ไร้ขุนคลังฉุดศก. ติดลบยาวข้ามปี แนะรัฐเร่งอัดฉีด


เพิ่มเพื่อน    

 “ธปท.” ชี้ไร้เงาขุนคลังฉุดเศรษฐกิจไทยสะดุด แนะรัฐบาลเร่งอัดเงินฟื้นฟูเยียวยา ต้องเร็วและเยอะ ประเมินติดลบถึงต้นปี 64 ก่อนผงกหัวฟื้นเป็นบวกในไตรมาส 2 พิษโควิดกระทบฐานะการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 6.14 แสนล้านบาท

    เมื่อวันที่ 30 กันยายน นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะฟื้นตัวชัดเจนในไตรมาส 2/2564 เนื่องจากไตรมาส 2/2563 เศรษฐกิจหดตัวลงไปแรงมาก ส่งผลให้ฐานต่ำ โอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตเป็นบวกจึงมีโอกาสสูงมาก ขณะที่การเติบโตไตรมาสต่อไตรมาสจากนี้จะขยายตัวเป็นบวก แต่ยังเป็นการขยายตัวที่ติดลบ โดยคาดว่าจะขยายตัวติดลบไปจนถึงไตรมาส 1/2564 แต่ถ้ามีการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง เศรษฐกิจจะติดลบต่ออีก
    “ไตรมาส 3-4 ปีนี้ เศรษฐกิจจะยังขยายตัวติดลบอยู่ แต่น้อยกว่าไตรมาส 2/2563 โดย ธปท.ประเมินว่าในช่วงครึ่งปีหลัง เฉลี่ยไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวติดลบประมาณ 8.5% ก็จะยังติดลบอยู่ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปีหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบอยู่ที่ 7.8%” นายดอนระบุ
    สำหรับเม็ดเงินเพื่อการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังเหลืออยู่ หากออกได้เร็วและเยอะจะมีผลในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปีหน้าขึ้นอยู่กับรัฐบาล รวมถึงกรณีที่ยังไม่มี รมว.การคลังคนใหม่ ทำให้หลายโครงการต้องหยุดไปเลย ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
    นายดอนกล่าวว่า แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ หรือ special tourist visa (STV) เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากเป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวไม่เกิน 1,200 คนต่อเดือน จากปกติอยู่ที่ 3 ล้านคนต่อเดือน จึงถือว่าเป็นการใช้จ่ายน้อยมาก
    สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.2563 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ตามมูลค่าการส่งออกสินค้า ที่ยังหดตัวที่ระดับ 8.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวสูงขึ้น ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลงต่อเนื่องในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัว 19.1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน
    ส่วนการลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ จากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้น แม้ยังอยู่ในระดับต่ำก็ตาม ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
    ขณะที่ภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ระดับ 100% จากระยะเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวสูงขึ้น ตามรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังคงขยายตัวสูง ขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลกลางยังหดตัว หากเร่งในส่วนนี้ให้ดีขึ้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบเล็กน้อย จากราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย ส่วนอัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อย สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกิดดุลจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิเล็กน้อยจากด้านหนี้สิน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  กระทรวงการคลังได้ออกรายงานฐานะการคลังภาครัฐบาล ตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562-มิ.ย.2563) ภาครัฐบาล (รัฐบาล กองทุนนอกงบประมาณ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) มีรายได้ 2,342,103 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 269,155 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.3 โดยเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และความจำเป็นของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการคลังผ่านมาตรการทางภาษีเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีต่างๆ ออกไปเป็นภายในเดือน ก.ค.-ก.ย.2563 และการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
    สำหรับด้านรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 2,956,492 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 299,908 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.3 จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 614,389 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของจีดีพี และดุลการคลังเบื้องต้นของภาครัฐบาลขาดดุล 471,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.0 ของจีดีพี.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"