‘เสริมทราย’ป้องกันกัดเซาะชายฝั่ง ชุบชีวิต"หาดท่องเที่ยว"แจ้งเกิดใหม่


เพิ่มเพื่อน    

  

   ชายหาดจอมเทียน ก่อนเริ่มงานเสริมทรายป้องกันกัดเซาะชายหาด 

   

       ชายฝั่งของประเทศไทยมีความยาวกว่า 3,100 กิโลเมตร แต่พบว่า ชายหาดกว่า 830 กิโลเมตร เผชิญปัญหากัดเซาะชายฝั่งจนสภาพเสื่อมโทรม สาเหตุหลักเกิดจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ อันตรายต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งกระทบการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวร้อยละ 90 เลือกท่องเที่ยวชายหาด นี่คือ ทรัพยากรธรรมชาติและต้นทุนท่องเที่ยวที่สำคัญ สร้างรายได้เข้าประเทศ

      กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีภารกิจแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ปัจจุบันมีคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ มีรองนายกฯ เป็นประธาน ตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการแผนงานและโครงการแก้ปัญหา ล่าสุด กรมเจ้าท่าเดินหน้าต่อกับโครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองพัทยา เป็นแห่งที่สอง เริ่มตั้งแต่บริเวณครัวลุงไสวถึงซอยนาจอมเทียน 11 ความยาว 3,575 เมตร หลังนำร่องฟื้นฟูชายหาดพัทยาระยะทาง 2,800 เมตร ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือ บริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี จนถึงชายหาดพัทยาใต้ บริเวณวอล์คกิ้ง สตรีท จนได้ชายหาดกลับมาสวยงามเหมือนเดิม

 

วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า

 

      วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยมีมาโดยตลอด ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน บางพื้นที่กัดเซาะ 5-10 เมตรต่อปี แล้วแต่บริบทและพลังคลื่นของแต่ละพื้นที่ กรมเจ้าท่ามีแนวทางแก้ปัญหาตั้งแต่กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน พื้นที่ไม่ซับซ้อน จะออกแบบกำแพงป้องกันกัดเซาะชายฝั่ง ดำเนินการได้ทันที กรณีปัญหาซับซ้อนอยู่ในพื้นที่คุ้มครอง จะจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำโครงการที่เหมาะสม จัดทำรายงานอีไอเอก่อนก่อสร้าง ส่วนกรณีชายหาดทรายที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ประสบปัญหากัดเซาะ ใช้วิธีเสริมทรายชายหาดดีที่สุดและเหมาะกับหาดแหล่งท่องเที่ยวของบ้านเรา  

      สำหรับสภาพปัญหาการกัดเซาะชายหาดของหาดจอมเทียน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของไทย วิทยากล่าวว่า จากรายงานการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทแก้กัดเซาะชายฝั่งพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ปี 2552 พบว่า ชายหาดจอมเทียนเผชิญปัญหากัดเซาะอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเช่นเดียวกับชายหาดพัทยา ทำให้ชายหาดถดถอยและลดขนาดลงไปทุกปี  จนเหลือพื้นที่ทรายชายหาดจอมเทียนไม่เพียงพอรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนบนชายหาดได้ บางช่วงชายหาดเมื่อน้ำขึ้น ชายหาดจะจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลทั้งหมด จะส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีแนวโน้มลดลงในอนาคต หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ถึง 10 ปี ชายหาดจอมเทียนจะไม่มีทรายเหลืออยู่เลย จึงมีโครงการเสริมทรายในระยะที่ 1 รวมกว่า 3.5 กิโลเมตร เริ่มวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เมื่อเสร็จแล้ว จะเข้าสู่ระยะที่ 2 อีก 2.4 กม. เพื่อเสริมทรายต่อไป

 

สภาพชายหาดจอมเทียนในปัจจุบัน พบกับปัญหากัดเซาะชายฝั่ง 

 

      อธิบดีกรมเจ้าท่า ระบุว่า ปี 2558 กรมเจ้าท่าได้จ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระยะยาว และสามารถฟื้นฟูสภาพชายหาดจอมเทียนให้กลับมาสวยงามดังเดิม พร้อมทั้งจัดทำรายงานการวิเคราะห์กระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนำเสนอ และขอรับการอนุมัติหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการศึกษาโครงการเห็นชอบปี 2562 ก่อนว่าจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการงานเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน ระยะที่ 1 พื้นที่โครงการอยู่ในเขตชุมชนหนาแน่น อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ประกอบกิจกรรมหลากหลายประเภทในพื้นที่โครงการ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบ และสอดคล้องตามมาตรการผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏในรายงาน คณะกรรมการกำกับ ดูแล และติดตามการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จึงจัดประชุมสัมมนาระดับประเทศครั้งนี้ขึ้น 

      “ หลังฟื้นฟูชายหาดจอมเทียนเสร็จ ชายหาดจะมีขนาดความกว้างเฉลี่ย 50 เมตร สวยงาม มีพื้นที่พักผ่อน เล่นกีฬาชายหาดได้มากกว่าเดิม ผลศึกษาพบว่าโครงการคุ้มค่า เงิน 1 บาทที่ลงทุนไป จะสร้างเม็ดเงินกลับคืนมาในระบบ 3.20 บาท สำหรับงานเสริมทรายนอกจากแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำหลบคลื่นลม การท่องเที่ยววิถีใหม่ชายหาดจะสร้างรายได้ให้ชุมชนและการท่องเที่ยวของประเทศ คาดหวังให้เสริมทรายชายหาดจอมเทียนเป็นต้นแบบชายหาดที่ยั่งยืน โดยมีแผนจะเสริมทรายชายหาดบางแสน ชลบุรี, ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี และชายหาดเขาหลัก จ.พังงา ทุกพื้นที่ต้องศึกษาและออกแบบอย่างเหมาะสม กระทบสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ส่วนฝั่งอันดามันตั้งแต่ระนอง สตูล ตรัง ก็มีปัญหากัดเซาะเช่นกัน  กรมเจ้าท่ามีบทบาทดูแลรักษาชายหาดจึงต้องดำเนินการในระยะต่อไป " วิทยา กล่าว

 

ชายหาดพัทยาที่กรมเจ้าท่าได้ดำเนินโครงการเสริมทรายระยะทาง 2.8 กม. จนสำเร็จหาดสวยงามกลับมา

 

      ด้าน ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ผู้ออกแบบโครงการเสริมทราย กล่าวว่า โครงการก่อสร้างเสริมทรายป้องกันกัดเซาะชายหาด ข้อดีเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ ใช้โครงสร้างน้อย และมีความยั่งยืน นอกจากป้องกันชายหาดยังเติมทรายให้ชายหาดใกล้เคียงเหมาะสมกับชายหาดเพื่อการท่องเที่ยว อย่างหาดไมอามี สหรัฐ หรือหาดสเปน กว่า 90% ใช้วิธีเสริมทราย วิธีนี้ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรกลับมา แต่ข้อเสียไม่สามารถใช้แก้ปัญหาในทุกพื้นที่ได้เพราะค่าใช้จ่ายสูง ต้องดูแลเสริมทรายทุก 10 ปี ตามกรอบที่ออกแบบไว้ ใช้เวลาดำเนินการ 1-2 ปี ไม่สามารถนำข้อมูลจากการออกแบบในหาดหนึ่งไปใช้กับหาดอื่นๆ ได้ ต้องศึกษาออกแบบใหม่เฉพาะหาดเท่านั้น โครงการนี้สอดรับยุทธศาสตร์ที่ 2 และยุทธศาสตร์ที่ 5 ของแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี ด้านสร้างการเติบโตบนคุณภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

      ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า โครงการเสริมทรายหาดจอมเทียนมีความแตกต่างกับหาดพัทยา คือ ไม่มีแนวกระสอบทรายใต้ดิน ความกว้างที่ออกแบบไว้กว้างกว่าพัทยา ซึ่งพัทยากว้าง 35 เมตร ผ่านมา 1 ปีเพิ่มมาเป็น 40 เมตร  และมีพื้นที่แหล่งสำรองทรายชายหาด กรณีมีพายุเข้าจะมีสต๊อกทรายไว้ให้กับท้องถิ่นดูแลเสริมทรายได้          

      “ ข้อควรระวังจะต้องแก้ไขปัญหาการระบายน้ำท่วมลงสู่ชายหาด เพราะเราไม่ได้ออกแบบการเสริมทรายไว้รองรับการระบายน้ำ ปัญหาเมืองพัทยา น้ำท่วมเมือง ระบายไม่ทัน จะระบายลงหาด ซึ่งในการออกแบบไม่ได้เผื่อเรื่องน้ำท่วม ทำให้อายุการใช้งานของหาดสั้นลง สิ่งที่ต้องแก้เร่งด่วนกรมเจ้าท่าต้องหารือกับเมืองพัทยาวางแนวทางแก้ปัญหา"

      นอกจากนี้ ศ.ดร.ธนวัฒน์ ย้ำการเสริมทรายในครั้งต่อไปต้องดำเนินการโดยกรมเจ้าท่าเท่านั้น และไม่ควรอนุญาตให้ท้องถิ่นและประชาชนขอใช้พื้นที่จากการเสริมทรายผิดประเภท เช่น พื้นที่จอดรถ อาจจะมีปัญหาตามมาภายหลัง เพราะเป็นการถมทะเล หรือแม้กระทั่งการบุกรุกพื้นที่ชายหาดใช้ประโยชน์ กรมเจ้าท่าควรปักขอบเขตที่แน่นอนว่าบริเวณไหนเกิดจากโครงการเสริมทราย การมีโครงการต่างๆ กรมเจ้าท่าต้องดูแลและส่งมอบให้ท้องถิ่นบริหารจัดการต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนเสนอเพิ่มว่า ในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงก็ควรใช้วิธีเสริมทรายเช่นกัน ไม่เพียงหาดท่องเที่ยว เพราะเทคโนโลยีนี้สามารถพัฒนาต่อยอดได้ อนาคตเราอาจขายองค์ความรู้นี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งในภาคตะวันออกแนวโน้มไม่ดีขึ้น บางพื้นที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งพื้นที่ที่มีโครงสร้างป้องกัน ดูภายนอกเหมือนนิ่ง ไม่กัดเซาะแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าหยุด มีการกัดเซาะพื้นท้องน้ำ ดังนั้น วิธีที่ดีสุดคือการเสริมทราย 

 

การประชุมสัมมนาระดับประเทศ กรมเจ้าท่ากับการท่องเที่ยววิถีใหม่ ชายหาดยั่งยืน เมื่อวันก่อน 

 

      เวทีสัมมนาระดับประเทศครั้งนี้เปิดให้ทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นต่อโครงการเสริมทรายชายหาด ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ชายหาดพัทยาอดีตพื้นที่หาดกว้างขวาง  แต่กัดเซาะชายหาดรุนแรงจนขนาดหาดติดกับพื้นที่ทางเดิน เมื่อมีโครงการเสริมทราย ตนจับตามองและเห็นว่า เกิดประโยชน์ ชายหาดกลับมา เป็นพื้นที่พักผ่อนของครอบครัว ชุมชน ช่วยฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ เหมือนเราได้สวนสาธารณะกลับมา จากที่เคยยับเยินในอดีต เมื่อทำแล้วคุ้มค่าก็เห็นด้วยในการขยายโครงการสู่ชายหาดจอมเทียน คิดว่าจะบรรเทาปัญหากัดเซาะ อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีหาดแสงจันทน์ จ.ระยอง ฝากให้กรมเจ้าท่าที่แก้ปัญหาด้วยการทำโครงสร้างแข็ง แต่หลังแนวกันคลื่นมีชายหาดทรายธรรมชาติ ซึ่งร้านค้าจับจอง แทนที่จะเป็นพื้นที่ชายหาดให้คนพักผ่อนทั่วไป

      ดร.ธรณ์ยังชี้ข้อควรระวังว่า จุดดูดทราย แหล่งทรายบริเวณทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ห่างจากหาดจอมเทียนบริวณเสริมทรายไปทางทะเล 15 กิโลเมตร ณ วันนี้การขุด ดูดทราย ตะกอนต่างๆ ยังไม่มีผลกระทบกับแนวปะการัง แต่จะต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง หาดพัทยายาวจนถึงชายหาดจอมเทียน เป็นหาดท่องเที่ยวสำคัญ หลังโควิดจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาเกือบ 10 ล้านคนต่อปี ฝากให้เตรียมพร้อมรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ อยากเสนอให้กรมเจ้าท่าจัดทำโรดแมปที่ชัดเจน 5-10 ปี ในการพัฒนาพื้นที่ตะวันออก สร้างผลประโยชน์สูงสุด ลดผลกระทบให้มากที่สุด มนุษย์ได้ประโยชน์โดยกระทบธรรมชาติในระดับที่ยอมรับได้ ความยั่งยืนหมายถึง กิจการอยู่ได้ ธรรมชาติอยู่ได้และคนอยู่ได้ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมากขึ้น ปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลจะเข้ามาเพิ่มขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมที่ลงสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

      "ผมคิดว่า ตอนนี้เรายังมีปัญหา สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหากัดเซาะรุนแรงเท่านั้น แต่รวมคลื่นลมที่รุนแรงมากขึ้น พายุถี่ขึ้น อยากให้มองทิศทางแก้ไขปัญหาครบทุกมิติ " ดร.ธรณ์ กล่าว

 

               


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"