ชี้ชะตา64สส.ปมถือหุ้นสื่อ จับตาโดมิโนทางการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

    ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยสถานภาพ 64 ส.ส. รอด​หรือร่วง ปมถือหุ้นสื่อ นักวิชาการชี้ผลการวินิจฉัยจะมีผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเมืองและการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์แน่นอน
    วันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.จำนวน 32 คนของฝ่ายรัฐบาล และอีก 32 คนของฝ่ายค้าน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อหรือไม่ โดยในช่วงเช้าเป็นการประชุมของคณะตุลาการเพื่อแถลงด้วยวาจาและลงมติ ก่อนออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังตั้งแต่เวลา 15.00 น.
    อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้เรียกไต่สวนเฉพาะพยานในรายของ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม.เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ และนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าบริษัทที่ ส.ส.คนดังกล่าวถือหุ้นอยู่นั้นไม่ได้ทำธุรกิจด้านสื่อและไม่ได้มีรายได้จากธุรกิจสื่อจริงหรือไม่ แต่ในรายของนายธัญญ์วารินไม่ติดใจที่จะเข้าชี้แจง
    สำหรับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจำนวน 64 คนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในวันพรุ่งนี้ ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 21 คน คือ 1.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 2.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ 3.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร 4.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ 5.นางกุลวลี นพอมรบดี 6.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 7.นายฐานิสร์ เทียนทอง 8.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ 9.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง 10.นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ
    11.นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา 12.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ 13.นายภิญโญ นิโรจน์ 14.นายวีระกร คำประกอบ 15.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ 16.นายสมเกียรติ วอนเพียร 17.นายสัมพันธ์ มะซูโซ๊ะ 18.นายสิระ เจนจาคะ 19.นายสุชาติ ชมกลิ่น 20.นายอนุชา น้อยวงศ์ 21.น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์
    พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน คือ 1.น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร 2.นายอัศวิน วิภูศิริ 3.นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ 4.นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ 5.น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ 6.นายสมชาติ ประดิษฐพร 7.นายสาคร เกี่ยวข้อง 8.นายสาธิต ปิตุเตชะ
    พรรคชาติพัฒนา 1 ราย คือ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ, พรรครวมพลังประชาชาติไทย คือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และพรรคประชาภิวัฒน์ คือ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    ส่วน ส.ส.ฝ่ายค้าน ประกอบด้วย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 20 คน (ก่อนถูกยุบพรรค) คือ 1.พล.ท.พงศกร รอดชมภู 2.นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 3.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ 4.นายสุรชัย ศรีสารคาม 5.นายชำนาญ จันทร์เรือง 6.นายวินท์ สุธีรชัย 7.นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ 8.นายคารม พลพรกลาง 9.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง 10.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
    11.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 12.นายวิภพ วิริยะโรจน์ 13.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 14.นายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด 15.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. 16.น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี 17.น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม 18.นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 19.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก และ 20.น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. 
    พรรคเพื่อไทย 4 คน คือ 1.นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย 2.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 3.นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และ 4.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อชาติ 4 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ได้แก่ 1.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 2.นางลินดา เชิดชัย 3.น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช และ 4.นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล พรรคเสรีรวมไทย จำนวน 3 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ได้แก่ 1.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 2.น.ส.ธนพร โสมทองแดง และ 3.น.ส.พัชนี เพ็ชรจินดา และพรรคประชาชาติ 1 ราย คือ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความต่อสู้คดีหุ้นสื่อ ส.ส. เปิดเผยว่า วันที่ 28 ต.ค. เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยกรณี ส.ส.ของพรรคถูกร้องถือหุ้นสื่อ โดยตนในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมทนายต่อสู้คดีนี้ เราเคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะออกมาในทิศทางใด เพราะศาลรัฐธรรมนูญให้โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และเอกสารที่ค้นหามาจากหน่วยงานราชการเป็นจำนวนมากที่สามารถชี้ให้เห็นได้โดยชัดแจ้ง จึงมั่นใจในคุณสมบัติของ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
    “เราไม่มีความกังวลใจ แต่ท้ายที่สุดอยู่ที่ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ เราเคารพในผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ผลเป็นอย่างไรก็พร้อมยอมรับในกระบวนการยุติธรรม” นายราเมศกล่าว  
    นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง กรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีถือหุ้นสื่อของ 64 ส.ส. ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจทางการเมืองอย่างไรหาก ส.ส.พ้นตำแหน่ง ว่า หากผลออกมาเป็นทางลบ มี ส.ส.หายไปจำนวนหนึ่ง ส.ส.เขตจะต้องเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่าง อาจเป็นเหตุนำไปสู่การยุบสภาได้ แต่ตนเป็นห่วงว่าการยุบสภารอบนี้ต้องเลือกตั้งกันบนข้อกฎหมายพรรคการเมือง ต้องทำไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบ จากข้อมูลล่าสุดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มี จะไม่มีพรรคการเมืองใดเลยที่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ครบ 350 เขต อาจจะเป็นปัญหา  
    "ข้อจำกัดที่การตัดสินใจยุบสภาในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพรรคการเมืองจะรู้สึกว่าเขาไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ พรรคก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครครบได้ทั้ง 350 เขต ก็จะมีปัญหาในการแข่งขันกันในการเลือกตั้ง บางเขตอาจไม่มีผู้สมัครเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นมีความเป็นไปได้ว่ายุ่งยาก ถ้า ส.ส.พ้นจากตำแหน่งไปเยอะๆ รัฐบาลตัดสินใจยุบสภาได้ เพียงแต่ว่าในทางปฏิบัติหลังยุบสภาการจัดการเลือกตั้งไม่สามารถจัดการได้โดยสมบูรณ์”
    นายสติธรกล่าวอธิบายเรื่องนี้ว่า เป็นไปตามหลัก พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ เรื่องการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตอนที่เลือกตั้งปีที่แล้วมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ต้องใช้บทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ แต่รอบนี้ต้องใช้แล้ว ยกเว้นไม่ได้ กระบวนการทำไพรมารีโหวตต้องทำทุกเขตเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องมีผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ข้อมูลล่าสุดไม่มีพรรคการเมืองไหนเลยที่มีผู้แทนครบ 350 เขต เดดล็อกมากขึ้นไปอีก ต่อให้ยุบสภาแล้วพรรคการเมืองค่อยหาสมาชิกจัดตั้งสาขาหรือผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด กกต.เคยให้ข้อมูลว่า กระบวนการแบบนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 45 วัน เร็วที่สุด ปกติยุบสภาเลือกตั้งใหม่ใช้เวลา 60 วัน พรรคการเมืองจะตั้งสาขาหรือผู้แทนพรรคภายใน 45 วัน เหลือเวลาอีก 15 วัน ก็ทำไพรมารีโหวตส่งผู้สมัครไม่ทันอยู่ดี 
    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีหากรัฐบาลไม่ยุบสภา แต่กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย นายสติธรกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เพราะถ้าผลการเลือกตั้งซ่อมเข้าทางฝ่ายค้าน รัฐบาลปัจจุบันอาจกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ เปอร์เซ็นต์ยากหน่อยแต่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม การเป็นเสียงข้างน้อยไม่ได้แปลว่าล่มไปเลย อาจจะเจอเหตุการณ์สำคัญ ฝ่ายค้านอาจจะใช้โอกาสยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ถ้ารัฐบาลแพ้โหวตต้องพ้นไป หรือรัฐบาลอาจแก้เกม ดึงพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาล ถ้ามีพรรคฝ่ายค้านเอาด้วยก็สมสู่กับรัฐบาลใหม่ ยุบสภาจะมีผลกระทบมากกว่า มีข้อจำกัดในการปฏิบัติตามกฎหมายดังที่บอก ถ้าเลือกตั้งซ่อมก็ต้องดูอีกทีว่าซ่อมกี่เขต ถ้า 40-50 เขตก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ 
    เมื่อถามถึงกรณีหากศาลวินิจฉัยยกคำร้องหมดจะมีผลกระทบอย่างไร นายสติธรกล่าวว่า ถ้ายกหมดจะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะเรื่องหุ้นสื่อเคยมีบรรทัดฐานวางไว้กับคนอื่นเคยผิด ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไป แต่ทำไมกลุ่มนี้ถึงไม่โดน จะเกิดประเด็นสองมาตรฐานหรือไม่ ที่ผู้ชุมนุมจะเอาไปอ้างเป็นเหตุในการต่อต้านรัฐบาลเพิ่มขึ้น และประเด็นทางกฎหมาย จะเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย การถือหุ้นแบบนี้ไม่ผิดก็เป็นบรรทัดฐานเดียวกันต่อไป ซึ่งถ้ารอดรัฐบาลคงปกติ ไม่น่าจะมีอะไร 
     ขณะที่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ต้องดูว่าพ้นจากตำแหน่งกี่คนมากน้อย ถ้าฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส.ออกไปเยอะกว่า ต้องพิจารณาการลงมติต่างๆ จะมีได้มีเสียแตกต่างกัน จำนวนที่ต่างกันมีผล ทั้งสองฝ่ายจำนวนบวกลบกันแล้ว 20-30 คน ถ้า 64 คนหลุดหมด มีผลกระทบมากถึงการทำงาน  
    นายเจษฎ์กล่าวต่อว่า ถ้าเป็น ส.ส.เขต ปัญหาเยอะ ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ และถ้าเป็นของฝ่ายรัฐบาลเยอะ อาจมีผลต่อการตัดสินใจบางประการของนายกรัฐมนตรีในเรื่องการดำเนินการหลายอย่าง แต่คิดว่าไม่กระทบถึงการลาออกหรือยุบสภา ทั้งหมดที่อภิปรายกันคิดว่ามีการนำเรื่องนี้มาคิดคำนวณไว้แล้ว คงไม่กระทบถึงการตัดสินใจเฉพาะหน้าของนายกฯ เท่าไหร่ แต่จะกระทบถึงการทำงานโดยรวมของสภา ส.ส.ทั้งหมดอยู่กรรมาธิการชุดไหนบ้าง เสนอญัตติอะไรบ้าง และในจำนวนนี้มีรัฐมนตรีอยู่ด้วย อาจต้องปรับคณะรัฐมนตรีเลย 
    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีหากศาลวินิจฉัยยกคำร้อง ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางคนจะกระทบอย่างไร นายเจษฎ์กล่าวว่า รอดบางคน ต้องดูว่าใครรอดกี่คนมากน้อย ถ้ารอดทั้งหมดไม่มีผลกระทบทางการเมืองเท่าไหร่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีผลกระทบค่อนข้างมาก ต้องคำนึงถึงกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และคนอื่นๆ ด้วย 
    เมื่อถามกรณีศาลยกคำร้องอาจจะเป็นเงื่อนไขให้ผู้ชุมนุมอ้างถึง นายเจษฎ์กล่าวว่า อาจเป็นสิ่งที่ผู้ชุมนุมหยิบยกขึ้นมาติติงว่ากล่าว แต่คงไม่เป็นเงื่อนไขการชุมนุมมากขึ้น เพราะตอนนี้การชุมนุมลุกลามพอสมควรอยู่แล้ว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"