เขียนให้คิดถึงอนาคตประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

 

ตอนต้นเดือนวันที่ 8 เมษายน พอเริ่มมีการระบาดของโควิดรอบสาม สำนักข่าวต่างประเทศได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ผมในประเด็นผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งผมได้ให้ความเห็นสองเรื่อง

หนึ่ง การระบาดรอบนี้จะรุนแรงเพราะเป็นการแพร่ระบาดในประเทศระหว่างคนในประเทศ โดยเชื้อที่สามารถแพร่ได้เร็ว ทำให้การอัตราการแพร่ระบาดจะเร่งตัวมาก และเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้ประเทศเราก็การ์ดตกทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้การระบาดจะแพร่เร็วมาก และให้ความเห็นว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจคงมีแน่นอน และจุดสมดุลระหว่างการลดการระบาดกับการดูแลไม่ให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีมากนั้นไม่มี แต่ต้องเลือกว่าจะให้ความสำคัญอันไหนก่อนระหว่างการแก้ปัญหาสาธารณสุขคือ หยุดการระบาดกับการแก้เศรษฐกิจ ซึ่งผมให้ความเห็นว่าต้องเลือกสาธารณสุขก่อน ควรพยายามหยุดการระบาดโดยเร็ว ด้วยมาตรการที่ทำเต็มที่ และควรทำแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย และถ้าดูจากปีที่แล้วประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือในการหยุดการระบาด เพราะทุกคนไม่อยากให้ประเทศมีการระบาดรุนแรงเพราะเสี่ยงต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต

สอง เรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ผมให้ความเห็นว่าการใช้จ่ายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะหยุดชะงัก การขยายตัวของเศรษฐกิจจะลดลง แต่จะลดลงมากหรือน้อยขึ้นอยู่ว่าการระบาดคราวนี้จะยืดเยื้อแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการที่ภาครัฐจะใช้ควบคุมการระบาดว่าจะเข้มข้นเอาจริง และมีประสิทธภาพแค่ไหน

ถึงวันนี้ก็ชัดเจนในทั้งสองเรื่องคือ รัฐบาลเลือกที่จะประคับประคองเศรษฐกิจ ดูจากมาตรการวันที่ 16 เมษายน คือ ไม่ได้ออกมาตรการเต็มที่ ๆ จะหยุดการระบาด ไม่มีล็อคดาวน์ ไม่มีเคอร์ฟิว มีเพียงยกระดับพื้นที่ 18 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดง ห้ามจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ บวกกับมีการปรับเวลาเปิดปิดร้านและห้าง โดยจะใช้มาตรการเหล่านี้ 14 วัน เริ่ม 18 เมษายน จากนั้นก็เสริมด้วยมาตรการระดับจังหวัด โดยเป็นอำนาจของแต่ละจังหวัดในการออกประกาศ

ที่ห่วงกันขณะนี้คือมาตรการระดับนี้ไม่ใช่ยาแรงและจะหยุดการระบาดได้หรือไม่ และถ้าการระบาดยืดเยื้อเพราะมาตรการไม่เข้มพอหรือช้าเกินไป ผลต่อเศรษฐกิจจะมีมากและอาจออกมาเป็นกรณีเลวร้าย (Worst Case) สำหรับเศรษฐกิจตามที่แบงค์ชาติได้ประเมินไว้เมื่อวันที่ 9 เมษายน คือ การระบาดยืดเยื้อไปถึงครึ่งหลังของปีนี้ การฉีดวัคซีนในประเทศล่าช้าและการระบาดรอบสามทำให้เป้าหมายการเปิดประเทศของรัฐบาลต้องเลื่อน ผลคือการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ต้องปรับลงมาก หรืออาจติดลบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการแพร่ระบาด

เห็นได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเราขณะนี้มีมาก ทั้งในระยะสั้นคือ ดูแลผลกระทบของการระบาดรอบสามและรอบต่อ ๆ ไปที่จะมีต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศ และในระยะยาวคือ นำเศรษฐกิจไปสู่การฟื้นตัวเพื่อให้ประเทศและคนในประเทศมีรายได้ที่จะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากสามเงื่อนไขที่ต้องมีหลังโควิดจบลง

หนึ่ง เศรษฐกิจต้องสามารถขยายตัวได้สูงพอ คือ ในอัตรามากกว่าร้อยละ 4 ต่อปี เพื่อให้ประเทศมีรายได้มากพอที่จะกระจายไปสู่คนทุกกลุ่มในสังคม และรัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีพอที่จะชำระหนี้เพราะระดับหนี้ภาครัฐได้เพิ่มขึ้นสูงมากจากการกู้ยืมของรัฐเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19

สอง กระบวนการเติบโตของเศรษฐกิจ หลังโควิดจะต้องแตกต่างไปจากเดิมคือ เป็นกระบวนการเติบโตที่ให้ประโยชน์กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง (Inclusive) เพื่อลดทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีและให้ความมั่นใจว่าทุกชีวิตจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหลังโควิด

สาม การเติบโตต้องอาศัยบทบาทของภาคเอกชนเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ต้องมาจากทุกส่วนของภาคเอกชน ไม่ใช่เฉพาะแต่บริษัทใหญ่ ที่ต้องเป็นเช่นนี้เพราะภาคเอกชนมีทรัพยากรมาก ขณะที่ภาครัฐมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นมากและต้องบริหารการชำระหนี้ ทำให้จะไม่มีทรัพยากรการเงินมาใช้จ่ายมากเหมือนเดิม และรัฐควรใช้เวลาและอำนาจที่มีแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประเทศมี เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น การแข่งขันที่มีน้อยลง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุนและเติบโต และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

นี่คือการบ้านที่รออยู่ที่ต้องการแก้ไข คำถามคือ เราจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้หรือไม่ภายใต้ความเป็นจริงที่มีอยู่ขณะนี้ไม่ว่าในภาครัฐและภาคเอกชน และถ้าไม่ได้อะไรจะเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ดีกว่าเดิม

คำตอบในเรื่องนี้อยู่ที่บทบาทใหม่ที่ต้องมีทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ที่ต้องช่วยกันลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่เป็นสาเหตุที่กำลังฉุดรั้งประเทศ เปลี่ยนเป็นความคิดใหม่พลังใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า ไม่จมปลักอยู่กับปัญหาและความไม่ถูกต้องอย่างในปัจจุบัน

สำหรับภาครัฐ ซึ่งรวมถึงนักการเมืองและข้าราชการประจำ ปัญหาหลักของภาครัฐคือ การตัดสินใจและทำหน้าที่ไม่แก้ไขปัญหาที่ประเทศมี แต่กลับสร้างปัญหามากขึ้นจากการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ไม่ทำตามหน้าที่ ทำให้ภาครัฐเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ เห็นได้ชัดจากวิกฤติคราวนี้ ที่การระบาดทั้งสามรอบมาจากความหละหลวมในการทำหน้าที่ของภาครัฐทั้งสิ้น ทำให้สิ่งที่ผิดกฎหมายมีอำนาจเหนือระบบราชการจนสร้างปัญหาให้กับคนทั้งประเทศ

การแก้ปัญหาภาครัฐคือ ปฏิรูปการทำงานภาครัฐในสามเรื่อง หนึ่ง วิสัยทัศน์ของผู้นำต้องอยู่การสร้างประเทศ และการสร้างชาติให้เข้มแข็งเพื่ออนาคตของคนไทยรุ่นต่อ ๆ ไป สอง ประสิทธิภาพของระบบราชการที่ต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนด้วยระบบงานที่ทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำนโยบายที่มองยาวเพื่อประโยชน์ของประเทศและของประชาชนทุกส่วนอย่างเป็นธรรม สาม ทัศนคติของข้าราชการที่ทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่ใช้อำนาจหน้าที่หาประโยชน์ให้ตัวเองหรือนักการเมือง จนประเทศเดินถอยหลังด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

สำหรับภาคธุรกิจปัญหาหลัก ๆ มีสองเรื่อง หนึ่ง ธุรกิจไทยแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้เพราะระดับของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคธุรกิจของเราต่ำมาก จนอาจเป็นอันดับท้าย ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก วัดจากการใช้จ่ายในเรื่อง R&D การใช้ประโยชน์เทคโนโลยีต่างประเทศแบบมีใบอนุญาติ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการกระบวนการผลิต ข้อมูลนี้มาจากการศึกษาล่าสุดของธนาคารโลก และสะท้อนการที่ภาคธุรกิจไทยไม่ได้ลงทุนต่อเนื่องเป็นเวลากว่ายี่สิบปี ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเสื่อมถอยลง สอง การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจเรามีน้อยลงจากบทบาทของบริษัทใหญ่ที่มีมากขึ้น จนเข้าข่ายเป็นเศรษฐกิจกึ่งผูกขาด หรือมีการแข่งขันน้อยราย ลักษณะของเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดมากขึ้นแบบนี้ ทำให้บริษัทใหญ่ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเรื่องนวัตกรรมเพราะไม่ได้แข่งขันกับใครในต่างประเทศ ตรงข้ามเมื่อไม่ไปแข่งขันนอกประเทศหรือแข่งขันไม่ได้ก็ขยายธุรกิจในประเทศแทน โดยเข้าไปทำธุรกิจในสาขาอื่น ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนเพื่อขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ผลคือประเทศไม่มีการลงทุนในภาคธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง เศรษฐกิจเติบโตลดลง และความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น

ปัญหาทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจที่พูดถึงนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายเพราะกระทบหลายฝ่าย ที่สำคัญคนที่มีอำนาจในปัจจุบันทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจก็ใกล้ชิดกันและคงปกป้องและรักษาสิ่งที่มีอยู่มากกว่าจะแก้ไขปัญหา เหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้บ้านเมืองไม่ค่อยมีไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่แย่ลง เพราะกลุ่มผลประโยชน์ไม่ต้องการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอะไรที่จะกระทบสถานะของตนเอง

ประเทศจึงเหมือนอยู่บนทางสองแพร่ง ทางแรก คือ ทางที่เรากำลังเดินขณะนี้ที่รัฐบาลคงจะไม่ทำอะไรจริงจังในการแก้ปัญหาโครงสร้าง และผู้นำภาคเอกชนก็ไม่ผลักดันการเปลี่ยนแปลง ผลคือ ประเทศไม่เติบโต ไม่มีการพัฒนา และปัญหาต่าง ๆ จะยิ่งสะสมและรุนแรงมากขึ้น อีกทางคือ มีการเปลี่ยนแปลง มีการเริ่มทำอะไรจริงจังที่จะแก้ปัญหา เป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ความหวังกับคนทั้งประเทศว่าประเทศและอนาคตของตนกำลังจะดีขึ้น

มีการตั้งข้อสังเกตุว่าทางแพร่งที่สองนี้เกิดได้ยากมากภายใต้การนำของนักธุรกิจ นักการเมือง และข้าราชการที่มีอำนาจและได้ประโยชน์จากปัญหาและสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจะเกิดก็ต่อเมื่อมีการบรรจบกันของคนสองรุ่นที่ได้รับผลกระทบขณะนี้ที่จะเป็นความคิดใหม่ เป็นพลังใหม่ที่ต้องการสร้างชาติ สร้างประเทศให้ดีขึ้น เพื่ออนาคตของตนเองและคนรุ่นต่อไป ไม่ใช่เพื่อรักษาอำนาจและไม่แก้ปัญหาอย่างปัจจุบัน คนสองรุ่นนี้คือ

รุ่นแรก เยาวชนและคนหนุ่มสาว อายุตั้งแต่ 15-30 ปี ที่ต้องการให้ประเทศเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น แต่ไม่มีพลังที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ในฐานะผู้นำ มีแต่พลังและความตั้งใจสูงที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่ออนาคตของประเทศและของตนเอง

รุ่นที่สอง คือ รุ่นที่เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่ เป็นป้า เป็นน้าของคนรุ่นแรก อายุ 30-54 ปี ที่เข้าใจ ห่วงใย และผิดหวังกับสถานะและการใช้อำนาจปัจจุบัน ต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศดีขึ้น มีความรู้และมองเห็นชัดเจนถึงสิ่งที่ต้องทำเพื่อแก้ปัญหาที่ประเทศมี เข้าใจในสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ประเทศดีขึ้นอย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีประสบการณ์ และมองเลยประโยชน์ของตัวเอง มองและห่วงอนาคตของประเทศ พร้อมที่จะเสียสละเป็นผู้นำเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

การผนึกกำลังของคนทั้งสองรุ่นที่พูดถึงคือ ประชาชนรุ่น Gen-X,Gen-Y และบางส่วนของ Gen-Z ที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป รวมแล้วประมาณ 58.7% ของประชากรทั้งประเทศ คือพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ไม่ใช่รุ่นสูงวัย หรือรุ่น Baby Boomer ที่อายุ 54 ปีขึ้นไป ประมาณ 24.8% ของประชากรทั้งหมด คนรุ่นสูงวัยนี้คือรุ่นที่ทำให้ประเทศมีปัญหามากขณะนี้ เพราะผู้มีอำนาจทั้งในภาครัฐและเอกชนก็อยู่ในรุ่นนี้ ที่ทะเลาะกันมาก ไม่ยอมวางมือ ไม่ยอมหยุด แย่งอำนาจกันจนประเทศเสียหาย ข้อดีคือคนรุ่นอาวุโสนี้นับวันจำนวนจะลดลงและสัดส่วนในประชากรประเทศจะน้อยลงมากในช่วง 10 ปีข้างหน้า เปิดทางให้คนรุ่นใหม่คือ Gen-X ถึง Z เข้ามาสร้างชาติสร้างประเทศให้ดีขึ้น ซึ่งทำได้แน่นอน ดูตัวอย่างจีน 40 ปีที่ผ่านมาที่จีนเปลี่ยนประเทศได้แบบพลิกฝ่ามือ

นี่คือความหวังและอนาคตที่ต้องพูดถึงและคงเกิดขึ้น เห็นได้ว่าคนทุกรุ่นมีหน้าที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ดังนั้นจึงยังไม่สายที่จะช่วยกันสร้างประเทศให้กลับมาเข้มแข็ง.

 

 

คอลัมน์. เขียนให้คิด

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"