กระตุ้นช็อป


เพิ่มเพื่อน    

 

   มาแล้วโครงการที่หลายคนรอมานานนั้นก็คือ โครงการ 'ช้อปดีมีคืน' ซึ่งเพิ่งผ่าน ครม.ไปสดๆ ร้อนๆ  เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

                โดยรายละเอียดของโครงการจะเปิดให้ผู้มีเงินได้ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยไม่รวมถึงค่าสุรา เบียร์ และไวน์ ค่ายาสูบ ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ สามารถใช้สิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.2563 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2563

                ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลังประเมินว่า คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วม 3.7 ล้านคน จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 14,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 111,000 ล้านบาท ช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.30%

                มาตรการนี้ถือเป็นยากระตุ้นการจับจ่ายในช่วงปลายปีที่หนักที่สุด เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจมีภาวะซบเซา และงบกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มอ่อนแรงลง และที่ผ่านมา มาตรการนี้เคยถูกนำมาใช้ ในชื่อที่เรียกว่า 'ช้อปช่วยชาติ' ที่ผลักดันออกมาถึง 4 ปี ในระหว่างปี 58-61 ซึ่งพบว่าสามารถช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้ดีมาก และสำหรับ 'ช้อปดีมีคืน' ในปี 63 นี้ ถือเป็นมาตรการที่รัฐใจป้ำมากที่สุด ทั้งเพิ่มวงเงินลดหย่อน และเพิ่มระยะเวลาในการใช้สิทธิแตกต่างในอดีตที่ให้แค่ 15,000 บาท และระยะเวลาเพียง 1 เดือน แต่ครั้งนี้ให้หักลดหย่อนถึง 30,000 บาท และมีเวลาใช้สิทธิกว่า 2 เดือน 

                แน่นอนกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ อาจจะไม่ได้เน้นไปที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย แต่เน้นไปยังกลุ่มคนที่มีรายได้สูง กระตุ้นให้คนกลุ่มที่มีเงิน นำเงินออกมาใช้ เพื่อให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น

                โดยในมุมมองของ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง มองมาตรการนี้ว่าเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เงินเดือนที่มีงานมั่นคง เช่น พนักงานในบริษัทใหญ่ที่ธุรกิจอยู่รอด ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี เป็นต้น แต่ชนชั้นล่างที่เดือดร้อนไม่สามารถได้ประโยชน์ 

                จึงเกิดการตั้งคำถามว่า การผลักดันโครงการและวงเงินที่รัฐจะต้องเสียไปนั้นคุ้มค่ากับการช่วยเหลือกลุ่มชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ตลอดถึงห้างดีพาร์ตเมนต์สโตร์หรือไม่ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีเงินอยู่แล้ว 

                ขณะเดียวกัน จากการสำรวจจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า โครงการช้อปดีมีคืนจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคที่มีรายได้มากกว่า 500,000 บาทต่อปีขึ้นไป หรือรายได้ประมาณ 42,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมพบว่า ในกลุ่มที่มีรายได้สุทธิมากกว่า 500,000 บาทต่อปีขึ้นไป หรือมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 42,000 บาทขึ้นไป วางแผนที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากมาตรการช้อปดีมีคืน โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีฐานรายได้สุทธิมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนใหญ่วางแผนที่จะใช้สิทธิเต็มจำนวน หรือ 30,000 บาท แต่คนที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี วางแผนที่จะใช้สิทธิเพียงร้อยละ 40 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด และส่วนใหญ่จะใช้จ่ายแค่บางส่วน/ไม่เต็มจำนวน เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 5,000, 10,000 บาท เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังคงกังวลกำลังซื้อในอนาคต และโดยปกติก็เสียภาษีในอัตราที่ไม่สูงมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่ม  

                ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าโครงการช้อปดีมีคืน จะไปโดนใจกลุ่มที่มีรายได้สูงเป็นหลัก เพราะได้สิทธิ์สองเด้ง ซื้อสินค้าแล้วยังหักลดหย่อนภาษีได้อีก

                แม้จะมีการตั้งคำถามว่า ภาษีที่รัฐยอมสละกับเม็ดเงินที่จะลงในระบบเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนสุดท้ายแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน เรื่องนี้แล้วแต่มุมมอง แต่ในแง่ของภาครัฐแล้ว การที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นไปตามยถากรรมนั้นคงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องมากนัก

            ขณะที่ในส่วนของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลก็มีการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน.

 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"