เปิดสภาดับไฟม็อบ! ชวนนัดทุกพรรคถกด่วนพปชร.-ปชป.-ภท.ชูจุดยืน


เพิ่มเพื่อน    

 

สภา-พรรคการเมืองตื่นแล้ว หลังประชาชนลุกฮือทั่วประเทศ ดันด่วนเปิดประชุมสภาวิสามัญ โหวตรับร่าง รธน.วาระแรกเดือนตุลาคม ไม่ต้องรอถึง 1 พ.ย. "ชวน" นัดถก หน.ทุกพรรคการเมืองจันทร์นี้ พท.แนะเปิดโต๊ะเจรจาหาทางออกระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุม พปชร.-ปชป.-ภท.ประสานเสียง เอาด้วยแก้ รธน. "คณะประชาชน" ไม่ขัดข้องนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อ
     จากสถานการณ์การชุมนุมหลายสถานที่ทั่วประเทศในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้ฝ่ายการเมืองในส่วนของพรรคการเมืองและนักการเมืองกำลังเร่งหาทางคลี่คลายสถานการณ์
    โดยเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อเสนอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ด้วยการที่รัฐบาลหรือสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อดำเนินการยื่นเรื่องขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายกำลังมีความพยายามดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่มีการเสนอรายชื่อมายังประธานสภาฯ แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาได้เสนอความคิดไปยังรัฐบาลว่า หากรัฐบาลจะขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก็สามารถทำได้ หรือจะให้ ส.ส.รัฐบาลเข้าชื่อร่วมกับฝ่ายค้านก็ได้ อีกทั้งได้ประสานพูดคุยกันภายในระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมาโดยตลอด และในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ก็ได้นัดหารือกันเป็นการภายในอีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่าจะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญหรือไม่ ก่อนที่จะเปิดประชุมสภาฯ สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ แต่เบื้องต้นได้สั่งให้มีการเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญไว้แล้ว    
    “ในฐานะประธานสภาฯ ไม่มีสิทธิ์เรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญเองได้ เพราะหากทำได้ผมคงทำไปแล้ว แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลหรือสมาชิกรัฐสภาจะต้องเข้าชื่อกันตามกฎหมายกำหนด ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาว่าสภาสามารถเข้าไปดูแลปัญหาส่วนใดได้บ้าง โดยมีการประสานกันภายในระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอย่างเงียบๆ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดดันหรือเป็นการโยนภาระการตัดสินใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง วันพรุ่งนี้เราได้นัดหารือกันภายในอีกครั้ง เพื่อให้สภาพิจารณาว่าควรเปิดประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่” นายชวนกล่าว
    วันเดียวกัน ????????นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ???????เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนในการขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ โดยระบุว่า?สมควรที่จะใช้เวทีของรัฐสภาเพื่อหาทางออกของปัญหา แม้ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้านดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยได้รับการติดต่อจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นัดให้แกนนำของพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาพูดคุยหารือกันเพื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ณ อาคารรัฐสภา ในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563 นั้น พรรคเพื่อไทยจะส่งตัวแทนเข้าหารือ ?
    เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยขอแถลงจุดยืนของพรรคต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ1. นายกรัฐมนตรีต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยทันที ?2.จะต้องมีการปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทุกคนโดยทันที?
    ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การหารือร่วมกันระหว่างประธานสภาฯ กับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค ตัวแทนวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน ที่รัฐสภา เป็นการหารือแนวทางที่สภาจะช่วยหาให้สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้คลี่คลายลงได้ หัวข้อที่หารือคงไม่ใช่เพียงแค่การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ แต่จะหารือถึงแนวทางอื่นๆ ด้วย เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ ในส่วนพรรคเพื่อไทย จะส่งนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค, นายสมคิด เชื้อคง รองประธานวิปฝ่ายค้านร่วมหารือ                
    "แนวทางที่พรรคเพื่อไทยจะนำเสนอมีทั้งการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ การแก้รัฐธรรมนูญ การเปิดโต๊ะเจรจาหาทางออกระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุม ความเหมาะสมในการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ ในเรื่องการเปิดประชุมสมัยวิสามัญนั้น มีความจำเป็นอยู่ แม้ขณะนี้จะเหลือเวลาอีก 11-12 วัน จะเปิดประชุมสภาตามปกติในวันที่ 1 พ.ย.แล้วก็ตาม แต่ระยะเวลาที่เหลือหลังจากนี้จนถึงการเปิดประชุมสภาตามปกติ สถานการณ์จะพัฒนาไปเร็วมาก มีความสำคัญทุกวัน ไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด ขณะนี้พรรคเพื่อไทยเตรียมรายชื่อ ส.ส.ที่จะขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญไว้หมดแล้ว สามารถยื่นต่อสภาได้ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ถ้าฝ่ายรัฐบาลต้องการเปิดประชุมสมัยวิสามัญจริง สามารถเข้าชื่อมาได้ คงใช้เวลารวบรวมรายชื่อไม่นาน ถ้าเร่งทำกันจริงๆ เชื่อว่าจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ก่อนวันที่ 1 พ.ย.แน่ แม้จะเปิดได้เร็วขึ้นกว่าเดิมไม่กี่วัน แต่ก็มีความสำคัญ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ทุกวันมีค่ามาก ตัดสินใจช้าแค่ 1-2 วัน อาจทำให้สถานการณ์มีผลไปในทางเลวร้ายได้" นายสุทินกล่าว
พปชร.ย้ำเทิดทูนสถาบันฯ
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่า พรรคพลังประชารัฐได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ซึ่งพรรคมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองเช่นเดียวกับระชาชนคนไทยทุกๆ คน โดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบต่อสถาบันฯ จึงขอแถลงจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ ดังนี้ 1.พรรคพลังประชารัฐยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
    2.พรรคพลังประชารัฐมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น3.พรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญโดยกระบวนการทางรัฐสภา และเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบหมวด 1 และหมวด 2 อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าจะธำรงรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศจุดยืนของพรรคต่อสถานการณ์การเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ว่า พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้ง และจะยึดมั่นอุดมการณ์นี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนจำนวนมากพอสมควร แม้ว่าจะผ่านการทำประชามติของประชาชนมาแล้ว แต่เมื่อนำมาใช้แล้วพบว่าก่อให้เกิดปัญหาก็ต้องแก้ไข ซึ่งพรรคภูมิใจไทยสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกันใหม่ ยกเว้นหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
    “การแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนผู้ชุมนุม จะทำให้การเผชิญหน้ากันลดลง และรัฐสภาจะเป็นเวทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งของประชาชนที่ดีที่สุด” นายอนุทินระบุ
ปชป.แนะตั้งกมธ.รับฟังความเห็น
    เช่นเดียวกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ถึงสถานการณ์การเมืองว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดมาโดยลำดับ และมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันเช่นเดียวกับประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบต่อสถาบัน พรรคประชาธิปัตย์จึงขอประกาศจุดยืนของพรรคให้ทราบ ดังนี้ 1.พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคประชาธิปัตย์เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นอุดมการณ์ ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์มาเมื่อปี 2489 จนถึงปัจจุบันก็ยังคงยึดมั่นไม่มีเปลี่ยนแปลง
    นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า 2.พรรคเห็นว่าการแก้ปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันควรใช้แนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใดก็ตาม และ 3.พรรคเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองควรจะได้มีการใช้รัฐสภาเป็นเวทีหาทางออกให้กับประเทศ ภายใต้การรับฟังและการแสวงหาความร่วมมือ ร่วมใจ และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์
    "รัฐบาลควรจะเป็นเจ้าภาพในการเปิดสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้สามารถดำเนินสิ่งที่รัฐสภาจะได้เป็นที่หาทางออกให้กับประเทศได้อย่างชัดเจน" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุ
    นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ประการที่หนึ่ง เห็นว่าควรจะใช้เวทีรัฐสภาในการเร่งรัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นควรให้มีการเร่งดำเนินการเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการในทันทีที่สามารถทำได้ และไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆ ที่จะนำไปสู่การทำให้สังคมเกิดความเข้าใจว่ามีการยื้อเวลา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการนำไปสู่การทำประชามติก่อนรับหลักการในวาระที่หนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการได้ และจะต้องทำประชามติก็ต่อเมื่อได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระที่สามไปแล้วก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องนำไปสู่การทำประชามติ,  ประการที่สอง พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าควรจะได้มีการใช้มาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการที่นายกฯ ขอไปยังประธานรัฐสภาเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติในที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส.และ ส.ว.หาทางออกให้กับประเทศ
    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อไปว่า ประการที่สาม พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าภายหลังจากการรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายควรจะได้มีการตั้งคณะทำงานหรือตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมารับฟังความเห็น และแสวงหาทางออกร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้านสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ต้องการให้ความร่วมมือในการแสวงหาทางออกของประเทศร่วมกัน เพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏเป็นจริงได้
คณะประชาชนไม่ขวางนายกฯ คนนอก
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาระบุว่า ขอแจ้งความคืบหน้าและแก้ไขข่าวเกี่ยวกับรายชื่อประชาชนที่เสนอ 3 ข้อคือ หนึ่ง ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก, สอง มี ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และสาม ปล่อยนักเรียนนักศึกษาที่ถูกจับกุม โดยประการแรก ไม่มี พล.อ.สายหยุด เกิดผล ในรายชื่อดังกล่าว เนื่องจากการประสานงานที่ตัวแทนท่านมาประชุมและสื่อสารว่าท่านเห็นด้วย แต่เมื่อภายหลังท่านให้ความเห็นว่าเห็นด้วย แต่ไม่ขอลงชื่อ เนื่องจากอายุมากแล้ว จึงขออนุญาตนำชื่อของท่านออก
    นายสมชัยกล่าวว่า คณะประชาชนที่ประกอบด้วยอดีตนักการเมือง นักการทหาร อดีตข้าราชการระดับสูง นักวิชาการ นักธุรกิจ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง และขอแสดงจุดยืนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อประเทศ 3 ข้อดังนี้  ข้อที่ 1 ถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเสียสละตนเอง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ เพราะท่านเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง รังแต่จะนำไปสู่การบานปลายของสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา การลาออกนั้นเพื่อให้รัฐสภาได้ใช้กลไกในรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ โดยขอให้สมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนอย่างเป็นอิสระ หรืองดออกเสียง แต่หากไม่มีผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่เหมาะสม ก็สามารถใช้วรรคสองของมาตรา 272 เลือกบุคคลที่อยู่ภายนอกบัญชีรายชื่อ ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาได้
    ข้อที่ 2 คณะผู้บริหารใหม่ จะอยู่ในวาระเพียงแค่เวลาที่เหลือของรัฐสภาชุดปัจจุบัน โดยมีภารกิจหลักคือ การส่งเสริมให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเวลาไม่นาน และหากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและผ่านการลงประชามติจากประชาชนแล้ว ให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ส่วนการคงอยู่หรือเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใหม่, ข้อที่ 3 รัฐบาลต้องปล่อยตัวนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"