ฉับไว!ชงคลื่น1800 กสทช.ประมูลสนองม.44รัฐบาลเร่งแก้กม.สรรหา


เพิ่มเพื่อน    

    สนอง ม.44 ให้อยู่ต่อ! กสทช.ฉับไว เคาะประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ 4 ส.ค. แบ่งขาย 3 ใบ 15 เมก ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท และเคาะราคาเพิ่มครั้งละ 75 ล้านบาท ขณะที่ "ดีแทค" งอแง เรียกร้องกสทช.ทบทวนราคาเริ่มต้น  "มีชัย" เผยการสรรหา กสทช.มีปัญหาเพราะตีความเจตนารมณ์กฎหมายไปคนละทาง ทั้งที่ไม่มีอะไรต้องพิสดาร
    นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.มีมติอนุมัติร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ โดยแบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ขนาดใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ อายุใบอนุญาต 15 ปี ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท โดยจะจัดการประมูลในวันที่ 4 ส.ค.61
        ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การเข้าประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ได้กำหนดหลักประกันการประมูลเท่ากับ 1,873 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ในครั้งก่อน คือถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 4 ราย จะประมูล 3 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะประมูล 2 ใบอนุญาต ระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท 
      ด้านกรอบเวลาการเตรียมการประมูล สำนักงาน กสทช.จะนำประกาศไปลงในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 4 พ.ค.61 จากนั้นจะมีการประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลและเผยแพร่เอกสารชี้ชวนการลงทุน (IM) รวมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-14 มิ.ย.61 และกำหนดการยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิ.ย.61 กสทช.กำหนดจะพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16 มิ.ย.-31 ก.ค.61 หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 2 ก.ค.61 
        หลังจากนั้น จะเป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วมประมูล ในระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค.61 กสทช.จะจัดชี้แจงขั้นตอนการประมูล (Information Session) และทดสอบการประมูล (Mock Auction) ก่อนที่จะเปิดให้เคาะราคาในวันที่ 4 ส.ค.61 เพื่อให้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)  กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (กสท.) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย.61 หากประมูลช้ากว่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหาย
       นายฐากรกล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่จัดให้มีการประมูลแล้วหากไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล สำนักงาน กสทช.จะออกหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ภายใน 1 เดือน เพื่อนำคลื่นความถี่มาประมูลอีกครั้งหนึ่ง หรือจะมีการพิจารณาปรับลดใบอนุญาตให้เล็กลง หรือเหลือใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 9 ใบอนุญาต
         อย่างไรก็ตาม กสทช.ให้ตัดสิทธิ์บริษัท แจส โมบาย เข้าประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากได้ทิ้งใบอนุญาตในการประมูลครั้งก่อน และเพื่อป้องกันการทิ้งใบอนุญาตอีก ร่างประกาศฉบับนี้ได้ปรับให้มีความเข้มขึ้น โดยสำนักงาน กสทช.จะยึดหลักประกันการประมูล 1,873 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,619 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,492 ล้านบาท
คลื่น 900 รฟท.ขอ
         สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์  เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรบกวนสัญญาณกับคลื่นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอใช้งานกับระบบรถไฟความเร็วสูง กสทช.จึงมีมติให้ชะลอการประมูลออกไป จนกว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาดังกล่าว
          "เราเชื่อว่าการเปิดประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน เนื่องจากทุกค่ายยังมีความจำเป็นในการถือครองคลื่นเพิ่มขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการถือครองคลื่น 55 MHz บ้าง 45 MHz บ้าง แต่จากการประเมินของ ITU ยังคงห่างไกลมาก ซึ่งในประเทศควรมีคลื่นราว 720 MHz เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต" นายฐากรกล่าว 
    ด้านนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีความกังวลต่อมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กลับไปใช้แนวทางเดิมสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งไม่ส่งผลดีอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายสร้างประเทศไทย 4.0 ในส่วนการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz นั้น ดีแทคกำลังรอประกาศเชิญชวนและเผยแพร่สรุปข้อสนเทศ (Information Memorandum) ฉบับสมบูรณ์ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
          นายลาร์สกล่าวว่า ดีแทคนำเสนอให้ 1.ขอให้พิจารณาราคาเริ่มต้นการประมูลของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ให้เหมาะสมเพิ่มขึ้นกับผู้บริโภคในประเทศไทย 2.ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะให้อนุญาต โดยการกำหนดใบอนุญาตคลื่นความถี่ ชุดละ 2x5 MHz (แทนขนาด 2x15 MHz) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถเลือกประมูลจำนวนคลื่นความถี่ที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งานแต่ละราย สอดคล้องกับแผนธุรกิจและการลงทุน และยังเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในตลาด 
       และ 3.การพิจารณาทบทวนข้อกำหนด N-1 (การกำหนดจำนวนใบอนุญาตที่นำมาประมูลต้องน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล) ในการประมูลคลื่น 1800 MHz ซึ่งควรยกเลิกกฎนี้ เนื่องจากส่งผลเสียต่อการแข่งขันและผู้ใช้งานในภายหลังประมูล เนื่องจากกฎนี้จะทำให้เกิดสภาวะเสมือนการขาดแคลนคลื่นความถี่จากที่มีอยู่เดิม และผู้เข้าประมูลบางรายอาจถูกจำกัดสิทธิ์การเข้าประมูล โดยทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดการลดการแข่งขันในตลาด และลดโอกาสและทางเลือกของผู้บริโภค
ดีแทคเตรียมความพร้อม
        ทั้งนี้ ดีแทคจะเร่งยื่นหนังสือนำเสนอแผนธุรกิจและแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558) เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้สัญญาให้บริการเดิม ในขณะเดียวกัน ดีแทคกำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการโอนย้ายลูกค้าที่ยังคงค้างในระบบด้วยข้อเสนอทางการตลาด เพื่อให้ลูกค้าที่มีอยู่จำนวนหนึ่งได้มีประสบการณ์ในการใช้งานดิจิทัล และเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ลูกค้าที่ใช้งาน 2G จะได้เข้าสู่ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบน 4G และ 3G
         "ดีแทคอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและจัดทำแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการภายใต้ประกาศดังกล่าว และจะนำเสนอต่อ กสทช.ในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกระบวนการเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับผู้ให้บริการมือถือรายอื่นๆ ที่หมดสัมปทานลง และเข้าสู่มาตรการเยียวยาคุ้มครองลูกค้า" นายลาร์สกล่าว
    นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2561 ว่าด้วยการยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง  กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าที่ประชุม คสช.ได้ระบุถึงปัญหาที่เกิดกับกระบวนการสรรหา และจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. (ฉบับที่ 2) ใน 2 ประเด็น ส่วนรายละเอียดของบทบัญญัติที่จะแก้ไขนั้น ตนไม่ทราบ 
    ทั้งนี้ เข้าใจว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายนั้น ต้องให้ กสทช.ปรับแก้ ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามกระบวนการ ซึ่งตาม พ.ร.บ.กสทช. ระบุว่าเมื่อกระบวนการสรรหาต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วัน หากไม่ระงับการสรรหาไว้ก่อน ปัญหาอาจจะเกิดซ้ำได้ และการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอาจจะแก้ไขไม่ทัน แม้ตนจะเสนอในวงประชุม คสช.ว่าให้ใช้การพิจารณาแบบ 3 วาระรวด เขาบอกอาจจะไม่ทัน จึงใช้คำสั่ง มาตรา 44 ออกมาเป็นแนวทางให้ระงับไว้ก่อน
         นายมีชัยบอกว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาคือส่วนของการแปลความบทบัญญัติของคุณสมบัติ หรือรายละเอียดของบุคคลที่มีสิทธิเข้ารับการสรรหา ที่ตีความต่างไปจากบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดให้บุคคลที่เคยทำหน้าที่ตำแหน่ง อธิบดีหรือเทียบเท่าสามารถเข้ารับสมัครได้ แต่กรรมการสรรหาตีความว่าต้องเป็นตำแหน่งขององค์กรนิติบุคคล ทั้งที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าให้เป็นนิติบุคคลหรือไม่ ขณะที่ประเด็นที่ สนช.อภิปรายในที่ประชุมต่อจำนวนบุคคลที่เสนอชื่อให้ สนช.ลงมติ ที่ต้องเสนอจำนวน 14 คน แบ่งเป็นด้านละ 2 คน แต่พบมีผู้ที่คุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้าม ทำให้จำนวนที่เสนอไม่ครบ จึงตีกลับบัญชีรายชื่อ เพราะไม่มีตัวเลือก ทั้งนี้ ตามหลักการตนไม่ทราบว่าสามารถแก้ไขกฎหมาย กสทช.เพื่อปลดล็อกให้ส่วนที่ไม่มีปัญหาเดินหน้าไปก่อนได้หรือไม่
ปัญหาการตีความ
         เมื่อถามว่า ควรแก้ปัญหากระบวนการสรรหาที่มาจากการแปลความของบทบัญญัติกฎหมาย ด้วยการออกประกาศกรรมการสรรหา กสทช.ได้หรือไม่ ประธานกรธ.กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ แต่เชื่อว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ฐานะกรรมการสรรหา กสทช. ควรจะนำประเด็นที่ สนช.อภิปรายไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และทำความเข้าใจกับการสรรหาให้ชัดเจน หรือสอบถามมายังผู้ร่างรัฐธรรมนูญถึงการแปลความหมายก่อนกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้ารับสมัครก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
         "จริงๆ การสรรหาไม่ได้พิสดารอะไร และเรื่องที่เกิดขึ้นจะไปโทษกรรมการสรรหาจนถึงขั้นเปลี่ยนตัวกรรมการไม่ได้ เพราะตามวิธีการของการให้ได้มาซึ่งกรรมการองค์กรอิสระทุกองค์กร สามารถใช้แมวมองเพื่อทาบทามบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้ามาสู่กระบวนการคัดเลือกได้ แต่ตอนนี้ที่เขาไม่ใช้ คงเป็นเพราะกังวลว่าจะถูกมองว่าเป็นคนของคนนั้นคนนี้" นายมีชัยกล่าว          
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในคำสั่งดังกล่าวให้ระงับการสรรหาไปก่อน ไม่เช่นนั้นจะต้องดำเนินการสรรหาให้ได้ภายใน 30 วัน หากใช้กติกาเดิมจะเกิดปัญหาเยอะตามที่มีการรายงานเข้ามา เช่น ระยะเวลา 30 วันในชั้นคณะกรรมการสรรหาไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบคุณสมบัติ เป็นต้น จึงควรแก้ไขวิธีการสรรหาก่อน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่าต้องแก้ระเบียบการสรรหาอย่างไร ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาเดิมๆ จะกลับมาอีก ส่วนระยะเวลาการแก้ไข แม้ไม่ได้กำหนดไว้ แต่ไม่มีอะไรชะงัก เพราะ กสทช.ชุดเดิมสามารถทำหน้าที่ต่อได้ และเผื่อไว้แล้วกรณีหากมีกรรมการ กสทช.ลาออก คนที่เหลือยังสามารถทำงานได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เขาคงรีบแก้ เนื่องจาก กสทช.ชุดเดิมก็ไม่อยากรักษาการนาน
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนที่ สนช.จะมีมติคว่ำการสรรหา กสทช. รู้ปัญหานี้ก่อนหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ยอมรับว่ามันเป็นเหตุเป็นผลกัน เพราะมีรายงานเข้ามาว่ามันมีปัญหาอะไร หากทิ้งไว้จะเกิดปัญหาอะไร มันไม่ใช่ปัญหาของคุณสมบัติ แต่เป็นเรื่องวิธีการ โดย สนช.และ กสทช.คือผู้เห็นปัญหาดังกล่าว
    นายวิษณุกล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลว่า ที่ประชุม คสช. เมื่อ 24 เม.ย.เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แต่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ไปพูดคุยหารือกันเพิ่มเติมในรายละเอียด โดยมีหลักเกณฑ์ว่าจะช่วยเหลืออย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งกับผู้ประกอบการ ภาครัฐ ประชาชน และผู้ที่จะเข้ามาลงทุนรายอื่นๆ ก่อนที่จะนำมาเสนอที่ประชุม คสช.อีกครั้ง แต่ตอบไม่ได้ว่าจะใช้มาตรา 44 ในการช่วยเหลือหรือไม่ ทั้งนี้ ได้นำความคิดเห็นของทีดีอาร์ไอมาประกอบการพิจารณา โดยการช่วยเหลือนี้จะต้องมีความสมน้ำสมเนื้อ
พิจารณาสมน้ำสมเนื้อ
    รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงถึง 3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และจะออกมาตรา 44 ในเร็วๆนี้นั้น ส่วนตัวไม่ทราบ ไม่รู้รายละเอียด แต่มาตรการเหล่านั้นคือแนวทางที่ผู้ประกอบการต่างพอใจ แต่รัฐต้องมาพิจารณาถึงความสมน้ำสมเนื้อเพื่อประโยชน์ของราชการ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และประชาชน รวมถึงนักลงทุนที่คิดจะมาลงทุนในทีวีดิจิทัลในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้ คสช.จะไม่ได้กำหนดเวลาว่าจะต้องไปพิจารณาจากนี้เท่าไร แต่เชื่อว่าจะพิจารณาไม่นาน
    ด้านนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่ คสช.เตรียมออก ม.44 กับ 3 แนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น มองว่า 1.แนวทางการอนุญาตให้พักชำระหนี้ได้ 3 งวด ใน 5 งวดที่เหลือในปี 61-65 เพื่อมีกำลังเก็บเงินไว้ทำธุรกิจให้เกิดสภาพคล่อง แต่การพักชำระหนี้ 3 งวดจะต้องจ่ายดอกเบี้ย 1.5% นั้น มองว่ามาตรการแรกนี้เป็นผลดีจริง เห็นจากพอมีข่าวออกมา หุ้นของกลุ่มทีวีดิจิทัลดีขึ้น ถือเป็นการเห็นปัญหาความเดือดร้อนจริงที่รัฐบาลพร้อมเข้าช่วยเหลือ หลังจากที่ผู้ประกอบการนำใบอนุญาตไปขอกู้แบงก์ไม่ได้เพราะทางแบงก์มองใบอนุญาตด้อยค่าอีกต่อไปแล้ว หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละช่องในการวางแผนการดำเนินงานหลังจากได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้น และอาจจะมีทั้งยอมจ่ายต่อเนื่องและพักชำระหนี้ พร้อมยอมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม ขึ้นอยู่กับโพซิชันนิงของแต่ละช่อง
    2.แนวทางเกี่ยวกับค่าโครงข่าย กสทช.จะช่วยจ่ายค่าเครือข่ายให้ครึ่งหนึ่ง หรือ 50% เป็นเวลา 2 ปี เป็นมาตรการที่ยังต้องรอดูรายละเอียดความชัดเจนมากกว่านี้ เบื้องต้นมองว่าเป็นผลดีทั้งต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและผู้ให้บริการโครงข่ายทั้ง 4 ราย แต่ในความช่วยเหลือดังกล่าวจะต้องมีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมบ้าง เช่น จำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ นำมาคิดคำนวณด้วยหรือไม่ 
    3.แนวทางการอนุญาตให้โอนใบอนุญาตได้ หากมีผู้สนใจอยากขอซื้อต่อก็สามารถโอนกิจการได้นั้น ปัจจุบันหลายๆ ช่องได้มีกลุ่มทุนเข้าไปให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว ซึ่งมาตรการความช่วยเหลือในข้อนี้ ต้องลงลึกรายละเอียดให้ชัดเจนว่าสามารถโอนใบอนุญาตได้นั้น หมายถึงสามารถเปลี่ยนได้ในระดับคู่สัญญาเลยหรือไม่
    “เป็นเรื่องปกติที่กลุ่มทุนระดับมหาเศรษฐีต้องการที่จะเป็นเจ้าของสื่อ จากที่มีธุรกิจอื่นๆ อยู่ในมือ อย่างที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ซึ่งในไทยเองก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นทีวีดิจิทัลจึงยังเป็นธุรกิจที่นักลงทุนสนใจเป็นเจ้าของ แม้ว่าสถานการณ์ทีวีดิจิทัลจะได้รับความเดือดร้อน” นายเขมทัตต์กล่าว
    วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล โดยระว่า เพื่อให้มีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ และรองรับการขยายโครงข่าย สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ทั้งสถานีหลักและสถานีเสริม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (1) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 27 (5) และ (24) แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 กสทช.จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ 
    1.ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 2.บรรดาประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่ได้กำหนดไว้แล้วในประกาศนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ ให้ใช้ประกาศนี้แทน 3.ให้ยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ลงวันที่ 16 ก.ค.2558 และให้ใช้แผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ดังมีรายละเอียดตามแผนความถี่วิทยุ กสทช. ผว.102-2561 แนบท้ายประกาศนี้แทน ประกาศ ณ วันที่ 13 มี.ค.2561.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"