เหล่าทัพลั่นปกป้อง‘จอมทัพไทย’


เพิ่มเพื่อน    

  “บิ๊กแก้ว” เรียกประชุมผู้นำเหล่าทัพนัดแรก ประกาศทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย “พระมหากษัตริย์” เป็นทั้งประมุขและจอมทัพไทยที่ต้องพิทักษ์ปกป้อง ลั่นการปฏิวัติไม่อยู่ในความคิดของทหารยุคปัจจุบัน “ชวน” เสวนารัฐธรรมนูญบอกขึ้นอยู่กับการปฏิบัติไม่ใช่เนื้อหากฎหมาย  “เฮียตือ” โผล่เตือนอย่าประมาทพลังเด็กในการชุมนุม 14 ต.ค. “ภูมิธรรม-ญาติวีรชนฯ” พร้อมใจบี้ประยุทธ์ลาออกปลดล็อกประเทศ

    เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ต.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) มีการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ  ครั้งที่ 1/2563 โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์  ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) แถลงภายหลังประชุมว่า วาระที่ได้หารือเป็นกรอบการทำงานของกองบัญชาการกองทัพไทยร่วมกับเหล่าทัพ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นไปตามภาระหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 52 ที่เป็นหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์รักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เอกราชอธิปไตยบูรณภาพแห่งดินแดน สอดรับกับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และเป็นหน้าที่โดยตรงที่ทหารต้องปฏิบัติ
    เมื่อถามถึงการปกป้องสถาบันที่มีประชาชนและคนรุ่นใหม่บางส่วนออกมาล่วงละเมิด พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า ในเรื่องสถาบันและภาระหน้าที่ของทหารได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ปี 2475  เป็นต้นมาจนถึงปี 2560 มาตรา 52 และในส่วนมาตรา 8 ก็บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งองค์จอมทัพไทย ซึ่งข้าราชการทหารมีขวัญกำลังใจและปลาบปลื้มในการปฏิบัติหน้าที่ต่อรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องความนิยมและเป็นประมุขของรัฐที่ทุกรัฐมีเป็นสากล กำลังทหารมีหน้าที่ปกป้องรัฐ ประเทศ และประมุขของรัฐที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร เราจึงใช้คำว่าจอมทัพไทย
    ถามอีกว่าจะใช้เครื่องมืออะไรของรัฐ ในการทำความเข้าใจและพูดคุยกับประชาชนที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับสถาบัน พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า ในส่วนข้อมูลข่าวสารประชาชนจะได้รับข้อมูลหลายส่วน ในการดำเนินการของเหล่าทัพจะดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญ ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก็ได้กำหนดว่าสามารถมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สามารถดำเนินการได้เท่าใดขอให้ไปดูบทบัญญัติที่มีเขียนต่อท้ายว่า ไม่กระทบความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประเทศ ส่วนนอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการ
    ถามถึงบทบาทกองทัพกับการเมืองจะวางตัวอย่างไร พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องการบริหารประเทศตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ทหารเป็นกลไกของรัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการช่วยเหลือประชาชน ส่วนด้านการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการในส่วนของผู้เกี่ยวข้องกับการเมือง บทบาททหารไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่สิ่งที่อาจเกี่ยวพันหรือทาบทับกันคือเรื่องความมั่นคงของรัฐ ที่เป็นหน้าที่โดยตรงของทหาร ซึ่งไม่ต้องมีผู้ใดสั่ง แต่ภาพการปฏิบัติเราอยู่ภายใต้กรอบแนวทางนโยบายรัฐบาลทุกเรื่องรวมถึงเรื่องความมั่นคง
    เมื่อถามว่า ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งจะวางตัวอย่างไร โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มี ส.ว.เพื่อให้ผู้มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ของบ้านเมือง มาเป็นหลักดูแลทั้งด้านกฎหมายและการดำเนินการต่างๆ เป็นเพียงห้วงเวลาหนึ่ง ผบ.เหล่าทัพและ ผบ.ตร.ก็เป็น ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ เราไม่สามารถพูดได้ว่ามีความเห็นอย่างไร เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่มีข้อกฎหมายกำหนดไว้ เราปฏิบัติตามภาระหน้าที่ เมื่อเข้ามาเป็น ส.ว.ก็จะได้รับการชี้แจงการดำเนินการปฏิบัติในแต่ละบุคคลไป
    เมื่อถามย้ำว่า ผบ.เหล่าทัพได้พูดคุยหรือไม่ว่าจะไม่รับค่าตอบแทน ส.ว.เหมือนอดีต ผบ.เหล่าทัพที่ปฏิบัติมา พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพราะตำแหน่ง ส.ว.กำหนดมาในแต่ละบุคคล เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคนในการพิจารณา แต่ในส่วนของตนเองไม่รับเงินเดือนในส่วนนี้
    ถามว่าจะจัดเวลาปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.อย่างไร พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า ถือเป็นความเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องไปปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่สามารถให้คนอื่นทำแทนได้ และจะให้ความสำคัญในส่วนนี้ โดยภารกิจทั่วไปมอบหมายได้
    เมื่อถามว่า ทหารจะทำหน้าที่นอกรัฐธรรมนูญหรือปฏิวัติหรือไม่ พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแนวทางดำเนินการ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย  ทหารคือประชาชน ในหน่วยทหารอะไรที่ไม่ใช่การปกครองที่ต้องสั่งการ เป็นภารกิจเพื่อการอยู่ร่วมกัน เราก็ใช้ประชาธิปไตยในการดูแลความเป็นอยู่ของกำลังพล
ปฏิวัติไม่อยู่ในความคิด
    “ในส่วนของทหารเรามีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเชื่อมั่นอย่างที่ประชาชนเชื่อมั่นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่แย่น้อยที่สุดในภาพของสังคมโลก เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ได้รับโอกาสและสิทธิต่างๆ ลดความยากลำบาก มีมาตรฐานและคุณภาพชีวิต เพื่อเพิ่มโอกาสเป็นพลเมืองเป็นพลังแผ่นดินกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ เน้นพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลยากลำบากที่บางหน่วยงานเข้าไปไม่ถึง จะกระจายสิ่งเหล่านี้ให้ถึงประชาชน การปฏิวัติไม่ได้อยู่ในความคิดของทหารในปัจจุบัน” พล.อ.เฉลิมพลกล่าว
    ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผบ.?เหล่าทัพได้หารือกันแล้วว่าจะไม่ขอรับเงินเดือนตำแหน่ง ส.ว. โดยให้แต่ละคนทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา?
      ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีเครือข่ายครูขอสอน เรียกร้องกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาและการสร้างโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยว่า เข้าใจว่าการแสดงออกทางการเมืองทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ข้อสำคัญที่สุดต้องเคารพกฎหมายด้วย เพราะยังมีกฎหมายลูกจากรัฐธรรมนูญทุกมาตรา ขอให้ดูตรงนั้นด้วย ไม่ใช่เป็นการละเมิดสิทธิ์หรอก หากเป็นการละเมิดสิทธิ์ก็ต้องไม่ให้ชุมนุม ดังนั้นชุมนุมได้แต่อย่าทำผิดกฎหมายก็แล้วกัน  
      “การชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค. ผมคาดหวังไม่อยากให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เพราะไม่เป็นผลดีกับประเทศในเวลานี้เลย ยิ่งอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ด้วย ขณะที่ในสภาเขาก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องเหล่านี้ที่มีการเรียกร้องอยู่หลายข้อ ขอให้รับฟังตรงนี้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ซึ่งน่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์มีสีหน้าเหนื่อย อิดโรย และตอบคำถามสื่อด้วยน้ำเสียงเนือยๆ ไม่ได้อารมณ์เสียแต่อย่างใด  
ด้าน พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวถึงการรับมือการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค.ว่า จะใช้แผนชุมนุม 63 เป็นแนวทางการปฏิบัติ โดยเบื้องต้นจะใช้กำลังตำรวจของ บช.น. 20 กองร้อย และมีกำลังเสริมจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1, 2, 3, 4 และ 7 ไว้รองรับตามจำนวนผู้ชุมนุม
    น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงผลโพลของสำนักวิจัยซูเปอร์โพลในเรื่องการชุมนุมว่า ผลโพลแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในการชุมนุมต่างๆ ที่ผ่านมาเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นที่เกินขอบเขต ฝ่าฝืนกฎหมาย ใช้สิทธิเกินส่วน ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นการชุมนุมที่อยู่บนพื้นฐานของการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยที่ดี ดังนั้นจึงขอให้น้องๆ  เยาวชน นักศึกษา พิจารณาทบทวนก่อนที่จะเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. ว่าหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร เพราะมีคนบางกลุ่มกำลังใช้ประโยชน์จากการชุมนุมโดยที่ไม่ออกหน้าแสดงความรับผิดชอบใดๆ เลยหรือไม่ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่แอบรอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้ตนเองอยู่
    “การยุบสภายังไม่ควรทำในขณะนี้ เพราะจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องล่าช้าไปอีก ส่วนการเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชน ก็ไม่สมควรทำโดยการคุกคามผู้อื่นที่เห็นต่างของกลุ่มแกนนำเอง”  น.ส.ทิพานันกล่าว
    ส่วนที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก  น.ส.ทิพานันกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์คิดถึงอนาคตที่ดีของลูกหลานและประเทศชาติ จึงได้อดทนอดกลั้นในการปฏิบัติหน้าที่ ท่านตระหนักดีว่าอาจมีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่หมดอนาคตไปแล้ว หวังใช้พลังบริสุทธิ์ของเยาวชนลูกหลาน เอาอนาคตของผู้มาชุมนุมใช้เป็นเครื่องมือบันไดไปสู่อนาคตใหม่ที่ดีของกลุ่มตัวเอง
ขณะเดียวกันที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดโครงการ 86 ปีมหาวิทยาลัยสวนดุสิตกับการก่อเกิดโรงเรียนกฎหมายและการเมือง โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “คุณธรรม  จริยธรรม ของนักกฎหมาย และนักการเมือง เพื่อการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี" ตอนหนึ่งระบุว่า หลักที่ดีกับคนที่ดีต้องไปด้วยกัน รัฐธรรมนูญ 2540 ถ้าดีจริงทำไมทหารต้องยึดอำนาจ คนดีคนชั่วมีอยู่ทุกวงการ อย่าเกรงใจแล้วทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องไม่เกรงใจแล้วยึดหลักความถูกต้องเอาไว้ และไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองและนักกฎหมายเท่านั้น แต่ทุกคนต้องมีหลักคุณธรรมจริยธรรมทั้งสิ้น
ปัญหาอยู่ที่ภาคปฏิบัติ
    “ถ้านักการเมืองมาจากระบบที่ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม เราก็จะมีรัฐบาลที่มีคุณธรรม เพราะรัฐบาลมาจากนักการเมืองเสียงข้างมาก หากสภาสีขาวรัฐบาลก็จะขาว ถ้าสภาสีดำรัฐบาลก็จะเป็นสีดำ  เพราะมาจากที่เดียวกันคือผู้แทนเสียงข้างมาก ปัญหาบ้านเมืองเราอยู่ที่ภาคปฏิบัติ เพราะเห็นตัวอย่างมามากมายคนที่สอนให้คนอื่นซื่อสัตย์ แต่ก็ไม่ซื่อสัตย์ หรือนักการเมืองที่บอกว่าเห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมือง แต่เบื้องหลังก็ยังมีการซื้อเสียง” นายชวนกล่าว
    จากนั้นมีการเสวนาวิชาการหัวข้อ คนเดือนตุลากับคุณค่าประชาธิปไตย : ร่องรอย ความทรงจำ และความหวังอนาคตการเมืองไทย โดยนายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า คุณธรรมจริยธรรมจะต้องมีทั้งของผู้นำและของประชาชน  ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมของประชาชนสำคัญกว่า
    นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่เคยเห็นความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง อำนาจเป็นของประชาชน แต่กลับอยู่ในมือทหารตลอดเวลา แม้กระทั่งวันนี้อำนาจก็ยังไม่อยู่ในมือประชาชน จึงเป็นความท้าทายของเด็กรุ่นใหม่ มีแฮชแท็กให้จบที่รุ่นเรา เพราะเขาไม่ต้องการส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปยังรุ่นลูกรุ่นน้องของเขา เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่มีสำนึกที่เขายอมไม่ได้
“วันที่ 14 ต.ค.นี้อย่าประเมินเสียงของประชาชนต่ำ เพราะเสียงของประชาชนดังและเป็นเสียงสวรรค์ บริบททั้งหมดนี้จะทำให้เด็กรุ่นใหม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้”
นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “รำลึกเดือนตุลาคม...เดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง : เดือนแห่งความทรงจำทางการเมือง” ระบุว่า "การรำลึกถึงประวัติศาสตร์เดือนตุลาคม จึงเป็นการรำลึกถึงความทรงจำทางการเมืองที่รำลึกถึงจิตวิญญาณของความเป็นนักประชาธิปไตย ที่ต่อสู้กับเผด็จการ และความใฝ่ฝันที่อยากเห็นสังคมไทยดีขึ้นกว่าเดิมในบริบทสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งประเทศไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การบริหารประเทศแบบระบอบประยุทธ์ไม่ใช่คำตอบของสังคมไทยในวันนี้ และวันข้างหน้า ประยุทธ์ออกไปสังคมไทยจะกลับมาดีกว่าเดิมแน่นอน"
    สำหรับความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ส.ว.ต้องระมัดระวังในการลงมติชั้นรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 6 ฉบับ โดยจุดยืนต้องยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะ ส.ว.ต้องมีอิสระ ไม่ใช่นักการเมือง ต้องมีดุลยพินิจ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ  นี่คือจุดยืน ส.ว.ที่ต้องพิจารณารัฐธรรมนูญให้ดี เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ อีกทั้งต้องรับฟังผลการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาญัตติของรัฐสภาก่อนพิจารณาลงมติ
    “ต้องดูว่า ส.ว.จะพิจารณาอย่างไร เพราะฝ่ายหนึ่งบอกว่าให้ทำประชามติตอนนี้ และมีการหารือในข้อกฎหมาย หากดำเนินการไม่ถูกต้องอาจขัดต่อกฎหมายได้ ยอมรับตามตรงว่ายังไม่เข้าใจในเรื่องนี้  จึงยังไม่สามารถตอบได้ชัดในขณะนี้” นายพรเพชรกล่าวตอบถึงเรื่องการทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    ส่วนข้อกังวลว่ารัฐสภาอาจตีตกในวาระรับหลักการในช่วงเปิดสมัยประชุมหน้า ทำให้ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ในสมัยประชุมปี 2564 เดือน พ.ค.นั้น นายพรเพชรยืนยันว่าไม่ใช่ธงที่ตั้งไว้ ทำไมต้องถูกตีตกไป ยืนยันไม่มีความคิดเรื่องนี้ จากที่ฟังเสียงของ ส.ว.แต่ละคนจะรับฟังผลศึกษา และขอให้ติดตามรายงานผลการศึกษาของคณะ กมธ. ซึ่งจะไม่ได้ชี้นำการลงมติ แต่จะแจงในข้อกฎหมาย
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวถึงการเชิญฝ่ายค้านร่วมเป็น กมธ.ว่า ยังไม่เห็นหนังสือเชิญ แต่หากเชิญไปเพื่อจะซื้อเวลา ยื้อเวลา เราไม่ขอเข้าร่วม เพราะผลการศึกษาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่แล้วมากมาย ถ้ารัฐบาลจริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ
     นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท.กล่าวว่า การตั้ง กมธ.ก่อนลงมตินั้นเป็นการรอสัญญาณจากผู้มีอำนาจว่าจะตัดสินใจอย่างไรมากกว่า ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลประเมินสถานการณ์ทางการเมืองก่อนตัดสินใจ ส่วนกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ส่งสัญญาณให้พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.รับหลักการญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้
พท.ลั่นไม่จับมือ พปชร.
    น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค พท.กล่าวว่า พรรคจะประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ใน  1-2 สัปดาห์ เพื่อกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์พรรค โดยมุ่งเน้น 4 ภารกิจ คือ ต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตย เดินหน้าเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนกระแสข่าวตั้งรัฐบาลแห่งชาติ พรรคย้ำว่าจะไม่เข้าร่วมเป็นรัฐบาลแห่งชาติ พรรคจะไม่จับมือกับอำนาจที่มาจากเผด็จการ  เพราะหากทำเช่นนั้นเท่ากับเราปฏิเสธความยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย  
นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า การส่งสัญญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถสั่งให้รัฐบาลรวมทั้ง ส.ว.ลงมติตามที่รัฐบาลต้องการได้ ดังนั้นกรณีการลงมติรับหรือไม่รับหลักการญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลมากกว่าทำตามความต้องการของประชาชน
    ขณะเดียวกัน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาคม 2535 ได้ออกแถลงการณ์ หัวข้อ "ปลดล็อกประเทศไทย...จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจช่วยชาติ" โดยได้เรียกร้อง 5 ข้อ คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกจากตำแหน่ง 2.พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากพรรคร่วม 3.ส.ว.ช่วยชาติ โดยร่วมมือกับพรรคการเมืองในสภา ด้วยการผลักดันการตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจช่วยชาติ 4.กลุ่มผู้ชุมนุมควรมุ่งไปที่การกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกสถานเดียว และ 5.นิรโทษกรรมคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน แล้วเร่งแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากฉันทานุมัติของรัฐสภา โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ.
 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"