เร่งทัวร์ยุคโควิด ‘ศบค.’ถก28ก.ย. ดึงต่างชาติเที่ยว


เพิ่มเพื่อน    

 "ศบค." เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ 3 ราย เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ส่วนยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,522 ราย รักษาตัวใน รพ. 101 ราย ขณะที่รองโฆษกรัฐบาลเผยท่องเที่ยว-สาธารณสุข เตรียมพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษแล้ว ย้ำมีมาตรการรัดกุม ไม่เสี่ยงโควิดระบาดระลอก 2 คาดนักท่องเที่ยวเข้ามา 1,200 คนต่อเดือน

    เมื่อวันที่ 26 กันยายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,522 ราย หายป่วยเพิ่ม 2 ราย ยอดสะสมของผู้ที่รักษาหายแล้วรวม 3,362 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 101 ราย
    สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ รายที่ 1 มาจากลักเซมเบิร์ก เป็นชายสัญชาติเยอรมัน อายุ 49 ปี อาชีพลูกเรือ เดินทางมาถึงไทยวันที่ 20 ก.ย. เข้าพักในสถานที่กักตัวแบบทางเลือกใน จ.ชลบุรี และเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 ก.ย. โดยตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันเดียวกัน ผลตรวจพบเชื้อไม่มีอาการ ซึ่งผลตรวจออกมาภายหลัง
    รายที่ 2 มาจากตุรกี เป็นชายสัญชาติตุรกี อายุ 51 ปี อาชีพลูกเรือ เดินทางมาถึงไทยวันที่ 21 ก.ย. เข้าพักในสถานที่กักตัวแบบทางเลือกใน จ.ชลบุรี แล้วเดินทางออกจากประเทศไทยในวันที่ 24 ก.ย. โดยตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันเดียวกัน ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ ซึ่งผลตรวจออกมาภายหลัง และรายที่ 3 มาจากแอลเบเนีย เป็นชายสัญชาติแอลเบเนีย อายุ 51 ปี อาชีพครู เดินทางมาถึงไทยวันที่ 21 ก.ย. เข้าพักในสถานที่กักตัวแบบทางเลือกในกรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 24 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อไม่มีอาการ
    สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 32,758,340 ราย อาการรุนแรง 63,788 ราย รักษาหายแล้ว 24,171,877 ราย เสียชีวิต 993,413 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 7,244,184 ราย 2.อินเดีย จำนวน 5,901,571 ราย 3.บราซิล จำนวน 4,692,579 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 1,136,048 ราย 5.โคลอมเบีย จำนวน 798,317 ราย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 137 จำนวน 3,522 ราย ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับ วันที่ 26 ก.ย. จำนวน 357 คน จากสวิตเซอร์แลนด์ 92 คน, สหรัฐอเมริกา 79 คน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 13 คน, นอร์เวย์ 157 คน และกัมพูชา 16 คน
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว คาดว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ โดยมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรัดกุม
    มีข้อปฏิบัติก่อนการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง, ทำประกันสุขภาพประกันโควิด-19 ตามข้อกำหนดของรัฐบาล, แจ้งข้อมูลกับบริษัทผู้ประสานงานก่อนการเดินทาง ทั้งโปรแกรมการเดินทางและกำหนดการที่อยู่ในประเทศไทย ผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อ ตั๋วเครื่องบินทั้งมาและกลับ ลงนามในหนังสือยินยอมยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐบาลไทยกำหนด ฯลฯ โดยเมื่อเดินทางถึงไทยแล้วจะต้องมีการกักตัว 14 วัน
1,200 คนต่อเดือน
    เธอเผยว่า ที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มีแนวคิดจะให้นักท่องเที่ยวกักตัว 7 วันนั้น ขณะนี้ยังไม่เริ่ม โดยจะเริ่มจากการกักตัว 14 วันก่อน แล้วค่อยพิจารณาคลายมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คาดว่าแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะมีการหารือในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 อีกครั้งในวันที่ 28 ก.ย.นี้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน
    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า รูปแบบการเดินทาง นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดเล็ก หรือเครื่องบินส่วนตัว ทุกเที่ยวบินจะต้องผ่านความเห็นชอบจากศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้า-ออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (ศปก.กต.) หรือศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ก่อน ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประมาณการรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1,200 คนต่อเดือน รายได้อยู่ที่ 1,030,732,800 บาท และคาดว่า 1 ปีจะมีนักท่องเที่ยว 14,400 คน โดยประมาณการรายได้ 12,368,793,600 บาท
    รองโฆษกรัฐบาลขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย ว่าไม่เสี่ยงต่อการระบาดระลอก 2 ที่ผ่านมารัฐบาลสามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันมากกว่า 100 วัน ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ ชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความประสงค์ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว และใช้ชีวิตพร้อมครอบครัวแบบพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น ไทยจึงจะใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
    ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 25 ก.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นนครนิวยอร์ก) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 75 ภายใต้หัวข้อหลัก “อนาคตที่เราอยากเห็น องค์การสหประชาชาติที่เราต้องการ : ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านพหุภาคี - เผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 ผ่านแผนงานความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ” ทางระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ
ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
    โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปีนี้ โลกต้องประสบกับวิกฤติด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ดังนั้นทุกประเทศต้องเชื่อมั่นในเรื่องของความร่วมมือระหว่างกัน พร้อมส่งกำลังใจไปยังทุกประเทศทั่วโลกให้ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโควิด-19 ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมุ่งมั่นและตั้งใจยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ โดยจัดตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” ดำเนินมาตรการตามหลักของกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ.2005 และแนวทางขององค์การอนามัยโลก รัฐบาลสนับสนุนแผนพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 โดยเห็นว่าวัคซีนและยาสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ควรต้องเป็นสินค้าสาธารณะระดับโลกที่ทุกประเทศได้รับสิทธิในการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสหประชาชาติจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องนี้
    นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยาทางเศรษฐกิจ โดยจัดตั้ง "ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ" เพื่อเป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบายร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้าน ไทยได้ดำเนินนโยบาย “หยุดโควิด แต่ไม่หยุดเศรษฐกิจไทย” พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “Bio-Circular-Green Economy” หรือ “BCG” โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน
    นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังขอบคุณองค์การอนามัยโลก ที่ให้การยอมรับว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถรับมือกับเชื้อโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นประเทศต้นแบบ ก็คือ การมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้มีความเข้มแข็ง ผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุม ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และความร่วมมือกับนานาประเทศ
    ในด้านการพัฒนา การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายล่าช้า ดังนั้นเราจะต้องทำงานหนักและส่งเสริมความร่วมมือให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
    สำหรับความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ นายโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวในวันนี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มเปิดประเทศให้แก่ชาวต่างชาติซึ่งได้รับวีซ่าระยะยาว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ญี่ปุ่นให้เข้าวันละ 1 พันคน
        ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่มีวีซ่าสามารถเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งได้แก่นักธุรกิจและนักศึกษา แต่ยังไม่รวมถึงนักท่องเที่ยว โดยจำกัดจำนวนชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศได้ไม่เกินวันละ 1,000 คน ขณะที่รัฐบาลจะเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่สนามบิน
    กระทรวงสาธารณสุขและกีฬาของเมียนมาออกแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลเมียนมาเตรียมประกาศคำสั่งเพิ่ม เพื่อกำหนดให้ประชาชนใน 11 เมืองของเขตมัณฑะเลย์, พะโค, อิรวดี และรัฐมอญ อยู่แต่ในเคหสถาน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่  26 ก.ย. เป็นต้นไป เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล่าสุดเมียนมาพบผู้คิดเชื้อเพิ่ม 768 คน    
    ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) เผยแพร่รายงานคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ฉบับใหม่ ซึ่งระบุว่าจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตในสหรัฐ อาจเพิ่มเป็น 226,000 รายภายในวันที่ 17 ต.ค.นี้
     ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ระบุว่า สหรัฐตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ใกล้ครบ 7 ล้านราย และผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า 203,000 ราย เมื่อนับถึงช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา
      นายแพทย์ไมค์ ไรอัน หัวหน้าโครงการภาวะฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกคาดว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกอาจมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านคน กว่าที่จะมีการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างทั่วถึง จึงเรียกร้องให้นานาประเทศมีความร่วมมือกันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
        เขากล่าวว่า ในช่วงเวลา 9 เดือนนับตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรกในจีน มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้วเกือบ 1 ล้านคน และไม่ควรมีการชี้ไปที่คนหนุ่มสาวว่าเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดในช่วงเวลานี้ ที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมลงในหลายพื้นที่ทั่วโลกทำให้มีการรวมกลุ่มจัดงานเลี้ยง เพราะในความเป็นจริงคนทุกกลุ่มอายุต่างก็มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น
         ขณะที่นายบรูซ ไอล์เวิร์ด ที่ปรึกษาอาวุโสขององค์การอนามัยโลก และหัวหน้าโครงการพัฒนาวัคซีนร่วม (ACT-Accelerator) กล่าวว่า กำลังมีการเจรจากับจีนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการหาเงินทุนสนับสนุนโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ที่มีเป้าหมายแจกจ่ายวัคซีน 2,000 ล้านโดสเพื่อรับประกันการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน โดยในขณะนี้ไต้หวันได้ร่วมลงนามในโครงการแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลกก็ตาม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"