จับตาสภาฟัดเดือด! 'ก้าวไกล'ลับมีดอภิปราย รบ.ชงตั้ง'กก.สมานฉันท์'


เพิ่มเพื่อน    


    ระเบิดศึกประชุมรัฐสภาสองวันสองคืน ฝ่ายค้าน-รัฐบาลสู้กันระอุ จับตาขวางขบวนเสด็จฯ 14 ต.ค. อาจกลายเป็นปมร้อนทำประชุมเดือด "ก้าวไกล" งัดแผน ชงสภาตั้ง กมธ.สอบเส้นทางเสด็จฯ! เลขาฯ ประธานรัฐสภาเตือนห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น เพื่อไทยจัด 20 ส.ส.ฟาดบิ๊กตู่    
    ที่ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ จะเริ่มประชุมกันตั้งแต่วันจันทร์ที่ 26 ต.ค. อันเป็นการประชุมที่ทางรัฐบาลใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อนำปัญหาการเมืองที่กำลังร้อนแรงในเวลานี้เข้าไปหารือในที่ประชุม 
      เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในการประชุมสองวันดังกล่าว ฝ่ายค้านได้เวลาไป 8 ชั่วโมง ส่วนอีก 3 ฝ่ายคือ รัฐบาล, ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ได้ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง โดยญัตติที่ยื่นมา สมาชิกรัฐสภาเห็นอย่างไรก็แสดงข้อคิดเห็นได้ เชื่อว่าถ้ามุ่งในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ รายละเอียดความจริงในญัตติไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เนื้อหาสาระในการอภิปรายเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
     นายราเมศกล่าวอีกว่า สำหรับกรอบในการอภิปราย ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 45 ระบุไว้ชัดเช่นกันว่า ในการอภิปรายต้องอยู่ในประเด็น หรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามนำเอกสารใดมาอ่านในที่ประชุมรัฐสภาโดยไม่จำเป็น และห้ามนำวัตถุใดเข้ามาแสดงในที่ประชุมรัฐสภา ทั้งนี้ เว้นแต่ประธานจะอนุญาต ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกรัฐสภาหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น
     “เชื่อว่าสมาชิกทุกคนจะปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุม โดยเฉพาะการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หากมีการอภิปรายในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงไปตรงมา สังคมก็เฝ้าดูอยู่ แต่เชื่อว่าการประชุมจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี” นายราเมศกล่าว
    นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาในการประชุมสมัย วิสามัญซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26-27 ต.ค.63 ที่มีการคาดหมายว่าจะมีการชุมนุมของประชาชนหลายฝ่ายนั้น เป็นความจริงที่ได้มีการประชุมเตรียมการที่จะให้มีกองกำลังเข้ามาคุมเข้มรักษาความสงบเรียบร้อยในรัฐสภา แต่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้สั่งการให้ยกเลิกแผนปฏิบัติการดังกล่าว เนื่องจากประธานรัฐสภามีดำริไม่อยากให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ควบคุม เพียงแต่ขอให้มีการยกระดับการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้นกว่าเดิมในระดับหนึ่งเท่านั้น ด้วยความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาที่คิดว่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาของบ้านเมืองได้ดีกว่าระบบอื่น
    โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา มีตำรวจรัฐสภารักษาการณ์ เจ้าหน้าที่จากสำนักเขตดุสิต ปรับปรุงทางเท้า และมีเจ้าหน้าที่จาก CAT มาติดตั้งสัญญาณการสื่อสารเพิ่ม เพื่อเตรียมพร้อมในการประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ โดยประธานรัฐสภาไม่ให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ควบคุม เพียงแต่ขอให้มีการยกระดับการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น
เพื่อไทยจัด 20 ส.ส.สับบิ๊กตู่ 
    ด้านการเตรียมพร้อมของพรรคการเมืองต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยพบว่าวันเดียวกันมีการประชุมคณะประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านในส่วนของพรรคเพื่อไทย และมีการประชุม ส.ส.เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องของบุคคลและประเด็นที่จะอภิปรายในวันเปิดประชุมวิสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. โดยมี ส.ส.เพื่อไทยเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง  
    จากนั้น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุมว่า การเปิดอภิปรายวิสามัญในวันที่ 26-27 ต.ค. ช่วงเวลา 09.30-22.00 น. พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เวลาทั้งหมด 8 ชั่วโมง พรรคเพื่อไทยได้เวลา 240 นาที หรือประมาณ 4ชั่วโมง พรรคเตรียมขุนพลอภิปรายไว้ 20 คน ในวันที่ 26 ต.ค. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค กล่าวนำอภิปราย ตามด้วยตน จากนั้นเป็น ส.ส.คนอื่นๆ ในวันแรก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน จะกล่าวสรุป ส่วนการสรุปปิดอภิปราย 27 ต.ค. เป็นหน้าที่ของนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน สำหรับทีมตอบโต้ของพรรคเพื่อไทย ประกอบไปด้วย นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี, นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย, นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.  
    นายประเสริฐกล่าวว่า การอภิปรายมีประเด็นที่จะอภิปรายหลากหลาย ตั้งแต่ต้นตอปัญหา ข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม พรรคเพื่อไทยได้เสนอแนวทางออกของประเทศไว้ด้วย เนื้อหาที่จะอภิปรายที่รัฐบาลกำหนดไว้ 3 เรื่อง ปัญหาโควิด เรื่องขบวนเสด็จฯ ผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม และความไม่สงบในรูปแบบต่างๆ การอภิปรายครั้งนี้ พรรคจะยึดข้อบังคับการประชุมสภาเป็นหลัก ที่ระบุว่าหากพูดถึงสถาบันโดยไม่จำเป็น ไม่ควรมาพูดในสภา สมาชิกพรรคเพื่อไทยจะระมัดระวังในเรื่องนี้ แต่เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่อ่อนไหว คงจะมีการหารือกันอีกครั้งร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในช่วงเช้าวันที่ 26 ต.ค. ก่อนการประชุมสภา  
    ถามว่าหากมีการพูดเรื่องสถาบัน จะเสนอให้มีการประชุมลับหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า คงอยู่ที่ประธานรัฐสภาว่าจะหารืออย่างไร  
     น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่องขบวนเสด็จฯ นั้น เราได้หารือร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยจะมีการแบ่งบทบาทการอภิปราย เพราะมีเวลาจำกัด ส่วนพรรคที่จะให้ข้อเท็จจริง อาจจะเป็นพรรคก้าวไกล แต่ทั้งนี้ก่อนประชุมสภาวันที่ 26 ต.ค. จะมีการหารือกันอีกครั้ง  
ดันตั้งกมธ.สอบเส้นทางขบวนเสด็จฯ 
    ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกลจะมีการเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จฯ และการถวายความปลอดภัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ เพื่อทำความจริงในทุกแง่มุมให้ปรากฏ พร้อมหลักฐานอย่างสิ้นข้อสงสัย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกล่าวหากันไปมา โดยที่ยังไม่มีกระบวนการในการสืบหาข้อเท็จจริง 
    โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวว่า เราไม่ต้องการให้เกิดความคลุมเครือ คนที่พบว่ามีหลักฐานว่ามีการกระทำความผิด ก็ควรต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และมิใช่ถูกพิพากษาไปล่วงหน้าจากการกล่าวหา การทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ เชื่อว่าจะทำให้ความขัดเเย้งลดลง เบื้องต้นเชื่อว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็ตระหนักดีว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบในการจัดเส้นทางขบวนเสด็จฯ การเตรียมเส้นทางเสด็จฯ และการถวายความปลอดภัย ไม่เช่นนั้นคงไม่มีการสั่งย้ายตำรวจที่เป็นข้าราชการระดับสูงในระดับพลตำรวจตรีถึง 3 นาย เรื่องนี้จึงต้องขอวิงวอนให้ฝ่ายรัฐบาลร่วมกันตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้ขึ้นเพื่อคลี่คลายสถานการณ์และทำความจริงให้ปรากฏ
    นายวิโรจน์กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองฟากรัฐบาลระบุถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือออกชื่อสมาชิกรัฐสภาหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็นในการประชุมรัฐสภาว่า พรรคก้าวไกลรักษามารยาท และจะอภิปรายโดยเคารพข้อบังคับอย่างแน่นอน การกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในญัตติที่ไม่ได้ระบุถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะกระทำไม่ได้ตามข้อบังคับ แต่ในกรณีนี้ ญัตติที่รัฐบาลเสนอมานั้น ได้มีการระบุถึงข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งรัฐบาลได้ระบุในญัตติอีกด้วยว่า ข้อเรียกร้องบางเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่แล้ว และยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรณีขบวนเสด็จฯ การอภิปรายที่อยู่ในกรอบญัตติที่รัฐบาลเสนอมา จึงเป็นเรื่องที่สามารถอภิปรายได้ ไม่ขัดกับข้อบังคับแต่อย่างใด ยืนยันว่าจะอภิปรายตามกรอบญัตติที่รัฐบาลเสนอมาเท่านั้น รับรองว่าจะเป็นการอภิปรายภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด 
    "ล่าสุดทราบข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐได้มอบหมายให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี และนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. เป็นผู้อภิปรายเนื้อหาในกรณีขบวนเสด็จฯ ด้วย ซึ่งเป็นสิทธิที่อภิปรายได้ เชื่อว่าจะเป็นการอภิปรายที่มีเนื้อหา ที่มีการนำเอาหลักการและหลักฐานมาแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ในสภา และประชาชนจะได้รับประโยชน์ที่จะมีโอกาสรับฟังมุมมองต่อกรณีขบวนเสด็จฯ ในข้อเท็จจริงที่มีหลายแง่มุม" โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าว 
    ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ก็มีรายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐแจ้งว่า จะมอบหมายให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี และนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. ได้คิวการอภิปรายในวันที่ 26 โดยคาดว่าจะได้รับการจัดสรรเวลาค่อนข้างมาก ส่วนเนื้อหาในการอภิปรายจะมุ่งเน้นไปถึงเหตุการณ์ขัดขวางขบวนเสด็จฯ เมื่อ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา
    ขณะเดียวกัน จากกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนา โดยนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่างเสนอตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกรัฐสภา และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการพิจารณาหาคำตอบทางออกประเทศโดยเร็วที่สุด หลังการประชุมสภาสมัยวิสามัญ โดยส่วนของนายนิกร เสนอตั้งคณะกรรมการที่มี 5 ฝ่าย ประกอบด้วย ครม., พรรครัฐบาล, พรรคฝ่ายค้าน, ส.ว. และบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมวิปรัฐบาลสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ได้ยกตัวอย่าง ”คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ที่ตั้งขึ้นเพื่อมาแก้ปัญหาจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 53 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ขึ้นมาเป็นต้นแบบ แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ยังต้องรอหาข้อสรุปกับพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"