ปริญญาชู7ทางหนีวิกฤติ TDRIเสนอทำประชามติ


เพิ่มเพื่อน    


    "ปริญญา" แนะ "บิ๊กตู่" 7 แนวทางก่อนนองเลือด แก้ต้นเหตุถอยไปก่อนยึดอำนาจ 22 พ.ค. ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ หยุดอ้างสถาบันหนุนหลัง ประธานทีดีอาร์ไอชงทำประชามติแบบ "เบร็กซิต" ฝ่าวิกฤติชาติ "สุขุม" ชี้ทางออกให้นายกฯ ส่งสัญญาณชัดแก้ รธน. ตามร่างประชาชนแล้วลาออก 
    เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ "ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ควรต้องทำสิ่งใด แก้ไขรัฐธรรมนูญ - ยุบสภา - ลาออก เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง" ว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรต้องเป็นผู้นำในการถอย ดังนี้ 1.ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของชุมนุมคือการสืบทอดอำนาจของ คสช. และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเฉพาะกาลที่ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นผู้เลือก ส.ว.ชุดแรกที่มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ซึ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นนายกฯ ต่อได้หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.2562 มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรต้องถอยเป็นก้าวแรก คือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการถอยไปก่อนหน้าการยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557 ที่รัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกนายกฯ ซึ่งจะเป็นสัญญาณว่า คสช.จะยุติการสืบทอดอำนาจ และจะทำให้สถานการณ์เขม็งตึงทางการเมืองคลายออก 
    2.รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีคนต่อต้านไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ไปแล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 นั้นนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 หลังเหตุการณ์นองเลือดต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การร่างใหม่ทั้งฉบับ เกิดเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ในเวลาต่อมา รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งมีที่มาจากการยึดอำนาจเหมือนกัน มีปัญหามากกว่าด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศไปถึง 20 ปี โดยไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย จึงน่าจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องมีการร่างใหม่ทั้งฉบับเช่นกัน และควรทำโดยที่ไม่ต้องให้มีการนองเลือดก่อน 
    3.การยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นหนึ่งในทางออก และจะเป็นทางลงให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ ทั้งนี้ ต้องไม่รับเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองใดอีก แต่ปัญหาคือถ้ายุบสภาอย่างเดียว ผู้คนจะยังไม่วางใจว่า คสช.จะยุติการสืบทอดอำนาจจริงๆ เพราะตราบใดที่ ส.ว.ชุดแรกยังมีอำนาจเลือกนายกฯ คสช.ก็ยังกลับมามีอำนาจใหม่ได้ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ จึงเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่ควรถอยเป็นการเร่งด่วน แม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียงอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ ส.ว. คือ 84 เสียงจาก 250 เสียง แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยอมที่จะแก้ไขเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
    4.การลาออกจากตำแหน่ง เป็นหนทางคลี่คลายสถานการณ์ได้ เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการถอยด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยุบสภา อาจต้องถอยให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน ส่วนที่ระบุว่าจะใช้รัฐสภาเป็นเวทีแก้ปัญหา ไม่ควรเป็นเพียงการโยนปัญหาออกไปจากตัว และให้รัฐสภาถกเถียงกันโดยไม่เกิดการแก้ปัญหาอะไร เพราะผู้ชุมนุมประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ มิใช่ประท้วงรัฐสภา 
    5.ประเด็นละเอียดอ่อนประการสำคัญที่ควรต้องแก้ไขทันทีคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องไม่พูดหรืออ้างในทำนองให้คนเข้าใจว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบ็กให้ตนเอง หลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือ The King Can Do No Wrong หรือพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ต้องยึดมั่นหลักการนี้ และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการออกหน้าและรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่ดูเหมือนกันตรงกันข้ามอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชนที่เห็นต่างกันขัดแย้งกัน 
    6.พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ลืมไปแล้วว่าเป็น ผบ.ทบ. ในขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกประท้วงให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และ พล.อ.ประยุทธ์ได้ยึดอำนาจ ซึ่งทำให้เป็นนายกฯ มาจนถึงทุกวันนี้ ในวันนั้นท่านสัญญากับประชาชนไว้ว่า ขอเวลาอีกไม่นานความสุขจะคืนมา บัดนี้เวลาผ่านไป 6 ปีแล้ว เราก็ยังไม่เห็นความสุขที่กลับคืนมา นอกจากรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลที่แย่ลง ความขัดแย้งในสังคมในเรื่องสถาบัน และการกลับมามีการประท้วงขับไล่นายกฯ อีกครั้ง จึงควรต้องรีบแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดมาจากการสืบทอดอำนาจ คือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภาหรือลาออก ดังที่เคยแนะนำอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก่อนที่สถานการณ์จะกลายไปเป็นวิกฤตการณ์จนไม่มีทางออก 
    7.รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ใช้วิธีการสลายการชุมนุมอีก หากการชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดการต่อต้านดังเช่นที่เกิดหลังจากการสลายการชุมนุมที่ปทุมวันในวันที่ 16 ต.ค.2563 ในฐานะที่ประเทศไทยมีบทเรียนเรื่องการนองเลือดมามากแล้ว เราไม่ควรเกิดเหตุการณ์รุนแรงอีก โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหา รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์ และแก้ปัญหาการเมือง และแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดอีก
    ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์เฟซบุ๊กถึงข้อคิดและข้อเสนอแก้ปัญหาสถานการณ์ความขัดแย้งว่า ควรใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการถกอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์ ให้บทบาทหลักแก่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนที่ชอบธรรมของประชาชน ในการหาทางออกร่วมกันให้แก่สังคม หากกระบวนการทางรัฐสภาไม่ประสบความสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปที่ควรทำคือการกลับไปถามประชาชน ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง ผ่านการทำประชามติ ซึ่งทางเลือกนี้อาจไม่สามารถลดข้อขัดแย้งได้หมด แต่หากทุกฝ่ายยอมรับกระบวนการ สังคมไทยน่าจะพอเดินหน้าต่อไปได้ เหมือนการทำประชามติเรื่องเบร็กซิตของคนอังกฤษ 
    ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลและผู้มีอำนาจควรยับยั้งชั่งใจในการใช้อำนาจให้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจขยายความขัดแย้งให้บานปลายออกไป รวมทั้งควรปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาที่มีลักษณะทางการเมืองทั้งหมดออกมา และแสดงท่าทีที่เปิดกว้างที่จะรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอย่างแท้จริง โดยหลีกเลี่ยงการข่มขู่ทางกฎหมาย ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุม ควรพยายามทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้ที่เห็นต่างมากขึ้น และหากจะแสดงออกในการคัดค้านรัฐบาลหรือเรียกร้องในเรื่องอะไร ควรเลือกเวลา สถานที่ ถ้อยคำและสัญลักษณ์ที่ใช้ให้เหมาะสม พยายามหลีกเลี่ยงการแสดงออกหรือการใช้สัญลักษณ์ที่ท้าทาย หรือถูกตีความได้ว่าเป็นการยั่วยุ ที่สำคัญ ทุกฝ่ายควรช่วยกันป้องกันการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งการทำรัฐประหาร ลดระดับการกล่าวหากัน และเลิกรุมประณามผู้ที่เห็นต่างจากตนด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหรือดูถูกเหยียดหยาม 
    นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ทางออกที่ง่ายที่สุดคือรัฐบาลต้องส่งสัญญาณให้ชัดในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายกฯต้องเป็นผู้ส่งสัญญาณไปยัง ส.ว. และต้องรับปากต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามร่างของภาคประชาชน โดยให้มีส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นหากนายกฯ ทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้วลาออก จะสง่างามกว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลควรต้องใช้หลักรัฐศาสตร์แก้ไขปัญหา โดยผ่อนปรนและปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายด้วยการล่วงละเมิดคนอื่น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"