อ่านอย่างเข้าใจ!อดีตผู้พิพากษาโพสต์เรื่องบ้านพักศาล ทิ้งปมบ้านพักหรูของนักการเมืองใหญ่บนดอยสุเทพ


เพิ่มเพื่อน    

28 เม.ย.61 -  เป็นอีกครั้งที่ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng  ถึงกรณีบ้านพักศาลเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ผมเคยรับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังลำพูนโดยอาคารศาลในขณะนั้นก็คือสำนักงานพัฒนาชุมชุนจังหวัดลำพูนในปัจจุบันซึ่งคับแคบมาก กระทรวงยุติธรรมต้องการสร้างอาคารหลังใหม่ แต่หาที่ดินไม่ได้เพราะในที่ดินจังหวัดลำพูนไม่มีที่ดินราชพัสดุเลย ผมไปรับตำแหน่งไม่นานได้มีโอกาสพูดคุยกับนายทวี เพิ่มสวัสดิ์ ในเรื่องนี้นายทวีได้บริจาคที่ดินให้กระทรวงยุติธรรม 5 ไร่เพื่อสร้างอาคารศาลจังหวัดลำพูนและได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลำพูน 

ด้านหลังอาคารศาลจังหวัดลำพูนหลังเดิม มีศาลพระนางเจ้าจามเทวีเจ้าผู้ครองเมืองหริภุญชัย สร้างแบบก่ออิฐฉาบปูนหลังคาเตี้ยๆ แต่ละวันจะมีผู้คนมากราบไหว้ ขอพรหรือบนบาน กันจำนวนมาก ภารโรงของศาลจังหวัดลำพูนมีหน้าที่ทำความสะอาดทุกวัน

เมื่อศาลจังหวัดลำพูนย้ายไปอยู่อาคารหลังใหม่จึงไม่มีคนทำความสะอาดคอยเก็บส่ิงของที่ประชาชนนำมาถวายทำให้รกรุงรัง จึงได้พูดคุยปรึกษาหารือกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนในขณะนั้นซึ่งสนิทสนมกันเหมือนเพื่อน ในที่สุดก็ได้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระนางเจ้าจามเทวีซึ่งอยู่ที่ตลาดหนองดอกในปัจจุบัน 

ผมรับราชการอยู่ที่จังหวัดลำพูน 4 ปี อย่างมีความสุขเพราะประชาชนชาวลำพูนเป็นคนไม่เรื่องมาก กริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน โดยเฉพาะการพูดภาษาท้องถิ่นหรืออู้คำเมือง นุ่มนวล อ่อนโยน จบลงด้วยคำว่า จ๊าว ลากเสียงยาวๆ ฟังแล้วไพเราะ ประทับใจจนบอกไม่ถูก 4 ปีที่อยู่ลำพูนจึงมีความประทับใจอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ความจริงอยากจะอยู่ที่ลำพูนต่ออีก แต่คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) กำหนดให้ผู้พิพากษาดำรงตำแหน่งอยู่ในศาลเดียวกันได้ไม่เกิน 4 ปี (ยกเว้น กทม.) จึงต้องจำใจจากลำพูนด้วยความอาลัยอาวรณ์อย่างที่สุด

ที่กล่าวมานี้เพื่อจะบอกว่า ผมมีทัศนคติอย่างไรต่อประชาชนชาวจังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน ปัจจุบันก็ยังมีเพื่อนชาวลำพูนและเชียงใหม่ที่สนิทสนมกันอยู่หลายคนหลายคนโดยเฉพาะอดีต ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่หลายสมัยและเป็นอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่ง แต่เลิกเล่นการเมืองมาหลายปีแล้วได้พบปะกันบ่อยมาก

การก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และอาคารบ้านพักตุลาการที่จังหวัดเชียงใหม่ ในระยะแรกสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ เสนอข่าวเหมือนกันว่า ตุลาการบุกรุกป่าดอยสุเทพ แม้สำนักงานศาลยุติธรรมจะได้ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง แต่สถานีโทรทัศน์บางช่อง สื่อมวลชนออนไลน์และชาวโซเชียลเน็ตเวิร์ค ยังคงใช้คำว่า ตุลาการรุกป่าดอยสุเทพกันต่อไป และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ความจริงผมเกษียณมาหลายปีแล้วไม่ควรจะมายุ่งเกี่ยวอะไรอีก แต่เนื่องจากรู้ดีว่า ผู้พิพากษาที่ยังอยู่ในตำแหน่งมีจรรยาบรรณค้ำคออยู่จะออกมาพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะหากมีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลจะถูกกล่าวหาว่า มีส่วนได้เสีย

จึงได้เขียนเรื่องนี้เพื่อต้องการชี้แจงให้คนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงได้ทราบ เพราะเฟซบุ๊คผมมีเพื่อน 5,000 คน มีผู้ติดตามอีก 41,550 คน น่าจะมีคนได้รับรู้กันในวงกว้างพอสมควร เป็นการเขียนตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ฟังได้ยุติแล้ว คือ 

1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มาตรา 188 บัญญัติไว้ว่า การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งก็คือผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งต้องดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ กับมาตรา 193 บัญญัติว่า ให้ศาลมีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการที่มีความเป็นอิสระ ในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดําเนินการอื่น

2 การก่อสร้างอาคารต่างๆ เป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการและอื่นๆ ของศาลยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น

3 ท่านอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ แถลงยืนยันฟังได้ว่า

3.1พื้นที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการอยู่นอกแนวเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ปรากฎตามแผนที่แสดงแนวเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กับพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการ

3.2 พื้นที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการเป็นที่ราชพัสดุและได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(น.ส.ล.) ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 ตรี แล้ว จึงไม่ได้เป็นป่า ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 4(1)

หลังจากนั้นการกล่าวหาว่า ตุลาการบุกรุกป่าดอยสุเทพก็ซาลง

แต่มีกล่าวหาต่อว่า แม้จะผิดกฎหมายก็ไม่เหมาะสม ไม่มีสามัญสำนึก ขาดจิตสำนึกที่ดี จะเป็นผู้ตัดสินคดีได้อย่างไร อันเป็นการกล่าวแบบนามธรรม ไม่มีเหตุผลหรือหลักเกณฑ์อะไรมาชี้ขาดได้ว่า อะไรผิดอะไรถูก และเป็นการกล่าวหาผู้พิพากษาซึ่งไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

มีคนส่งประวัติการก่อสร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่วิทยาเขตวิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก มาให้ จึงทราบว่า อยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม จึงเอามาเขียนโดยไม่ได้กล่าวตำหนิติเตียนมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่แม้เพียงนิดเดียวหรือกล่าวว่ากระทำไม่เหมาะสม หรือกล่าวว่าไม่ถูกต้องหรือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่อย่างใดเลย

เพียงต้องการเปรียบเทียบให้เห็นว่า หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งก่อสร้างอาคารในป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นป่าตามกฎหมาย ไม่เคยได้ยินข่าวว่ามีการคัดค้านว่ารุกล้ำ ป่า แต่หน่วยงานราชการอีกแห่งสร้างอาคารนอกเขตอุทยานแห่งชาติและไม่ได้เป็นป่าตามกฎหมาย กลับมีผู้คัดค้านว่ารุกล้ำ ป่า เพื่อให้ผู้ที่ใช้ความคิดด้วยเหตุด้วยผลและมีความยุติธรรมอยู่ในจิตใจพิจารณาว่า การกล่าวหาว่า ตุลาการบุกรุกป่าดอยสุเทพถูกต้องหรือไม่เท่านั้น

ผมโพสต์เรื่องนี้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 เวลา 17:39 นาฬิกา มีคนเข้าเข้ามาแสดงความเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากพอสมควรแต่ก็พูดกันด้วยเหตุผล จนกระทั่งวันที่ 24 เมษายน 2561 เวลาประมาณ 21 นาฬิกาเศษ ซึ่งตามปกติก็ไม่ค่อยคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้วเพราะเวลาที่โพสต์ผ่านมากว่า 24 ชั่วโมงแล้ว แต่ปรากฎว่าคืนนั้นมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันมากผิดปกติ โดยด่าผมและผู้พิพากษาโดยรวมอย่างดูหมิ่นเหยียดหยามและหยาบคาย เช่น "มึงแก่จะเข้าโลงอยู่แล้ว ไม่รู้หรือสถานศึกษาสร้างไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่บ้านพักพวกมึงสร้างเพื่อประโยชน์สุขส่วนตัว" "อ้ายควาย ! พวกมึงเป็นผู้พิพากษาได้อย่างไร โง่อย่างนี้ จับฉลากกันมาหรือ" และอีกมากมายที่ไม่อาจนำมากล่าวได้

มีสุภาพสตรี 2 คน ๆ หนึ่งเป็นแพทย์ อีกคนหนึ่งผมไม่เคยรู้จักมาก่อน เข้าช่วยอธิบายข้อกฎหมายข้อเท็จจริงและเหตุผลต่างๆ ก็ถูกด่าอย่างหยาบคายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ผมยังไม่รู้จักแต่มารู้ทีหลังว่า เธอจบเนติบัณฑิตและปริญญาโทนิติศาสตร์ กำลังจะสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามเล็กในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ถูกด่ามากที่สุดและถึงกับว่า "อี.....มึงเป็นเมียน้อยผู้พิพากษาหรือ" เธอบอกผมว่าสอบผู้ช่วยฯ เสร็จคงต้องเจอกันบนศาลยุติธรรม แม้คนด่าจะปิดเฟซบุ๊คไปแล้ว แต่เธอเก็บไว้และให้ผู้มีความรู้ทางไอทีช่วยหาชื่อที่แท้จริงให้แล้ว

ต่อมาคนส่งข่าวมาให้ทราบว่า ทีม Workpoint News -ข่าวเวิร์คพอยท์ออนไลน์ นำข้อเขียนของผมไปทำอินโฟกราฟิกโดยตัดข้อความที่เป็นสาระคัญออก แสดงให้เห็นถึงเจตนาว่า ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจผิดในสาระคัญทั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และของสำนักงานศาลยุติธรรม แล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊คของ Workpoint News-ข่าวเวิร์คพอยท์ออนไลน์ จึงได้รู้ถึงสาเหตุที่มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นมากเป็นพิเศษเพราะความเข้าใจผิดที่มีการตัดข้อความที่เป็นสาระสำคัญทิ้งดังกล่าวแล้ว

ผมตามเข้าไปดูเฟซบุ๊คดังกล่าว ปรากฎว่ามีผู้เข้าไปด่าผมและผู้พิพากษาโดยรวมมากกว่าและใช้คำพูดดูหมิ่นเหยียดหยามและหยาบคายมากกว่าในเฟซบุ๊ตของผมอีก ต่อมาคงทราบว่ามีผู้เสนอให้ผมฟ้อง จึงได้ลบทิ้ง

ผมเขียนมายืดยาวเพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาและเจตนาที่ผมเขียนซึ่งทุกครั้งไม่เคยด่าหรือตำหนิติเตียนใครเลย ทั้งไม่เคยใช้คำหยาบเลยแม้แต่ครั้งเดียว

มีข่าวว่าร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่บางส่วนได้ปิดป้ายประกาศไม่ต้อนรับผู้พิพากษาในจังหวัดเชียงใหม่ ก็อยากจะเรียนให้ชาวเชียงใหม่ทราบว่า ผู้พิพากษาที่รับราชการอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน ไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องการก่อสร้างอาคารของสำนักงานศาลยุติธรรม ถ้าชาวเชียงใหม่กระทำการใดๆ ที่ทำให้ท่านไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ ท่านก็สามารถขอย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นได้ไม่เดือดร้อนอะไร และเมื่อท่านย้ายไปแล้วไม่มีท่านอื่นย้ายมาแทน จำนวนผู้พิพากษาของศาลในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีหลายศาลแต่ละศาลก็จะจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลและคดีที่ฟ้องใหม่ก็จะเพิ่มขึ้นเหมือนดินพอกหางหมู ผู้ที่เดือดร้อนคือประชาชนชาวเชียงใหม่ที่มีคดีอยู่ในศาลเพราะต้องใช้เวลานานมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคดีอาญาที่จำเลยไม่ได้ประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ถ้าศาลพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง จำเลยก็ต้องถูกขังฟรีถึง 3-4-5 ปี ก็ได้

มีประกาศให้ประชาชนไปทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ในวันที่ 29 เมษายน 2561 มีข้อความตอนหนึ่งว่า "เราไม่ต้องการให้ศาลอยู่ 10 ปี นายกฯ ช่วยทีรื้อหมู่บ้านป่าแหว่ง"

อดสงสัยไม่ได้ว่า คำว่า"เราไม่ต้องการให้ศาลอยู่ 10 ปี" นั้น ไม่ให้อยู่เฉพาะในอาคารที่กำลังก่อสร้างอยู่หรือไม่ให้อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะภาษาที่ใช้กำกวมไม่ชัดเจน ถ้าไม่ให้อยู่ในพื้นที่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ก็อาจเป็นได้ แต่ถ้าไม่ให้อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ คงไม่อาจกระทำได้ตราบใดที่จังหวัดเชียงใหม่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย

มีคนเชียงใหม่บอกว่า มีการสร้างอาคารเป็นร้านอาหารใหญ่โตโดยขยายเพิ่มเรื่อยๆ ชื่อร้านผาลาดตะวันรอน มีนักการเมืองใหญ่คนหนึ่งเป็นเจ้าของ ตั้งอยู่บนดอยสุเทพสูงกว่าบริเวณที่สร้างอาคารของสำนักงานศาลยุติธรรมที่อยู่เชิงดอยด้านล่างมาก ก่อสร้างมาหลายปีแล้ว มีการขุดภูเขาเพื่อเพื่อสร้างอาคารและปรับเป็นลานจอดรถ มีการสร้างถนนขึ้นไปจนถึงร้านด้วย ผมเองไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ ขอให้ผู้ที่ต้องการรื้ออาคารที่สำนักงานศาลยุติธรรมก่อสร้าง ช่วยตรวจสอบด้วยหากมีจริงก็ขออย่าเลือกที่รักมักที่ชังนะครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"