ห้ามม็อบกระทบขบวนฯ


เพิ่มเพื่อน    

 

“ประวิตร” ไม่กังวลม็อบคณะราษฎร 2563 เชื่อคนมาไม่มาก รับฝ่ายมั่นคงขอคุยด้วยแต่เขาไม่คุย “สมช.” ชี้มีขนคนจาก 40-50 จังหวัดแต่ไม่เยอะ พร้อมมีพรรคการเมืองหนุนหลัง “บช.น.” ลั่นใช้มาตรการคุม 3 โซนเหมือนม็อบ 19 ก.ย. ระบุงัดทุกมาตรการไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท “จตุพร” แนะผู้ชุมนุมลดเพดานเหลือข้อเรียกร้องข้อเดียว และเปลี่ยนวันชุมนุมเพราะภูมิรัฐศาสตร์ไม่เอื้อ

    เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกลุ่มคณะราษฎร 2563 ที่จะจัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 14 ต.ค.ว่า ได้เตรียมการไว้แล้วในฐานะฝ่ายความมั่นคง อยากพูดคุยกับผู้ชุมนุม แต่เขาไม่คุยด้วย ส่วนการดูแลความปลอดภัยทำเนียบรัฐบาลนั้น เราใช้มาตรการเดิมตามกฎหมาย ทุกอย่างทำตามกฎหมาย
    เมื่อถามว่า ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลต่อการชุมนุมครั้งนี้อย่างไรบ้าง พล.อ.ประวิตรตอบว่า ไม่กังวล เราอยากพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับเขา และคิดว่าผู้ชุมนุมคงมาไม่มาก แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ประเมินอะไร คิดว่าเอาอยู่ ส่วนที่คิดว่าจำนวนผู้ชุมนุมไม่มากนั้นก็กะเกณฑ์เอา เพราะตอนนี้มีทั้ง 2  ฝ่าย และไม่รู้ว่าจะมีผู้ชุมนุมมาจำนวนเท่าไหร่ แต่ฟังจากกระแสแล้วคิดว่ามาไม่มาก ไม่มีปัจจัยอะไร
    เมื่อถามว่า การชุมนุมครั้งนี้เน้นดูแลความเรียบร้อยอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ดูแลให้เกิดความเรียบร้อย อยากให้มีการพูดคุยกัน ซึ่งก็ไม่รู้ใจของกลุ่มผู้ชุมนุม สื่อรู้หรือไม่
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า ไม่มีความคิดเห็นอะไร แต่คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องคงต้องเตรียมเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งเขาเตรียมไว้ตั้งแต่การชุมนุม 19 ก.ย. ส่วนกรณีหากมีการปิดล้อมทำเนียบฯ นั้น ก็ยังไม่รู้ว่าผู้ชุมนุมจะปักหลักค้างคืนนานเท่าไหร่ แต่อันที่จริงแล้วแทบไม่มีรัฐมนตรีเข้ามาทำงานที่ทำเนียบฯ ?ในวันที่ 14 ต.ค.อยู่แล้ว เนื่องจากนายกฯ และคณะรัฐมนตรีไปทำกิจกรรมจิตอาสาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ จ.ปทุมธานี ในช่วงเช้าถึงเที่ยงของวันดังกล่าว
    เมื่อถามถึงหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า ทุกวันนี้ก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ส่วนที่กลุ่มดังกล่าวยังออกมาเรียกร้องอีกนั้นไม่ทราบว่าคืออะไร เขาหมายถึงอะไร  
เมื่อถามว่า ข้อเรียกร้องนี้ถือเป็นเรื่องมิบังควรใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ทุกคนก็รู้”
    พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการเตรียมการรับมือการชุมนุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมเป็นห่วงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นผู้ติดตามสถานการณ์และดูแลให้เรียบร้อยมากที่สุด
รับมีขนคนจากต่างจังหวัด
    เมื่อถามถึงการข่าวมีการเคลื่อนย้ายประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดมาร่วมชุมนุมหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า มี 40-50 จังหวัด แต่มาจำนวนไม่มาก ส่วนผู้ดำเนินการเป็นกลุ่มเดิมๆ เหมือนครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งมีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง แต่ไม่ขอระบุว่าเป็นฝ่ายไหน
    “ยืนยันว่าติดตามสถานการณ์และวางแผนตลอด ส่วนประเด็นเรื่องมือที่สามนั้นตอนนี้ยังไม่มีการรายงานเข้ามา แต่เราก็ไม่ประมาท” พล.อ.ณัฐพลกล่าว
ด้าน พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ปฏิเสธตอบคำถามถึงการดูแลการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. รวมทั้งกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วระหว่างขบวนเสด็จฯ ผ่าน      
    ส่วนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยในการจัดชุมนุมวันที่ 14 ต.ค.ว่า บช.น.มีความพร้อม แต่ขณะนี้ผู้ชุมนุมยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตการชุมนุมแต่อย่างใด จึงอยากเชิญชวนผู้ชุมนุมมาหารือหาแนวทางร่วมกัน โดยการดูแลรักษาความปลอดภัยในการชุมนุมนั้นยังเหมือนการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา คือมี 3 โซน โซนแรกสนามหลวง-ท่าพระจันทร์, โซนที่ 2 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินมาจนถึงราชดำเนินกลาง  และโซนที่ 3 ถ.ราชดำเนินช่วงสะพานมัฆวานรังสรรค์
    เมื่อถามว่า วันชุมนุมจะมีขบวนเสด็จฯ ผ่าน มีแนวทางการปฏิบัติหรือเตรียมความพร้อมอย่างไร พล.ต.ต.ปิยะตอบว่า เราเป็นคนไทย ทุกคนมีความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสถาบันพระมหากษัตริย์ ปัญหานี้คงไม่มี เราจะเจรจาดำเนินการทุกมาตรการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพระองค์ท่าน
ถามต่อว่า กลัวจะมีการกระทบกระทั่งกันหรือไม่ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและกลุ่มที่มารับเสด็จ รอง  ผบช.น.ตอบว่า เรามีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่น่าเป็นห่วง
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.รับผิดชอบงานจราจร กล่าวว่า ในการชุมนุมวันที่ 14  ต.ค. เบื้องต้นยังไม่มีการปิดการจราจร แต่จะให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บนทางเท้าเท่านั้น หากกลุ่มผู้ชุมนุมลงไปบนพื้นผิวจราจร ตำรวจจะวางแผนปิดการจราจรเบื้องต้น ส่วนระดับที่ 2 หากกลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนมากก็อาจปิดการจราจร
    ด้านความคิดเห็นของนักการเมือง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงท่าทีพรรคต่อการชุมนุมว่า การไปสังเกตการณ์เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเราไม่ได้ดำเนินการ แต่พรรคมีบุคลากรติดตามอยู่แล้ว และในวันที่ 14 ต.ค.ผู้ใหญ่ของพรรคก็อยู่ที่พรรคอยู่แล้ว      
    นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรค พท.กล่าวว่า การชุมนุมคาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร  หากฝ่ายความมั่นคงให้ความสำคัญกับการปกป้องและป้องกันการคุกคามจากมือที่ 3 และหากต้องการให้ปัญหาประเทศหมดไปและเดินหน้าได้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมเสียสละตัวเองลาออก เชื่อว่าปัญหาจบแน่นอน
    นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ชี้ว่า การชุมนุมในวันที่ 14  ต.ค.น่าเป็นห่วง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มองเป็นคู่ขัดแย้งและพยายามสร้างความเกลียดชังให้กลุ่มเยาวชนที่จัดกิจกรรม ทั้งๆ ที่ในฐานะนายกฯ ไม่ควรมีมุมมองที่เป็นอันตรายเช่นนี้ ซึ่งหากต้องการจบปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ต้องแสดงความจริงใจ และยอมรับในมติมหาชนที่คนไทยแสดงออกมาว่าไม่ต้องการ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว
    นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ระบุว่าการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค.มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลอยู่เบื้องหลังม็อบว่า การที่ทั้ง 2 คนออกมายืนยันว่าจะร่วมการชุมนุม ไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่เบื้องหลัง แต่พวกเรามีจุดยืนทางการเมืองเดียวคือเรียกร้องประชาธิปไตยตามสิทธิ์ที่พลเมืองควรได้ พร้อมชนกับเผด็จการเสมอมา ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ร่วมชุมนุมครั้งนี้
แนะลดเพดานเหลือข้อเดียว
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ถึงการชุมนุม 14 ต.ค.ว่า ถ้าลดข้อเรียกร้องจาก 3 ข้อ เหลือเพียงข้อเดียว เชื่อว่ากระแสประชาชนจะออกมาร่วมชุมนุมถล่มทลายท่วมท้น ถ.ราชดำเนิน โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกหรือยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน บรรยากาศบ้านเมืองจะคลี่คลายลง และในทางการเมืองเปลี่ยนวันชุมนุมได้ตามสถานการณ์ ไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนจุดยืนอุดมการณ์ เนื่องจากในวันที่ 13 ต.ค.คนทั้งแผ่นดินจะร่วมระลึกถึงและไว้อาลัยต่อวันสวรรคตรัชกาลที่ 9 ภูมิรัฐศาสตร์แบบนี้จะทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในวันที่ 14 ต.ค.เป็นไปด้วยความยากลำบาก และเมื่อมีขบวนเสด็จฯ แน่นอนที่สุดประชาชนสองข้างทางจะถวายการต้อนรับ เปล่งเสียงทรงพระเจริญ อีกอย่างการพยายามอธิบายว่า ผู้ชุมนุมจะเปิดเส้นทางเสด็จฯ แต่ชู 3 นิ้วนั้น ภูมิรัฐศาสตร์แบบนี้เป็นปัญหาแล้ว เพราะคนจะเต็ม ถ.ราชดำเนินเพื่อมารับเสด็จ สิ่งที่เสนอนั้นคือ ลดข้อเรียกร้องเหลือข้อเดียว ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วเปลี่ยนวันชุมนุมใหม่ แม้ผู้จัดชุมนุมไม่ฟังหรือไม่เอาตามข้อเสนอก็ตาม แต่อีก 2 วันจะได้พิสูจน์ความจริงในความห่วงใยของตนเองกันแล้ว  
    ด้านนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำหน้าที่แทนประธาน กสม.กล่าวว่า กสม.มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมมาโดยตลอด จึงขอย้ำให้ทุกฝ่ายพึงตระหนักและเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังและจริงใจ ขอให้ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์หรือความเห็นที่แตกต่างกัน และควรนำบทเรียนจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในอดีตมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อหาทางออกภายใต้หลักการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ตามแนวทางสันติวิธีและความรับผิดชอบต่อสังคม อันสอดคล้องกับวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย
    องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้ออกแถลงการณ์องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงการชุมนุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม มีเนื้อหาระบุว่า "เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้พื้นที่และสนับสนุนการแสดงออกทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ว่า นักศึกษามีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น คำพูด หรือการขีดเขียน มหาวิทยาลัยไม่เคยกีดกันเลย ถ้าหากการกระทำนั้นไม่ล่วงล้ำสิทธิของผู้อื่น และก็เป็นเรื่องของนักศึกษาบางคนซึ่งย่อมมีความคิดเห็นทางการเมืองได้"
    วันเดียวกัน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ประกาศหยุดเรียนในวันที่ 14-16 ต.ค. เพื่อให้นักศึกษาได้มีสิทธิ์ในการเรียกร้องต่อรัฐบาลเเละได้มาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระบบประชาธิปไตย
    ขณะที่กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศ.ป.ป.ส.) ได้จัดกิจกรรมขบวนแรลลีเพื่อแสดงออกสัญลักษณ์ทางการเมือง ในหัวข้อการเรียกร้องเชิญธนาธรพ้นประเทศไทย โดยรวมตัวกันที่หน้าสมาคมชาวปักษ์ใต้ จากนั้นเคลื่อนขบวนมายังอาคารไทยซัมมิท ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งนายจักรพงศ์  กลิ่นแก้ว ตัวแทนกลุ่มอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนในการเรียกร้องให้นายธนาธรออกจากประเทศไทย  และเรียกร้องให้นายธนาธรออกมาเป็นแกนนำจัดชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค.ด้วยตัวเอง เพราะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังให้การสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวแสดงกิจกรรมทางการเมือง โดยกลุ่มยืนยันว่าจะนัดหมายประชาชนที่รักสถาบันไปร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จด้วยความจงรักภักดีในวันที่ 14 ต.ค.ด้วย
นอกจากนั้น ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มร่วมใจรักพิทักษ์สามัคคี นำโดย น.ส.ดารุณี สีดำ ประธานกลุ่มจาก จ.ศรีสะเกษ, สุรินทร์, ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นแกนนำผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างฝายราษีไศล อ.ราษีไศล และอ่างเก็บน้ำห้วยก๊ากว๊าก อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสํานักนายกฯ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลให้บริหารประเทศชาติต่อไป และให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ให้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ไม่ท้อแท้ต่อปัญหาบ้านเมืองโดยเฉพาะการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค.นี้.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"