาดว่าคนมาร่วมชุมนุมจะไม่มากไปกว่าวันที่ 19 ก.ย. ทั้งนี้ ถ้าจะมีปัญหาก็เกรงว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการจัดการภายในของม็อบเอง 
     ส่วนกรณีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้มีการปักหมุดคณะราษฎรที่ 2 ที่ท้องสนามหลวงนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ทำไม เขาปักไปแล้ว แล้วจะเอาอะไร เมื่อถามต่อว่าได้มีการประเมินสถานการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมาว่ามีความน่าเป็นห่วงในอนาคตหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็เป็นห่วงทุกครั้ง เราห่วงลูกหลานเราด้วย และข้อสำคัญคือคนสนับสนุน
     เมื่อถามอีกว่าได้ตัวคนสนับสนุนแล้วหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่รู้ พร้อมย้อนถามว่า “คุณรู้หรือไม่” เมื่อถามอีกว่าตรวจสอบท่อน้ำเลี้ยงกลุ่มผู้ชุมนุมได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรย้อนอีกว่า “คุณตรวจสอบให้ผมหน่อย”
     ขณะที่ พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวถึงการกระทำความผิดในการชุมนุมในวันที่ 19-20 ก.ย. ว่ามีผู้เข้าข่ายทำความผิด 16 คน เเบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้จัดการชุมนุมขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การชุมนุม 2.กลุ่มเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม ซึ่งมีทั้งประกาศปราศรัยบนเวที ก่อนหน้าจะชุมนุมจริง รวมไปถึงการโพสต์ข้อความเชิญชวนทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือเชิงสัญลักษณ์ในโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง และ 3.กลุ่มคนที่ขึ้นร่วมปราศรัยบนเวที โดยในส่วนนี้อยู่ระหว่างการแกะคำพูดปราศรัย บางช่วงบางตอนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันให้ชุดสืบสวนไล่กล้องวงจรปิด ประกอบกับนำหลักฐานจากสื่อมวลชนที่เป็นภาพการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มชุมนุมควบคู่ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดนำเข้าที่ประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยืนยันต้องทำคดีให้ครอบคลุม ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีข้อครหาว่ากลั่นเเกล้ง ยืนยันไม่ถูกกดดันจากฝ่ายใด เพียงเเต่ทำไปตามกรอบกฎหมาย
ประเดิมฟ้องท่อน้ำเลี้ยง
     พล.ต.ต.สุคุณยังกล่าวถึงคดีความที่ทางกรมศิลปากร และสำนักงานเขตพระนครกรุงเทพมหานคร เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.ชนะสงคราม ตามความผิด พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504  มาตรา 10 ว่า บช.น.จะนำรวมเป็นสำนวนคดีเดียวกัน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ชุมนุมเดียวกัน เเละเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน
     นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวในเรื่องนี้ว่า ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรแจ้งความดำเนินคดี ยืนยันว่าเราดำเนินการตามกฎหมาย รัฐบาลไม่ได้ให้นโยบายพิเศษอะไร 
     ที่ สน.ชนะสงคราม นายสนธิญา สวัสดี อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ยื่นเอกสารแจ้งความร้องทุกข์ให้ตรวจสอบและดำเนินคดีผู้สนับสนุนการชุมนุมของนักศึกษา ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. โดยได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ น.ส.อินทิรา เจริญปุระ หรือทราย นักร้องนักแสดง กรณีเป็นผู้สนับสนุนการชุมนุม และได้ฝากไปถึงไอลอว์ที่เปิดบูธรับลงชื่อผู้ประสงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนด้วยหรือไม่ ทำไมต้องมาใช้สถานที่นี้ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม 
     ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตั้งโรงแรมศรีพันวา ภูเก็ต อยู่บนพื้นที่อุทยานหรือไม่ ว่าตอบไม่ได้ คงต้องไปถาม รร.ศรีพันวาว่ามีโฉนดหรือไม่ ส่วนกระทรวงทรัพย์จะลงไปตรวจสอบเชิงรุกหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่มีเหตุ ยังไม่มีใครร้องเข้ามา และไม่ใช่เครื่องมือของใคร หากศรีพันวาเขาอยู่เงียบๆ ก็ไม่มีอะไรขึ้นมา พอพูดขึ้นมาก็กลายเป็นประเด็น แต่หากใครสงสัยก็ให้ร้องเข้ามา และยืนยันอีกครั้งว่าตอนนี้ยังไม่ใช่เรื่องของเรา
     นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีโลกโซเชียลมีเดียตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางในการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่เกี่ยวกับโรงแรมศรีพันวา ภายหลังนายวรสิทธิ์ อิสสระ หรือปลาวาฬ เจ้าของโรงแรม ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อแกนนำม็อบนักศึกษาว่า อำนาจของ รมว.แรงงาน ไม่มีสิทธิ์ไปรู้เรื่องเกี่ยวกับการลงทุนและการบริหารเงินของ สปส. ซึ่งการลงทุนในโรงแรมศรีพันวาก็ลงทุน
     “ประเด็นของโรงแรมศรีพันวา เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้บริหารโรงแรม ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของเขา ไม่เกี่ยวกับการลงทุน และผมคิดว่าคนที่รักสถาบันมีเยอะแยะ ก็น่าจะไปพักโรงแรมดังกล่าวนี้เยอะ ผมอยากให้มองมุมกลับ และขอย้ำว่าจะไปสั่งให้ สปส.เลิกลงทุนนั้นผมสั่งไม่ได้ และขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับโรงแรมด้วย เพราะถ้าเรามีธุรกิจ ก็มีสิทธิ์วิจารณ์ เรานึกถึงสิ่งที่เราเคารพนับถืออยู่และเทิดทูนในประเทศไทย เปรียบเหมือนใครด่าพ่อแม่เราก็จะโกรธใช่หรือไม่ ถือเป็นเรื่องปกติ และขอชื่นชมนายวรสิทธิ์ที่กล้าพูดในสิ่งที่คิด” นายสุชาติกล่าว 
     นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรค ก.ก.ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงถึงกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรค พปชร.ไปเเจ้งความเอาผิดตนเองกับ ส.ส.อีก 2 พรรค ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม จากการชูสามนิ้วในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ว่าไม่ได้กังวล นายสิระจะยื่นแจ้งความหรือกระทำใดๆ ก็แล้วแต่ ขออย่างเดียวอย่าลากตนเองไปสร้างประเด็นกลบข่าวเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากข้อเรียกร้องของประชาชน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"