จำคุก‘วัฒนา’99ปี วาง10ล้านไม่หนี


เพิ่มเพื่อน    

 

คุกถ้วนหน้า! ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก "วัฒนา" 99 ปี คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ร่วมชดใช้ 1.3 พันล้านบาท โชคดีได้ประกันชั้นอุทธรณ์ เป็นเคสแรกวางเงิน 10 ล้าน ยันไม่หนี ฟุ้งมั่นใจตั้งแต่วันแรกดูภาษากายก็รู้ ส่วน "เสี่ยเปี๋ยง-อริสมันต์" ก็ไม่รอด
    วันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 62 ปี อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548-2549, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน), นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และกลุ่มเอกชน รวม 14 ราย เป็นจำเลย
    ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91
    ศาลวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและโจทก์มีอำนาจฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการตามฟ้อง ซึ่งการดำเนินการมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำเป็นขบวนการอย่างมีระบบ อันเป็นความผิดตามฟ้องเกิดขึ้นจริง
    ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การที่จำเลยที่ 1 กำหนดแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่นั้น และการที่จำเลยที่ 1 มีบันทึกข้อความลงวันที่ 17 ตุลาคม 2548 สั่งให้แก้ไขข้อ 3 ของประกาศการเคหะแห่งชาติ ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2548 รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 แทรกแซงการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติและผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
    ส่วนความผิดฐานร่วมข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้เพื่อตอบแทนการที่การเคหะแห่งชาติอนุมัติให้ได้เข้าทำสัญญาตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่ารัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับงานด้านนโยบาย และจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องเฉพาะการปรับปรุงประกาศฉบับใหม่หรือทีโออาร์ก็ตาม แต่ลักษณะการกระทำความผิดในคดีนี้เป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 4-7 ซึ่งเป็นเพียงบุคคลภายนอกจะสามารถกระทำการได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 4 ไม่อาจจะแสดงตนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เชื่อถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีฐานะเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นทางการของจำเลยที่ 1 ได้เอง อีกทั้งจำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีอำนาจใดที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ตกลงจ่ายเงินได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างทุกรายได้ดังที่เกิดขึ้นจริงในคดีนี้ ทั้งจำเลยที่ 1 น่าจะรู้ข้อเท็จจริงที่มีการเรียกรับเงิน เพราะเป็นเงินจำนวนสูงมากและเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอย่างแพร่หลายในเวลานั้น
    ประกอบกับจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปกำกับดูแลการจ่ายเงินล่วงหน้า ย่อมมีผลเป็นการเร่งรัดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าอยู่ในตัว พฤติการณ์บ่งชี้ว่าเป็นการเร่งรัดและเพิ่มจำนวนเงินล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินล่วงหน้าที่ได้รับมามอบให้แก่จำเลยที่ 4 เมื่อมีการเรียกทรัพย์สินก็ต้องถือเป็นความผิดแล้วการที่จำเลยที่ 1 จะเรียกเงินจากผู้ประกอบการด้วยตนเองหรือไม่ ย่อมไม่ใช่ข้อสำคัญ
    ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นเป็นใจในการข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 อันเป็นบทเฉพาะแล้วไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
    สำหรับจำเลยที่ 10 ซึ่งเคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีคนก่อน ได้พูดยุยงส่งเสริมเพื่อช่วยในการตัดสินใจของนางชดช้อยให้เกิดความมั่นใจที่จะมอบเงินให้แก่ผู้มารับเช็คไป อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิดของขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ แม้ผู้ร่วมกระทำความผิดในขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการจะรู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกของจำเลยที่ 10 หรือไม่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 10 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามฟ้อง
    ดังนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 8 มีความผิดตามฟ้องรวม 11 กรรม จำเลยที่ 5 มีความผิด 5 กรรม จำเลยที่ 7 มีความผิดรวม 8 กรรม และจำเลยที่ 10 มีความผิดกรรมเดียว ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบเงินจำนวน 1,415,616,550 บาท และให้ชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบได้นั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 42, 43, 44 กำหนดให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือบุคคลได้มาจากการกระทำความผิดในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้มีหน้าที่ต้องส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของสิ่งที่ต้องส่งดังกล่าวได้ พร้อมทั้งต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่ศาลกำหนด
    โดยศาลมีอำนาจมีคำสั่งริบทรัพย์ตามที่ปรากฏจากทางไต่สวนของศาลได้ ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการขยายความเกี่ยวกับขั้นตอนการบังคับโทษในส่วนการริบทรัพย์สิน จึงย่อมใช้บังคับแก่คดีนี้ได้เมื่อมีการรับเงินมาจากการกระทำความผิดแล้วได้โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่นหลายบัญชีและมีการเบิกถอนเงินสดด้วย เชื่อว่าโดยสภาพของเงินที่ได้รับมาไม่สามารถที่จะส่งมอบหรือคืนได้ อันเป็นการที่แสดงให้เห็นว่าการติดตามเอาคืนกระทำได้ยากเกินสมควร จึงให้จำเลยผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงินชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบ โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 8 ร่วมกันชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าจำนวน 1,323,006,750 บาท จำเลยที่ 5 ร่วมชำระจำนวน 763,197,000 บาท จำเลยที่ 7 ร่วมชำระจำนวน 1,056,267,000 บาท และจำเลยที่ 10 ร่วมชำระจำนวน 40,000,000 บาท
    พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 (เดิม) จำเลยที่ 4-8 และที่ 10 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4-8 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกกระทงละ 9 ปี รวม 11 กระทง เป็นจำคุก 99 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3)
    ลงโทษจำเลยที่ 4 จำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 11 กระทง เป็นจำคุก 66 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 50 ปี ลงโทษจำเลยที่ 5 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี ลงโทษจำเลยที่ 6 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 11 กระทงเป็นจำคุก 44 ปี ลงโทษจำเลยที่ 7 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 32 ปี ลงโทษจำเลยที่ 8 ปรับกระทงละ 25,000 บาท รวม 11 กระทง รวมเป็นเงิน 275,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 10 จำคุก 4 ปี
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลฎีกาฯ อนุญาตให้นายวัฒนา ประกันตัว หลังทนายและญาติยื่นหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท เป็นบัญชีธนาคารหลักทรัพย์เดิม 5 ล้านบาท และเติมเงินสดเพิ่มอีก 5 ล้านบาท โดยศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 14 ราย แต่ที่ถูกลงโทษ ประกอบด้วย 1.นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ 4.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่  6.น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด 7.น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ, 8.บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน 10.นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย
    ภายหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัว นายวัฒนาให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่เห็นพ้องด้วย ก็จะใช้สิทธิ์อุทธรณ์ไปตามกฎหมาย ดีใจที่ตนเป็นเคสแรกที่โทษสูงแต่ศาลให้ประกันตัว เพราะได้กราบเรียนท่านว่าตนเป็นคนว่าความ ทำคดีเอง เอกสารมีเป็นหมื่นหน้า อยู่ในไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ถ้าไม่อนุญาตให้ประกันตัว ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ เพราะในเรือนจำไม่อนุญาตให้นำเครื่องมือสื่อสารเข้าไป
    "ศาลอนุญาตประกันตัวด้วยเหตุผลว่าเชื่อว่าผมไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและมาศาลทุกนัด ส่วนการอุทธรณ์ไม่ต้องมีพยานใหม่ เป็นการคัดค้านดุลยพินิจของศาล เป็นเรื่องความเห็นที่ไม่เหมือนกัน เราดูกันที่เหตุผล ขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะมีความเห็นอย่างไร ผมมั่นใจตั้งแต่วันแรกแล้ว ดูภาษากายผมก็รู้ เชื่อว่าสิ่งที่ทำมาถูกต้อง"
    ผู้สื่อข่าวถามว่ายืนยันว่าจะไม่หนีแน่นอน นายวัฒนากล่าวว่า "หนีทำไม ตอนนี้จะหนีไปสภา อยากลุ้นรัฐธรรมนูญมากกว่า ผมรู้ดีทุกอย่างว่าทำอะไร จากภาษากายทุกคนรู้ว่าผมไม่หนี องค์คณะ 9 ท่านยังเชื่อว่าผมไม่หนี นี่เป็นคดีแรกที่โทษ 50 ปีแล้วศาลให้ประกัน".

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"