แพทยสภาสอบ หมอบอนด์รีวิว


เพิ่มเพื่อน    

    แพทยสภาขึงขัง เตรียมเรียกหมอบอนด์เข้าชี้แจงรีวิวผลิตภัณฑ์เมจิก สกิน ชี้เป็นการใช้วิชาชีพไปหาประโยชน์ทั้งที่มีข้อห้าม โทษสูงสุดถึงเพิกถอนใบอนุญาต สุดท้ายแบะท่าอาจแค่ตักเตือนเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 
    นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ กรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีตำรวจออกหมายเรียก นพ.ปิยะพงษ์ โหวิไลลักษ์ หรือหมอบอนด์ ที่รีวิวสินค้า "คลีโอ" ในเครือข่ายผลิตภัณฑ์เมจิก สกิน ร่วมกับ น.ส.ปวีณา นามสงคราม หรือน้ำผึ้ง เทคมีเอาท์ ภรรยา และนายกสิทธิ์ วรชิงตัน หรือหญิงย้วย โดยคลิปรีวิวดังกล่าว หมอบอนด์ได้ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ 100% ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการใช้วิชาชีพแพทย์ไปขายของ ไปหาประโยชน์ หรือไปรับรองผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งถือว่าผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2549 ข้อ 44 ที่ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด ถ้าต้องการแสดงตนเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ต่อสาธารณชน จะต้องไม่ใช้คำว่า นายแพทย์ แพทย์หญิง คำอื่นใด หรือกระทำการไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น หรือทราบข้อความ ภาพ เครื่องหมาย หรือกระทำอย่างใดๆ ให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นแพทย์ หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
    นพ.สัมพันธ์กล่าวว่า หากเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น เครื่องบิน รถ ก็คงไม่เป็นอะไร แต่การรีวิวดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริม ยาลดความอ้วน ฟอกขาว พวกนี้กระทำไม่ได้ แต่ก็มีเปิดช่องไว้ในข้อบังคับข้อที่ 45 คือ เมื่อแสดงความเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ต้องเปิดเผยด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากธุรกิจนั้น เช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ร่วมทุน เป็นเจ้าของเอง เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าคุณต้องการขายของหรือไม่ สำหรับบทลงโทษในเรื่องจริยธรรมนั้นมี 4 ระดับคือ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต แต่ส่วนใหญ่ที่ผ่านมามักจะเป็นการว่ากล่าวตักเตือน เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้กฎหมายหรือข้อบังคับ เป็นต้น
    "กรณีของหมอบอนด์ก็คงต้องมีการสอบสวน โดยเลขาธิการแพทยสภาจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาครั้งถัดไป คือช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้อง เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนจริยธรรม โดยจะสอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ลึกซึ้งแค่ไหน มีส่วนรู้เห็นแค่ไหน ว่าผลิตภัณฑ์ผ่านการตรวจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ มีสารที่มีปัญหาต่อสุขภาพหรือไม่ คาดว่าไม่น่านาน เพราะค่อนข้างชัดเจน แต่ต้องให้เจ้าตัวเข้ามาชี้แจงด้วย ซึ่งระดับของโทษทางจริยธรรมจะพิจารณาว่าเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากเขาไม่รู้ ไม่ทราบจริงๆ ก็อาจจะเป็นเพียงการว่ากล่าวตักเตือน" นพ.สัมพันธ์กล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จริงๆ แล้วแพทย์ควรจะรู้ข้อบังคับของแพทยสภาหรือไม่ นพ.สัมพันธ์กล่าวว่า ข้อบังคับเขียนไว้ชัดเจน แต่จะมีกี่คนที่อ่านข้อบังคับ แต่โดยจิตวิญญาณแล้วน่าจะรู้ระดับหนึ่งว่าไม่เหมาะสมในการนำวิชาชีพแพทย์ไปขายผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือไปรับรอง ซึ่งก็ไม่ต่างจากวิชาชีพอื่น เช่น พยาบาล ทันตแพทย์ หรือเภสัชกร ที่มีระเบียบข้อบังคับคล้ายๆ กัน
    ถามว่าในการเรียนก็มีเรื่องจริยธรรมก็น่าจะรู้หรือไม่ โทษจึงไม่ควรเป็นเพียงว่ากล่าวตักเตือน นพ.สัมพันธ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วแพทย์เรียนค่อนข้างหนัก อย่างกฎหมายหรืออะไรที่ไม่เกี่ยวกับแพทย์ก็ต้องเรียนเยอะ ไม่สามารถรู้ได้ทุกแง่ทุกมุม เด็กจบแพทย์ใหม่ปีละ 3,000 คน เชื่อว่ามีไม่ถึง 100 คนที่ทราบ อย่างไรก็ตาม แพทยสภาจะใช้กรณีดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์ในการเตือนแพทย์คนอื่นๆ ว่าไม่ควรกระทำในลักษณะเช่นนี้
    "คนไทยเชื่อคนง่าย และยิ่งเป็นหมอก็ยิ่งเชื่อถือ จึงอยากย้ำว่าอย่าเพิ่งเชื่อเพียงเห็นว่าเป็นหมอ แต่ควรมีการตรวจสอบก่อนว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่าน อย.หรือไม่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบควรมีคอลเซ็นเตอร์เพื่อให้ประชาชนโทรศัพท์สอบถาม และควรมีข้อสงสัยว่าส่วนผสมของผลิตภัณฑ์มีอะไรบ้าง มีสารอันตรายหรือไม่ เพราะเวลาขายของจริงอาจมีการใส่ส่วนผสมเกินไปกว่าที่จดแจ้งได้" นพ.สัมพันธ์กล่าว
    วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข มีการแถลงข่าว โดย นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.ได้มีการเฝ้าระวังกรณีการตรวจจับสินค้าเครือข่ายเมจิก สกิน มาตั้งแต่ต้น โดยผลิตภัณฑ์ได้มาจดแจ้งกับ อย.ในปี 2560 และ อย.ได้สุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 กระทั่งมีคำสั่งเพิกถอนเรียกคืนผลิตภัณฑ์จำนวน 266 รายการ และประกาศให้ประชาชนทราบในเดือน มี.ค. 
    เลขาธิการ อย.กล่าวถึงการรีวิวของดารา นักร้อง ว่าการโฆษณานั้น โดยหลักการแล้ว ทุกคำพูด ทุกประโยคต้องได้รับอนุญาต โดยจะต้องไม่มีข้อความเกินจริงทุกคำพูด ไม่เช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งหากตัวดารา นักร้องไม่สะดวกเข้ามาเอง ทางบริษัทต้นสังกัดควรมาขออนุญาตแทน ซึ่งขอเตือนดารา นักร้อง ว่าหากมีการรีวิวผลิตภัณฑ์และเกิดการตายของผู้บริโภคขึ้น จะมีโทษสูงสุดคือการจำคุก 
    ขณะที่ นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวถึงอาหารเสริมลีน ที่มีข่าวผู้ที่กินเข้าไปเสียชีวิตหลายราย โดยกรณีที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 พบผู้ชายอายุ 47 ปี เสียชีวิตที่ จ.ปทุมธานี โดยพี่สาวผู้ตายให้การว่า ผู้ตายไม่มีโรคประจำตัว แต่ได้กินยาลดความอ้วนมา 2 เดือน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบผลิตภัณฑ์ Lyn DTOX fS3 (ลีนกล่องสีดำ) และผลิตภัณฑ์ Lyn BLOCK BURN BREAK BUILD (ลีนกล่องสีขาว) จึงได้เก็บผลิตภัณฑ์ลีนทั้งสองรายการไปตรวจสอบว่ามีสารอันตรายหรือไม่ สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่ และในวันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่จาก อย. สสจ.ปทุมธานี ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สามโคก จ.ปทุมธานี ได้สนธิกำลังร่วมกันตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อหาข้อมูลและพยานหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"