ผวาการเมืองป่วน หุ้นติดลบ21จุด! ยืดเยื้อธุรกิจเจ๊ง


เพิ่มเพื่อน    

  หุ้นไทยปิดลบ 21 จุด รับแรงขายกังวลการเมืองในประเทศ หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. โบรกฯ ชี้หากชุมนุมยืดเยื้อ หวั่นกระทบโฟลว์ต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง "อาคม" เชื่อฝ่ายมั่นคงคุมสถานการณ์อยู่ ชี้ชุมนุมยืดเยื้อธุรกิจเจ๊ง

    รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า การซื้อขายหุ้นไทยวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,242.96 จุด ลดลง 21.03 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 1.66% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 54,209.15 ล้านบาท โดยระหว่างวันมีแรงขายออกมาในช่วงบ่ายต่อเนื่อง กดดันดัชนีปรับลดลงต่ำสุด 23.24 จุด หรือ 1.83% อยู่ที่ 1,240.75 จุด ทั้งนี้ มาจากนักลงทุนมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศจากการชุมนุมทางการเมือง หลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร
    นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงแรงมาจากความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ ที่คาดว่าจะออกมาล่าช้าและไม่ทันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี รวมถึงการเมืองในประเทศที่มีการชุมนุมและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ มองว่าหากการชุมนุมไม่มีความรุนแรง แต่มีความยืดเยื้อ จะส่งผลต่อการบริโภคในประเทศ และกระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติไม่ไหลกลับเข้ามา อีกทั้งยังไหลออกอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากในอดีตที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เงินทุนต่างชาติมักจะเป็นลบเสมอ
    ปัจจัยที่ต้องติดตามนอกจากพัฒนาการของการชุมนุม ยังต้องติดตามผลการเจรจาออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ภายในสัปดาห์นี้ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง โดยคาดดัชนีหุ้นไทยแนวรับอยู่ที่ 1,230 จุด ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดเดิมของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,260 จุด หากดัชนีหุ้นลดลงหลุดแนวรับที่ 1,230 จุด ถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อเก็งกำไร
    นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังจับตาสถานการณ์ชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรอย่างใกล้ชิด ว่าจะบานปลายหรือไม่ เวลานี้ยังเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้อยู่ หากควบคุมสถานการณ์ได้ ก็จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน แต่ถ้าบานปลาย เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น จะกระทบกับความเชื่อมั่น และซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างแน่นอน ซึ่งอยากให้รัฐบาลพิจารณาว่าข้อเรียกร้องเรื่องไหนของกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ก็อยากให้นำมาพิจารณา ส่วนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนั้น หากทุกอย่างเข้าสู่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยากให้รัฐบาลเร่งยกเลิกประกาศ เพื่อให้สถานการณ์ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ และสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุน
    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครนั้น เป็นการดำเนินการในเฉพาะพื้นที่ เป็นความจำเป็นที่รัฐบาลต้องดูแลสถานการณ์ ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการชุมนุมจะมีผลต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะมีการขยายพื้นที่ชุมนุมมายังราชประสงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ รมว.การคลังระบุว่า เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงดูแลอยู่แล้ว อย่างที่เคยชี้แจง การชุมนุมต่อเนื่อง แต่การทำธุรกิจก็หยุดไม่ได้
    ส่วนประเมินผลกระทบในระยะยาวหรือไม่ นายอาคมกล่าวว่า มองยาก อย่าให้คาดการณ์ ขอดูเรื่องงานของเราดีกว่า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"