บิ๊กตูยั่นปฏิรูปตร.รอบคอบ วิชาเสนอใช้‘ระบบไต่สวน’


เพิ่มเพื่อน    

  "วิชา" พบ "บิ๊กตู่" ยอมรับกลับมติ ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ตำรวจไม่ได้ แต่นายกฯ รับปากจะทำให้รอบคอบก่อนส่งเข้าสภา ชี้ใน กม.ปฏิรูป ตร.ต้องยึดแต่งตั้งตามอาวุโส-งานสอบสวนต้องอิสระ แนะแก้ พ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์คานอำนาจสีกากี เสนอปรับโครงร่างยุติธรรมไทยใช้ระบบไต่สวนแทนกล่าวหา

    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 1 ต.ค. นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และคณะกรรมการฯ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อนำผลสรุปแนวทางปฏิรูปกฎหมายในระบบกระบวนการยุติธรรม โดยใช้เวลาหารือประมาณ 45 นาที
    นายวิชากล่าวว่า นายกฯ ได้เชิญมาพบ เพราะคณะกรรมการฯ ได้ทำงานตามกำหนดระยะเวลาที่เสร็จสิ้นในวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยโดยสมบูรณ์ การพบกับนายกฯ เป็นไปได้ด้วยดี โดยนายกฯ รับฟังความคิดเห็นทั้งหมดของคณะกรรมการฯ แต่ได้ตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยคือร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ...โดยนายกฯ อธิบายให้ฟังถึงเรื่องที่ ครม.ได้ส่งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณา โดยเฉพาะตำรวจ ก็ปรากฏว่าหายไปเป็นเดือนแล้วจึงกลับมา ก่อนจะได้รับการแก้ไขอย่างที่เราทราบดีอยู่
    "คณะกรรมการฯ ได้ชี้แจงให้นายกฯ ฟังในประเด็นสำคัญที่เราไม่อยากให้เปลี่ยน เรื่องแรกคือให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือระบบอาวุโสกับความรู้ความสามารถ และเรื่องที่สองคือสายสอบสวนต้องเป็นสายที่มีความรู้ความชำนาญ เป็นอิสระ และได้รับค่าตอบแทนที่เป็นพิเศษ นายกฯ บอกว่าสำหรับการสอบสวนที่จะต้องเป็นแท่งและอิสระก็ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง แต่ระบบการแต่งตั้งของตำรวจมีขบวนการมานานแล้วที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักอาวุโส ที่เห็นๆ กันอยู่ว่ามีการแต่งตั้งข้ามหัวกันไปเยอะแยะ ฉะนั้นอาจจะต้องมีการใช้บทเฉพาะกาลอะไรไว้ให้เพื่อให้ปรับตอนเข้าระบบการเปลี่ยนผ่าน เพราะถ้าหากใช้ทันทีก็จะเกิดข้อร้องเรียนเยอะแยะว่าสายทั่วไป แต่ระบบอาวุโสจริงหรือไม่ ถือว่าเป็นข้อที่น่าสังเกตก็แล้วกัน" นายวิชากล่าว
    ถามว่า ข้อเสนอที่จะให้นายกฯ กลับมติ ครม.ที่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ตำรวจไปแล้วนั้นจะทำได้หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า เราทราบมาอย่างชัดเจนแล้วว่ายังไม่เรียบร้อย เพราะนายกฯ ได้ส่งเรื่องนี้ไปที่กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาถึงเรื่องเงิน เพราะเป็นกฎหมายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้าย ดังนั้นจึงยังมีเวลาไปปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะนำเข้าสู่สภา
    "ท่านรับเรื่องไปแล้วกัน ท่านบอกว่าท่านขอรับไป และไปดูให้รอบคอบตามที่เราให้ข้อสังเกตไว้ โดยเรายืนยันว่าอย่างไรก็ตามสองหลักนี้ต้องให้ปรากฏอยู่ในตัวกฎหมาย ซึ่งอาจจะมีเรื่องอื่นๆ ที่ตำรวจขอปรับแก้ ที่เรียกว่าแปลงสารอะไรทำนองนี้ แต่เราเห็นว่าไม่สำคัญเท่าสองหลักนี้" นายวิชากล่าว
    นายวิชายังระบุว่า นอกจากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ....แล้ว ได้พูดคุยถึงแนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาและข้อเสนอแนะปรับปรุงกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งนายกฯ ได้รับเรื่องไว้ทั้งหมดว่าจะไปดูเพื่อแก้ไขให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการฯ เสนอ โดยเฉพาะการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยคณะกรรมการฯ ขอให้แก้ไขด่วนในมาตรา 145/1 ที่ทาง คสช.แก้ไขอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยได้ตัดอำนาจของผู้ว่าฯ ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งกันกับตำรวจ ซึ่งกลายเป็นว่าตำรวจมีอำนาจครอบคลุมทั้งหมด
แก้กม.ค้านอำนาจสีกากี
    "คณะกรรมการฯ ได้ขอให้กลับไปเหมือนเดิม คือให้ทางผู้ว่าฯ สามารถโต้แย้งทางตำรวจได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก  เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายปกครองมีความไม่พอใจมาโดยตลอด และเขาเห็นว่าเป็นอำนาจเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่เขาจะท้วงติงแทนราษฎร ซึ่งในประเด็นดังกล่าวได้มีการยกตัวอย่างคดีในอดีตหลายคดี แต่ตอนนี้ไม่มีอำนาจที่จะไปโต้แย้งอะไรได้แล้ว" นายวิชากล่าว
    นอกจากนี้ ในส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนิติวิทยาศาสตร์นั้น การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่ทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเสนอมา ทางคณะกรรมการฯ ได้สนับสนุนประเด็นนี้ให้รีบออกมาโดยเร็ว และให้แก้ไข พ.ร.บ.บริการนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้สามารถใช้งานได้แม้ว่าทางฝ่ายตำรวจตรวจสอบและมีความเห็นแล้วยุติแล้วโดยตำรวจ แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความฝ่ายอื่นเขาไม่พอใจ ก็สามารถจะใช้บริการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมได้ เพื่อให้อำนาจคานกัน ดังนั้นต่อไปนี้ สามารถใช้บริการได้ทั้งนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจและนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม
    “ที่สำคัญไปกว่านั้น นายกฯ เห็นด้วยที่คณะกรรมการฯ เสนอว่าสมควรเปลี่ยนระบบกระบวนการยุติธรรม จากระบบกล่าวหา เป็นระบบไต่สวนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะนำไปสู่การค้นคว้าและการที่จะถกเถียงกันต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะเปลี่ยนโครงร่างของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเลยทีเดียว ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอไป และนายกฯ ก็ได้รับแล้ว อย่างไรก็ตาม ในวันนี้คณะกรรมการฯ ถือว่าได้ยุติบทบาทลงแล้ว เพราะได้ส่งงานกันเรียบร้อยแล้ว" นายวิชากล่าว
    ถามถึงความคืบหน้าคดีนายวรยุทธ นายวิชากล่าวว่า เราได้รับทราบข้อมูลจากนายกฯ เยอะแล้ว คนนึกว่าคดีนิ่งอยู่ แต่ความจริงองค์กรที่เกี่ยวข้องได้เดินหน้าในส่วนของตนเอง โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษแล้ว และในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับสำนวน และเข้าสำนวนสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และจะนำไปสู่การไต่สวนต่อไป ส่วนการตรวจสอบเรื่องการเงิน ป.ป.ช.จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการตรวจสอบแล้ว อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองพยานปากสำคัญก็ยังคงต้องทำอยู่ จนกว่าจะมีการเบิกความเสร็จเรียบร้อย
ปฏิรูปตร.ยึดคำสั่ง 203
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบทสรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่นายวิชาเสนอนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด 4 หน้า แบ่งเป็นทั้งหมด 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.การที่งานสอบสวนของตำรวจขาดความเป็นอิสระในการทำงาน ถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาและอิทธิพลภายนอกของบุคคลที่ประพฤติมิชอบได้โดยง่าย เปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตเพื่อบิดเบือนความจริงและพยานหลักฐานได้อย่างเบ็ดเสร็จ 2.การสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนและการฟ้องร้องคดีของอัยการ ขาดความเชื่อมโยงและความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพ
    3.ระบบกฎหมายมีช่องโหว่ให้กระบวนการสอบสวนและฟ้องร้องคดีดำเนินไปอย่างล่าช้า โดยไม่มีข้อจำกัดหรือระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพ 4.ความเหลื่อมล้ำของคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทำให้สังคมเชื่อว่าความยุติธรรมสามารถซื้อได้ และคุกมีไว้ขังคนจน 5.ระบบกฎหมายเปิดช่องให้เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทุจริตและประพฤติมิชอบ 6.กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะการสอบสวนล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
    คณะกรรมการฯ เห็นว่า ในการแก้ไขข้อบกพร่องข้างต้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องยึดถือหลักมาตรฐานสากลในการดำเนินคดีที่เป็นธรรม ต้องมีการปรับโครงสร้างการสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ เพื่อลดการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาและอิทธิพลภายนอก โดยการแยกสายงานสอบสวนให้เป็นสายงานเฉพาะจากฝ่ายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และให้มีหลักประกันความเจริญก้าวหน้าในสายงาน จะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การสอบสวนฟ้องร้องเป็นกระบวนการเดียวกันที่มีความเป็นเอกภาพ และลดโอกาสการทุจริต ลดระยะเวลาในการดำเนินการ ตลอดจนจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนฟ้องร้องคดีอาญาที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
    โดยจะต้องแก้ไขกฎหมาย ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … 2.ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. … 3.ร่างกฎหมายเกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ 4.ร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.… 5.ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดและระเบียบคณะกรรมการอัยการ และ 6.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
    "คณะกรรมการฯ เห็นว่าคณะรัฐมนตรีควรเสนอร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ..... ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 203/2562 ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติโดยเร็วที่สุด โดยคณะกรรมการฯ เชื่อว่าหากได้มีการประกาศและบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับตามหลักการและเจตนารมณ์แห่งการร่างแล้ว  วิกฤตการณ์ทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"