พอช.เดินหน้าบ้านมั่นคงเมือง-ชนบทปีงบประมาณ 2564 ตั้งเป้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 6,200 ครัวเรือน


เพิ่มเพื่อน    

นครนายก / พอช.จัดสัมมนาผู้นำชุมชนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในชนบท  พร้อมเดินหน้าโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทปีงบประมาณ 2564  ตั้งเป้าสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศจำนวน 6,200  ครัวเรือน งบประมาณรวม 556 ล้านบาทเศษ   ทั้งนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พอช.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศแล้วประมาณ 249,000 ครัวเรือน             

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี  2543  มีภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งคือสนับสนุนชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบททั่วประเทศ  เช่น  โครงการบ้านมั่นคงเมือง  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร  การซ่อมสร้างบ้านผู้ด้อยโอกาสตามโครงการบ้านพอเพียงชนบท  โครงการบ้านมั่นคงชนบท  ฯลฯ

โดยในระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคม  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ร่วมกับผู้แทนชุมชนทั่วประเทศจัดงานสัมมนา ‘บ้านมั่นคงชนบท’  ที่ภูเขางามรีสอร์ท  อ.เมือง  จ.นครนายก  เพื่อสรุปและทบทวนผลการทำงานที่ผ่านมา  รวมทั้งกำหนดแนวทางการสนับสนุนและทิศทางการดำเนินงานบ้านมั่นคงชนบทในปี 2564  โดยมีผู้แทนโครงการบ้านมั่นคงชนบทจากทั่วภูมิภาค  และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนาจำนวน  200 คน 

 

บรรยากาศการสัมมนา

 

ผลการดำเนินงานบ้านมั่นคงชนบทปี 2560-2563                                                                   

รวม 30 จังหวัด   จำนวน 9,286 ครัวเรือน 

         

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคง พอช. (อดีตผู้อำนวยการ พอช.) กล่าวว่า  พอช. เริ่มโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ในปี 2546  เริ่มจากโครงการนำร่อง 10 โครงการแรกในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  โดยในช่วงแรกจะทำโครงการบ้านมั่นคงทีละโครงการ  หรือตามความพร้อมของชุมชน  แต่ในปีต่อมาจึงเริ่มทำหรือแกไข้ปัญหาทั้งเมือง  โดยการสำรวจข้อมูลชุมชนแออัด  ข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยทั้งเมือง  แล้วนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาทั้งเมือง  ทำให้แก้ไขปัญหาได้เร็ว  โดยใช้กลไกความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  หลังจากนั้นจึงขยายไปทำโครงการต่างๆ  เช่น  โครงการบ้านมั่นคงชนบท  โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม  มีฐานะยากจน)

เฉพาะโครงการบ้านมั่นคงชนบท  พอช.เริ่มสนับสนุนการดำเนินโครงการทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2560  จนถึงปัจจุบัน พอช.ดำเนินการไปแล้วใน 30 จังหวัด   รวม 9,286 ครัวเรือน  งบประมาณรวม 380  ล้านบาทเศษ  (ปัจจุบัน พอช.สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงชนบทครัวเรือนละ 40,000  บาท  งบพัฒนาสาธารณูปโภค  โครงสร้างพื้นฐาน  ด้านเศรษฐกิจ  สังคม  สร้างความเข้มแข็งชุมชน  ครัวเรือนละ 22,000 บาท  รวมงบสนับสนุนเฉลี่ย 62,000   บาทต่อครัวเรือน)

แผนผังกระบวนการทำงานบ้านมั่นคง

 

ส่วนกระบวนการขับเคลื่อนโครงการบ้านมั่นคงชนบท  มีดังนี้  1.สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานในท้องถิ่น  ท้องที่  กลุ่มเป้าหมาย  2.สนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าของปัญหา 3.จัดทำระบบฐานข้อมูลตำบลบูรณาการเป็นฐานเดียว  4.ทำแผนผังการพัฒนาพื้นที่โครงการ  5.ส่งเสริมให้ชุมชน/ตำบลมีส่วนร่วมในการออมสะสมทุน  6.ทำกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตชุมชนร่วมกันต่อเนื่อง  7.ผลักดันให้ขบวนองค์กรชุมชนที่มีอยู่ในพื้นที่รวมกันเป็นกลไกการขับเคลื่อนเดียวกัน      8.มีระบบติดตามผลการดำเนินงาน

สร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง

นางสาวสมสุขกล่าวว่า  ในการแก้ปัญหาทั้งเมืองจึงต้องมีหน่วยงานต่างๆ  มีเครือข่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง  เช่น  องค์กรปกครองในท้องถิ่น  อบต.  เทศบาล  จังหวัด  สำนักงานที่ดิน  ราชพัสดุ  ป่าไม้  การประปา  การไฟฟ้า  สถาบันการศึกษา ฯลฯ    เพราะปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาโครงสร้าง  ปัญหาเรื่องที่ดิน   เรื่องกฎระเบียบ  เรื่องสถานภาพ  เรื่องสาธารณูปโภค  เป็นเรื่องโครงสร้างหมด  และเกี่ยวกับระบบระเบียบกลไกทั้งหลายที่มีอยู่ในสังคม  เพราะฉะนั้นกระบวนวิธีการแก้ปัญหาทั้งเมืองจึงต้องสร้างเครือข่าย  สร้างกลไกความร่วมมือ 

 

 นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา

 

เพราะหากเราไม่ได้รับความร่วมมือมากพอ   การแก้ปัญหามันจะติดขัดและทำได้แต่ละโครงการเท่านั้น  และเมื่อโครงการบ้านมั่นคงเป็นที่ยอมรับของนโยบายและหน่วยงานต่างๆ  ก็สามารถจะทำให้กลไกในระบบทั้งหลายเข้ามาร่วมมือ  หรือเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมาช่วยกันทำ  เป็นความสำคัญของการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย  

 

“ที่สำคัญที่สุดก็คือ  โครงการบ้านมั่นคงเป็นรูปแบบที่ชุมชนเป็นหลัก  คนจนเป็นผู้เปลี่ยนความยากจนอันนี้เอง  แล้วก็เป็นผู้สร้างโครงการเอง  บริหารงบประมาณแล้วก็ทำมากกว่าบ้าน  เป็นโครงการที่เกิดผลไม่ใช่เรื่องของที่อยู่อาศัยที่เป็นกายภาพหรือเป็นวัตถุเพียงอย่างเดียว  แต่ว่าเป็นการสร้างระบบใหม่  เปลี่ยนระบบโครงสร้างใหม่ของคนจนซึ่งเคยเป็นแบบหนึ่ง สถานะแบบหนึ่ง  เราเปลี่ยนทุกเรื่อง  เปลี่ยนโครงสร้างของความสัมพันธ์ภายใน เปลี่ยนโครงสร้างของเรื่องทุนที่เคยเป็นอยู่แบบเดิมที่คนจนเป็นผู้รับตลอดเวลา  มีการสร้างกองทุนร่วม  เช่น  กองทุนรักษาดินรักษาบ้าน  กองทุนสวัสดิการ  มีการออมทรัพย์  นำไปเชื่อมโยงกับทุนอื่นๆ”  นางสาวสมสุขกล่าว

 

นอกจากนี้การทำโครงการบ้านมั่นคงยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจพื้นฐาน   คนจนเริ่มมีทรัพย์สินเพราะว่าบ้านก็เป็นทรัพย์สิน  รวมทั้งเรื่องอื่นๆ  เช่น  มีอาชีพที่ดีขึ้น   มีคอนเนคชั่น  มีความสัมพันธ์   คนจนรู้จักกับเมือง   รู้จักกับผู้คนต่างๆ   มีสวัสดิการ  มีการบริหารร่วมกัน มีการทำกิจกรรมเรื่องเด็ก เรื่องทุนการศึกษา  ผู้สูงอายุ  ฯลฯ  คือทุกสิ่งทุกอย่างมันมาพร้อมกับโครงการบ้านมั่นคง  เป็น system change  การเปลี่ยนระบบของคนจนจากจุดหนึ่งมาสู่อีกจุดหนึ่ง  ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นสาระสำคัญของการทำเรื่องบ้านมั่นคง  

 

การซ่อมสร้างบ้านเรือนชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ในขณะนี้  จำนวน 122 ครัวเรือน  เป็นตัวอย่างหนึ่งของการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกันของ พอช. กับภาคีหนวยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น  รวม 16 หน่วยงาน

 

นอกจากนี้  ตั้งแต่ปี  2546  ที่ พอช.เริ่มทำโครงการบ้านมั่นคงจนถึงปัจจุบัน  พอช.ได้สนับสนุนการแก้ปัญหาให้ประชาชนผู้ยากไร้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยทุกประเภทไปแล้วกว่า 3,000  ชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศ  ประมาณ 249,000 ครัวเรือน (บ้านมั่นคงในเมืองและชนบท  116,719 ครัวเรือน, บ้านพอเพียงชนบท 69,425 ครัวเรือน, ชุมชนริมคลองลาดพร้าว-เปรมประชากร 2,972 ครัวเรือน, ซ่อมสร้างบ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 11,388 ครัวเรือน, ซ่อมสร้างบ้านในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ 48,992 ครัวเรือน  ฯลฯ)   

             

ทิศทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองและชนบทปี 2564                                                                  

“เน้นการสร้างความร่วมมือ-ทำมากกว่าบ้านและทำทั้งเมือง” 

ส่วนทิศทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองและชนบทปี 2564  พอช.ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนกำหนดทิศทางการทำงานดังนี้  1.เปลี่ยนจากไม่ทำร่วมกับใคร  เป็นการสร้างความร่วมมือ   2.เปลี่ยนจากการทำโครงการบ้านมั่นคงเดี่ยว  เป็นทำทั้งเมือง/ตำบล  3.เปลี่ยนวิธีคิดจากการทำเพียงบ้าน (ด้านกายภาพ)  เป็นการสร้างบ้านที่มากกว่าบ้าน  (มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต  สร้างอาชีพ  สร้างเศรษฐกิจในชุมชน  เพื่อให้ลูกหลานมีงานทำ  มีรายได้  ไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานที่ต่างจังหวัด)  5.เปลี่ยนจากการเป็นเครือข่ายเฉพาะชุมชนบ้านมั่นคง  ขยายครอบคลุมชุมชนคนจนที่มีอยู่ในเมือง  6.เปลี่ยนจากการถูกออกแบบให้  กำหนดให้เป็นการร่วมกันออกแบบ

              8.พัฒนาองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง  มีส่วนร่วม  มีแผน  มีระบบ  ตื่นตัวในการเรียนรู้  9.วางผังวางแผนการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า  10.การฟื้น/ สร้างกองทุนชุมชน  กองทุนเมือง  ให้เป็นสถาบันการเงินของชุมชนที่มีความเข้มแข็ง  11.มีแผน  แนวคิดในการพัฒนาอาชีพ  รายได้  สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง  12.ส่งเสริมบทบาท  เปิดพื้นที่ให้เยาวชน  คนรุ่นใหม่  13.ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทในการทำงานพัฒนา  13.สร้างชุมชนแห่งสวัสดิการและการอยู่ร่วมกัน  14.การมีส่วนร่วมการพัฒนาเมืองและท้องถิ่น

 

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2564  (ตุลาคม 2563-กันยายน 2564) พอช. มีแผนงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศตามโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท จำนวน 6,200  ครัวเรือน งบประมาณรวม 556 ล้านบาทเศษ

 

 โครงการบ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก.จังหวัดสระแก้ว ชาวบ้านใช้วิธีลงแรงช่วยกันสร้างบ้าน

 

สถาบันการเงินบ้านขอนขว้าง จ.ปราจีนบุรี                                                                           

ต้นแบบช่วยสมาชิกปลดหนี้สิน

ในการจัดสัมมนาบ้านมั่นคงชนบทดังกล่าว  คณะผู้ร่วมสัมมนาได้เดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาชุมชนที่ตำบลดงขี้เหล็ก  อ.เมือง  จ.ปราจีนบุรี  ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนบ้านขอนขว้าง  มีสมาชิกเกือบ 2,800 คน มีเงินหมุนเวียนประมาณ 115 ล้านบาท ให้สมาชิกกู้ยืมประกอบอาชีพ ปลดหนี้สิน   และนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ เช่น ไถ่ถอนโฉนดที่ดิน ซื้อที่ดินเพื่อให้สมาชิกสร้างบ้าน  แก้ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย ฯลฯ

 

 คณะสัมมนาดูงานบ้านมั่นคงตำบลดงขี้เหล็ก

 

นายบุญศรี จันทร์ชัย ประธานอำนวยการสถาบันการเงินบ้านขอนขว้าง  กล่าวว่า ตำบลดงขี้เหล็กมี 14 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 11,000 คน สภาพเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สินจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือ ปลูกไผ่ตง แต่เกิดปัญหาโรคระบาด ทำให้ไผ่ที่ปลูกเสียหาย  ขาดรายได้  จึงต้องกู้ยืมเงินกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อเดือน  และต้องผ่อนส่งเป็นรายวัน  เมื่อไม่มีเงินส่งดอกเบี้ยจะทบต้น  ทำให้หนี้สินพอกพูน

 

ในปี 2524  กรมการพัฒนาชุมชนได้สนับสนุนให้ชุมชนก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์  นายบุญศรีซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านจึงเริ่มก่อตั้ง ‘กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง’ ขึ้นมา  มีเป้าหมายเพื่อสร้างแหล่งทุนในชุมชน ไม่ต้องกู้เงินนอกระบบ  โดยการร่วมกันออมเงินเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพและปลดหนี้นอกระบบ เริ่มจากการออมเงินคนละ 10 -100 บาทต่อเดือน มีสมาชิกเริ่มแรก 48 ราย  มีเงินรวมกันจำนวน 1,150 บาท 

 

จากการทำงานของคณะกรรมการที่มีความซื่อสัตย์  เสียสละ  โปร่งใส  มีความรับผิดชอบ  ช่วยกันประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง  จึงทำให้มีสมาชิกและเงินเพิ่มมากขึ้น  เมื่อมีเงินมากขึ้นจึงนำเงินมาให้สมาชิกกู้ยืมคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน สมาชิกที่เดือดร้อน  ต้องการนำเงินไปประกอบอาชีพ  เป็นค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน  หรือนำไปใช้รักษาตัวในยามเจ็บป่วย  สามารถกู้ยืมเงินได้ตามจำนวนเงินที่ตนเองฝากเอาไว้  หรือกู้ยืมได้ตามหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน  โดยคณะกรรมการฝ่ายเงินกู้จะพิจารณา  และเมื่อมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น  มีเงินทุนมากขึ้น  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้างจึงยกฐานะขึ้นเป็น ‘สถาบันการเงินบ้านขอนขว้าง’  จนถึงปัจจุบัน

 

“สำหรับสมาชิกที่เดือดร้อนด้านที่ดินที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดินทำกินกำลังจะหลุดมือจากการจำนองที่ดินกับธนาคาร หรือ ธกส.  หรือหนี้นอกระบบ สถาบันการเงินฯ จะนำเงินไปไถ่ถอนและรับจำนองที่ดินแทน โดยให้สมาชิกผ่อนชำระรายเดือนได้ตามกำลังความสามารถและเสียดอกเบี้ยต่ำ หรือผ่อนชำระคืนภายใน 3-7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน   ที่ผ่านมาช่วยเหลือสมาชิกไปแล้วประมาณ 100 ราย  รายละ 100,000-600,000 บาท  รวมกว่า 100 โฉนด เป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท” นายบุญศรียกตัวอย่างการช่วยเหลือสมาชิก

 

นายบุญศรี  จันทร์ชัย

 

นอกจากนี้สถาบันการเงินบ้านขอนขวางยังมีสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก  เช่น  เป็นสมาชิกครบ 1 ปีขึ้นไป  มีเงินฝาก 1,200 บาทขึ้นไป  เมื่อเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลจะได้เงินช่วยเหลือคืนละ 200 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน  แม่คลอดบุตรได้รับเงินช่วยเหลือ 1,000 บาท  สมทบเงินเข้ากองทุนฌาปนกิจเดือนละ 10-20 บาท  เมื่อเสียชีวิตจะได้รับเงินค่าทำศพ 15,000-20,000 บาท  ฯลฯ

 

สถาบันการเงินบ้านขอนขว้างเปิดทำการวันจันทร์-เสาร์  ตั้งแต่เวลา 8.30-15.30 น.  หยุดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ   โครงสร้างการทำงานแบ่งเป็น  4 ฝ่าย  คือ  ฝ่ายอำนวยการ 6 คน  ฝ่ายสินเชื่อ 555 คน  ฝ่ายตรวจสอบ 5 คน  ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ 5 คน  มีพนักงาน 2   คน  มีสมาชิกฝากเงินทุกประเภทรวม 3,065 บัญชี  จำนวนสมาชิกทั้งหมดประมาณ 2800  คน  ปี 2562 ที่ผ่านมา  มีกำไรก่อนปันผลประมาณ 8,759,460 บาท (กำไรประมาณเดือนละ 7 แสนบาท  ส่วนใหญ่มาจากดอกเบี้ยเงินกู้จากสมาชิก)  มีสินทรัพย์หมุนเวียนและถาวรประมาณ  115 ล้านบาท 
 

แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย  ซื้อที่ดิน  สร้างบ้านมั่นคง

นอกจากนี้สถาบันการเงินบ้านขอนขว้างยังช่วยเหลือสมาชิกที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัย ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง โดยในปี 2558 สถาบันการเงินฯ ได้ซื้อที่ดินในตำบลเนื้อที่ 5 ไร่เศษ ราคา 2.1 ล้านบาทเศษ นำมาจัดสรรให้ชาวบ้านในตำบลที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้ 47 ครอบครัวๆ ละ 24-30 ตารางวา ราคาตารางวาละ 2,000 บาท  เพื่อปลูกสร้างบ้านตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ  เริ่มสร้างบ้านในปี 2561 ใช้ชื่อว่า ‘บ้านมั่นคงชนบทวังหินเกิ้ง’  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณสร้างบ้านรวม 1.8 ล้านบาท (ครัวเรือนละ 40,000 บาท) งบสาธารณูปโภค 1.1 ล้านบาท และงบบริหารจัดการ 3 แสนบาทเศษ ปัจจุบันสร้างบ้านเสร็จแล้วเกือบทั้งหมด

 

วิญญู  แสงกุล  คณะกรรมการบ้านมั่นคงชนบท ‘วังหินเกิ้ง’  เล่าว่า  ครอบครัวตนเองมีอาชีพขายไม้ดอกไม้ประดับ  ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง  ต้องเช่าบ้านอยู่ราคาเดือนละ 1,700 บาท  เมื่อมีโครงการบ้านมั่นคงชนบท  มีการสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย  ตนจึงได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณสร้างบ้านครอบครัวละ 40,000 บาท  เป็นบ้านชั้นเดียว  ขนาด 4 X 8 ตารางเมตร  และกู้ยืมเงินมาสร้างบ้านจากสถาบันการเงินบ้านขอนขว้างอีก 30,000 บาท  ผ่อนส่งเงินกู้สร้างบ้านเดือนละ 675 บาท  และผ่อนส่งค่าที่ดินอีกประมาณเดือนละ 800

 

“รวมแล้วเดือนหนึ่งชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงจะต้องผ่อนเงินกู้สร้างบ้านและซื้อที่ดินประมาณเดือนละ 1,500 บาท  ถือว่าไม่เป็นภาระมากนัก   เพราะเมื่อก่อนผมเช่าบ้านอยู่เดือนละ 1,700 บาท  แต่บ้านมั่นคงนี้หากผ่อนส่งเสร็จ  ชาวบ้านก็จะมีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเอง  แม้ว่าที่ดินจะไม่มากนัก  เราก็ปลูกผักสวนครัว  ปลูกมะละกอ  ช่วยลดรายจ่าย  นอกจากนี้เราก็ยังตั้งกลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงขึ้นมา  ร่วมกันออมเงินเดือนละ 100 บาทขึ้นไป  ตอนนี้มีเงินรวมกันประมาณ 2 แสนบาท  หากมีเงินมากขึ้น  เราก็จะให้สมาชิกกู้ยืมในยามที่เดือดร้อน  เพื่อช่วยเหลือกัน”  กรรมการบ้านมั่นคงกล่าว

 

 บ้านมั่นคงวังหินเกิ้งบางหลังยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"