ทูตห่วงสถานการณ์ไทย


เพิ่มเพื่อน    

 กระทรวงต่างประเทศเชิญคณะทูตแจงสถานการณ์ม็อบ ยันทำตามหลักสากลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุมีแนวโน้มรุนแรงกระทบต่อสาธารณะและขบวนเสด็จฯ รวมทั้งเสี่ยงต่อโควิด   ครม.มีมติให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 26-27 ต.ค.นี้ "อนุทิน" ขอเป็นรองนายกฯ สยบข่าวแคนดิเดตเสียบแทน "จุรินทร์" ชงตั้ง กมธ.พิจารณาข้อเรียกร้อง "ก้าวไกล" จี้ประยุทธ์ลาออก-ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พรรคร่วมถอนตัว กมธ.ศึกษาแก้ รธน. คาดสรุปรายงานส่งประธานรัฐสภาสัปดาห์หน้า โยนสมาชิกตัดสินตั้ง ส.ส.ร.ได้หรือไม่

    ที่กระทรวงการต่างประเทศ เวลา 15.00 น. วันที่ 20 ตุลาคม  นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ร่วมกันบรรยายสรุปให้แก่คณะทูตและผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการชุมนุมในประเทศไทย รวมทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่ดำเนินรายการ ทั้งนี้ มีคณะทูตและผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ 84 คน รวมถึงระดับเอกอัครราชทูต 37 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย
    จากนั้นเวลา 16.00 น. นายธานีแถลงภายหลังบรรยายสรุปว่า ในการชี้แจง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้บรรยายให้คณะทูตทราบถึงสถานการณ์การชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ที่เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมได้แสดงออกตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และได้มีกลไกในการนำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา รวมถึงชี้แจงเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม เริ่มมีเหตุเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณะ รวมถึงเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม ที่ส่งผลกระทบต่อขบวนเสด็จฯ ประกอบกับความเสี่ยงต่อสถานการณ์โควิด-19 จึงนำไปสู่การออกประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
    นายธานีกล่าวว่า สำหรับ พ.ต.ท.กฤษณะได้ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกคำสั่ง หรือข้อกำหนด โดยยืนยันว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ตามหลักสากล และดำเนินการอย่างมีขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก นอกจากนี้ นายอนุชายังได้อธิบายกระบวนการดำเนินการในขั้นต่อไปของรัฐบาล โดยจะรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องจากประชาชนทุกฝ่าย การสร้างความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงชี้แจงว่ารัฐบาลเตรียมเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเป็นทางออก และลดความตึงเครียด ซึ่งสอดคล้องกับการเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม
    "คณะทูตได้สอบถามถึงการคาดหวังของสภาจะเป็นอย่างไร ซึ่งได้รับการชี้แจงว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญจะพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เพื่อนำไปรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในสภา รวมถึงสอบถามเรื่องการทำหน้าที่ของสื่อ ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า การดำเนินการของรัฐได้เคารพสิทธิของสื่อและผู้ชุมนุม ส่วนเรื่องการสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น เนื่องจากเกิดพัฒนาการของการชุมนุมที่รุนแรงขึ้น เกิดความเสี่ยงของการกระทบกระทั่งระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมและผู้เห็นต่าง รวมถึงมีผลกระทบต่อขบวนเสด็จฯ จึงจำเป็นต้องดำเนินการสลายการชุมนุม" นายธานีกล่าว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบออกร่างพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 ซึ่งในรายละเอียดยังไม่ได้มีการกำหนดเรื่องวันที่จะเปิดประชุม อาจจะต้องมีการพูดคุยกับประธานสภาผู้แทนราษฎร และต้องทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก่อน
เคาะ26-27ต.ค.เปิดวิสามัญ
    รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีประสานงานสภาผู้แทนราษฎรได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบถึงการไปร่วมประชุมกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ตัวแทนฝ่ายค้าน ตัวแทนรัฐบาล ตัวแทนจากพรรคการเมือง เรื่องการพิจารณาสมควรเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ซึ่งที่ประชุมมีมติให้มารายงาน ครม.ในกรณีที่เห็นชอบให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 เพื่อให้ทุกฝ่ายมีโอกาสอภิปรายแสดงความคิดเห็นและชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และลดปัญหาข้อขัดแย้ง รวมถึงประเด็นที่ ครม.ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา โดยขอให้เปิดอภิปรายทั่วไป ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาตามมาตรา 165  
    "ครม.ได้หารือกำหนดวันและมีมติให้กำหนดข้อเปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ และให้เลื่อนการประชุม ครม.ไปเป็นวันพุธที่ 28 ต.ค."
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดเรื่องวัน แต่อยากให้เปิดเร็วที่สุด ส่วนที่มีรายงานข่าวว่าจะเปิดวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ เพราะว่าเร็วที่สุดแล้ว เนื่องจากวันที่ 21-22 ต.ค. เป็นวันเปิดทำการ ส่วน 23-25 ต.ค. เป็นวันหยุดราชการ วันที่ 26 ต.ค.จึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เร็วที่สุด
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้จะพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุมประเด็นเดียวหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะขอเรื่องอะไรไปบ้าง แต่ตอนนี้ขอตามมาตรา 165 ซึ่งเป็นอำนาจของ ครม. ไม่ใช่แค่ของนายกฯ ส่วนจะคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ เพราะตนก็ไม่รู้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญฉบับของไอลอว์นั้นไปถึงไหนแล้ว
    ด้านนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีถึงรัฐบาลต้องการให้ที่ประชุมรัฐสภาคลี่คลายสถานการณ์ในประเด็นไหนบ้างว่า ก็ต้องไปพูดคุยกัน เรายังไม่ได้สรุปประเด็นว่าเปิดประชุมแล้วจะพูดไปไหนบ้าง จะคุยประเด็นใดบ้าง แต่ทุกปัญหาจะนำเข้าสู่ที่ประชุม
    เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะยังไม่รอการประชุมของรัฐสภาเพราะมีการยื่นเงื่อนไข ให้ทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ นายอนุชา กล่าวว่า เป็นความเห็นที่แตกต่างจะต้องนำไปพิจารณาในสภา เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเพียงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในสังคมประชาธิปไตยการเรียกร้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าการบังคับหรือขู่เข็ญไม่น่าจะใช่เรื่องที่ถูกต้อง และบางเรื่องจุดยืนของแต่ละพรรคมีอยู่แล้ว เช่น ต้องมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องสถาบัน จึงอยากฝากถึงผู้ชุมนุมว่า สิ่งที่เราพยายามทำนั้นทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่ทุกความเห็นจะต้องไปในทิศทางเดียวกัน คงต้องมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน
    "อาจใช้เวลาพูดคุยในสภาประมาณ 1-3 วัน เชื่อว่าคงจะสะเด็ดน้ำแล้วว่าจะไปในทิศทางไหน แม้เวลาแค่ 1-2 ชั่วโมงเราก็เห็นตรงกันว่ามีค่าสำหรับการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน เราจะมีมติออกมาร่วมกัน ซึ่งนักการเมืองทุกคนก็อยากเห็นความสงบสุข  ส่วนหากการประชุมผ่านไปแล้ว แต่ม็อบยังคงอยู่ก็ค่อยว่ากัน หาวิธีที่จะมีบทสรุปร่วมกันอย่างสันติวิธี" นายอนุชากล่าว
"เสี่ยหนู"สยบข่าวเสียบแทนนายกฯ
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.วันนี้ได้รับทราบว่าจะมีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ดังนั้นอะไรที่เราทำได้ก็ทำ และรับฟังด้วย ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าเปิดประชุมในวันที่ 26-27 ต.ค.นั้น เราไปกำหนดเองไม่ได้ ต้องรอโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน ทั้งนี้คิดว่าไม่มีช้า ไม่มีเร็ว ทุกอย่างมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมอยู่แล้ว และมีกระบวนการทำงานเป็นทีม ไม่มีใครตัดสินใจคนเดียว
    เมื่อถามถึงกระแสมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ หากมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ นายอนุทินกล่าวว่า "ผมขอเป็นรองนายกฯ ที่มีนายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์" ยืนยันพรรคภูมิใจไทยปกป้องเทิดทูนสถาบัน เปลี่ยนอย่างอื่นไม่ได้
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากมีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญได้จริง อย่างน้อยที่สุดการรับฟังความเห็นของสมาชิกเพื่อหาทางออกประเทศตามมาตรา 165 คงจะได้ถูกดำเนินการ และหากเป็นไปได้ อยากเห็นผลข้อสรุปของการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย คงจะมีคณะทำงานหรือคณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา และบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เป็นเวทีต่อเนื่องในการรับฟังความคิดเห็นและแสวงหาทางออกร่วมกัน จะเป็นทางออกของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม รัฐสภาควรทำหน้าที่หาทางออกให้กับประเทศ เพราะในระบอบประชาธิปไตยถือเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า กรอบเวลาที่ชัดเจนควรจะใช้เวลาเท่าไรเพื่อให้แก้ปัญหาให้ทัน นายจุรินทร์กล่าวว่า ต้องเร่งดำเนินการ สิ่งไหนต้องเร็วที่สุด สิ่งไหนต้องปานกลาง หรือสิ่งไหนต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน เป็นเรื่องที่คณะทำงานชุดดังกล่าวจะเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้ได้ข้อเสนอที่รวดเร็ว สำหรับเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องนโยบายประกันรายได้และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ หากเป็นไปได้จะนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาร่วมพิจารณาด้วยก็ได้ เพราะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องทำโดยเร็วที่สุด และเป็นเรื่องแรกในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ
     ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรค พร้อมด้วยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรค, น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม และนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ถึงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย น.ส.สุทธวรรณอ่านแถลงการณ์สรุปว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มุ่งสืบทอดอำนาจจากเผด็จการ โดยใช้รัฐธรรมนูญ 60 ส.ว. 250 คน และองค์กรอิสระ ที่มาจากกลไกการแต่งตั้งของ คสช. เป็นเครื่องมือในการค้ำจุนอำนาจของตน เพื่อให้ตนและพวกสามารถครอบงำและปกครองประเทศเอาไว้เพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เมื่อเกิดการประท้วงต่อต้านโดยประชาชน แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะสำนึกว่าตนเองกำลังหลงใหลมัวเมาในอำนาจ เสพติดความเป็นเผด็จการ  กลับไม่เคยสำนึกผิดอะไรเลย หนำซ้ำยังใช้ความรุนแรงที่ขัดกับหลักสากลในการสลายการชุมนุมของประชาชน และยังลุแก่อำนาจ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างขาดสติ ใช้กฎหมายในการคุกคามประชาชนไม่จบไม่สิ้น
ก้าวไกลยื้อเสนอ4ข้อ
           ณ บัดนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้หมดความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จึงขอเสนอข้อเรียกร้องที่เป็นทางออกของประเทศชาติบ้านเมือง ดังนี้ 1.พล.อ.ประยุทธ์ต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและปล่อยประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยทันที 2.พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 3.พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคต้องถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของวุฒิสภา และ 4.ต้องมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน ยุติอำนาจของวุฒิสภา ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และลงมติกฎหมายปฏิรูปประเทศ รวมถึงการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
    "นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลหยิบยกเอาประเด็นในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้สร้างสถานการณ์ ยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความเกลียดชังในหมู่ประชาชน เพื่อให้รัฐบาลนำมาใช้เป็นเหตุในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง ชาติคือประชาชน"
    ด้านนายณัฐชากล่าวว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา มุ่งมั่นติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมและข้อเสนอทางออกของประเทศของพรรคก้าวไกลใกล้เคียงกัน สิ่งที่ทำได้และตัดสินใจได้ทันทีนั้นคือการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์ กว่า 6 ปีที่ผ่านมาทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าสถานการณ์ตอนนี้ตัวเองทำถูกหรือทำผิด มาถึงขนาดนี้ จนประชาชนออกมาเรียกร้องทั่วประเทศ ฉะนั้นคิดว่าความจริงใจเท่านั้นที่จะทำให้ข้อเรียกร้องของพรรคก้าวไกลเป็นจริงได้
    ขณะที่นายวิโรจน์กล่าวว่า สมัยก่อนคราวที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. ก็ได้เคยพูดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ สมัยนั้นว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยิ่งจะทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ตนอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 2557 นั่งไทม์แมชชีนมาเตือน พล.อ.ประยุทธ์ปี 2563 ด้วย และอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ในปี 2557 มาเข้าฝัน พล.อ.ประยุทธ์ ในปี 2563 เตือนสติเขาให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และสำนึกในโทษานุโทษของตัวเอง ลาออก และคืนสังคม เศรษฐกิจที่เป็นความหวังให้กับประชาชนได้แล้ว
    นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์เห็นด้วยที่จะให้มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อที่จะหาทางออกประเทศ เป็นการตัดสินใจที่ช้ามาก เพราะที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้านเคยเสนอไปแล้ว แต่รัฐบาลไม่สนใจ ทางออกเดียวที่รัฐบาลมีอยู่คือเปิดประชุมวิสามัญร่วมรัฐสภาเลย เพื่อนำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าภายในสัปดาห์นี้ ไม่ต้องรอวันที่ 1 พฤศจิกายน ส่วนจะส่งผลให้ผู้ชุมนุมพอใจหรือไม่นั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่สามารถคาดการณ์ได้กรณีดังกล่าว แต่เป็นทางออกที่ดีที่สุดของรัฐบาลในเวลานี้
          นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญว่า เป็นทางออกอีกทางหนึ่ง ที่จะทำให้ประเทศไม่เดินไปถึงทางตัน เพราะการให้ฝ่ายค้าน รัฐบาล และ ส.ว.ใช้เวทีรัฐสภา แสดงความเห็น ก็ดีกว่าการใช้เวทีอื่นที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือการใช้ความรุนแรง หรือการรัฐประหาร ดังเช่นปี 2557 ที่เคยพยายามใช้เวทีรัฐสภาในการแก้ปัญหา ซึ่งก็เป็นบทเรียนว่าหากทางออกในสภาเดินต่อไปได้ ความขัดแย้งหรือการลงถนนก็จะคลี่คลายลง ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะใช้เวลาประชุมประมาณ 2 วัน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลา ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยากล้มก็ล้มเลย ต้องกลับไปถามประชาชนอีกกว่า 60 ล้านคน ว่าเห็นด้วยหรือไม่ จุดอ่อนของกฎหมายสามารถแก้ไขได้ แต่จะแก้ประเด็นใดเพื่อผลประโยชน์ของใคร ยังไม่มีความชัดเจน
     “ไม่ใช่ว่าไม่พอใจก็จะร่างใหม่ทั้งหมด เหมือนเป็นการเล่นเกมหรือไม่ และเมื่อแก้เสร็จก็จะมีมวลชนที่ต้องการอีกอย่างออกมาเคลื่อนไหวอีก ดังนั้นเราต้องยึดหลักการของกฎหมายควบคู่ไปกับการรับฟังความเห็นของผู้เห็นต่างโดยเอาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก ไม่มีใครได้อะไรทั้งหมด” นายสมชายกล่าว และว่า 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรนั้น 2 ข้อแรกไม่น่าจะมีปัญหา แต่ข้อที่ 3 เรื่องปฏิรูปสถาบันต้องดูเรื่องความเหมาะสม
สัปดาห์หน้าเสนอรายงานแก้ไข รธน.
    นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ แถลงว่า คณะ กมธ.จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ให้เสร็จภายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นการพิจารณาตามกำหนดเวลา 30 วัน คาดว่าจะส่งให้สภาได้ในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ เพื่อให้ประธานรัฐสภา บรรจุระเบียบวาระการประชุม และคาดว่าจะพิจารณาได้สัปดาห์หน้าหรือต้นเดือนพ.ย. ดังนั้นการทำงานของคณะ กมธ. จึงเป็นไปตามกำหนด ในส่วนของความเห็นเรื่องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ความเห็นยังเป็น 2 แนวทาง คือ 1.สามารถทำได้โดยการตั้ง ส.ส.ร. และมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 2.ยังทำไม่ได้ เพราะขัดต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในอดีตเมื่อปี 2555 ว่าการจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติก่อน จึงต้องให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจในวันที่พิจารณารับหลักการอีกครั้ง ส่วนญัตติอื่นๆ กมธ.ได้พิจารณาข้อดี-ข้อเสีย และหาข้อสรุปเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจต่อไป
    นายชัยวุฒิกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะมีข้อจำกัดหลายเรื่อง ไม่ใช่ว่าเราอยากจะแก้ได้ทุกเรื่อง นอกจากจะพูดถึงมาตรา 256 ยังมีมาตรา 255 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ จะกระทำมิได้ สมาชิกรัฐสภาทุกคนเห็นพ้องกันว่ารัฐธรรมนูญอาจมีบางประเด็น บางมาตราที่ต้องแก้ไข และยินดีที่จะแก้ไข แต่ประเด็นที่มีความเป็นห่วงตอนนี้คือเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำได้หรือไม่ และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่คือเรื่องใหญ่ที่ทำให้ถกเถียงกันนานเป็นพิเศษ
      นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา กล่าวถึงการชุมนุมแฟลชม็อบของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่กระจายไปทั่วประเทศว่า ต้องใช้คำ "อย่างนี้ก็ยุ่งตายห่า.." ที่นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ อดีตประธานรัฐสภาเคยอุทานวลีนี้ขณะประชุมสภาช่วงปี 2518 เพราะเกิดความวุ่นวายสับสนในระหว่างประชุมสภา  ปัญหาบ้านเมืองเวลานี้เป็นผลมาจากการยึดอำนาจของ คสช. หรือจะเรียกว่ามรดกบาปจากการรัฐประหารปี 2557 ก็ได้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกตอนนั้นถือว่าพอไปได้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจแล้วไม่คืนอำนาจ มิหนำซ้ำบอกว่าจะคืนความสุข ก็ไม่เห็นความสุข ตรงกันข้าม ประชาชนมีแต่ความทุกข์
    "ผมเคยเตือน พล.อ.ประยุทธ์แล้วแต่ไม่ฟัง พล.อ.ประยุทธ์เป็นได้แค่กรรมการห้ามมวย อย่าลงไปต่อยเอง แต่ไม่เชื่อ แล้วเป็นไง รัฐธรรมนูญเขียนให้สืบทอดอำนาจ วางกลไกที่เป็นพวกพ้องไว้หมด คอยเล่นงานฝ่ายตรงข้าม เกือบ 7 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ล้มเหลวทุกเรื่อง คอร์รัปชันเกิดขึ้นมากมาย คนยากจนเต็มไปหมด ทำให้คนออกมาขับไล่ให้ออกจากนายกฯ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมออก อย่างนี้ก็ยุ่งตายห่าน่ะสิ" นายอุทัยกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"