เพชรบุรีสั่งอพยพ น้ำทะลักเข้าเมือง


เพิ่มเพื่อน    


    อุทกภัยที่โคราชลาม 10 อำเภอ ปากช่องยังอ่วม "สุวัจน์" ชี้รุนแรงสุดในรอบ 20 ปี รีสอร์ตสวนผึ้งน้ำเจิ่ง เสนาลิงเศร้าวิลล่าสุดรักเสียหายด้วย เพชรบุรีให้ราษฎรในเขตเมืองขนของขึ้นที่สูง เตรียมอพยพ หลังระบายน้ำออกจากเขื่อน อุตุฯ แจ้ง 9 จังหวัดอีสานรับมือฝนอีกระลอกจากอิทธิพล "หลิ่นฟา" กทม.ก็ยังลุ้นระทึกถึง 16 ต.ค.
    สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมายังส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ช่วงสายวันที่ 11 ตุลาคมนี้ นายวิเชียร  จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ได้ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และให้ขวัญกำลังใจประชาชน พร้อมเปิดเผยว่า หลังจากฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.เป็นต้นมา ขณะนี้มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยรวม 10 อำเภอ 38 ตำบล 110 หมู่บ้าน 5 ชุมชน ได้แก่ อ.ปากช่อง, อ.ปักธงชัย, อ.เมือง, เขตเทศบาลนครนครราชสีมา, อ.สูงเนิน, อ.สีคิ้ว, อ.ชุมพวง, อ.พิมาย, อ.ห้วยแถลง, อ.ลำทะเมนชัย และ อ.โชคชัย ราษฎรได้รับผลกระทบจำนวน 1,079 ครัวเรือน ถนน 9 สาย สะพาน 2 แห่ง พืชไร่/พืชสวน 4,042 ไร่ และนาข้าว 740 ไร่ แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
    นายวิเชียรกล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำยังคงมีผลกระทบในพื้นที่ 3 อำเภอ รวม 6 ตำบล 1 เทศบาลนคร 1 เทศบาลเมือง 11 หมู่บ้าน 5 ชุมชน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 397 ครัวเรือน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 6,940 คน โดยเฉพาะ อ.ปากช่อง ได้รับผลกระทบหนักสุด น้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไหลหลากลงลำตะคอง สถานการณ์ปัจจุบัน ระดับน้ำในพื้นที่ต้นน้ำบ้านท่ามะปราง ต.หมูสี ลดลง และมวลน้ำได้ไหลผ่าน ต.หมูสี, ต.ขนงพระ, ต.หนองน้ำแดง ขณะนี้ได้คงอยู่ในพื้นที่เทศบาลเมืองปากช่อง และจะไหลไปที่บ้านท่าง ต.จันทึก ก่อนไหลลงสู่เขื่อนลำตะคองต่อไป ส่วน อ.ปักธงชัย เสียหายรวม 3 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 89 ครัวเรือน 740 คน  
    มีรายงานว่า เมื่อคืนวันเสาร์ เจ้าหน้าที่กู้ภัยฮุก 31 นครราชสีมา ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 8 ต.จันอัด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา หลังจากมวลน้ำในคลองลำเชียงไกรช่วงที่ไหลผ่านหมู่บ้านได้เพิ่มปริมาณสูงมากขึ้น และยังไหลเซาะคอสะพานจนทรุดเป็นหลุมขนาดใหญ่ หวั่นว่าน้ำอาจจะล้นตลิ่งไหลทะลักเข้าท่วมในหมู่บ้าน จึงประสานขอเจ้าหน้าที่กู้ภัยในการเข้าช่วยเหลือขนสิ่งของขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังอพยพคนถ้าหากสถานการณ์เลวร้ายมากไปกว่านี้
    นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน กล่าวว่า น้ำท่วมปากช่องครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบกว่า 20 ปี และแม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย น้ำส่วนใหญ่ไหลลงสู่เขื่อนลำตะคอง แต่ก็ต้องเฝ้าจับตาระดับน้ำในเขื่อน เพราะขณะนี้น้ำเกือบเต็มเขื่อนแล้ว ถ้าน้ำเข้ามากไปอาจจะพังได้ ในส่วนของการช่วยเหลือประชาชน อยากให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเหมือนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 
    กาญจนบุรี มวลน้ำจากลำน้ำภาชีเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ต.หนองไผ่ อ.ด่านมะขามเตี้ย เนื่องมาจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง 
    ราชบุรี อ.สวนผึ้ง ซึ่งเป็นเขตติดต่อ อ.ด่านมะขามเตี้ย ก็เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลบ่าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร และบ้านเรือน รีสอร์ต ที่อยู่ริมทางน้ำถูกน้ำพัดได้รับความเสียหาย ต่อมา นายพงษ์พันธ์ แสงสวุวรรณ รอง ผวจ.ราชบุรี นำคณะลงสำรวจบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำลำภาชี ซึ่งเป็นสะพานสายหลักที่จะเข้าสู่ตัว อ.สวนผึ้ง พบว่าสะพานกำลังมีการก่อสร้างขยายพื้นที่สะพาน จึงทำให้กระแสน้ำกัดเซาะบริเวณคอสะพานที่มีการถมดินใหม่ ส่วนปริมาณน้ำป่าที่ไหลลงมาจากเทือกเขาตะนาวศรีนั้นเริ่มลดลงจากช่วงเย็นเมื่อวานเกือบสองเมตรจากพื้นสะพาน
    สำหรับรีสอร์ตใน อ.สวนผึ้งที่ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย รวมถึงวิลล่า โมรีดา ของนายสมเกียรติ จันทร์พราหมณ์ หรือเสนาลิง พิธีกรรายการโทรทัศน์ เจ้าตัวได้โพสต์ภาพน้ำป่ากำลังท่วมวิลล่า พร้อมระบุว่าน้ำท่วมครั้งนี้หนักกว่าทุกปี
    เพชรบุรี นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รอง ผวจ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า ปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่อง และตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ทำให้เขื่อนเพชรมีปริมาณน้ำมากขึ้น จำเป็นต้องระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรีเพิ่มขึ้น ส่งผลน้ำเข้าท่วมพื้นที่ตัวเมืองเพชรบุรี เนื่องจากมีงานก่อสร้างสะพานทางรถไฟ จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีสูงกว่าปกติ และมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ จึงขอประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่เขตเมืองเพชรบุรีได้เตรียมขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงไปอยู่ในที่ปลอดภัย พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที และให้เตรียมทรายเพื่อให้ประชาชนไว้กั้นขวาง ป้องกันน้ำท่วม และสามารถขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแจ้งได้ที่ ปภ.จังหวัดเพชรบุรี โทร.0-3242-6230
    นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ระยอง และเพชรบุรี โดยที่จังหวัดนครราชสีมา น้ำป่าที่ไหลหลากจากเขาใหญ่ลงสู่ต้นน้ำลำตะคอง และไหลล้นเข้าท่วมพื้นที่บ้านคลองเดื่อ บ้านวังประดู่ บ้านคลองเพล บ้านโต่งโต้น บ้านท่ามะปรางค์ ต.หมูสี ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลหลากนี้จะไหลลงอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่ปัจจุบันยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกประมาณ 76 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่กระทบกับพื้นที่ด้านท้ายน้ำ รวมไปถึงในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา
    ในส่วนของการช่วยเหลือระบายน้ำที่ท่วมขังในเขตอำเภอเมืองเนื่องจากระบายน้ำไม่ทันนั้น สำนักเครื่องจักรกลได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำบริบูรณ์ บริเวณประตูระบายน้ำ (ปตร.) จอหอ 6 เครื่อง และที่ลำน้ำลำตะคอง บริเวณ ปตร.ข่อยงามอีก 3 เครื่อง พร้อมกำจัดผักตบชวาบริเวณใต้สะพานรถไฟ ท้าย ปตร.จอหอ เพื่อให้น้ำระบายได้สะดวก นอกจากนี้ยังได้นำรถแบ็กโฮ 5 คัน เข้าไปขุดลอกคลองสาบใหญ่ฝั่งขวา-ปตร.โพธิ์เตี้ย ต.หมื่นไวย อ.เมืองนครราชสีมา รวมระยะทาง 11 กม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่ลำน้ำบริบูรณ์ให้เร็วขึ้น
    ส่วนที่เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำในเขื่อน 148 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 95 ของความจุอ่าง) แนวโน้มน้ำไหลลงอ่างลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ระบายน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ด้วยการระบายลงคลองส่งน้ำสายใหญ่วันละ 1.55 ล้าน ลบ.ม. และระบายลงลำน้ำธรรมชาติวันละ 3.28 ล้าน ลบ.ม. รวมระบายน้ำทั้งสิ้นวันละ 4.83 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการระบายน้ำนี้ส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อยในพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรในเขต อ.ปักธงชัย 
    ที่จังหวัดกาญจนบุรี มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งในเขต 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ด่านมะขามเตี้ย ปริมาณน้ำในลำน้ำลำภาชีเพิ่มสูงขึ้น เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านหินแด้น ต.หนองไผ่ และหมู่ที่ 6 บ้านท่าไม้ยาว และ อ.บ่อพลอย เกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้ลำน้ำลำตะเพินเอ่อล้นตลิ่ง ด้านเหนือสถานีวัดน้ำ K.49 เข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรม (ไร่อ้อย) โครงการชลประทานกาญจนบุรีได้เตรียมเครื่องสูบน้ำที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือ
    ที่จังหวัดราชบุรี เกิดน้ำหลากล้นตลิ่งแม่น้ำภาชี เข้าท่วมพื้นที่ราษฎร รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม ในเขต อ.สวนผึ้ง (ต.ตะนาวศรี และ ต.สวนผึ้ง) อ.จอมบึง (ต.ด่านทับตะโก และ ต.แก้มอ้น) ลำห้วยแม่ประจันต์ อ.ปากท่อ (ต.ยางหัก) แนวโน้มระดับน้ำในลำภาชีเริ่มลดลงแล้ว และการคาดการณ์ โครงการชลประทานราชบุรีได้ประสานกับสำนักงานชลประทานที่ 13 เพื่อสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือเข้าไปช่วยเหลือแล้ว
    ที่จังหวัดจันทบุรี มีน้ำป่าไหลหลากเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.สอยดาว (บริเวณหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 12 ต.ทรายขาว และหมู่ที่ 11 ต.ทับช้าง) และ อ.โป่งน้ำร้อน บริเวณด่านบ้านแหลม ต.เทพนิมิต ปัจจุบัน อ.สอยดาว สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในส่วน อ.โป่งน้ำร้อน ระดับน้ำยังทรงตัว หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้ 
    ที่จังหวัดระยอง มีน้ำท่วมขังถนนสายแหลมมะขาม ซ.2 ถึงร้านอาหารต้นทางรัก ม.2 ต.ทับมา อ.เมืองระยอง ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.10-0.50 เมตร โครงการชลประทานระยองร่วมกับเทศบาลตำบลทับมา ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากไม่มีฝนตกในพื้นที่ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในวันที่ 11 ต.ค. 
    สำหรับในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 315 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 44 ของความจุอ่าง) ปิดการระบายน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์มีปริมาณน้ำในอ่าง 38 ล้าน ลบ.ม. (90% ของความจุอ่าง) ระบายน้ำ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที เนื่องจากมีปริมาณน้ำมาก จำเป็นต้องระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยผากมีปริมาณน้ำ 15 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 56 ของความจุอ่าง) ปิดการระบาย ทั้งนี้ จากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ ประกอบกับปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกด้านท้ายอ่าง จะไหลไปรวมกับแม่น้ำเพชรบุรีที่มาจากเขื่อนแก่งกระจานและห้วยผาก ก่อนเข้าสู่เขื่อนเพชร ซึ่งจะเป็นตัวควบคุมการระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีที่จะไหลลงไปสู่พื้นที่ตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรีต่อไป
    กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 4 เรื่อง พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “หลิ่นฟา” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง (มีผลกระทบถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2563) ความว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ต.ค.63 พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “หลิ่นฟา” ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนามแล้ว มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้มีแนวโน้มอ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) และพายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) ตามลำดับ ส่งผลกระทบให้ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งและมีลมแรงบริเวณจังหวัดมุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
    นายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศ กอนช.ระบุว่า กอนช.ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วงวันที่ 11-16 ต.ค. ดังนี้ 1.เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรีและตราด ภาคกลาง จ.ชัยนาท กทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง 2.เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณคลองพระสทึง จ.สระแก้ว แม่น้ำมูลและแม่น้ำลำตะคอง จ.นครราชสีมา แม่น้ำแม่กลอง จ.ราชบุรี แม่น้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา จ.อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา.
          


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"