ถอดแนวคิด 'คณะกรรมการ' ดับไฟม็อบ แก้รัฐธรรมนูญเสร็จ 'ยุบสภา'


เพิ่มเพื่อน    

      ในห้วงที่การเมืองกลับมาขัดแย้งหนักอีกครั้ง เหลือเพียงการเผชิญหน้ากัน หรือ “ม็อบชนม็อบ” มีหลายข้อเสนอจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะพรรคการเมืองสนับสนุนให้มีกลไกหาทางออก ในรูปแบบของ “คณะกรรมการ”

      โดยนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอให้ปรับเปลี่ยนจากคณะกรรมาธิการ ที่จำเป็นต้องยึดสัดส่วนฝ่ายไหนมาก ฝ่ายไหนน้อย มาเป็นรูปแบบของคณะกรรมการ ที่มี 5 ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย ครม. พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา และบุคคลภายนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

      ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยถือหลัก 3 ข้อ ได้แก่ 1.สำหรับองค์ประกอบนั้นอย่างน้อยควรจะประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสภาไม่น้อยกว่า 7 ฝ่าย

      2.ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ เร่งหารือร่วมกันเพื่อหาจุดร่วม หาทางออกให้กับประเทศด้วยความปรารถนาดีให้กับบ้านเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป และหลักข้อที่ 3 ขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว

      ข้อเสนอของพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคประชาธิปัตย์มีความคล้ายคลึงกัน ต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น

      ขณะที่สัปดาห์ก่อน ในที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล มีการพูดถึงโมเดลของ “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

      คณะกรรมการชุดดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก กระแสความไม่พอใจของคนเสื้อแดงที่มีต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีอย่างกว้างขวาง

      เงื่อนไขของกลุ่มคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นต้องการขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550

      ในขณะนั้นคณะกรรมการชุดนายดิเรกมีหน้าที่แก้ปัญหาทุกเรื่องที่เป็นความขัดแย้ง ไม่ใช่มีเพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น 

      หลังคณะกรรมการชุดนี้ทำข้อเสนอเสร็จสิ้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน เพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ

      โดยเมื่อนายสมบัติศึกษาและทำข้อสรุปเสร็จแล้ว จึงเสนอให้กับนายอภิสิทธิ์

      สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนั้น มีการเสนอเข้าไปหลายร่างเช่นเดียวกับทุกวันนี้ ประกอบด้วย ร่างที่ 1 เสนอโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) ที่มี นพ.เหวง โตจิราการ เสนอ ร่างที่ 2 ของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 102 คน ร่างที่ 3 ของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ชุดนายสมบัติเป็นผู้เสนอ ที่ให้แก้ระบบเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งเขตละคน (วันแมนวันโหวต) โดย ส.ส.เขตจะมี 375 คน ส่วน ส.ส.สัดส่วนจะเหลือ 125 คน

      และร่างที่ 4 คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ชุดนายสมบัติเป็นผู้เสนอให้แก้ไขมาตรา 190 ว่า การทำหนังสือสัญญาจะกำหนดประเภทของหนังสือสัญญาว่า เรื่องใดบ้างต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

      ที่สุดสภาให้ความเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นระบบเลือกตั้ง และเรื่องมาตรา 190 ซึ่งเป็นเนื้อหาที่คณะกรรมการฯ ชุดนายสมบัติเสนอทั้งสิ้น

      ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วไม่นาน นายอภิสิทธิ์ได้ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

      โมเดลนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะตัวละครในวันนั้นหลายคนมีบทบาทอยู่หน้าฉากทางการเมืองทุกวันนี้ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำรัฐบาลขณะนั้น

      หรือแม้แต่พี่น้อง 3 ป. ที่ครั้งนั้นอยู่ในสถานะฝ่ายความมั่นคง ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก

      พรรคประชาธิปัตย์ และ 3 ป. ต่างเคยผ่านสมรภูมิการชุมนุมของคนเสื้อแดง ในฐานะฝ่ายตั้งรับ ที่ถือว่ารุนแรงในรอบสิบปี มีการสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

      ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงในเวลานั้นกับการชุมนุมของม็อบราษฎรในวันนี้คล้ายคลึงกัน ต่างกันตรงที่รุ่นหลังมีบางข้อเสนอที่ทะลุเพดาน

      หากยึดการตั้งรับการชุมนุมเมื่อสิบปีที่แล้วของตัวละครที่เข้ามามีอำนาจเองในปัจจุบันอย่าง 3 ป. พวกเขาจะไม่ถอยให้ม็อบในทันทีแน่นอน แต่จะค่อยๆ ถอยอย่างช้าๆ

        การไปจะต้องไม่ใช่การถูกไล่ แต่ไปเองในเวลาที่เห็นว่าสมควร และไม่ได้ดื้อดึงเกินไป

        เป็นโมเดลหนึ่งที่มีความพยายามจะปัดฝุ่น.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"