ลางร้ายฝ่ายค้าน! ส.ว.ส่งสัญญาณ คว่ำญัตติตั้ง 'สสร.' ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


เพิ่มเพื่อน    

24 ก.ย.63 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมการอภิปรายในการประชุมร่วมรัฐสภาในภาคบ่าย ส.ว.ทยอยลุกขึ้นอภิปรายโดยมีทิศทางไปในแนวทางเดียวกันว่าหากจะแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้ตั้งสสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องกลับไปถามประชาชนโดยการทำประชามติเสียก่อน 

กระทั่งเวลา 16.10 น. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปราย โดยตอนหนึ่งได้อภิปรายพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเเท้จริง  ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น กล่าวตักเตือนให้ระมัดระวัง เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 45 ห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้นได้อนุญาตให้นายรังสิมันต์อีกครั้ง แต่ผู้อภิปรายยังคงวนเวียนอยู่กับประเด็นสถาบัน จึงถูกประท้วงต่อเนื่องจากส.ส.รัฐบาลและส.ว.อย่างหนัก

ครั้น นายรังสิมันต์ อภิปรายจบ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานที่ประชุม ได้เชิญให้นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปราย แต่ส.ส.ก้าวไกล อาทิ นายคารม พลพรกลาง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร  ประท้วงว่านายเสรีสามารถอภิปรายรอบสองได้ใช่หรือไม่  ซึ่งนายพรเพชรวินิจฉัย ไม่ชัดเจน จึงได้ให้นายชวนวินิจฉัยแทน 

นายชวน กล่าวว่า ส.ว.ไม่สามารถกล่าวสรุปได้ เนื่องจากการกล่าวสรุปต้องเป็นของฝ่ายที่เสนอญัตติ  อย่างไรก็ตาม หากแต่ละฝ่ายเวลาเหลือก็สามารถลุกขึ้นอภิปรายซ้ำได้ แต่ถ้าอภิปรายซ้ำในประเด็นก่อนหน้านี้ สมาชิกท่านอื่นๆก็สามารถทักท้วงได้ นี่คือข้อปฏิบัติ จากนั้นนายพรเพชรก็ได้กลับมาทำหน้าที่ประธานการประชุมอีกครั้ง และได้เชิญให้นายเสรีอภิปราย

นายเสรี อภิปรายยืนยันว่า วุฒิสภามีความคิดความร่วมมือทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพให้ได้ประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น การทำหน้าที่วุฒิสภาจึงต้องทำหน้าที่ด้วยความรอบครอบ การตัดสินใจจะต้องเป็นประโยชน์จริงๆ โดยญัตติเสนอจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้ง 2 ญัตติ ก็พิจารณาโดยตระหนักถึงผลที่จะออกมา หากมีการตั้ง ส.ส.ร. จะทำหน้าที่ได้สมประโยชน์กับความตั้งใจของสมาชิกรัฐสภาที่เสนอญัตติหรือไม่ เพราะ ส.ส.ร. ทำหน้าที่แทนคนทั่วประเทศยกร่างรัฐธรรมนูญ 

"แต่เมื่อพิจารณากระบวนการแล้ว ยังมีข้อกังวลใจ ว่าการทำหน้าที่ของ ส.ส.ร.จะทำด้วยหน้าที่ที่อิสระหรือไม่ หรือจะไม่ถูกแทรกแซง เพราะการให้มีคนนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ยกร่างเป็นคณะใหม่ จะต้องทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์อย่างแท้จริง และที่ต้องพึงระมัดระวัง คือ ข้อเสนอประเด็นต่างๆ ที่จะนำมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีผลกระทบหรือมีส่วนใดที่จะเกิดปัญหากับประเทศชาติกับอนาคตหรือไม่ ซึ่งจากการที่ได้ฟังสมาชิกท่านหนึ่งอภิปรายไปแล้ว เกี่ยวกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทางวุฒิสภาก็มีความกังวลใจว่ากรอบหรือวิธีคิดจะไปแค่นั้นหรือไม่ หรือหากมีคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ใน ส.ส.ร. จะถูกกดดันหรือไม่ จึงห่วงว่าข้อเสนอในอนาคตจะไปไกลกว่าที่คิด แต่ก็ดีว่าจะทำให้ ส.ว.ตัดสินใจง่ายขึ้น และเป็นสิทธิแต่ละคน"นายเสรี  กล่าว

จากนั้นเวลา 17.15 น. นายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวว่า ไม่อยากให้เหาะเกินลงกา ถ้ายังตั้งท่าบังคับข่มเขาโคให้กลืนหญ้าไม่มีทางสำเร็จ เพราะต้องอาศัยเสียงส.ว. เราไม่ได้ขู่ และพร้อมให้ความร่วมมือ แต่สิ่งที่มีการพูดกันออกมา ทำให้ส.ว.กังวล โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปสถาบัน การตั้งส.ส.ร.โดยไม่มีกรอบเป็นเรื่องอันตราย เรื่องใดเป็นประโยชน์ต่อประเทศ 250เสียงของส.ว. พร้อมเทคะแนนให้ มาตรา 256 แก้ไขได้ แต่วันนี้ข้อเสนอการตั้งส.ส.ร.ยังไกลเกินจริง เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อน จะชะลอการโหวตวันนี้ไว้ก่อนก็ได้ จะไปหาวิธีการใดก็ได้ จะตั้งกมธ.ศึกษาก่อนก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องไปทำประชามติสอบถามก่อนว่า จะให้แก้หรือไม่

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ส่วนการแก้ไขรายมาตรา 4ญัตตินั้น ให้ไปตกลงกันในรายละเอียดให้ได้ก่อน โดยเฉพาะเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2ใบแล้วค่อยมาคุยกัน วันนี้การแก้ทั้ง 4ญัตติ ยังไม่ตอบโจทย์ ขอให้ไปทำโจทย์มาใหม่ แล้วนำกลับมาเสนอสภาฯ หากวันนี้ยังไม่ผ่าน สมัยประชุมหน้าก็นำกลับมาเสนออีกได้ การเสนอแก้รัฐธรรมนูญสามารทำได้ แต่การแก้ต้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เดินหน้าไปสู่กับดัก ตนมีข้อมูลญัตติแก้รัฐธรรมนูญบางญัตติของฝ่ายค้านมีความผิดปกติ ลายเซ็นมีปัญหา คนๆเดียวเซ็นชื่อไม่เหมือนกัน ขอเสนอทางออกว่า ต้องไปทำประชามติก่อนหรือไม่ ถ้าไม่ทำ จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญแน่ๆ รวมถึง 4ญัตติของฝ่ายค้านมีข้อสงสัยถูกต้องหรือไม่ อาจถูกยื่นตรวจสอบต่อศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน 

"พวกท่านต้องเสนอทางออกให้ส.ว.คิด ไม่ใช่บังคับให้ส.ว.ทำ ไม่ใช่ไม่ทำแสดงว่า ไม่รักชาติ ส.ว.ไม่กลัว แต่ไม่ท้าทาย แค่อยากหาทางออกร่วมกันให้ได้   ถ้าจะต้องโหวตตัดสิน ส.ว.ก็ยินดี และมีคำตอบในใจอยู่แล้ว วันนี้ยังไม่มีทางตัน ยังมีทางรอดเสมอ ส.ว.ไม่กลัวคำขู่ แต่ต้องการทางออกร่วมกัน ให้เดินด้วยกันไปได้" นายสมชายกล่าว

จากนั้นเวลา 17.30 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  สส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปญัตติว่า จากที่ฟังการอภิปรายสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พอสรุปประเด็นได้ดังนี้ ไม่เห็นด้วยเพราะต้องทำประชามติก่อน โดยอ้างรัฐธรรมนูญปี 60 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 55 รวมถึงผลการทำประชามติ ซึ่งขอชี้แจงว่า การที่มาตรา 256 (8) กำหนดให้ทำประชามติ สาเหตุมาจากว่าป้องกันไม่ให้ใครยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ตามอำเภอใจหากรัฐสภาทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ เราจะถามพี่น้องประชาชนก่อนในฐานะเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ อาศัยช่องนี้ ทำคำถามถามพี่น้อปงระชาชน แต่การตั้งคำถามเพียงว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับการทำร่างรัฐธรรมนุญแก้ไขเพิ่มเติมไปให้พี่น้องประชาชนดู ถามว่าอันไหนมีประโยชน์กว่ากัน แน่นอนว่าคือคำถามหลัง  ถ้าเขาไม่อยากให้แก้ทั้งฉบับ ประชามติก็จบ ไม่ต้องแก้ 256 ไม่ต้องตั้งสสร.

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนข้ออ้างที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูยไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนนั้น เราจะเห็นว่าผลพวงจากรัฐธรรมนูญทำให้เกิดวิกฤติทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ แบบนี้จะไม่เกี่ยวกับประชาชนได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกบางคนเสนอให้แก้ไขเป็นรายมาตรา รั่วตรงไหนซ่อมตรงนั้น ตนเห็นว่าบ้านมันพังทั้งหลัง ฐานรากผุพัง ซ่อมไม่ได้ เจ้าของบ้านซึ่งก็คือประชาชนได้มอบกุญแจแล้วบอกว่าให้ช่วยซ่อมให้ด้วย

“สำหรับที่มีการโต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้มีปัญหา แต่มีปัญหาที่คนใช้ ผมเห็นด้วย แต่ที่ผ่านมาก็ปรากฏชัดว่าตัวบทมีปัญหาเช่นกัน รวมทั้งความกังวลว่าสสร.จะยกเลิกมาตราดีๆนั้น ผมเห็นว่าไม่ต้องห่วง เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ สสร.มีสิทธิ์นำมาเขียนใหม่ได้หมด ส่วนข้อกังวลที่ว่าการทำประชามติจะสิ้นเปลืองงบประมาณนั้น ผมว่าคุ้มค่า และความจริงใช้งบไม่ถึงเหมือนที่สมาชิกบางคนบอกไว้ ตามรัฐธรรมนูญทำ 2 ครั้ง และทำตอนจัดตั้งสสร. 1 ครั้ง ผมถือว่าคุ้มค่ากับการที่จะได้รัฐธรรมนูญเข้าสู่ระบบใหม่ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองอยากจะบอกว่าหลักการมอบอำนาจทางตรงของประชาชนคือดีที่สุด ถ้าเชื่อมั่นและไม่มีการบิดเบือน เชื่อว่าสสร.ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติ เว้นแต่จะมีบางกลุ่มที่จะใช้สสร.เป็นเครื่องมือ สุดท้ายผมเรียกร้องไปยังสมาชิก บ้านเมืองกำลังเข้าสู่วิกฤติ ที่พึ่งที่หวังอยู่ที่รัฐสภา ถ้าเราไม่ตัดสินใจเลือกทางออกที่ดีที่สุดจะกลายเป็นตราบาปอยู่ในใจ ไม่อยากเห็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 มันไม่ควรเกิดขึ้น 

พวกเราต้องหาทางออกให้ประเทศ ผู้ชุมนุมไม่ใช่มากดดัน แต่มาฟังข่าวดีว่าสิ่งที่เขาเสนอมา รัฐสภาจะให้โอกาสให้เขาตัดสินใจทำประชามติ เพียงแต่รับหลักการ ส่วนวาระสอง วาระสาม หากท่านจะไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร สถานการณ์ขณะนั้นอาจจะดีขึ้น โอกาสลดความขัดแย้งอยู่ที่พวกท่าน มาช่วยกันรับหลักการ” นพ.ชลน่าน กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"