ประเพณีลากพระเมืองตรัง งดงามด้วยศรัทธา หาชมยาก!


เพิ่มเพื่อน    

สัมผัสความงามของเรือพระในประเพณีลากพระเมืองตรัง

 

 

        84 วัดในจังหวัดตรังร่วมสร้างสรรค์เรือพระจำนวน 81 ลำอย่างสวยงาม ในงานประเพณีลากพระจังหวัดตรัง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ที่สืบทอดมายาวนาน โดยเฉพาะจังหวัดตรัง จะจัดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เดิมจัดที่สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง ปัจจุบันจัดที่ลานเรือพระทุ่งแจ้ง อำเภอเมือง ทั้งนี้ มีการเล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนานว่าจะเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับสู่มนุษย์โลกทางบันไดทิพย์ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปมาแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์ จนสืบทอดมาเป็นประเพณีลากพระในท้องถิ่นทางภาคใต้
    บนเรือพุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่เหนือเรือ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ หรือปางอุ้มบาตร แต่ละวัดจะเฟ้นหาช่างฝีมือที่มีความชำนาญช่วยกันตกแต่งเรือพระให้สวยงาม เพื่อนำเข้าร่วมประกวดแข่งขัน นอกจากนั้นยังมีพุทธศาสนิกชนโดยรอบวัดช่วยกันออกแรงและออกทุนทรัพย์ตามกำลังศรัทธา โดยใช้เวลาช่วงเข้าพรรษาสร้างเรือพระ 

 

หาชมได้ยาก เรือพระ 81 ลำ ร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น

 

     สำหรับปีนี้การสืบสานงานประเพณีลากพระจังหวัดตรัง ครั้งที่ 18 จะจัดระหว่างวันที่ 3-11 ต.ค. ณ ลานเรือพระทุ่งแจ้ง มีการประกวดเรือและการแสดงศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ทั้งหนังตะลุงและมโนราห์ ที่โดดเด่นคู่เมืองตรัง จนมีคำกล่าวถึงเมืองตรังว่า “มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนรา” นอกจากนี้ การละเล่นกีฬาพื้นบ้าน การประกวดสำนวนโวหารของถิ่นใต้ การเล่านิทานพื้นบ้านคึกคักยิ่งขึ้น มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น
    นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้เดินทางมาเที่ยวชมเรือพระที่เข้าร่วมการประกวดปีนี้ 81  ลำ ซึ่งนำมาจอดรวมกันที่บริเวณลานเรือพระทุ่งแจ้ง แต่ละลำตกแต่งประดับประดาด้วยแสงสีอย่างสวยงามตระการตา โดยเฉพาะในยามค่ำคืน โดยมีชาวพุทธต่อคิวทำบุญแบบรักษาระยะห่าง นำปัจจัยใส่บาตรที่วางหน้าเรือพระด้วยความอิ่มบุญอิ่มใจ เรือทุกลำมีพระสงฆ์จากวัดนั้นๆ ประพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลไม่ขาดสาย ปีนี้ อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานประเพณี โดยมียุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, ขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าฯ จังหวัดตรัง, กิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง และชาวตรังเข้าร่วมภายใต้มาตรการป้องกันโควิด

 

อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วธ. ทำบุญใส่บาตรตามประเพณีลากพระ

 

     อิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการร่วมกับ อบจ.ตรัง เทศบาลนครตรัง จัดงานประเพณีลากพระจังหวัดตรัง ครั้งที่ 18 เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดประเพณีโบราณของภาคใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน รวมทั้งเพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล โดยเฉพาะการยกระดับจัดงานประเพณีและเทศกาลศิลปวัฒนธรรมของไทย วธ.เน้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ภาคภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ตลอดจนสร้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ อีกทั้งสนับสนุนให้มีการจัดทำหนังสือองค์ความรู้ เกร็ดที่มา เรื่องเล่า เพราะงานลากพระเป็นกิจกรรมหลักของ จ.ตรัง
    “ ประเพณีลากพระของจังหวัดตรังนอกจากเป็นประเพณีดีงามของท้องถิ่น ยังเห็นได้ชัดเรื่องความร่วมไม้ร่วมมือ ความสามัคคีของคนในชุมชน วัด อบจ. ช่วยกันตกแต่งเรือพระ รูปแบบคือ หัวเรือแกะสลักเป็นพญานาค 7 เศียร ท้ายเรือเป็นบันไดทอดยาวพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ ส่วนการตกแต่งแล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ จากนั้นลากเรือพระรวบรวมมาไว้ที่ลานเรือพระทุ่งแจ้ง ส่งเสริมให้เกิดการทำบุญกับวัดต่างๆ  อีกทั้งปลูกฝังการดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะวัสดุตกแต่งเรือพระห้ามใช้โฟม ซึ่ง วธ.จะขยายงานประเพณีนี้ให้เป็นที่รับรู้มากยิ่งขึ้น" อิทธิพล กล่าว

 

พระสงฆ์ตรังประพรมน้ำมนต์เสริมความสิริมงคล


    พระราชวรากร เจ้าคณะจังหวัดตรัง วัดกะพังสุรินทร์ กล่าวว่า หลังออกพรรษาทุกปีชาวตรังจะจัดประเพณีลากพระ กว่าจะเห็นเรือพระเต็มลานพระทุ่งแจ้ง ช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน วัดต่างๆ ตกแต่งเรือพระให้สวยงดงามเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยเงินจัดสร้างมาจากวัด ญาติโยม พุทธบริษัทสละปัจจัย ปีนี้มีเรือพระจำนวน 81 ลำ ทั้งเรือพระขนาดเล็กและใหญ่ตกแต่งงดงาม ทำด้วยใจและศรัทธาแรงกล้า ครั้งแรกการจัดงานมีเรือพระ 18 ลำ ปัจจุบันเรือพระไม่ต่ำกว่า 80 ลำทุกปี
    “ สมัยก่อนใช้แรงคนชักลากเรือพระไปตามคันนาหรือทุ่งนา เป็นประเพณีที่สืบทอดมานาน ปัจจุบันใช้รถลากเรือพระ ด้วยศรัทธาประเพณีลากพระจัดมา 18 ปี เรือทุกลำมาสู่ลานพระทุ่งแจ้งเพราะความสามัคคีและรักในขนบธรรมเนียมประเพณี จากแบบอย่างเรือพระที่คนรุ่นเก่าทำกันมา คนยุคนี้ก็พัฒนาและต่อยอด มีการประดับไฟหลากสี ทางจังหวัดตรัง อบจ.ตรัง วัด และประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานมรดกนี้ เรือพระจะไม่ใช้โฟม และตั้งบาตร 3 ใบให้พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญ นำศาสนามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจ" พระราชวรากรกล่าวคุณค่างานประเพณีลากพระเมืองตรัง

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"