ปฏิวัติเป็นศูนย์ ผบ.ทบ.:อย่าสร้างเงื่อนไขขัดแย้งรุนแรง


เพิ่มเพื่อน    

  “พล.อ.ณรงค์พันธ์” ประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกครั้งแรก ลั่นโอกาสทำปฏิวัติรัฐประหารทุกอย่างเป็นศูนย์หมด แต่อย่าสร้างความขัดแย้งที่รุนแรง วอนทุกฝ่ายร่วมขจัดเงื่อนไขจนถึงติดลบ ประกาศขอปกป้อง 4 สถาบัน “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์-ประชาชน” ชี้ไทยมีประชาธิปไตยเต็มใบ เสรีภาพเต็มที่  แต่ต้องไม่ก้าวล่วงกฎหมาย แนะสื่อหัดทำบุญเข้าวัด อย่าหมกมุ่นเรื่องยึดอำนาจ “บิ๊กตู่” เผยเลือก “อาคม” เพราะรู้งาน เตรียมถวายสัตย์ฯ 11 ต.ค.นี้

    เมื่อวันอังคารที่ 6 ตุลาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) วาระพิเศษระดับผู้บัญชาการกองพลหรือเทียบเท่าครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง ถึงแนวนโยบายกองทัพกับการเมืองว่า การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง แต่ถ้าบอกว่ากองทัพกับรัฐบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะกองทัพปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล และเป็นข้าราชการประจำ ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง ดังนั้นปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)
    เมื่อถามว่า ในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. 3 ปี จะให้ความมั่นใจหรือให้สัญญากับประชาชน รัฐบาลหรือนักลงทุนอย่างไรว่าจะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า คำถามนี้ถามมาทุก ผบ.ทบ. และทุกคนก็ตอบไปหมดแล้ว คือ โอกาสของการทำเรื่องพวกนี้ทุกอย่างเป็นศูนย์หมด บนพื้นฐานที่อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง และกระทบต่อความเดือดร้อน พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส. ได้ตอบไปแล้วภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ซึ่งอยากให้ทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ด้วยการขจัดเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ให้หมดไปจากประเทศไทย และติดลบ เพราะศูนย์ก็ไม่พอ แต่การจะติดลบได้ทุกคนต้องช่วยกัน
    ถามย้ำว่า แสดงว่าให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด แม้สถานการณ์นำพาเราไป พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า โอกาสมันไม่มีอยู่แล้ว คิดว่าสถานการณ์ประเทศไทยไม่มี เพราะตอนนี้เราเป็นประเทศที่ดีที่สุด เราก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นประเทศที่มีเสรีมากที่สุด และมีความอุดมสมบูรณ์ ที่เราอยู่กันแล้วมีความสุข คนส่วนใหญ่และใครๆ ก็อยากมาอยู่ประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงสภาวะการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แบบนี้ที่มีมาตรการ มาช่วยเหลือกันและมีวินัยรักษาตัวเอง เราจึงต้องช่วยกันขจัดเงื่อนไขต่างๆ และทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวมากกว่าประเทศอื่น รวมถึงให้ประเทศสามารถควบคุมอะไรทุกอย่างได้ และให้มีการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ตอนนี้ทุกประเทศเฝ้ามองอยู่ เพราะเขาก็อยากมาประเทศไทย
    เมื่อถามถึงการชุมนุมทางการเมืองที่มีการหมิ่นสถาบันฯ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสรีภาพ ถามว่าใครที่บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น คืออะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทุกคนก็มีเสรีภาพ แต่เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นก็มีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเข้าใจว่าการใช้สิทธิเสรีภาพด้านใดด้านหนึ่งต้องมี 2 เรื่องประกอบ คือ 1.ต้องไม่ก้าวล่วงสิทธิ์ของคนอื่น และ 2.ต้องมีความรับผิดชอบต่อเสรีภาพที่ตนเองกระทำ ถ้าไปก้าวล่วงหรือทำผิดกฎหมาย
    ถามอีกว่า มองว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อของนักศึกษาก้าวล่วงสถาบันฯ หรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า ก็เหมือนกับการปฏิรูป แต่การปฏิรูปคือแก้ไขปรับปรุง ดังนั้นทุกคนควรกลับมามอง และปฏิรูปตนเองก่อน เหมือนกับคำสอนของสมเด็จโต (สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)) เป็นชาวพุทธที่นับถือสมเด็จโต ท่านสอนเรื่องกระจกหกด้าน ไม่ใช่มองแต่ด้านตัวเองว่าดีและถูกต้องหมดทุกอย่าง ซึ่งต้องมองมุมอื่นด้วยทั้ง 6 ด้าน อยากให้ทุกคนมองตนเองก่อน และกลับไปดูตนเองว่ามีความถูกต้องสมบูรณ์ และมีความวิริยะก่อนที่จะไปบอกให้คนอื่นทำแบบนั้นแบบนี้
ยึดมั่น 4 สถาบัน
    ถามต่อว่า ได้ให้นโยบายเรื่องการปกป้องสถาบันอย่างไรบ้าง พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า ในหัวมี 4 อย่าง คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน จะทำทุกอย่างเพื่อรักษาความมั่นคงของ 4 อย่างนี้ ซึ่งไม่บอกว่าจะทำอะไร แต่จะทำตามอุดมการณ์ของกองทัพบกและอุดมการณ์ของตนเองที่ยึดถือมาตั้งแต่เข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
    เมื่อถามอีกว่า 4 สถาบันหลักจะปกป้องอย่างไร พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า เข้าใจสื่อบางทีก็พยายามนั่งคิด นอนคิด กินข้าวก็คิด ทำอะไรก็คิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้มา ซึ่งคิดว่าบางทีเดี๋ยวจะเครียด บางทีทางสำนักเขาใช้งานเราเยอะเกินไป บางทีต้องมีเวลาออกกำลังกายบ้าง ไปกินอาหารดีๆ นอนหลับพักผ่อน รักษาสุขภาพ จะได้ทำข่าวได้นานๆ ถ้านั่งคิดนอนคิดจนนอนไม่หลับเดี๋ยวสุขภาพไม่ได้ ก็จะไม่ได้มาพบปะพูดคุยกัน บางเรื่องปล่อยวางบ้าง ส่วนถึงขั้นต้องไปปฏิบัติธรรมหรือไม่ ก็แล้วแต่คน ถ้าเป็นชาวพุทธก็ไปไหว้พระสวดมนต์ ตนเองเย็นก็ออกกำลังกาย อาบน้ำ ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน และก็นอนหลับสบาย
    เมื่อถามว่า มองว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมายที่เป็นกรอบระเบียบของบ้านเมืองและสังคม เราอยู่ในสังคมใหญ่ก็มีคนหลายพวกหลายความคิดอยู่แล้ว เพียงแต่สังคมส่วนร่วมต้องควบคุม
ถามว่า หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชุมนุมจะเป็นเงื่อนไขในการที่ทหารจะออกมาทำรัฐประหารหรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า รุนแรงอย่างไร ต่างฝ่ายต่างบอกว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง แล้วความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลความเรียบร้อยไม่มีการพกอาวุธอะไรเลย เราเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าความรุนแรงไม่มีประโยชน์ สำหรับทุกสังคมในโลก
    เมื่อถามว่าสถานการณ์ปัจจุบันมีความเป็นห่วงเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องการชุมนุม ตำรวจก็เป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้วตามปกติอยู่แล้ว   
พล.อ.ณรงค์พันธ์ยังกล่าวถึงกรณีกลุ่มนักเรียนมายื่นหนังสือให้ทางกองทัพบกกรณีทหารเข้าไปคุกคามนักเรียนในโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ว่าได้รับรายงานมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่นี้เป็นเรื่องของสังคมที่อยู่ร่วมกันบนพื้นฐานความแตกต่างทางความคิดได้ เราต้องเรียนรู้ การปฏิรูปคือการแก้ไข ซึ่งกำลังพลของกองทัพบกมี 3 แสนนาย ในสิ่งที่เรามอบงานให้ไปผ่านทางกองทัพ ผ่านทางสายการบังคับบัญชา เขาก็ไปทำงานนั้น ซึ่งแต่ละคนแต่ละหน่วยก็ไปทำงานที่อาจจะวิธีปฏิบัติไม่เหมือนกัน หรือความเข้าใจอาจไม่เต็มร้อย ไม่มีสมบูรณ์ 100% เพราะเขาก็ไปทำงานของเขาตามสั่งการผู้บังคับบัญชา แต่เมื่อเกิดปัญหาแล้วการแก้ไขปัญหาของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน หรือการแก้ไขให้มันมีความเข้าใจกันอาจไม่เหมือนกัน บางที่เราต้องยอมรับว่าคนของเรา คุณยังทำไม่สมบูรณ์ ยังทำไม่ดี กลับมาทบทวนกันให้ ซึ่งกองทัพบกต้องกลับมาทบทวนว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างในหลายๆ ด้านด้วยกันได้
    เมื่อถามย้ำมีผู้ชุมนุมได้ออกมาให้ข่าวว่าทหารได้ไปติดตามสังเกตการณ์ในโรงเรียนต่างๆ จะมีการทบทวนในเรื่องนี้หรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า โรงเรียนมีกี่โรงเรียนในประเทศไทยไปตามหมดไม่ไหว มันไม่มีหรอก ถ้ามีหลักฐานก็ให้แจ้งมาเราจะได้รู้ว่าใครไปทำอย่างนั้น กองทัพบกไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ เพราะเด็กก็คือเด็ก เรามีลูกมีหลาน มีความคิดของเขา มีโลกส่วนตัวของเขา   
    ผบ.ทบ.ยังกล่าวถึงการมอบนโยบายในการประชุม นขต.ทบ.ว่า ได้มอบนโยบายให้ทุกคนตระหนักในอุดมการณ์ทหารที่ยึดมั่นมาตลอดคือ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ถือเป็นอุดมการณ์ทหารและ ทบ. สิ่งที่สำคัญในการที่เราต้องเป็นหลักด้านความมั่นคงเพื่อสิ่งสำคัญ 4 สิ่ง หรือ 4 สถาบันเหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนั้นการสานต่อนโยบายของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ.ที่ได้วางไว้ รวมถึงนโยบายก่อนหน้านั้นที่สำคัญๆ ก็สานต่อและพัฒนา ทบ.ไปสู่อนาคตในมิติของภัยความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และการปฏิบัติงานที่หลากหลายมากขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19    พล.อ.ณรงค์พันธ์ยังกล่าวถึงโครงการสายด่วน ผบ.ทบ.ที่ให้กำลังพลร้องทุกข์ ว่าได้ถาม พล.อ.อภิรัชต์แล้ว ท่านก็บอกว่าคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งขึ้นมาค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่ช่วงหลังเริ่มไม่ค่อยมีคนร้องเรียนเข้ามา เพราะปัญหาค่อนข้างได้รับการแก้ไขเกือบหมดแล้ว หน่วยและกำลังพลก็เข้าใจมากขึ้น อยากให้กองทัพดำเนินการเอง อยากให้สำนักงานเลขานุการกองทัพบกคิดค้นช่องทางในการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ติดต่อสื่อสารกันได้เร็วและถึงกันเร็วมากขึ้น
    "การปฏิรูปกองทัพด้านต่างๆ นั้น ผมคิดว่าการปฏิรูปคือการแก้ไขในสิ่งที่ยังไม่ถูกต้อง ทำให้ถูกต้อง เหมาะสม เพราะคำว่าปฏิรูปคือการทำให้เหมาะสม ดังนั้นสิ่งที่ปฏิรูปต้องดำเนินการต่อไป โดย ทบ.ทำมาตลอด และทำอยู่แล้วในยุคที่ผ่านมา ซึ่งการปฏิรูปต้องใช้เวลา ทุกอย่างใช้เวลา ไม่ใช่ข้ามคืน ข้ามวัน ข้ามเดือน อาจเท่าหรือไม่เท่ากันในแต่ละเรื่อง” พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าว
สื่ออย่าหมกมุ่นรัฐประหาร
    พล.อ.ณรงค์พันธ์ยังกล่าวถึงการพบสื่อสายทหารครั้งแรก ว่าสื่อสายนี้มีความสำคัญ เพราะทำงานร่วมกับทหาร อยากฝากว่านอกจากสิ่งที่นั่งคิด นอนคิด ทั้งวันทั้งคืน กินก็คิด เข้าห้องน้ำก็คิด และมาถามแต่เรื่องพวกนี้ (เรื่องการรัฐประหาร) อยากฝากให้ติดตามการปฏิบัติงานของทหารที่ทุ่มเท อุทิศตน เรื่องยาเสพติด ชายแดน ภัยพิบัติ  ซึ่งงานเหล่านี้ยังไม่เสร็จ อยากให้ช่วยนำสิ่งเหล่านี้ไปบอกประชาชน ตรงไหนที่ประชาชนเดือดร้อนขอให้บอกมา ถ้าไม่มีหน่วยงานอื่นช่วยกำลังพลของ ทบ.พร้อมตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องที่อยู่อาศัย เจ็บป่วย ความขัดสนต่างๆ  
    พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ปัจจุบันการสื่อสารมีหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียและระบบออนไลน์ พล.อ.ณรงค์พันธ์จึงมีนโยบายให้หน่วยทหารใช้การสื่อสารสร้างการรับรู้กับกำลังพลในทุกช่องทาง รวมถึงการใช้การสื่อสารทางออนไลน์ในโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถสร้างการรับรู้และส่งผ่านข้อมูลโดยเฉพาะในเรื่องการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์
    ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์เตรียมเข้าพิธีอุปสมบทเวลา 05.00 น. วันที่ 7 ต.ค. ที่วัดหงส์รัตนาราม บางกอกใหญ่ กทม. ซึ่งเป็นวัดเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้อุปสมบทหลังเกษียณอายุราชการเช่นกัน โดยได้รับฉายาจินตชโย แปลว่า ผู้ชนะจิตใจ
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตอบคำถามหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกระแสปลุกขับไล่และกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งจะทำให้เสียสมาธิในการทำงานหรือไม่ว่า ไม่หรอก ชินแล้ว ชินตรงที่ว่าก็ทำงานให้หนักมากขึ้น สร้างความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังมีคนที่บิดเบือนอยู่ ถ้าน้องๆ นักข่าวมาอยู่ตรงนี้แล้วจะรู้ว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้นต้องให้ความเป็นธรรมบ้าง ตนเองมีความตั้งใจในการบริหารประเทศตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปัจจุบัน วันข้างหน้าก็เป็นเรื่องของวันข้างหน้า หลายอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ เข้ามาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และทุกคนก็เข้ามาตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม  
    เมื่อถามถึงกรณี รร.เบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้ให้ทบทวนแล้ว เพราะช่วงนี้มีปัญหาอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วย ถ้าเวลาปกติคงพอได้ แต่เท่าที่ตรวจสอบแล้วเป็นโครงการของศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเรื่องของจิตอาสาลงไป ซึ่งได้สั่งให้ปรับแล้ว อะไรที่ไม่จำเป็นยังไม่ต้องไปทำในตอนนี้ หาวิธีการอื่นไปไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านการเมือง จุดมุ่งหมายของเราคือการสร้างอุดมการณ์รักชาติ ปลูกจิตสำนึกประชาชน ก็ต้องหาวิธีการที่เหมาะสม ฉะนั้นไม่อยากให้เป็นภาระหรือปัญหา  
    “ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงวันเวลาที่หลายๆ อย่างจะปรากฏออกมาว่าประเทศไทยมันติดกับอยู่กับใครบ้าง ปัญหามันอยู่ที่ใครบ้าง ทำความดีกันเถอะครับ ไหว้พระไหว้เจ้า นับถือศาสนา ทำบุญเข้าวัด ทำกุศลมากๆ ประเทศไทยจะพ้นภัย ช่วงนี้ขอให้ผ่านเวลาที่ยากลำบากของพวกเราไป ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองด้วย ผมคิดว่าประเทศไทยสำคัญกว่าอย่างอื่น ทำอย่างไรประเทศไทยจะดำรงอยู่ได้อย่างสงบสุข มีเสถียรภาพเสียที คนไม่ดีก็ปรากฏออกมาเรื่อยๆ ก็ลงโทษไปก็เท่านั้นเอง” นายกฯกล่าว                
แจงเหตุเลือก'อาคม'
    ภายหลังการแถลงข่าวเสร็จสิ้น ระหว่างนายกฯ เดินออกจากโพเดียมเพื่อกลับขึ้นห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. ประกาศจะชุมนุมยืดเยื้อ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลอยู่แล้ว เมื่อถามอีกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมประเมินว่าจะมีคนเข้าร่วมหลักล้าน นายกฯ ตอบว่า ทราบ  
    พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการเลือกนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็น รมว.การคลังคนใหม่ ว่านายอาคมเหมาะสมกับสถานการณ์ในเวลานี้ และนายอาคมก็รู้งานรู้การมาโดยตลอด ซึ่งความจริงก็เสนอไปหลายคนที่จะให้สมัครใจเข้ามาทำงาน แต่ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นคิดว่าก็ต้องใช้คนที่รู้งานรู้การมาเป็นอย่างดี และสามารถเข้าทำงานได้กับฝ่ายการเมืองได้ด้วย แต่ก็มีหลักการของตนเอง ของนายกฯ อยู่แล้ว เพราะนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวมทั้งหมดก็ขอให้ติดตาม
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ชื่อของนายอาคมจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คิดว่าอยู่ที่การปฏิบัติมากกว่า ถ้าทุกคนเอาชื่อมาเป็นที่ตั้งก็จะวุ่นกันทั้งหมด ต้องดูที่ผลงานซึ่งออกมาในรูปของรัฐบาล เพราะตำแหน่ง รมว.การคลังไม่ใช่ว่าจะอนุมัติได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต้องผ่านการกลั่นกรอง ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ผ่านสำนักงบประมาณ ผ่านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงจะผ่านการใช้จ่ายงบประมาณได้ เพียงแต่สามารถคิดและเสนอโครงการโดยหารือกับตนเองในฐานะนายกฯ และ ครม.ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ถือเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีทุกกระทรวง เพราะฉะนั้นผลงานและแผนงานที่ออกมาทั้งหมดต้องผ่านขั้นตอนของ ครม. และผ่านนายกฯ เป็นผู้อนุมัตินำเข้า ครม. ทั้งหมดนี้ถือเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง
    “ความเชื่อมั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ภาษาไทยแท้ๆ สรุปคือคนดี คนเห็นชอบ แต่ก็มีบางพวกที่ไม่ชอบใครสักคน บางพวกก็ชอบอีกคนมากกว่า จึงขอให้เป็นเรื่องของผลงานก็แล้วกัน ขอให้ติดตามตอนต่อไป โดยในวันที่ 11 ต.ค.นี้จะนำนายอาคมเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณฯ และจะเริ่มทำงานในวันที่ 12 ต.ค.เป็นต้นไป จึงขอให้ดูที่ประสบการณ์ หลายๆ คนก็ขานรับ ซึ่งผมได้พูดคุยหารือกันมาอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ขณะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า ยังไม่ได้พบกับนายอาคม แต่เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่สมัยที่เป็น รมว.คมนาคม ส่วนนายอาคมเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ ดังนั้น ไม่มีปัญหาอะไร และนายอาคมเป็นคนเข้มแข็ง ซึ่งการทำงานร่วมกันไม่มีปัญหาอะไรเลย แม้กระทั่งนายปรีดี ดาวฉาย อดีต รมว.การคลังที่ลาออกก็ไม่มีปัญหา ผู้สื่อข่าวไปเขียนกันเอง
เมื่อถามย้ำว่า นายอาคมจะอยู่ได้ยาวหรือไม่ นายสันติได้แต่ยิ้มเขินๆ แต่ไม่ได้ตอบคำถามใดๆ
ส.ว.ไม่ใช่หุ่นยนต์
    วันเดียวกัน ยังมีความเคลื่อนไหวในเรื่องรัฐธรรมนูญ โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ ในฐานะ ส.ว.โดยตำแหน่ง กล่าวถึงท่าทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าการดำรงตำแหน่ง ส.ว.ของ ผบ.เหล่าทัพเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดก็ต้องไป ซึ่งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตั้งแต่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นว่าทุกอย่างไม่ได้ 100% หมด เพราะเราไม่ใช่หุ่นยนต์ที่มานั่งยกมือเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องมองด้วยเหตุด้วยผล ด้วยข้อเท็จจริงต่างๆ
    เมื่อถามย้ำว่า ผบ.ทบ.จะรับเงินเดือน ส.ว.หรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า ไม่รับเงินเดือนสองทางอยู่แล้ว ส่วนข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ทาง ผบ.เหล่าทัพไม่รับตำแหน่ง ส.ว.และลาออกกลับไปทำงานในตำแหน่งของตนเองนั้น ไม่ทราบ ต้องไปศึกษาดูว่าจะสามารถลาออกได้หรือไม่ เพราะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้ว่าเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง
    นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ 6 ฉบับ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม กมธ.ได้เชิญตัวแทนฝ่ายค้านในฐานะผู้เสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับการปฏิเสธ ทำให้ตอนนี้เหลือเพียงการเชิญพรรคร่วมรัฐบาลในฐานะผู้เสนอญัตติ ส.ว.และนักวิชาการที่จะมาชี้แจงต่อ กมธ.เท่านั้น
    ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะโฆษก กมธ. กล่าวว่า เสียดายที่ฝ่ายค้านปฏิเสธคำเชิญของ กมธ. เพราะการมาชี้แจงจะเป็นโอกาสทำความเข้าใจกับ ส.ว. โดยตอนนี้มีความสงสัยในญัตติของฝ่ายค้านว่าขัดแย้งกันหรือไม่ เพราะญัตติหนึ่งเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร. แต่อีกญัตติหนึ่งที่เสนอกลับเป็นการแก้ไขรายมาตรา ซึ่งคิดว่าถ้าจะตั้ง ส.ส.ร.ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรายมาตรา ซึ่งการไม่มาชี้แจงต่อ กมธ.ของฝ่ายค้าน ทำให้การทำงานของ กมธ.ยากขึ้น และเป็นการไม่เคารพประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงข้างมาก ทั้งๆ ที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้สงสัยว่าเป็นความพยายามที่ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จหรือไม่ หรือต้องการโยนบาปให้ ส.ว.และพรรคร่วมรัฐบาล
     นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวโต้นายชัยวุฒิว่า อย่ากล่าวเอาดีใส่ตนเองและพวกพ้อง อย่ามาพูดว่าฝ่ายค้านไม่เคารพเสียงข้างมาก ความจริงแล้วฝ่ายเสียงข้างมากต่างหากที่ต้องการยืดเวลาออกไป แต่ถึงอย่างไรฝ่ายค้านเองก็จำเป็นต้องรออยู่แล้ว ที่สำคัญเมื่อกลับเข้ามาในรัฐสภาอีกครั้ง เราก็จะได้พิสูจน์กันว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันหาทางออกให้ประเทศนี้หรือไม่ ถ้าจะมีใบสั่ง ขอให้มีใบสั่งแบบสร้างความเป็นประชาธิปไตยก็แล้วกัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"