ปาหี่แกรั้ฐธรรมนูญ ‘พปชร.’นำโหวตตั้งกมธ.ศึกษา30วัน/ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์


เพิ่มเพื่อน    

 

ปาหี่แก้รัฐธรรมนูญ หลังให้ทั่นผู้ทรงเกียรติพ่นน้ำลายไป 2 วันใน 6 ญัตติ “พปชร.” ใช้เสียงข้างมากโหวตตั้ง กมธ.ศึกษาก่อนรับหลักการ มีมติเห็นด้วย 432 คน ไม่เห็นด้วย 255 เสียง ตั้ง กมธ. 45 คนศึกษา 1 เดือน “ฝ่ายค้าน” ฉุนไม่ขอร่วมสังฆกรรมขอวอล์กเอาต์ สภาสูงมองทางเดียวกันจะแก้ รธน.ต้องทำประชามติก่อน เห็นด้วยหากรื้อรายมาตราไม่เอาทำใหม่
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน รัฐสภาได้ประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องด่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติที่พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอเป็นวันสุดท้าย โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ย้ำว่าทั้ง 3 ฝ่ายต้องบริหารเวลากันเอง โดยต้องเริ่มโหวตในเวลา 18.00 น. เพราะคาดว่าต้องใช้เวลาโหวตกว่า 3 ชั่วโมง และเมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วยังต้องใช้เวลารวมคะแนนอีกกว่า 1 ชั่วโมง ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท ต้องให้จบโดยเร็ว เนื่องจากสมัยประชุมจะจบภายในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 24 ก.ย.
    และเมื่อเวลา 09.30 น.ได้เริ่มประชุม ซึ่งในช่วงครึ่งเช้ายังคงมี ส.ส.และ ส.ว.หลายคนอภิปรายอย่างต่อเนื่อง โดยรายที่น่าสนใจ อาทิ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) อภิปรายว่า ที่ผ่านมามีการแบ่งขั้วทางการเมือง มีความขัดแย้งทางชนชั้นและช่องว่างระหว่างวัย ปัญหาทั้ง 3 อย่างรอเวลาที่จะระเบิด และตอนนี้เกิดวิกฤติใหม่ คือวิกฤติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เป็นเชื้อไปถึง 3 ปัญหาข้างต้น แต่ถ้าแก้ไขได้บ้างก็จะหยุดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และหยุดปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองได้ ซึ่งหน้าที่การแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ต่อหน้าของเราทุกคนแล้วในวันนี้ และจะถูกจดจำไว้ในใจตลอดไป วันนี้พวกเรารัฐสภามีโอกาสแก้ไขวิกฤติของประเทศ ตัดสินใจว่าจะพาประเทศออกจากวิกฤติหรือเข้าสู่วิกฤติ ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญเป็นแค่เส้นทาง
    ต่อมาเวลา 11.35 น. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า ขอสนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 91, 92, 93, 94 และยกเลิก 101(4) 105 วรรคสาม เพราะการเลือกตั้งเมื่อ มี.ค.2562 ทำให้พัฒนาการทางการเมืองของประเทศถดถอยกลายเป็นประชาธิปไตยสลึงเดียว ทุกพรรคทราบดีว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญคืออะไร บางคนยังงงคะแนนไม่ถึงแต่นั่งสภานี้เป็นปี  การเลือกตั้งมีกระบวนการที่ไม่แน่นอน แต่ผลลัพธ์แน่นอน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ต่างอะไรจากที่ คสช.ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ ความขัดแย้งก่อนและหลังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ถ้ายังไม่แก้ระบบเลือกตั้งและหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ
    จากนั้น นายถวิล เปลี่ยนศรี ส.ว.อภิปรายว่า ยืนยันตัดสินใจลงมติโดยยึดผลประโยชน์ของชาติ ไม่ได้ครอบงำ และไม่หวั่นไหวทั้งเสียงเชียร์และแช่ง แต่ยังไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 6 ฉบับ โดยเฉพาะมาตรา 256 ส่วนร่างแก้ไขเป็นรายมาตราหลักการพอรับได้ แต่รายละเอียดยังทำใจรับไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญแม้เป็นกฎหมายสูงสุด แต่ไม่ใช่ชีวิตของประชาชน รัฐธรรมนูญแก้ไขปัญหาอดอยาก เหลื่อมล้ำ แก้เจ็บป่วย หรือแม้แต่ยับยั้งโควิดก็ไม่ได้ ฉะนั้นอย่าคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ได้เรา
แก้นิสัยผู้ใช้รัฐธรรมนูญ
    “รัฐธรรมนูญปี 40 ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุด แต่แล้วก็ไปไม่ได้ อะไรที่ไม่ได้ห้ามไว้ก็ถูกผู้ใช้รัฐธรรมนูญบิดเบือน ดังนั้น รัฐธรรมนูญดีต้องมาพร้อมกับผู้ใช้ดี บางทีอาจไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องแก้นิสัยผู้ใช้รัฐธรรมนูญต่างหาก” นายถวิลกล่าว
    นายถวิลกล่าวอีกว่า ถ้าทำประชามติต้องทำถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกถามประชาชนว่าจะให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ครั้งที่สองเมื่อแก้แล้วก็ต้องทำอีกครั้ง สุดท้ายเมื่อได้ประชามติแล้วจัดทำร่างเสร็จต้องนำกลับไปทำประชามติว่าจะรับหรือไม่ ใช้เงิน 1.6 หมื่นล้านบาทไม่ได้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ส่วนจะเกิดประโยชน์กับใคร ไม่ทราบ ดังนั้นย้ำอีกครั้งว่า ไม่เห็นชอบกับการขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เช่นเดียวการขอแก้ไขมาตรา 272 ว่าด้วย ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ เพราะเป็นมาตราที่ผ่านประชานิยมเช่นกัน
    จากนั้นเวลา 12.15 น. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายชี้แจงถึงการล้มประชามติ 16 ล้านเสียงในรัฐธรรมนูญ 2560 และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณว่า ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญผ่าน รัฐบาลต้องมาขอบคุณพวกตนที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ เพราะการทำประชามติคือการกระจายเงินเข้าระบบอย่างทั่วถึงที่สุด อย่าเสียดายเม็ดเงินที่ใช้ทำประชามติ เพราะคุ้มค่า และเราจะได้กติกาที่ดี และแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ เราไม่ได้ข้ามหัว 16 ล้านเสียงที่ทำประชามติไป แต่เรากลับไปคารวะท่านอีก 3 รอบ ว่าพวกตนเองทำมาใหม่ พวกท่านเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าพวกท่านไม่เห็นด้วยก็จบ
       “ประเด็นที่สงสัยว่าทำไมฝ่ายค้านต้องเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2 แบบ คือแก้ทั้งฉบับ และแก้แบบรายมาตรา ก็ต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับมากที่สุด ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นได้ คือต้องให้ประชาชนมาเขียน จึงเขียนให้ท่านมาช็อปได้เลย เดินซ้ายก็กลัวท่านไม่เอา ก็เลยเดินขวาด้วย ท่านชอบอันไหนก็มาเลือก วันนี้เรามาร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ ถ้าสภาจะเป็นประตูทางออกได้คือสิ่งวิเศษ”
    จากนั้นเวลา 13.00 น. นายตวง อันทะไชย ส.ว.อภิปรายว่า เราเข้าใจตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ แต่แก้ไขมาตรา 256 ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้ไขให้มีมาตรา 256/1 ต้องไปถามประชาชนเสียก่อน ส่วนจะแก้ไขมาตรา 91-92 ส่วนใหญ่เห็นด้วย ถ้าแก้แบบนี้ประชาชนจะไม่สับสน วิธีการนับคะแนน หลายพรรคชอบ และคิดว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย ไม่ได้ขัดแย้ง
    “การแก้ไขมาตรา 256 ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าประชาชนสถาปนาให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประหนึ่งเป็นบ้านหลังหนึ่งให้ ส.ว.-ส.ส.เข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ เราจะรื้อบ้านหลังนี้โดยไม่ถามประชาชนเลยหรือ ส่วนที่บอกว่ามี ส.ส.ร.ช่วยลดความขัดแย้งนั้น ตั้งแต่ปี 2539 ล้วนแต่มี ส.ส.ร.มาทั้งนั้น ถ้าเป็นแบบที่พูดจริง วันนี้ก็คงไม่เป็นเช่นนี้ และประเด็นคือท่านจะให้ทำประชามติตอนไหน ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าแก้เป็นรายมาตรา พวกผมไม่ติดใจ” นายตวงกล่าว
    ต่อมาเวลา 13.30 น. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.อภิปรายว่า หลายคนประดิษฐ์วาทกรรมว่า ส.ว.สืบทอดอำนาจ พูดเหมือนตนเองเป็นเจ้าของประเทศเพียงผู้เดียว แต่สิ่งที่เห็นมาคือรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับประชาชนสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติมาอย่างยาวนาน ผลพวงรัฐธรรมนูญ 2540 จากการบริหารของรัฐบาลชุดหนึ่ง และเหตุการณ์ตั้งแต่ 2547 จนถึงปัจจุบัน บ้านเมืองแตกแยก เผาบ้านเผาเมือง และทหารตำรวจเสียชีวิต ซึ่งถ้าเอาสถานการณ์ปี 2539 เอามาเทียบกับปี 2547 ถึงปัจจุบันแตกต่างกันสิ้นเชิง ดังนั้นการจะเอาแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นแนวทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อย่างไร
“ขอสรุปว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้กลับไปเป็นสภาทาส การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 อาจขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ความแตกแยกในปัจจุบัน หลายคนมีทัศนคติเลวร้ายบั่นทอนสถาบัน ไม่เอื้อต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะจะเพิ่มความแตกแยก แก้ไขเพื่อประโยชน์ของใคร ประชาชนจะอยู่ดีกินดีไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่นักการเมืองจะปฏิบัติตามนิติธรรม นิติรัฐ จึงไม่เห็นชอบญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีผลยกเลิกฉบับ 2560 และทุกมาตรา เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวย” พล.อ.สมเจตน์กล่าว
ย้ำทำประชามติก่อน
    ต่อมาการประชุมในช่วงเย็น ส.ว.ทยอยลุกขึ้นอภิปรายโดยมีทิศทางไปในแนวทางเดียวกัน ว่าหากจะแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องกลับไปทำประชามติเสียก่อน กระทั่งเวลา 16.10 น. การอภิปรายเริ่มมาดูเดือดขึ้น เมื่อนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปราย ซึ่งได้มีการอภิปรายพาดพิงไปถึงเรื่องสถาบัน โดยเฉพาะในข้อเสนอ 10 ข้อของกลุ่มม็อบประชาชนปลดแอก ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานได้กล่าวตักเตือนให้ระมัดระวัง ซึ่งนายรังสิมันต์ยังคงวนเวียนอยู่ จึงถูกประท้วงต่อเนื่องจาก ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว.จนอภิปรายจบ
ต่อมานายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.เตรียมอภิปราย แต่ก็ถูกประท้วงอย่างหนักจาก ส.ส.ก้าวไกล ว่าเป็นการอภิปรายรอบสอง ซึ่งนายพรเพชรวินิจฉัยไม่ชัดเจน ทำให้นายชวนต้องขึ้นมาวินิจฉัยแทนว่าสามารถทำได้หากสามารถบริหารเวลาที่ได้รับจัดสรรได้ แต่ไม่สามารถสรุปได้เพราะไม่ใช่ผู้เสนอญัตติ จากนั้นนายพรเพชรก็ได้กลับมาทำหน้าที่ประธานการประชุมอีกครั้ง และได้เชิญให้นายเสรีอภิปราย
ทั้งนี้ นายเสรีอภิปรายว่า ได้ฟังสมาชิกท่านหนึ่งอภิปรายไปแล้ว เกี่ยวกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทางวุฒิสภาก็กังวลใจว่ากรอบหรือวิธีคิดจะไปแค่นั้นหรือไม่ หรือหากมีคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ใน ส.ส.ร.จะถูกกดดันหรือไม่ จึงห่วงว่าข้อเสนอในอนาคตจะไปไกลกว่าที่คิด แต่ก็ดีว่าจะทำให้ ส.ว.ตัดสินใจง่ายขึ้น
จากนั้นเวลา 17.15 น. นายสมชาย แสวงการ ส.ว.กล่าวว่า ไม่อยากให้เหาะเกินลงกา ถ้ายังตั้งท่าบังคับข่มเขาโคคืนให้กลืนหญ้าไม่มีทางสำเร็จ เพราะต้องอาศัยเสียง ส.ว. เราไม่ได้ขู่ และพร้อมให้ความร่วมมือ แต่สิ่งที่มีการพูดกันออกมา ทำให้ ส.ว.กังวล โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปสถาบัน การตั้ง ส.ส.ร.โดยไม่มีกรอบเป็นเรื่องอันตราย เรื่องใดเป็นประโยชน์ต่อประเทศ 250 เสียงของ ส.ว. พร้อมเทคะแนนให้ มาตรา 256 แก้ไขได้ แต่วันนี้ข้อเสนอการตั้ง ส.ส.ร.ยังไกลเกินจริง เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อน จะชะลอการโหวตวันนี้ไว้ก่อนก็ได้ จะไปหาวิธีการใดก็ได้ จะตั้ง กมธ.ศึกษาก่อนก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องไปทำประชามติสอบถามก่อนว่าจะให้แก้หรือไม่
“พวกท่านต้องเสนอทางออกให้ ส.ว.คิด ไม่ใช่บังคับให้ ส.ว.ทำ ไม่ใช่ไม่ทำแสดงว่าไม่รักชาติ ส.ว.ไม่กลัว แต่ไม่ท้าทาย แค่อยากหาทางออกร่วมกันให้ได้ ถ้าจะต้องโหวตตัดสิน ส.ว.ก็ยินดี และมีคำตอบในใจอยู่แล้ว วันนี้ยังไม่มีทางตัน ยังมีทางรอดเสมอ ส.ว.ไม่กลัวคำขู่ แต่ต้องการทางออกร่วมกัน ให้เดินด้วยกันไปได้”
ต่อมาเวลา 17.30 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปญัตติ ว่าขอเรียกร้องไปยังสมาชิก บ้านเมืองกำลังเข้าสู่วิกฤติ ที่พึ่งที่หวังอยู่ที่รัฐสภา ถ้าเราไม่ตัดสินใจเลือกทางออกที่ดีที่สุดจะกลายเป็นตราบาปอยู่ในใจ ไม่อยากเห็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 มันไม่ควรเกิดขึ้น พวกเราต้องหาทางออกให้ประเทศ ผู้ชุมนุมไม่ใช่มากดดัน แต่มาฟังข่าวดีว่าสิ่งที่เขาเสนอมา รัฐสภาจะให้โอกาสให้เขาตัดสินใจทำประชามติ เพียงแต่รับหลักการ ส่วนวาระสอง วาระสาม หากท่านจะไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร สถานการณ์ขณะนั้นอาจจะดีขึ้น โอกาสลดความขัดแย้งอยู่ที่พวกท่านมาช่วยกันรับหลักการ” นพ.ชลน่านกล่าว
ชงตั้ง กมธ. 1 เดือน
    เวลา 18.00 น. นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวสรุปว่า ตอนนี้เป็นทางที่ต้องเลือกว่าจะเดินหน้าต่อไป หรือเดินต่อแล้วหยุดเพื่อพูดคุยกัน ทุกคนรักชาติบ้านเมืองเหมือนกันหมด แต่ถ้าจะช้าไปสักเดือนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้คุยกันก่อน ก็คุ้มค่า แม้บางคนบอกว่าประวิงเวลาหรือไม่ ต้องบอกว่าในรายละเอียดทั้งหมดอยากให้มาคุยกันโดยการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตามข้อบังคับข้อ 121 วรรค 3 คิดว่าในเดือน พ.ย. จะได้ผ่านร่างทั้ง 6 ร่าง และจะได้โหวตตามที่ต้องการ ไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญและคณะ 206 คนที่เป็นผู้เสนอได้เสียหายไป ขอเสนอไปโหวตในสมัยหน้าขอตั้ง กมธ.ก่อนรับหลักการ ส.ส.ฝ่ายค้าน ทำไมไม่หันหน้ามาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ถ้าวันนี้เห็นว่าจะเดินต่อไปไม่ได้ ก็ต้องหยุดรอในอีก 1 เดือนข้างหน้า
จากนั้นนายชวนได้อธิบายถึงลงมติในญัตติทั้ง 6 ร่าง แต่ต่อมานายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ลุกขึ้นเสนอญัตติว่า ขอใช้ข้อบังคับสภาข้อ 121 วรรค 3 เสนอตั้ง กมธ. เพื่อจะได้ทำความเห็นของ 3 ฝ่ายเสนอต่อสภา แล้วให้สภาใช้ดุลพินิจว่าจะรับหรือไม่รับหลักการรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งก็มีผู้รับรอง
นายสุทินอภิปรายว่า ถ้าจะศึกษาโดยตั้ง กมธ.ขึ้นมา ไม่จำเป็นและเสียเวลาเปล่า เพราะเคยได้ศึกษามาแล้ว รวมทั้งจะเกิดข้อกังวลใหม่ ภาษาวัยรุ่นบอกว่า ถูกหลอกให้ออกโรงเรียนหรือเปล่า แต่ถ้าเอาไปศึกษา 1 เดือน จะมีหลักประกันอะไรหรือไม่ว่าญัตตินี้จะไม่ตก ดังนั้นตกวันนี้กับตกวันหน้าก็เหมือนกัน ดีกว่าหลอกให้เราศึกษาอีก 1 เดือน สุดท้ายก็ตกอยู่ดี สมัยหน้าลงมติตกแล้ว จะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ด้วย รวมทั้งร่างของเราไม่ได้ตกแค่อย่างเดียว แต่ยังมีร่างของไอลอว์ที่ไม่มีหลักประกันเช่นกันว่าจะตกไปด้วยหรือไม่
นายสมชายกล่าวว่า แม้ประธานวิปรัฐบาลพยายามเสนอทางออก แต่ ส.ว.ก็ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด อย่ามัดมือชก อย่าเอาเราไปอยู่ในกรอบ มัดมือให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าจะทำการศึกษาต้องมีร่างของญัตติทั้ง 6 และร่างของประชาชนที่เข้าชื่อมา รวมทั้งอาจมีร่างอื่น โดย ครม. และ ส.ว.ที่สามารถเสนอเข้ามาได้ด้วย
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ทางออกนั้นอยากถามว่าเป็นทางออกให้ข้อเสนอนี้ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา ทางออกที่ดีที่สุดคือยุบสภา  
    นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายโจมตีแนวคิดนายวิรัช ว่าอาจมีใบสั่ง แต่สั่งมาจากไหนไม่รู้ และรู้สึกเสียใจ เสียดายค่าไฟ ค่าอาหาร สงสารวิปฝ่ายค้าน เหมือนโดนต้มในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่ควรเป็นสถานที่หาทางออก หาความร่มเย็นให้กับประเทศชาติ
เสียงท่วมท้นตั้ง กมธ.
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตั้งตัวไม่ทันหลังได้รับข่าวมาไม่นานว่าจะมีการเสนอใช้ข้อบังคับ 121 วรรคสาม ตั้ง กมธ. ซึ่งตลอด 2 วันนี้ สมาชิกที่ได้อภิปรายได้ครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องไปตั้ง กมธ. เพราะถ้าเรารับหลักการก็ตั้ง กมธ.อยู่ดี และเมื่อเราเสนอร่างเองจะเสนอตั้ง กมธ.ศึกษาอีกได้อย่างไร ถ้าเราลงมติรับหลักการทุกคนจะได้ภูมิใจ ให้พื้นที่สภาเป็นพื้นที่ความหวังของประชาชน โดยไม่ได้อยู่ใต้อาณัติใคร  
จากนั้นเวลา 19.23 น. นายวิรัชได้เสนอให้สั่งพักการประชุม 15 นาที เพื่อขอหารือร่วมกันทั้งฝ่ายรัฐบาล แต่นายชวนได้ให้เวลา 10 นาที เพราะเกรงว่าจะไม่ทันเวลาลงมติ ต่อมาเวลา 20.00 น. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. กล่าวว่า ผลการหารือขอเสนอตามนายไพบูลย์ในการตั้ง กมธ.ตามข้อบังคับ 121 วรรค 3
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้ศึกษาตามที่นายไพบูลย์เสนอ และเราพร้อมเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่รับปากกับประชาชน
ขณะที่เสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่ต้องการให้โหวตไปเลย
เวลา 20.09 น. นายชวนได้ขอมติที่ประชุมตั้ง กมธ.รับหลักการ ผลปรากฏว่าที่ประชุมทั้งสองสภาเห็นด้วย 432 ไม่เห็นด้วย 255 งดออกเสียง 28 ไม่ลงคะแนน 1 จากนั้นมีการตั้ง กมธ. 45 คน โดยใช้เวลาศึกษา 30 วัน  
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคไม่ขอร่วมตั้ง กมธ.ไม่ขอร่วมสังฆกรรมด้วย และได้พา ส.ส.เพื่อไทยวอล์กเอาต์จากที่ประชุม ซึ่งนายรังสิมันต์กล่าวว่าไม่ขอร่วมสังฆกรรม และจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป จากนั้น ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้แจ้งความจำนงไม่ขอร่วมสังฆกรรม และร่วมวอล์กเอาต์จากห้องประชุมเช่นกัน  
ต่อมาในเวลา 20.33 น. นายชวนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สภาอ่านพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมสภาฯ สมัยสามัญประจำปี โดยนายชวนได้เน้นย้ำ ส.ส. เจ้าหน้าที่สภาว่าช่วงปิดประชุมสภาอย่าติดเชื้อโควิด-19 กลับมา และได้สั่งปิดประชุมสภา  
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวในระหว่างลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.เชียงราย ถึงญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ว. ว่าขอให้เป็นเรื่องของ ส.ว.ให้เขาดำเนินการไป ไม่ไปก้าวล่วง ต่อมาใน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ อีกครั้งหลังเดินทางถึง กทม.ถึงการกดดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า "ก็แล้วแต่เขา" ก่อนเดินทางขึ้นรถกลับทันที.
    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"