จ่อคลอดรมว.คลัง หนี้50%ของจีดีพี


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ เผยทูลเกล้าฯ ถวาย พ.ร.บ.งบปี 64 แล้ว  ส่วนชื่อ รมว.คลังคนใหม่ "เดี๋ยวก็ออกมา" ด้าน “ปลัดคลัง” เรียกผู้บริหารประชุมทำแผนดูแลเศรษฐกิจระยะ 6-12 เดือน ปูพรมดูแลเศรษฐกิจระยะสั้น-กลาง-ยาว เตรียมพร้อมเสนอขุนคลังคนใหม่ “สบน.” เปิดตัวเลขหนี้สาธารณะสิ้น ส.ค.63 พุ่ง 1 แสนล้านบาท แตะระดับ 47.90% ของจีดีพี ลุ้นสิ้นปีงบประมาณ 63 หนี้ประเทศพรวดทะลุ 50% ของจีดีพี สวนทางมูลค่าจีดีพี

    ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี วันที่ 2 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี 2564 ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วหรือยังว่า "น่าจะทูลเกล้าฯ ถวายแล้วนะ ผมเซ็นไปหลายอย่าง อะไรเร็วสุดก็ลง เอาน่า เดี๋ยวก็ออกมา"
    เมื่อถามว่า ได้มีการนำชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์หันมาตอบว่า เดี๋ยวก็ออกๆ วันนี้พวกเราต้องช่วยกันเดินไปข้างหน้า อย่ามาดึงกันไปเรื่อยทุกเรื่องบ้านเมืองก็ไปไม่ได้
     วันเดียวกัน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 ต.ค.2563 จะเรียกประชุมผู้บริหารและอธิบดีกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงการคลังมาหารือ เพื่อรับฟังข้อมูลการดำเนินงาน หรือข้อจำกัดในการทำงานของแต่ละหน่วยงานในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร ก่อนนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำแผนดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้น 6 เดือน ถึง 1 ปีได้อย่างเหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมไว้รอเสนอให้กับ รมว.การคลังคนใหม่พิจารณาต่อไป  
    “จะดูทั้งระยะสั้นว่าควรจะมีมาตรการอะไรออกมาหรือไม่ แต่ละหน่วยงานทำงานเป็นอย่างไร มีข้อจำกัดอะไร ที่ทำได้ไม่ได้บ้าง เพื่อเตรียมทำแผนระยะสั้น และจะดูต่อไปว่าในระยะกลางจะทำอะไรต่อได้บ้าง คิดทุกอย่างเอาไว้ให้ชัดเจน เผื่อถ้ามี รมว.การคลังคนใหม่เข้า ก็จะได้นำแผนเหล่านี้ไปเสนอ” นายกฤษฎากล่าว
    นอกจากนี้ ยังจะสั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปหาข้อมูลผลกระทบจากโควิด-19 ของแต่ละรายภาคธุรกิจว่าได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจยานยนต์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเป็นรายธุรกิจ ให้ตรงจุด และถูกฝาถูกตัวมากขึ้น ซึ่งจะรวมไปถึงการพิจารณาตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบศ. ที่อยากให้มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูง ผ่านมาตรการภาษีด้วยว่าสามารถทำได้หรือไม่  
    ทั้งนี้ สศค.ก็จะต้องกลับไปดูว่า หากจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือรายธุรกิจใด จะต้องช่วยเหลือในลักษณะไหน และจะกระทบต่อฐานะการคลังมากน้อยเพียงใด หรือเมื่อหากต้องสูญเสียรายได้จากภาษีไป จะคุ้มค่ากับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ด้วย  
    ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีนั้น ปลัดกระทรวงการคลังระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คงไม่รื้อแผนการพิจารณาของ สศค.ที่ดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่จะนำมาดูเพื่อพิจารณาว่าภาษีตัวใดจะนำมาใช้ในช่วงเวลาใดถึงจะเหมาะสมมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่จะมีผลกับหลายภาคส่วน
    ขณะที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานตัวเลขหนี้สาธารณะล่าสุด ณ เดือน ส.ค.2563 อยู่ที่ 7.66 ล้านล้านบาท หรือ 47.90% ของจีดีพี โดยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 1% ของจีดีพี เนื่องจากจำนวนหนี้เพิ่ม และมูลค่าของจีดีพีลดลงมาอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท
     ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2563 หรือเดือน ต.ค. 2562 ถึงเดือน ส.ค.2563 (8 เดือน) หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นประมาณ 8 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ของจีดีพี แต่มูลค่าของจีดีพีกลับลดลงถึง 8 แสนล้านบาท จากผลกระทบของโควิด-19
     สำหรับสิ้นปีงบประมาณ 2563 (เดือน ก.ย.63) หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 50% ของจีดีพี สวนทางกับมูลค่าของจีดีพีที่คาดว่าจะหลุดต่ำกว่า 16 ล้านล้านบาท  โดยการก่อหนี้เพิ่มขึ้น มาจากการกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มเติม 2.14 ล้านล้านบาท และการกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ ณ เดือน ส.ค. มีการกู้ไปแล้ว 3.38 แสนล้านบาท ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"