หนุนแก้รธน.รายมาตรา


เพิ่มเพื่อน    

 ญาติวีรชนพฤษภา 35 จวก "รัฐบาล-ส.ว." สมคบคิดหักหลัง ปชช. คว่ำร่างแก้ไข รธน. หวั่นนองเลือดซ้ำรอยพฤษภา 35 จี้ "ภท. -ปชป." ถอนตัวรัฐบาลถอดชนวนรุนแรงเลือกนายกฯ ใหม่ปลุก ปชช.หนุนม็อบไล่ "บิ๊กตู่" แต่ห้ามจาบจ้วงสถาบัน "รังสิมันต์" ชี้ถ้าไม่มีเสียง ส.ว.เกมเตะถ่วงแก้ รธน.จะล้มเหลว พปชร.ยันตั้งกมธ.ศึกษาทางออกที่เหมาะสม ต้องฟัง ปชช.ทุกกลุ่ม ตร.รวบรวมหลักฐานก่อนเช็กบิล 3 กลุ่มชุมนุม โพลตอกย้ำถึงเวลาหาทางออกจากความขัดแย้ง รัฐบาลต้องรับฟังอย่างจริงใจ หนุนแก้ รธน.รายมาตรา ห้ามแตะหมวด 1-2  

    เมื่อวันอาทิตย์ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ว่า กรณีที่ประชุมรัฐสภาโหวตเห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 30 วัน โดยไม่เอาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ เป็นการสมคบคิดกันล่วงหน้าของรัฐบาลกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นอกจากจะแสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นข้อพิสูจน์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำผิดสัญญาหักหลังประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่เก็บรายงานการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไว้ในลิ้นชัก ซื้อเวลาปฏิรูปประเทศถึง 20 ปี โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ ตั้งกรรมการมาหลายชุด สุดท้ายเชื่อว่าไม่ต้องการปฏิรูปอย่างแน่นอน และเมื่อเห็นการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับอย่างคาดไม่ถึง ก็ชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สนใจเสียงเรียกร้องของประชาชนทุกภาคส่วนที่เสนอแนะทางออกจากความขัดแย้งและวิกฤติทางการเมืองด้วยความหวังดีมาโดยตลอด
     "นอกจากนี้ ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสาหัส พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีเครดิตหลงเหลืออยู่เลย จึงไม่มีใครอยากร่วมทีมเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นทุกอย่างจะต้องจบลงโดยเร็วเพราะยิ่งยืดเยื้อประเทศชาติจะเสียหาย ประชาชนจะยิ่งลำบาก จากปัญหาปากท้อง พล.อ.ประยุทธ์ยังล้มเหลวในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่เคารพของราษฎร ใช้กฎหมายเล่นงานคนเห็นต่าง ทำให้คนรุ่นใหม่ลืมพระเมตตาของในหลวง ถือเป็นความผิดที่ไม่สามารถอภัยให้ได้ ในเมื่อไม่แคร์ต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน ก็ป่วยการที่จะเสนอแนะอะไรอีก จึงมีความจำเป็นที่คนรุ่นใหม่ที่ไม่เห็นแสงสว่างและอนาคตข้างหน้าจะต้องรวมตัวออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยไว และขอเรียกร้อง ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกับกลุ่มนักศึกษาประชาชนขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องไม่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเสียแนวร่วมแล้ว ยังจะทำให้เกิดการเผชิญหน้านำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่มีที่สิ้นสุด และขอให้เคลื่อนไหวด้วยสติปัญญา ยึดแนวทางสันติวิธีอย่างแท้จริง แล้วจะทำให้มีพลังเอาชนะเผด็จการได้" นายอดุลย์กล่าว
     นายอดุลย์กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่พรรคพลังประชารัฐไม่โหวตญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการหักหลังพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันอย่างไร้มารยาท โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ที่มีจุดยืนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน จึงเกรงว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่พรรคร่วมรัฐบาลหักหลังประชาชนไม่เอานายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจนเป็นชนวนเหตุนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชน และเกิดการนองเลือดในที่สุด ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยถอดชนวนความรุนแรงทางการเมือง ด้วยการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล แล้วร่วมกันผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ 272 ปิดทาง ส.ว.เลือกนายกฯ แล้วเลือกนายกฯ ที่เหลืออยู่ตามรัฐธรรมนูญ ก่อนจะตั้งสภาร่างรัฐ ธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เสร็จแล้วก็ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เชื่อว่าแนวทางนี้จะนำพาประเทศชาติออกจากวิกฤติประเทศในทุกด้านได้
ซัด ส.ว.เตะถ่วงแก้ รธน.
     นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ควันหลงประชุมสภา การเตะถ่วงแก้รัฐธรรมนูญจะไม่สำเร็จถ้าไม่มี ส.ว.คอยโหวตให้ ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการประชุมสภาพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้มาเล่าให้ฟังครับ อย่างที่ทุกท่านทราบแล้ว มีการลงมติตั้งคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อ "ศึกษาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเสนอโดย ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาล เพื่อใช้เป็นเกมถ่วงเวลาการแก้รัฐธรรมนูญนั่นเอง โดยผลการลงมติคือ เห็นด้วย 431 เสียง ไม่เห็นด้วย 255 เสียง จึงสามารถตั้งคณะกรรมาธิการ (เตะถ่วง) ได้สำเร็จ  
    "ซึ่งใน 431 เสียงที่เห็นด้วยนั้น เป็นเสียงของ ส.ว.ถึง 228 เสียง  นั่นหมายความว่าหากตัดเสียง ส.ว.ออกไป จะมีเสียงเห็นด้วยเพียง 203 เสียงเท่านั้น จริงอยู่มี ส.ว.ที่โหวตไม่เห็นด้วย แต่ก็เพียง 3 คนเท่านั้น เสียงไม่เห็นด้วยจาก ส.ส.ยังมีถึง 252 เสียง กล่าวโดยสรุปคือ ถ้าไม่มี ส.ว. เกมเตะถ่วงการแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลก็จะประสบความล้มเหลว ก็คงได้เห็นกันแล้วนะครับว่า ส.ว.ที่ คสช. เลือกมาส่งผลต่อความพยายามหาทางออกให้กับประเทศนี้อย่างไร" นายรังสิมันต์กล่าว
    ด้าน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนาเตะถ่วง แต่เนื่องจากที่มาของรัฐธรรมนูญนั้นมาจากประชามติของประชาชน 16.8 ล้านเสียง เป็นสิ่งที่รัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐต้องระมัดระวังในการดำเนินการด้วย ไม่ใช่มีแต่ประชาชนที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีผู้ที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ จึงต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย ต้องหาจุดที่สมดุล สามารถยอมรับกันได้ ดังนั้นการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ ต้องฟังเสียงประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่จะเอาเฉพาะที่ถูกใจนักการเมือง หากเป็นอย่างนั้นก็จะเกิดความวุ่นวายขึ้น
     อดีตรองโฆษกพรรค พปชร.กล่าวถึงกรณีที่เพจคณะก้าวหน้ารณรงค์ปิดสวิตช์ ส.ว. โดยระบุว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมในระบอบประชาธิปไตยที่กวนใจประชาชนว่า เท่าที่ตนสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา มองเห็นสิ่งแปลกปลอมในระบอบประชาธิปไตยก็คือ ปรากฏการณ์ของการรณรงค์โจมตีกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง ทั้งที่สังคมประชาธิปไตยนั้นควรยอมรับความเห็นที่แตกต่าง และฟังความเห็นที่แตกต่างกัน อยู่ร่วมกันได้ ถกเถียงกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่การยกพวกไปรุมประชาทัณฑ์ทางโซเชียล แบนสินค้าและบริการของคนที่แสดง ความเห็นนั้นๆ ถือว่าเป็นการตื่นตัวทางการเมืองในลักษณะถดถอย ที่ผ่านมาไม่เคยแม้สักครั้งที่จะเห็นคณะก้าวหน้า แกนนำอย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล หรือ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ออกมาเตือนหรือห้ามปรามผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าเห็นดีเห็นงามด้วยกับพฤติกรรมเช่นนี้ ดีแต่เสี้ยมให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในประเทศ   
จ่อฟันแกนนำม็อบ
    เมื่อเวลา 17.30 น. ที่บริเวณสวนสาธารณะประตูเมือง (สวนเรืองแสง) ริมถนนมิตรภาพ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น กลุ่มดาวดินสามัญชน ร่วมกับกลุ่มขอนแก่นพอกันที นำโดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ได้กำหนดจัดกิจกรรม "ตามหา How To สู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยมีประชาชนและนักเรียนนักศึกษาเดินทางมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก โดยนายวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง หรือเซฟ แกนนำกลุ่มขอนแก่นพอกันที กล่าวปราศรัยว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่นครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก และจะมีครั้งต่อๆ ไป โดยจะมีนักเคลื่อนไหวที่เคยพูดตามข้างถนนหรือเวทีทั่วไป มาขึ้นเวทีวิชาการที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะเป็นเวทีชุมนุมปราศรัยกึ่งวิชาการ เพราะต้องการให้ประชาชนได้ความรู้ ไม่น่าเบื่อเหมือนเวทีชุมนุมที่ผ่านๆ มา ขณะนี้ยังเป็นข้อเรียกร้องเดิม ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนชาวอีสานกว่า 50% ต้องการปิดสวิตช์ ส.ว.ออกไป
    ขณะที่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน กล่าวว่า ช่วงที่จะเดินทางออกจากบ้านดาวดินไปจัดกิจกรรมที่สวนเรืองแสง ประตูเมือง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบของ สภ.เมืองขอนแก่น กว่า 20 นาย ได้เดินทางมาที่บ้านดาวดิน โดยมาพูดคุยและขอความร่วมมือในเรื่องของการห้ามนำป้ายหรือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาภายในงาน การจัดกิจกรรมที่สวนเรืองแสง ซึ่งตัวเองและเพื่อนๆ ไม่ได้คิดที่จะนำไป แต่การที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาที่บ้านดาวดินเพื่อห้ามนั้น มองว่าเป็นการคุกคาม
     ขณะเดียวกัน มีรายงานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) เปิดเผยถึงการรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดกลุ่มผู้ชุมนุม ตั้งแต่การชุมนุมที่สนามหลวงของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. กิจกรรมเรียก ส.ว.ลงหม้อ ซึ่งมีการเคลื่อนขบวนปราศรัยไปตามสถานที่ต่างๆ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. และการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยทั้ง 3 กิจกรรมอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ว่าการกระทำทั้งหมดเข้าข่ายความผิดใด ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เนื่องจากมีทั้งผู้มาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนและที่ตำรวจทำคดีเอง
     สำหรับกิจกรรมชุมนุมที่สนามหลวง ยังไม่มีการออกหมายเรียกหรือออกหมายจับแกนนำคนใด และจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบเข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 เท่านั้น ส่วนการชุมนุมที่รัฐสภา ยังไม่มี ส.ว. หรือ ส.ส. เป็นผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ แต่กรณีที่ผู้ชุมนุมลงไปบนพื้นผิวการจราจร และปิดเส้นทางเดินรถ เรื่องการรักษาความสะอาด และการใช้เครื่องขยายเสียง ก็จะต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่    
    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้เซ็นตั้งคณะทำงานคดีการชุมนุม มอบหมายให้ พล.ต.ท.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ควบคุมสำนวนการสืบสวนสอบสวนทั้งหมด และจะมีการนัดสรุปถอดบทเรียนในสัปดาห์หน้า
    เพจฟอร์ด เส้นทางสีแดง ของนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า มีคำถามว่าคนเสื้อแดงควรจะต่อสู้ร่วมกับนักศึกษาอย่างไรในอนาคต คำถามนี้เป็นคำถามที่ดีมาก คนเสื้อแดงได้ร่วมชุมนุมทางการเมือง กับนักศึกษามาหลายครั้ง แต่ที่ออกหน้าชัดเจนมากที่สุดคือวันที่ 19 กันยา.ที่ท้องสนามหลวง แต่อะไรเล่าคือข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดง ในอดีตคนเสื้อแดงได้ชื่อว่าต่อสู้เพื่อทักษิณ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ นักศึกษาได้ชูข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาการเมืองไทยในระยะยาว ผมขอเรียกร้องให้คนเสื้อแดงให้ก้าวข้ามคุณทักษิณออกมายืนเคียงข้างนักศึกษา ชูกำปั้นขึ้นมาเปล่งเสียงคำว่า "#ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" และ  "#เลิกหมอบกราบมนุษย์เราต้องเท่ากัน" เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมานานหลายปี
    วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "ระดมสมองหาทางออกความขัดแย้ง" จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,263 คน ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2563 พบว่า 91.87% เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องช่วยกันหาทางออกของความขัดแย้ง โดยรัฐบาลต้องรับฟังอย่างจริงใจ 88.44%, ไม่ใช้ความรุนแรง 87.57%, ไม่สองมาตรฐาน  82.03%, จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ 74.19% และถอยคนละก้าว 69.36%
หนุนแก้ รธน.รายมาตรา
    ส่วนคน/กลุ่มที่ควรเป็นผู้นำในการหาทางออกคือ แกนนำ ตัวแทนกลุ่มต่างๆ 27.40%, นายกฯ 26.77%, ประชาชน 24.37%,   ภาครัฐ 12.81%, นักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ 8.65%     สำหรับความคาดหวังของประชาชน เห็นว่าการหาทางออกน่าจะสำเร็จ 75.12%, น่าจะไม่สำเร็จ 24.88
    นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง มหามิตรต่างชาติกับการแทรกแซงชาติไทย  กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,069 ตัวอย่าง  ระหว่างวันที่ 21-26 กันยายน 2563  พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.5 ระบุไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญของประชาชนปี 2540 เลย ในขณะที่ร้อยละ 2.5 เคยอ่านบางมาตรา และร้อยละ 16.0 เคยอ่านทั้งฉบับ, ร้อยละ 71.7 ระบุไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญของประชาชนปี 2560 เลย ในขณะที่ร้อยละ 2.1 เคยอ่านบางมาตรา และร้อยละ 26.2 เคยอ่านทั้งฉบับ
    ที่น่าเป็นห่วงส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 ระบุจะแก้รัฐธรรมนูญเพราะฟังคนอื่นเขาว่ามาเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้อ่านด้วยตนเอง ในขณะที่ร้อยละ 14.7 ระบุอ่านด้วยตนเองอย่างละเอียด ครบถ้วน ทุกมาตรา
    ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.6 ระบุถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญแก้ได้บางมาตรา แต่ห้ามแตะต้องล่วงละเมิดหมวด 1 และ 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เพียงร้อยละ 4.4 ระบุว่าแก้ไขได้ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.1 ระบุว่ามีต่างชาติแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศไทย เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การชุมนุมม็อบต่างๆ ในขณะที่ร้อยละ 24.9 ระบุไม่มี
     เมื่อถามถึงประเทศที่เป็นมหามิตรต่างชาติกับประเทศไทย ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่เข้าถึง เข้าใจ วัฒนธรรมไทย จิตใจของคนไทยแท้จริง พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.2 ระบุทั้งสองประเทศเป็นมหามิตรต่างชาติของไทย ในขณะที่ร้อยละ 22.5 ระบุประเทศจีน, ร้อยละ 15.6 ระบุสหรัฐอเมริกา และร้อยละ 7.7 ระบุไม่ใช่ทั้งสอง  
    ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.5 ระบุทั้งสองประเทศเป็นมหามิตรต่างชาติของไทย ในขณะที่ร้อยละ  23.2 ระบุประเทศจีน และร้อยละ 18.3 ระบุสหรัฐอเมริกา
    ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงประเทศที่เป็นมหามิตรต่างชาติกับ ประเทศไทย ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่ควรเข้ามาทำโครงการสนับสนุนส่งเสริมความจงรักภักดีของคนไทยทั้งประเทศต่อสถาบันหลักของชาติ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 52.8 ระบุทั้งสองประเทศควรเข้ามา ในขณะที่ร้อยละ 17.7 ระบุว่าสหรัฐอเมริกาควรเข้ามาทำโครงการสนับสนุน ส่งเสริมความจงรักภักดีของคนไทยทั้งประเทศต่อ สถาบันหลักของชาติ,  ร้อยละ 16.3  ระบุเป็นประเทศจีน และร้อยละ 13.2 ระบุไม่ใช่ทั้งสองประเทศนี้

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"