ทำไมธรรมาภิบาลในองค์กรไม่แสวงหากำไรจึงสำคัญ


เพิ่มเพื่อน    

 

อาทิตย์ที่แล้วผมไปบรรยายให้หลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง รุ่นที่ 12 เรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ในฐานะประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ก็เห็นพ้องต้องกันว่าธรรมาภิบาลเป็นปัญหาสำคัญของประเทศเรา และเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมต้องให้ความสำคัญ วันนี้เลยเขียนเรื่องนี้โดยพูดถึงความสำคัญของธรรมาภิบาลในองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของภาคประชาสังคม ที่สามารถผลักดันสังคมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ รวมถึงขับเคลื่อนธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในส่วนอื่น ๆ ของสังคม

เป็นที่ยอมรับว่าธรรมาภิบาลสำคัญต่อการพัฒนาสังคมและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งไม่ให้ประเทศเราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างที่ควร คือ การขาดธรรมาภิบาล หรือความพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อคนในสังคมไม่พร้อมที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ประเทศเราจึงมีปัญหามาก และปัญหาสำคัญที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำ และการบังคับใช้กฎหมาย ล้วนมีต้นเหตุมาจากการขาดธรรมาภิบาลทั้งสิ้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่ประเทศมีโดยทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่จึงจำเป็นและสำคัญทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม                    

ในบ้านเราภาคเอกชนมีการพัฒนาธรรมาภิบาลดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะหลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกมาก ที่ทำได้ส่วนหนึ่งเพราะภาคเอกชนมีกลไกตรวจสอบจากภายนอก เช่น หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน องค์กรวิชาชีพ สื่อมวลชน และกรรมการอิสระ ช่วยเป็นหูเป็นตาและดูแลให้พฤติกรรมในภาคเอกชนอยู่ในกรอบของธรรมาภิบาล ซึ่งต่างจากภาครัฐที่ไม่มีกลไกตรวจสอบจากภายนอกเหล่านี้ ทำให้การทำงานของภาครัฐขาดการตรวจสอบอย่างที่ควร เอื้อให้เกิดการใช้อำนาจที่ผิด เกิดประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น การดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เกิดความไม่เป็นธรรมในภาคธุรกิจและสังคม สิ่งเหล่านี้สร้างความสูญเสียให้กับสังคมและเศรษฐกิจและทำลายโอกาสในการพัฒนาประเทศ

สำหรับภาคประชาสังคมแม้บทบาทในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยตรงในปัจจุบันจะยังน้อย แต่การเติบโตขององค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญของภาคประชาสังคมในระบบเศรษฐกิจนับวันจะมีมากขึ้น ๆ ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่จะเป็นกลไกของภาคประชาสังคมในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ทำให้การมีธรรมาภิบาล

ในองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ออมทรัพย์ วัด และมหาวิทยาลัย จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ รวมถึงผลักดันธรรมาภิบาลในภาครัฐและภาคเอกชนให้ดีขึ้น

องค์กรไม่แสวงหากำไรนับวันจะมีบทบาทมากขึ้นในบ้านเรา เพราะองค์กรเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อคุณภาพการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม จากที่องค์กรเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการให้บริการต่าง ๆ แก่ประชาชน เช่น การศึกษา การออม ศาสนา วัฒนธรรม บริการสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม กีฬา การรักษากฎหมาย สิทธิประชาชน และความเป็นธรรมในสังคม

เป้าหมายขององค์กรไม่แสวงหากำไร คือ การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมและองค์กรเหล่านี้ก็มีกฎหมายและข้อบังคับของทางการกำกับการจัดตั้งอยู่ การบริหารองค์กรทำโดยคณะกรรมการที่มาร่วมกันทำงานโดยสมัครใจเพื่อให้พันธกิจขององค์กรประสบความสำเร็จภายใต้การสนับสนุนของสมาชิกหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรไม่แสวงหากำไรจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล เพื่อให้การทำหน้าที่ขององค์กรเป็นที่ยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ที่สำคัญธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งขององค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น วัด มหาวิทยาลัย มูลนิธิ จะทำให้ธรรมาภิบาลในส่วนอื่น ๆ ของสังคม เช่น หน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่น และบริษัทเอกชน เข้มแข็งตามไปด้วย จากตัวอย่างของการทำหน้าที่อย่างโปร่งใสเป็นระบบและตรวจสอบได้ ผลักดันให้ธรรมาภิบาลในส่วนอื่น ๆ ของประเทศดีขึ้น

มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลตระหนักถึงความสำคัญขององค์กรไม่แสวงหากำไรในระบบเศรษฐกิจ และมองเห็นถึงศักยภาพขององค์กรไม่แสวงหากำไรในการผลักดันธรรมาภิบาลของประเทศให้ดีขึ้น ผ่านการพัฒนาธรรมาภิบาลในองค์กรไม่แสวงกำไรเอง จึงได้จัดทำและเผยแพร่แนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลขององค์กรไม่แสวงหากำไรสำหรับคณะกรรมการและผู้บริหารองค์กรไม่แสวงหากำไร แนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบ และแนวปฏิบัติการประชุมกรรมการ เพื่อเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมการทำหน้าที่ของคณะกรรมการองค์กรไม่แสวงหากำไรตามหลักธรรมาภิบาล โดยเน้นการทำหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้บริหารเป็นสำคัญ

แนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลดังกล่าว เน้นความแตกต่างระหว่างองค์กรไม่แสวงหากำไรกับบริษัทธุรกิจ เพราะบริษัทธุรกิจมีเป้าหมายอยู่ที่การทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ ต่างจากองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีเป้าหมายอยู่ที่ประโยชน์เพื่อส่วนรวม ความแตกต่างนี้สำคัญมากทำให้แนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลของคณะกรรมการองค์กรไม่แสวงหากำไรจะแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับแนวปฏิบัติของคณะกรรมการบริษัท

ในรายละเอียดแนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่มูลนิธิฯ ได้จัดทำขึ้น ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้บริหารองค์กรไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ออมทรัพย์ วัด และมหาวิทยาลัย ในเก้าเรื่องคือ

หนึ่ง คณะกรรมการและผู้บริหารขององค์กรต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ และวัตถุประสงค์ขององค์กรเป็นอย่างดี เพื่อให้งานขององค์กรบรรลุตามวัตถุประสงค์

สอง คณะกรรมการต้องมีภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์ เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจขององค์กรให้ประสบความสำเร็จตามความคาดหวังของผู้ที่เกี่ยวข้อง

สาม คณะกรรมการต้องดูแลให้องค์กรดำเนินงานภายใต้กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

สี่ คณะกรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวัง รอบคอบ ร่วมกันขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรและค่านิยมที่จะช่วยให้พันธกิจขององค์กรประสบความสำเร็จ

ห้า คณะกรรมการต้องให้ความสำคัญและกำกับการบริหารความเสี่ยงและดูแลระบบควบคุมภายใน เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

หก คณะกรรมการและผู้บริหารต้องทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบ ตระหนักถึงความสำคัญของความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจที่สาธารณชนมีต่อองค์กร

เจ็ด คณะกรรมการต้องมีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่องานขององค์กร สามารถร่วมกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดี

แปด คณะกรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส วางระบบงานที่เป็นมาตรฐานและตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลและจัดทำรายงานตามเกณฑ์มาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

เก้า คณะกรรมการและผู้บริหารต้องให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้งานขององค์กรเป็นไปตามการคาดหวัง และได้รับการสนับสนุนการดำเนินกิจการจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

นี่คือ แนวปฏิบัติเก้าด้านที่ถือเป็นหัวใจของการทำหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้บริหารขององค์กรไม่แสวงหากำไรตามหลักธรรมาภิบาล แนวปฏิบัติดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรไม่แสวงหากำไรประเภทต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการไปแล้วกับสองสถาบันสำคัญขององค์กรไม่แสวงหากำไรในบ้านเรา คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ และวัด

สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีความสำคัญในระบบการเงินของประเทศ มีขนาดสินทรัพย์เป็นอันดับสาม รองจากธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยมูลนิธิฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทยและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่สนับสนุนด้านวิชาการ จัดหลักสูตรอบรมธรรมาภิบาลแก่กรรมการและผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ตามแนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลที่มูลนิธิฯ ได้พัฒนาขึ้นข้างต้นซึ่งประสบความสำเร็จมาก โดยปีที่แล้วและต้นปีนี้มีการจัดอบรมให้กับกรรมการและผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ 18 แห่งจากทั่วประเทศรวมทั้งผู้บริหารจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหกรณ์ออมทรัพย์ มีผู้เข้าอบรมทั้งหมดประมาณ 300 คน

สำหรับวัด วัดมีบทบาททางสังคมที่สำคัญต่อคนไทย ให้ความช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับคนในชุมชน ขณะเดียวกันวัดก็อาศัยความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในการทำนุบำรุงและรักษาวัด ผ่านการบริจาคและการให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นการบริหารจัดการวัดบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาลจึงสำคัญ เพื่อความโปร่งใสและให้การดำเนินการต่าง ๆ ของวัดสามารถตรวจสอบได้เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

ในเรื่องนี้มูลนิธิฯ ได้พัฒนาหลักธรรมาภิบาลในการบริหารวัดในพระพุทธศาสนาและคู่มือการกำกับดูแลวัด เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการบริหารจัดการวัดภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลที่แยกการกำกับดูแลและการบริหารงานวัดออกจากกันตามหลักธรรมาภิบาล พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอันจะนำไปสู่การรักษา ศรัทธาและความน่าเชื่อถือเพื่อการทำนุบำรุงและสืบทอดพุทธศาสนาต่อไป ขณะนี้มูลนิธิฯ กำลังทำงานกับบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและนอกพระพุทธศาสนาเพื่อให้หลักปฏิบัติดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและให้มีการนำไปปฏิบัติใช้โดยสมัครใจ เพื่อเป็นต้นแบบให้มีการนำหลักดังกล่าวไปปฏิบัติใช้ในวงกว้าง

นี่คือความสำคัญของธรรมาภิบาลในองค์กรไม่แสวงหากำไรที่กำลังมีการผลักดันและขับเคลื่อนในส่วนต่าง ๆ ของสังคม และจากที่องค์กรไม่แสวงหากำไรเป็นสถาบันภาคประชาสังคมที่มีประชาชนเกี่ยวข้องจำนวนมาก ธรรมาภิบาลในองค์กรไม่แสวงหากำไรจะเป็นแรงกดดันสำคัญให้
ธรรมาภิบาลในส่วนอื่น ๆ ของประเทศดีขึ้น

ในวันนั้นหลังการบรรยายผู้ฟังหลายท่านแสดงความสนใจและเสนอตัวที่จะช่วยเหลือเพื่อช่วยกันผลักดัน ซึ่งน่ายินดีมาก ผู้อ่านที่สนใจจะร่วมขับเคลื่อนหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อผมได้ที่ [email protected] โดย ppgg ย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษของมูลนิธิ คือ Foundation for Public Policy and Good Governance หวังว่าคงจะได้มีโอกาสร่วมงานกันครับ.

คอลัมน์เขียนให้คิด

ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"