'จาตุรนต์-สมศักดิ์' คนเดือนตุลาประสานเสียงชมม็อบเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงสังคมได้ จวกรัฐบาลคุกคามสิทธิเสรีภาพ


เพิ่มเพื่อน    

5 ต.ค.63 - ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดโครงการ 86 ปี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กับการก่อเกิดโรงเรียนกฎหมายและการเมือง โดยมีการเสวนาวิชาการหัวข้อ คนเดือนตุลากับคุณค่าประชาธิปไตย : ร่องรอย ความทรงจำ และความหวังอนาคตการเมืองไทย โดยนายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในประวัติศาสตร์แบบตะวันตกเสรีนิยม ในแง่คุณธรรมจริยธรรม เขาพัฒนาคุณธรรมของประชาชนด้วย ไม่ใช่คุณธรรมของผู้นำผู้ปกครองที่วิเศษ ดังนั้น คุณธรรมจริยธรรมจะต้องมีทั้งของผู้นำ และของประชาชน ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมของประชาชนสำคัญกว่า

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตอนเริ่มต้นเหตุการณ์ 14 ตุลา ตนต้องตอบคำถามตัวเองตลอดเวลา ว่าทฤษฎีที่อาจารย์สอนกับปรากฏการณ์ที่เป็นจริงของสังคมไทยย้อนแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เรื่องสิทธิ เสรีภาพ กระบวนการปกครองของสังคมไทย ที่บอกว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่ความจริงของสังคมไทยไม่เคยมี ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตนไม่เคยเห็นความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง อำนาจเป็นของประชาชน แต่กลับอยู่ในมือทหารตลอดเวลา แม้กระทั่งวันนี้อำนาจก็ยังไม่อยู่ในมือประชาชน และไม่รู้จะไปสิ้นสุดเมื่อไหร่ จึงเป็นความท้าทายของเด็กรุ่นใหม่ ที่มีแฮชแท็กให้จบที่รุ่นเรา เพราะเขาไม่ต้องการส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปยังรุ่นลูก รุ่นน้องของเขา ตนเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่มีสำนึกที่เขายอมไม่ได้ ทั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในสภาพแบบนี้ แต่เป็นแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดย 3 ทรราช ทุกคนจึงรวมตัวกันมาสู้ การเรียกร้องสิ่งใดก็แล้วแต่ไม่ได้เกิดจากการร้องขอ แต่เกิดจากการต่อสู้จึงจะได้มา ตนเชื่อว่าเด็กในวันนี้ได้เรียนรู้แล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญ 60 เป็นรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุด ริดลอนสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนมากที่สุด สิ่งเหล่านี้เด็กๆได้เรียนรู้จากโลกออนไลน์ อ่านข้อมูลเยอะ ส่วนบางคนยังบอกว่าผู้นำตอนนี้มาจากประชาธิปไตย ตนถามว่ามาอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญเขียนมาแบบหวยล็อกให้ได้คนที่ไม่อยากได้ ตนรู้ว่าเขาไม่อยากเลือกนายกฯ แต่เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญทำให้ได้นายกฯแบบนี้ ประกอบกับพรรคการเมืองที่ตอนแรกเป็นอีแอบแล้วตอนหลังมาสนับสนุน เราต้องยอมรับว่าการปฏิรูปการเมืองยังไม่เกิดขึ้น จึงยากที่จะให้พรรคการเมืองตระหนักถึงภารกิจของการเป็นพรรคการเมือง จึงเป็นจุดที่ทำไมต้องมีการปฏิรูปและให้จบที่รุ่นเรา 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 14 ต.ค.นี้ เชื่อว่าหลายคนคาดหวังจะเกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ซื้อเวลา ซึ่งตนแปลกใจเพราะก่อนวาระนี้เข้าที่ประชุมรัฐสภา ได้มีการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่พอจะลงมติไม่มีเหตุผลใดต้องตั้งคณะกมธ.เพื่อศึกษาอีก ตั้งขึ้นมาโดยที่ยังไม่รู้เลยว่าเอากลับมาจะรับหรือไม่รับ วันที่ 14 ต.ค.นี้ อย่าประเมินเสียงของประชาชนต่ำ เพราะเสียงของประชาชนดัง และเป็นเสียงสวรรค์ บริบททั้งหมดนี้จะทำให้เด็กรุ่นใหม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ศึกษาเหตุการณ์เดือนต.ค. มากขึ้นถือว่าเป็นการเรียนรู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีความก้าวหน้า เป็นเรื่องที่น่ายินดี ส่วนการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาที่บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีท่อน้ำเลี้ยงหรือไม่นั้น ตนขอย้อนไปในอดีตว่าสมัยเหตุการณ์เดือนต.ค. ไม่มีท่อน้ำเลี้ยงแต่มีชาวบ้านแม่ค้าสนับสนุน ส่วนการเคลื่อนไหวในปัจจุบันตนยังไม่เห็นว่าใครจะเป็นท่อน้ำเลี้ยง ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวกระจัดกระจาย และหาทุนกันอยู่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้เห็นอกเห็นใจ คนจะเป็นท่อน้ำเลี้ยงต้องคิดหนัก เพราะรัฐบาลจ้องจะเล่นงานรังแก คนจึงไม่อยากแสดงตัวเป็นท่อน้ำเลี้ยง แต่ถามว่ามีคนอยากสนับสนุนเยอะหรือไม่จากประสบการณ์เชื่อว่ามีเยอะ

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า เวลานี้รัฐบาลไม่ถึงกับโดดเดี่ยว เพราะหาพวกมาเยอะพอสมควร แบ่งสรรผลประโยชน์ไม่น้อย แต่รัฐบาลนี้ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่คนเห็นแล้วว่าแก้ปัญหาไม่ได้ ล้มเหลวยิ่งอยู่ยิ่งเป็นผลเสีย แต่ที่อยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญคุ้มเขาอยู่ เพราะเขาเขียนขึ้นมาเอง แต่ระบบที่กำลังเข้มแข็งแบบนี้กำลังให้โทษแก่รัฐบาลเองที่แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ แก้ปัญหาประชาชนไม่ได้ แต่ใครไปแตะหรือเปลี่ยนคุณไม่ได้ เพราะรวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาล และรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจ กลายเป็นปัญหาของประเทศ ที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับโลก

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การทำกิจกรรมของนักเรียน นักศึกษา ถูกจำกัดคุกคามละเมิดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป เราต้องเข้าใจคำว่าใช้เสรีภาพต้องไม่ขัดต่อกฎหมายนั้น กฎหมายต้องเป็นธรรม ไม่ใช่เกินกว่าเหตุทำตามอำเภอใจ แต่รัฐบาลใช้กฎหมายต่อผู้แสดงสิทธิเสรีภาพเกินกว่าเหตุไปมาก ทำแบบนี้กับนักเรียน นักศึกษา จำนวนมาก นี่คือการคุกคามการแสดงออก ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ควรตั้งคำถามหรือบอกกับนักศึกษาว่าต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น เพราะรัฐบาลเองที่ไปคุกคามสิทธิเสรีภาพเขา 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"