พรบ.คำสั่งเรียกขัดรธน. สภาวุ่น!กมธ.ไร้อำนาจ


เพิ่มเพื่อน    

  สภาวุ่น! ศาล รธน.มติเอกฉันท์ "พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของ กมธ." ขัดรัฐธรรมนูญ "ไพบูลย์" รับต่อไปหมดสิทธิ์เรียกบุคคลต่างๆ มาชี้แจง กรรมาธิการผู้แทนฯ โอดกลายเป็นเสือกระดาษ ทำงานลำบากขึ้น สะท้อนข้อบกพร่อง รธน.60 "64 ส.ส." ระทึก! ศาลนัดชี้ชะตาปมถือครองหุ้นสื่อ 28 ต.ค.

    เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา 2554 มาตรา 5  ที่บัญญัติอำนาจของคณะกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้  มาตรา  8 ที่บัญญัติขั้นตอนการออกคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ และมาตรา 13 ที่กำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ ขัดหรือแย้งและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 129
     ทั้งนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการยื่นร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้รับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประรัฐ ขอให้พิจารณาและมีความเห็นเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่  หลัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. จะใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวออกคำสั่งการเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน
    ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ 60 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญว่า ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย โดยพบว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวในมาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 129 ส่งผลให้ กมธ.ของสภาและ ส.ว. ไม่สามารถเรียกบุคคลต่างๆ เข้ามาชี้แจงได้ และไม่สามารถดำเนินคดีอาญาดังกล่าวแก่บุคคลเหล่านั้นได้ รวมทั้ง กมธ.ชุดใดที่อยู่ระหว่างมีคำสั่งเรียกบุคคลเข้ามาชี้แจงก็มีอันสิ้นผลไปเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 60 ไม่รับรองกฎหมายดังกล่าว เพราะกฎหมายนี้เป็นการออกตามรัฐธรรมนูญ 50 ที่เลิกใช้ไปแล้ว
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า นี่เป็นอีกหนึ่งข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 60 ที่ต้องมีการแก้ไข เพราะทำให้การทำงานของ กมธ.เกี่ยวกับการตรวจสอบยากขึ้น รวมทั้งการทำงานช่วยเหลือประชาชนของ ส.ส.และ ส.ว. อาจจะทำให้หมิ่นเหม่และขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 185 ที่อาจจะไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงบุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ ทั้งที่พวกเรามีเจตนาจะช่วยเหลือประชาชน
ทำกมธ.เป็นเสือกระดาษ
    นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษก กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า ปกติในการทำงานของ กมธ.ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจเราน้อยอยู่แล้ว เป็นเพียงการศึกษาเรื่องต่างๆ ทำรายงานส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร และส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี อาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ท้ายที่สุดอาจโยนทิ้งหรือไปตั้งไว้ที่อื่นโดยที่ไม่รู้ว่าแต่ละเรื่องที่ กมธ.ศึกษาไปมีผลอย่างไร ขณะที่ประชาชนจะคาดหวังกับ กมธ.มาก เพราะเป็นพื้นที่กลางในการคุยกันของคนที่มีปัญหา หลายครั้งนำไปสู่การปรับความเข้าใจและแก้ปัญหา หาก พ.ร.บ.นี้ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ กมธ.เหลืออำนาจน้อยลง เพราะหลายคนที่มา กมธ.กลัวว่าถ้าไม่มาตามคำเชิญของ กมธ. จะถูกออกคำสั่งเรียก และหากไม่มาตามคำสั่งเรียกอาจจะมีความผิดตามกฎหมาย  
    "คำสั่งเรียกเป็นดาบที่ไม่ค่อยมีใครกล้าใช้เท่าไหร่ เพราะกลัวผิดขั้นตอน จะเป็นโทษต่อคนที่ใช้เอง ในทางปฏิบัติไม่ค่อยเห็นการใช้ แต่พอเราถูกคาดหวังจากประชาชน กลับไม่มีดาบในการเชิญหน่วยงานต่างๆ มา ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ อาจไม่เกิดขึ้น ต่อไปหน่วยงานเห็นหนังสือเชิญของ กมธ. อาจจะรู้สึกไม่ต้องมาก็ได้ กมธ.จะยิ่งกลายเป็นเสือกระดาษ ไม่มีอาวุธอะไรเลย หลายเรื่องเราต้องเชิญคนที่มีอำนาจเชิงนโยบาย ตำแหน่งระดับปลัดกระทรวงขึ้นไป อาจไม่มาหรือส่งคนที่ไม่เกี่ยวข้องมาชี้แจง แล้ว กมธ.จะพูดคุยหาทางออกให้กับประชาชนได้อย่างไร ถ้าเป็นเรื่องในเชิงนโยบาย เจ้าหน้าที่อาจไม่รู้หรือตอบไม่ตรงประเด็น ทำให้ กมธ.ไม่สามารถศึกษาได้อย่างเต็มที่ แสดงให้เห็นว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็อาจส่งผลต่อการทำหน้าที่ของสภา" นายรังสิมันต์ระบุ
    อย่างไรก็ตาม ต้องดูรายละเอียดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ว่าการวินิจฉัยตรงนี้ทำให้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ตกไปทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรที่จะติดอาวุธให้ กมธ.มากกว่านี้ หากไม่ติดอาวุธเลย สุดท้ายเราจะเป็นเสือกระดาษมากขึ้นเรื่อยๆ การทำหน้าที่ของ กมธ.จะยิ่งล้มเหลว อย่าง กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ พอถูกตัดอาวุธแบบนี้ แล้วการตรวจสอบทุจริตที่เกิดขึ้นยิ่งทำได้ยากขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องแก้เกมด้วยการแก้กฎหมายหรือร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อติดอาวุธให้กับฝ่ายนิติบัญญัติ
    ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และเลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวว่า ประเด็นนี้เมื่อมีความชัดเจนจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นได้ว่า 3 มาตราของพ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะไม่สามารถที่จะใช้บังคับกับกรณีคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการได้อีกต่อไป แต่ด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้มีคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการสอบสวนพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาแล้วแต่กรณีนั้น จะเห็นได้ว่าการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการมีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นอย่างมาก
    นายราเมศกล่าวว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้ถึงขั้นมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ให้อำนาจคณะกรรมาธิการในการที่จะกระทำการกิจการสอบหาข้อเท็จจริง และกำหนดให้มีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในคณะกรรมาธิการแต่ละชุดที่มีหน้าที่ เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงอยู่แล้ว ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ฉะนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการแต่อย่างใด
ศาลนัดชี้ชะตา 64 ส.ส.
    วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยใน 2 คดีที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงด้วยเหตุถือครองหุ้นสื่อ ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาพ ส.ส. จำนวน 32 คนของฝ่ายรัฐบาล และอีก 32 คนของฝ่ายค้าน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ และเห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอให้พิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติและอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันพุธที่ 28 ต.ค.นี้ ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
      โดยในเวลา 15.00 น. ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยในส่วนของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ถูก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่นร้อง ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 21 คน ได้แก่ 1.ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 2.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ 3.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร 4.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ 5.นางกุลวลี นพอมรบดี 6.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 7.นายฐานิสร์ เทียนทอง 8.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ 9.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง 10.นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ 11.นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา 12.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ 13.นายภิญโญ นิโรจน์ 14.นายวีระกร คำประกอบ 15.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ 16.นายสมเกียรติ วอนเพียร 17.นายสัมพันธ์ มะซูโซ๊ะ 18.นายสิระ เจนจาคะ 19.นายสุชาติ ชมกลิ่น 20.นายอนุชา น้อยวงศ์ 21 น.ส.ภาดา วรกานนท์, พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน ได้แก่ 1.น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร 2.นายอัศวิน วิภูศิริ 3.นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ 4.นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ 5.น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ 6.นายสมชาติ ประดิษฐพร 7.นายสาคร เกี่ยวข้อง 8.นายสาธิต ปิตุเตชะ, พรรคชาติพัฒนา 1 ราย ได้แก่ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ, พรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้แก่  ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และพรรคประชาภิวัฒน์ ได้แก่ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
     จากนั้นเวลา 16.00 น. จะเป็นการอ่านคำวินิจฉัยในส่วนของส.ส.ฝ่ายค้านที่ถูก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลคือพรรคพลังประชารัฐเข้าชื่อยื่นร้อง ประกอบด้วย พรรคอนาคตใหม่ 20 คน คือ 1.พล.ท.พงศกร รอดชมภู 2.นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 3.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ 4.นายสุรชัย ศรีสารคาม 5.นายชำนาญ จันทร์เรือง 6.นายวินท์ สุธีรชัย 7.นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ 8.นายคารม พลพรกลาง 9.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง 10.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล 11.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 12.นายวิภพ วิริยะโรจน์ 13.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 14.นายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด 15.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. 16.น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี 17.น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม 18.นายจิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 19. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก และ 20.น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม.
       พรรคเพื่อไทย 4 คน ได้แก่ 1.นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย 2.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 3.นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และ 4.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์, พรรคเพื่อชาติ 4 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ได้แก่ 1.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 2.นางลินดา เชิดชัย 3.น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช และ 4.นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล, พรรคเสรีรวมไทย จำนวน 3 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ได้แก่ 1.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 2.น.ส.ธนพร โสมทองแดง และ 3.น.ส.พัชนี เพ็ชรจินดา และพรรคประชาชาติ 1 รายคือ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"