เอกชนประเมิน ตัด'GSP'ไม่แรง ยอด'หนี้'ปท.พุ่ง


เพิ่มเพื่อน    


      “อนุสรณ์” หนุนไทยทำถูกต้องเมินตลาดหมูเนื้อแดงให้สหรัฐ แม้ถูกตัดจีเอสพี “เอกชน” เชื่อกระทบไม่มาก “จตุพร” ถล่มมะกันไม่ใช่มิตรแท้ “คลัง” เปิดตัวเลขหนี้สะสม ผงะ! ใกล้แตะ 50% จีดีพี
      เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ย. นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้แจงถึงกรณีประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) กับสินค้าไทย 231 รายการ จากกรณีที่ไทยไม่เปิดตลาดเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงว่า ไทยทำถูกต้อง เพราะได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพอนามัยของชาวไทย ซึ่งการที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ตัดสิทธิ์ไทยน่าจะตัดสินใจบนพื้นฐานผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อรักษาฐานคะแนนจากกลุ่มเกษตรกรสหรัฐ 
      นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า สินค้าไทย 231 รายการที่ถูกตัดสิทธิ์ ล่าสุด และมีผลตั้งแต่เดือน ธ.ค. มีเพียง 147 รายการเท่านั้นที่ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิ์ สินค้ากลุ่มนี้มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ยประมาณ 600-700 ล้านดอลลาร์ต่อปี เมื่อเสียภาษีเพิ่ม 4-5% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 20-30 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 640-960 ล้านบาท แต่จะกระทบบริษัทส่งออกขนาดกลางขนาดเล็กที่อาศัยตลาดสหรัฐเป็นหลัก จะกระทบมากพอสมควร ฉะนั้นต้องเร่งหาตลาดใหม่ทดแทน ซึ่งสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ กระปุกเกียร์ ผลิตภัณฑ์ยางหลากหลายประเภท กรอบแว่นตา เคมีภัณฑ์ อะลูมิเนียมแผ่นบาง เป็นต้น 
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากที่ประเมินแล้วการตัดจีเอสพีครั้งนี้ จะเกิดผลกระทบต่อภาคเอกชนไทย 600-700 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางชนิด และไม่ถือว่าเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ เพราะคงเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น
      “จริงๆ เคยประเมินไปแล้วว่าหลังจากที่มีการตัดสิทธิ์ครั้งแรกแล้วก็อาจมีอีกครั้งหนึ่งตามมา ซึ่งผลกระทบระยะยาวอาจไม่รุนแรง แต่ภาคเอกชนต้องเตรียมรับมือ รวมถึงต้องหาตลาดใหม่ๆ เพื่อรองรับสินค้า” นายสุพันธุ์กล่าว
      นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การตัดสิทธิ์จีเอสพีคาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกไม่มาก หากเทียบกับผลกระทบจากค่าบาทแข็งค่า ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยมากกว่า 
      นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า เคยอธิบายแล้วว่ามหาอำนาจคบยาก สหรัฐก็เป็นประเทศหนึ่งที่คบยาก เรามักอธิบายถึงสหรัฐคือโลกประชาธิปไตย โลกเสรี หากมีการยึดอำนาจในไทยจะถูกคว่ำบาตร และไม่มีการยอมรับ แต่สุดท้ายทันทีที่ไปซื้ออาวุธของสหรัฐเขาก็เปิดทำเนียบขาวต้อนรับ แปลความง่ายๆว่าอุดมคติของมหาอำนาจอย่างสหรัฐคือผลประโยชน์ของอเมริกาไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของประเทศอื่นเช่นไทย 
      “การตัดสิทธิ์จีเอสพีนั้นต้องการทำลายทางเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก หากสหรัฐเป็นมิตรประเทศจริง ทั้งๆที่รู้ว่าในวิกฤติโควิด-19 ไทยได้รับผลกระทบสูงสุดประเทศหนึ่ง การท่องเที่ยวพังพินาศ มีเพียงการค้าบางชนิดเท่านั้นที่ยังคงอยู่ แต่ยากลำบาก ดังนั้นหากสหรัฐเป็นมิตรประเทศจริงๆ จะไม่ทำเช่นนี้กับประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่กับความยากลำบาก” นายจตุพรกล่าว และว่า สหรัฐไม่ใช่มิตรแท้ของไทย แต่เป็นมิตรที่แสวงหาประโยชน์กับไทย ไม่ว่าไทยอยู่ในสภาพอย่างไรก็พร้อมซ้ำเติม 
    วันเดียวกัน เว็บไซต์สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังได้เผยแพร่รายงานหนี้สาธารณะ ล่าสุด ณ วันที่ 30 ก.ย. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2563 พบว่า มีหนี้สาธารณะจำนวน 7.84 ล้านล้านบาท คิดเป็น 49.35% ของจีดีพี โดยเมื่อเทียบกับข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค.2563 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 7.66 ล้านล้านบาท คิดเป็น 47.90% ของจีดีพี หนี้เพิ่มขึ้น 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งสัดส่วนหนี้ที่เพิ่มมาเป็น 49.35% นั้น มาจากจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมูลค่าของจีดีพีก็ลดลง โดยในเดือน ก.ย.2563 มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 15.9 ล้านล้านบาท ขณะที่เดือน ส.ค.2563 มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท
    สำหรับหนี้สาธารณะล่าสุดเป็นหนี้รัฐบาล 6.73 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 7.95 แสนล้านบาท หนี้สถาบันการเงินที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน 3.09 แสนล้านบาท และหนี้ของหน่วยงานรัฐ 7,821 ล้านบาท ซึ่งหนี้ที่รัฐบาลก่อเพิ่มในปีงบประมาณ 2563 ได้แก่ การกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ 4.91 แสนล้านบาท การกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 3.55 แสนล้านบาท และเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท อีก 3.35 แสนล้านบาท
    “แผนการก่อหนี้สาธารณะใหม่ในปีงบประมาณ 2564 มีจำนวน 1.46 ล้านบาท เป็นรัฐบาลก่อหนี้ 1.34 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เพื่อชดเชยขาดดุล 6.23 แสนล้านบาท กู้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน จำนวน 5.5 แสนล้านบาท กู้บริหารสภาพคล่อง 9.9 หมื่นล้านบาท และกู้ลงทุนโครงการ 7.41 หมื่นล้านบาท ขณะที่ที่เหลือเป็นการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจ 1.17 แสนล้านบาท และการก่อหนี้ของหน่วยงานอื่นอีก 1,808 ล้านบาท”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"