ลุ้นศก.ไทยฟื้นหรือฟุบ!


เพิ่มเพื่อน    

 

            ดูเหมือนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากสัญญาณเศรษฐกิจในหลายๆ ส่วนที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัด จนทำให้รัฐบาลสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุม (ล็อกดาวน์) ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยที่เคยหยุดชะงักกว่า 3 เดือน กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง แม้ว่าการฟื้นตัวจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติในช่วงก่อนที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในช่วงนี้

                จากทิศทางดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายออกมาประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่สามารถจะเติบโตได้เต็มศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น โดยล่าสุด “คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)” ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวน้อยกว่าคาดการณ์เดิม โดยคาดว่าตัวเลขจีดีพีปีนี้จะขยายตัวที่ระดับติดลบ 7.8% ซึ่งเป็นการติดลบลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 8.1%

                แต่ที่เป็นประเด็นน่าสนใจคือ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เพราะ กนง.ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีในปีหน้าลงมาอยู่ที่ 3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 5% ด้วยปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ แนวโน้มของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้า อีกทั้งยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 ซึ่งปัจจัยนี้สร้างความกังวลให้กับภาคเศรษฐกิจไทยอยู่พอสมควร

                กลายเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อว่า แท้จริงแล้วมรสุมเศรษฐกิจจะเกิดผลชัดเจนในปี 2564 มากกว่าปี 2563 หรือไม่ ผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยง ทั้งเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จนทำให้ระบบเศรษฐกิจในทุกประเทศหยุดชะงัก ขณะที่หลายประเทศยังมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ยังไม่สามารถควบคุมได้ ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบในระยะยาวกับภาพรวมเศรษฐกิจของโลกในระดับเลวร้ายเพียงใด อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังมีปัญหาสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจ อย่าง สหรัฐ และจีน ที่ขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ ประเด็นนี้สร้างความเสียหายให้กับภาคการส่งออกของไทยอยู่พอสมควร แต่หากมองอีกมุมไทยเองก็ได้รับประโยชน์จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอยู่เช่นเดียวกัน และยังมีปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ปัญหาภัยธรรมชาติต่างๆ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศอย่างความไม่แน่นอนทางการเมือง สถานการณ์หนี้ครัวเรือน และหนี้ในระบบสถาบันการเงิน ภายหลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ เหล่านี้เป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาว

                ล่าสุด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะยืนยันชัดเจนว่า รัฐบาลได้วางแผนเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขณะนี้โลกยังมีการระบาดรุนแรง ทำให้ไทยเองต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ส่วนในมุมของภาคเศรษฐกิจ รัฐบาลเองได้เตรียมความพร้อมในการรองรับกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี (ต.ค.-ธ.ค.63) แต่ทุกอย่างต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั้งหมดในการร่วมกันดูแลและปฏิบัติตามกฎระเบียบ กติกา

                “ได้รับฟังข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดสถานการณ์โควิด-19 (ศบศ.) โดยให้แนวทางว่าจะต้องมีการดูแลเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าไปได้ด้วยดี มีกลุ่มที่ต้องพิจารณา คือ นักธุรกิจที่ต้องเข้ามาดูแลกิจการในไทย ต้องมีมาตรการติดตามที่เหมาะสม อีกส่วนคือการเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะยาว (long stay) ต้องพิจารณาตั้งแต่ประเทศต้นทาง พื้นที่ที่จะเข้ามาพักอาศัย และแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

                เรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และถี่ถ้วนที่สุด จริงอยู่ที่รายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญ แต่ความเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดของโรคก็เป็นประเด็นที่จะมองข้ามไม่ได้เลยในทุกมิติ เชื่อว่ารัฐบาลอาจต้องมีการพิจารณา และวางแนวทางการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเหมาะสมที่สุด เพราะหากพลาดไปเพียงนิดเดียวจนเกิดการระบาดรอบ 2 นั่นอาจทำให้ได้เห็น “มรสุมเศรษฐกิจ” ของจริง!.

 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"