‘เจ๊หน่อย’ปัด‘หญิงอ้อ’! ไม่เชื่อชินวัตรคุมพรรค


เพิ่มเพื่อน    

 นักการเมืองตั้งวงถกรัฐธรรมนูญ แก้เมื่อไหร่ความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้นแน่ ผู้จัดการโครงการ iLaw โชว์วิสัยทัศน์ประชาธิปไตย ถ้า ส.ว.ไม่รับจะต้องอับอาย ประชาชนจะโกรธเคืองก่อนตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง "เจ๊หน่อย" ยันไม่ถอดใจ ชี้หากจะมีรัฐบาลแห่งชาติก็คงเป็นชาติหน้า ปฏิเสธลั่น "หญิงอ้อ" คุมเพื่อไทย

    เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยร่วมกับสถาบันสร้างไทย จัดสัมมนาเรื่อง "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือทางออกประเทศไทย" โดยมีนักการเมือง นักวิชาการ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา, นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รศ.ดร.โคทม อารียา ประธานภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย, นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา
         นายโภคินกล่าวว่า ความพิสดารของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ประเทศเดินไม่ได้ และจะเห็นว่าผลจากการสืบทอดอำนาจจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะเป็นทางออกของประเทศก็คือต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน วันนี้หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จะต้องให้ประชาชนเป็นผู้กำหนด เป็นผู้เขียน ไม่ใช่ให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาเขียน ดังนั้นจึงต้องมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ แล้วนำไปทำประชามติ จึงเชื่อว่าทางนี้เป็นทางออกของประเทศ
    ยืนยันว่าการแก้ไขไม่ได้แตะหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวกับรูปแบบรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ที่พยายามเว้นไว้ เพราะต้องการไปดูหมวดที่เกี่ยวกับประชาชน เกี่ยวกับ ส.ส. และ ส.ว. ที่พูดแบบนี้ไม่ได้ต้องการไปคัดค้านข้อเสนอของประชาชนที่ต้องสามารถแก้ไขทุกมาตราได้" นายโภคินกล่าว
         ด้านนายนิกรกล่าวว่า เหตุผลที่ต้องตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อนโหวตรับหลักการ เพราะไม่ต้องการให้ร่างโดนตีตกไปตั้งแต่วาระรับหลักการ ดังนั้นจากการที่รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สามารถแก้ได้ 80% ส่วนจะสามารถแก้ไขได้ตามร่างของฉบับรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เป็นเรื่องที่จะต้องไปพูดคุยกัน พร้อมยืนยันว่าในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาจะโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระรับหลักการ
         ขณะที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า กลุ่มไอลอว์ได้จัดทำโครงการเพื่อต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการเข้าชื่อของประชาชนกว่าแสนรายชื่อ และนำร่างไปยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร แสดงให้เห็นว่าประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบบที่ไม่ปกติได้ตระหนักรู้แล้วว่าระบบการเมืองที่ไม่ปกติเป็นอย่างไร และได้ใช้ทุกช่องทางที่สามารถทำได้ เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งระบอบการเมืองที่ปกติ ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐาน ซึ่งนี่เป็นข้อเสนอที่เห็นต่างยาก และเป็นข้อเสนอที่ตัวแทนประชาชนที่อยู่ในสภาไม่สามารถปฏิเสธได้ และไม่มีเหตุผลต้องปฏิเสธ เพราะเป็นเนื้อหาที่ไม่สามารถหาเหตุผลในการปฏิเสธได้
ทางออกประเทศคือแก้ รธน.
         "ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมที่สุด เพื่อหาทางออกตามระบบทางกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งหากคนที่อยู่ในสภาโหวตไม่รับก็ควรที่จะต้องอับอายต่อตัวเองและประชาชน โดยหากมี ส.ว.โหวตไม่รับก็จะทำให้ประชาชนโกรธเคืองมากขึ้น และถ้ามีการโหวตไม่รับก็ต้องรับผิดชอบด้วย หากมีปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่มาจากความโกรธของประชาชนที่เพิ่มขึ้นและตัดสินใจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง" นายยิ่งชีพกล่าว
         ด้าน รศ.ดร.โคทมกล่าวว่า เหตุผลที่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะมีความไม่แฟร์ ดังนั้นต้องรื้อซากสิ่งผุพังและสร้างอนาคตใหม่ โดยการให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจผ่านการลงประชามติว่ารับหรือไม่รับร่างที่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลแก้ไข ผ่านการเลือกตั้ง ส.ส.ร. และผ่านการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างที่ ส.ส.ร.ร่างอีกครั้ง
         ส่วนนายวัฒนากล่าวว่า ปัญหาของประเทศมี 2 ปัญหา คือ การเมืองและเศรษฐกิจ หากแก้ปัญหาการเมืองไม่ได้ ปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่สามารถแก้ไขได้ วันนี้หากบ้านเมืองวุ่นวายก็ไม่มีใครกล้ามาลงทุน อีกทั้งอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเป็นต้นตอของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งดูได้จากในรัฐสภา คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนคนที่มาจากการแต่งตั้งจะขัดขวาง ดังนั้นทางออกของประเทศมีเรื่องเดียวคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากไม่แก้ไข เลือกตั้งกี่ครั้งก็ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม
         ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ย้ำว่า วันนี้เป็นเผด็จการภายใต้เสื้อคลุมเผด็จการ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจและลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะการไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ตนและคณะยังไม่ยอมถอดใจและจะเดินหน้าผลักดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เพราะถือว่าเป็นทางออกที่สันติและดีที่สุดในการออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช่การมีรัฐบาลแห่งชาติ ดังนั้นสิ่งที่ต้องการเสนอคือ ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน
    คุณหญิงสุดารัตน์ยังกล่าวถึงกระแสว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลแห่งชาติของพรรคเพื่อไทยว่า ส่วนตัวปฏิเสธไปหลายครั้ง พรรคเพื่อไทยจะไม่เข้าร่วมอย่างแน่นอน เพราะจะไม่มีใครทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชน
         ส่วนกระแสข่าวการดีลลับให้คนในตระกูลชินวัตรมานั่งบริหารพรรคและกลับมาเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ก็ไม่เป็นความจริง มีเพียงข่าวลือ ไม่ทราบว่าข่าวมาจากที่ใด และยืนยันว่าไม่มีการเข้ามา ครอบงำภายในพรรค  "หากจะมีรัฐบาลแห่งชาติ ก็คงเป็นชาติหน้า"
          สำหรับประเด็นที่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จะเข้ามา บริหารพรรคเพื่อไทยนั้น คุณหญิงสุดารัตน์บอกว่า ทราบจากการรายงานของสื่อมวลชน แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริง โดยมั่นใจว่าจะเป็นการปล่อยข่าวเพื่อทำลายพรรคมากกว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยมีผู้บริหารชุดใหม่ เชื่อว่าทุกคนจะทุ่มเทในการทำงาน และทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจเพื่อความก้าวหน้าของพรรคเพื่อไทยต่อไป
30 วันมันสั้นนิดเดียว
     นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ระบุ กมธ.จะมีมติให้ทำประชามติก่อนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ เพื่อประวิงเวลาว่า กมธ.ยังไม่ได้มีมติให้ทำประชามติก่อนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ยังเหลือการประชุมอีก 9 นัด กมธ.จะต้องเร่งศึกษาให้เสร็จภายในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ทันเปิดสมัยประชุมในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ดังนั้น ข้อเสนอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อรับหลักการก่อนวันที่ 14 ตุลาคมจึงไม่น่าเป็นไปได้ และไม่มีประโยชน์ในช่วงของเงื่อนเวลาที่สั้นเพียงแค่ 1 เดือน
    “ตามเงื่อนเวลาปิดสมัยประชุมสั้นมากแค่ 1 เดือน กว่าจะล่าชื่อเสนอประธานเพื่อส่งให้ ครม. มีกระบวนการที่ต้องใช้เวลา กว่าจะเสร็จก็อาจจะใกล้เปิดสมัยประชุมพอดี ยืนยันได้ว่าไม่ใช่การประวิงเวลา ไม่มีประโยชน์อะไรที่ต้องประวิงเวลา เพราะแค่เวลา 30 วันมันสั้นนิดเดียว" นายอัครเดชกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อคณะอนุ กมธ.พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย จำนวน 15 คน ประกอบด้วย นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา, นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย, นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สมาชิก ส.ว. อดีตเลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ,  นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิก ส.ว. อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง
    นายคมสัน โพธิ์คง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, นายเจษฎ์ โทณวณิก อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, นายบุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า, นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายสรศักดิ์ เพียรเวช อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายธนาวัฒน์ สังข์ทอง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นต้น โดยมีการเรียกประชุมนัดแรก ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ เวลา 09.30 น. ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"