เครือข่ายชุมชนทั่วประเทศร่วมงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคอีสาน’ พอช.ชวนชาวบ้านลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาทั้งจังหวัดใช้ยุทธศาสตร์ ‘ขอนแก่นโมเดล’


เพิ่มเพื่อน    

รองผู้ว่าฯ จ.ขอนแก่น  (ที่ 4 จากขวา) ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

จ.ขอนแก่น /  เครือข่ายชุมชนทั่วประเทศร่วมงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2563 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ ที่จังหวัดขอนแก่น  ชูประเด็น“การพัฒนาที่อยู่อาศัย สู่แผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยจังหวัด ขอนแก่นโมเดล”  โดย พอช.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งจังหวัด  เริ่มนำร่องที่ขอนแก่นในปี 2564  และจะขยายไปทั่วภาคอีสาน 20 จังหวัด  เน้นให้ประชาชนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาตนเองร่วมกับหน่วยงานภาคี โดยใช้เรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือไปสู่การพัฒนาทุกมิติ

 

องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT)   กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เริ่มตั้งแต่ปี 2528  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์  ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

 

ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา  โดย UN – HABITAT  มีคำขวัญว่า “Housing for all A better urban future” หรือ “ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม”  ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดมหกรรม ‘บ้านมั่นคง  : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม’ ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้  ทั่วภูมิภาค  คือ  ภาคกลางและตะวันตกที่จังหวัดสุพรรณบุรี    ภาคตะวันออกที่ จ.ปราจีนบุรี  กรุงเทพฯ  ภาคเหนือที่ จ.น่าน  ภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น  และภาคใต้ที่ จ.ชุมพร 

 

ขบวนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกที่หน้าอาคารสำนักงานสหประชาชาติ  ถนนราชดำเนิน  กรุงเทพฯ  เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

วันที่อยู่อาศัยโลกภาคอีสานจังหวัดขอนแก่น   

ระหว่างวันที่ 3-4  พฤศจิกายน  ขบวนองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด  ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2563’  ที่จังหวัดขอนแก่น   โดยมีประเด็นสำคัญในการจัดงาน  คือ “การพัฒนาที่อยู่อาศัย สู่แผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยจังหวัด ขอนแก่นโมเดล” 

 

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการแสดงพื้นที่รูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  เวทีเสวนา  การแสดงศิลปวัฒนธรรม  ฯลฯ  โดยมีนายจารึก เหล่าประเสริฐ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์  นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น   ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์ชุมชนฯ  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น (พมจ.ขอนแก่น)  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน  ภาคกลาง-ตะวันตก  กรุงเทพฯ  ภาคใต้  ฯลฯ  เข้าร่วมงานประมาณ 500 คน

 

นายจารึก เหล่าประเสริฐ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลก

 

นางณัฐนิชา อรรคฮาดจันทร์ ผู้แทนองค์กรชุมชนจังหวัดขอนแก่น  กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกในครั้งนี้ว่า   เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกให้สังคมได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย และยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง   เพื่อเปิดพื้นที่เรียนรู้ระหว่างขบวนองค์กรชุมชน  เครือข่ายชุมชนเมือง  ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ให้รับรู้และเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยที่ต้องสร้างความมั่นคง  ตั้งแต่เรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน  ตลอดจนการพัฒนาระดับเมือง

 

“นอกจากนี้เรายังมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชนเมือง ให้ลุกขึ้นมาเป็นแกนหลักร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างมีส่วนร่วม  นำเสนอรูปธรรมทั้งเมืองและชนบท และนวัตกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยด้านต่าง ๆ  รวมทั้งเพื่อเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด ‘ขอนแก่นโมเดล’ ด้วย”  นางณัฐนิชากล่าว

 

 

ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ได้สนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบททั่วประเทศ  ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี  (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  โดยมีเป้าหมายทั้งหมดประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน  เช่น  โครงการบ้านมั่นคงเมือง  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร  คนไร้บ้าน  บ้านมั่นคงชนบท  โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านเรือนในชนบทที่มีสภาพทรุดโทรม  มีฐานนะยากจน)  

 

ตั้งแต่ปี  2546  จนถึงปัจจุบัน  พอช.สนับสนุนการแก้ปัญหาให้ประชาชนผู้ยากไร้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยทุกประเภทไปแล้วกว่า 3,000  ชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศ  ประมาณ 249,000 ครัวเรือน

 

ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้สนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  รวม 19  จังหวัด (จังหวัดบึงกาฬยังไม่เริ่มโครงการ)  84 เมือง  537 ชุมชน  จำนวน  28,912 ครัวเรือน  เกิดรูปธรรมการดำเนินงานในหลากหลายพื้นที่  และมีรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลาย  เช่น  โครงการบ้านมั่นคงเมือง  บ้านมั่นคงชนบท  บ้านพอเพียงชนบท  ฯลฯ

 

 

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง : สู่แผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยจังหวัด ‘ขอนแก่นโมเดล’

นางสนอง  รวยสูงเนิน  ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยว่า  ที่ผ่านมา  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยจะทำทีละโครงการ  หรือทำทีละชุมชน  แต่ที่เทศบาลเมืองชุมแพ  อ.ชุมแพ  จ.ขอนแก่น  ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา  เราทำกันทั้งเมือง  ทั้งเทศบาล  รวม 13 ชุมชน  กว่า 1,052 ครัวเรือน  และนอกจากจะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยแล้ว  เรายังขยายไปทำเรื่องกองทุนต่างๆ นำเงินกองทุนมาทำธุรกิจชุมชน  ทำเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร  มีแปลงนารวม  เนื้อที่ 38 ไร่  มีข้าว  ผัก  ปลา  มีโรงงานผลิตน้ำดื่มชุมชน  ฯลฯ  แต่ก็ยังเป็นการทำในระดับเมือง  ยังไม่ได้ทำทั้งจังหวัด

 

บ้านมั่นคงที่เทศบาลเมืองชุมแพ  ต้นแบบการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง

 

“ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง  การพัฒนาที่อยู่อาศัยจะต้องได้รับการผลักดันให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติ เพื่อสานต่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน  โดยการนำรูปธรรมที่ดำเนินการในพื้นที่  มาแปรเป็นแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด  โดยจะเริ่มจากจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดนำร่อง  หรือ ‘ขอนแก่นโมเดล’ และจะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัดต่อไป”  นางสนองกล่าว

 

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยจังหวัด หรือ ‘ขอนแก่นโมเดล’ นั้น  นางสนองกล่าวว่า  จะเริ่มดำเนินงานในปี 2564 เช่น  ที่อำเภอบ้านไผ่  จะมีแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัย  การป้องกันภัยพิบัติ (น้ำท่วม)  ในเขตอำเภอเมืองจะมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูง  รถไฟรางคู่  ทำให้ต้องย้ายบ้านเรือนออกจากที่ดิน 2 ข้างทางรถไฟ  โดยจะมีแผนการจัดหาที่ดินใหม่  เพื่อสร้างบ้านสร้างชุมชนใหม่  ฯลฯ

 

ทั้งนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในจังหวัดขอนแก่นผ่านโครงการบ้านมั่นคงใน  10  เมือง รวม 59  ชุมชน  จำนวนกว่า 5,700 ครัวเรือน   การแก้ปัญหาที่ดินทำกินใน  36 ตำบล  และดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ครัวเรือนยากจน  กลุ่มคนเปราะบางที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในชุมชนผ่านโครงการบ้านพอเพียงชนบทมากกว่า 400 ครัวเรือน  ในพื้นที่  60 ตำบล  พร้อมทั้งเกิดการประสานความร่วมมือกับภาคีพัฒนามากกว่า 10 องค์กร

 

เวทีเสวนา : ใช้การแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือพัฒนา

 

การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ จ.ขอนแก่น  วันนี้ (3 พฤจิกายน) มีเวทีเสวนาเรื่อง “บทบาทหน่วยงานในการ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยตามยุทธศาสตร์ 20 ปี” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้แทนหน่วย งานต่างๆ   ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ผู้แทนชุมชนพื้นที่รูปธรรม 

 

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา  ประธานอนุกรรมการโครงการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.กล่าวว่า  พอช. จะใช้จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองนำร่อง  ทำทั้งในเมืองและชนบท  ทำทุกพื้นที่ และจะขยายไปทำทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน   และ พอช.ไม่ได้มองเรื่องการพัฒนาการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแบบแยกส่วน  แต่ทำทุกเรื่อง  ทั้งเรื่องที่ดิน ทำกิน  การส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้  การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง  เมืองเข้มแข็ง  ชีวิตที่เข้มแข็ง  โดย พอช.สนับสนุนให้คนจนรวมตัวกันแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น  โดยใช้โครงการบ้านมั่นคงเป็นเครื่องมือ  ทำให้คน จนมีสิทธิ  มีศักดิ์ศรี  มีสถานะ 

 

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา

 

“โครงการบ้านมั่นคงได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนจนในหลายๆ มิติ  และทำให้คนจนมีทรัพย์สิน  เพราะเรื่อง บ้านก็เป็นทรัพย์สิน  บ้านหลังหนึ่งมีมูลค่าอย่างน้อยๆ ก็ประมาณ 1 ล้านบาท  ที่สำคัญคือทำให้คนจนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง” นางสาวสมสุขกล่าว

 

นางสาวสมสุขกล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยจังหวัด ขอนแก่นโมเดลว่า  แผนยุทธศาสตร์ฯ ขอนแก่นโมเดล จะเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานรวมทั้งหมด 20 จังหวัดลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของตัวเอง  โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง  เริ่มจากการสำรวจข้อมูล  เพื่อนำมาจัดทำเป็นแผนของชุมชน  ท้องถิ่น  อำเภอ  สู่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยจังหวัด  เพื่อนำไปสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็ง  เมืองเข้มแข็ง  จังหวัดเข้มแข็ง  โดย พอช.พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณไปถึงชุมชน โดยตรง

 

“ตอนนี้ชาวบ้านจะต้องตื่นขึ้นมาเป็นตัวตั้ง  ไม่ใช่เป็นผู้รอรับ  หรือเป็นผู้ถูกวางแผน  แต่ต้องตื่นขึ้นมาวางแผนแก้ไข ปัญหาเอง  และให้หน่วยงานต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหา  โดยชาวบ้านต้องจัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาโดยชาวบ้านมีส่วนร่วม  เป็นผู้จัดการ  ถือเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนจะต้องเดินหน้าอย่างสร้างสรรค์  เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม  โดยใช้เรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาเรื่องอื่นๆ  เช่น  ที่ดินทำกิน  สวัสดิการชุมชน  สร้างกองทุนต่างๆ ขึ้นมา”  นางสาวสมสุขกล่าวย้ำ

 

ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและจัดการปัญหาที่ดิน

 

นายอภิชาติ  ศิริสุนทร  ประธานคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า  ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน  โดยเป็นผลกระทบจากการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม  ทำให้คนจนถูกเบียดตกขอบ  แต่ที่ผ่านมารัฐไม่มีแผนรองรับ 

 

นายอภิชาติ  ศิริสุนทร 

 

“คนจนควรจะมีที่ดินทำกิน  มีที่อยู่อาศัย  เพราะเป็นต้นทุนชีวิต  เป็นต้นทุนที่มาจากปู่ย่าตายาย  เช่น  คนจนที่อยู่ ในเขตป่าสงวนฯ  เขตอุทยานฯ ถูกขับไล่ไม่มีที่ดินทำกิน  แต่คนส่วนน้อยมีที่ดินมาก  เป็นที่ดินเก็งกำไร  เป็นสินค้า  เป็นปัญหา ความเหลื่อมล้ำของสังคม  ส่วนที่ดินในเมืองส่วนใหญ่เป็นที่ดินของรัฐไม่น้อยกว่า 8 กระทรวง 19 กรม  คืออำนาจอยู่ในมือ ของราชการทั้งหมด  คนจนเข้าไม่ถึง  การขอใช้ประโยชน์ที่ดินมีความยุ่งยาก  มีขั้นตอนเยอะ  เช่น  ที่ดินการรถไฟฯ ควรจะให้คนจนเช่าได้  ไม่ใช่ให้เฉพาะนายทุน”  ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าว

 

ประธานฯ กล่าวด้วยว่า  จากปัญหาดังกล่าว  รัฐจึงควรแก้ไขกฎหมาย  หรือผ่อนปรนระเบียบข้อบังคับต่างๆ  เพื่อให้คนจนเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน  โดยการกระจายอำนาจ  เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจอนุมัติการใช้ที่ดิน  เพราะท้องถิ่น จะรู้ข้อมูลและปัญหาดีกว่าส่วนกลาง และต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและจัดการปัญหาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยด้วยชุมชนเอง  และหากประชาชนในพื้นที่ใดมีปัญหา  ขอให้ส่งเรื่องเข้ามาที่คณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สภาผู้แทนราษฎร   โดยคณะกรรมาธิการฯ จะเป็นเวทีกลางและเชิญหน่วยงานต่างๆ มาร่วมแก้ไข ปัญหา

 

 

เสนอสร้างอาคารสูงรองรับคนจนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟ จ.ขอนแก่น

 

นายธีระศักดิ์  ฑีฆายุพันธุ์  นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น  กล่าวว่า  เมืองขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่จึงมีประชาชน จากพื้นที่ต่างๆ  อพยพเข้ามาทำมาหากิน  จึงมีประชากรแฝงเยอะ  ทำให้มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย  คนที่มีรายได้น้อยต้องไป บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ  และเมื่อมีโครงการรถไฟรางคู่ผ่านจังหวัดขอนแก่นทำให้คนจนได้รับผลกระทบ  เช่น  ตายายครอบ ครัวหนึ่งโดนบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานรางรถไฟสั่งให้รื้อบ้านที่อยู่ในเขตสัมปทานออกครึ่งหลัง  และให้ค่าชดเชย 7,000   บาท  และบ้านครึ่งหลังที่เหลือไม่สามารถอยู่อาศัยได้  ต้องอพยพออกไปหาที่สร้างบ้านใหม่  หาสังกะสี  หาไม้  ทำเพิงพัก อยู่ไปตามยถากรรม

 

นายธีระศักดิ์  ฑีฆายุพันธุ์ 

 

“พอมีโครงการรถไฟความเร็วสูงมาที่ขอนแก่นอีก  คราวนี้มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบอีกพันกว่าหลัง  ชาวบ้านที่พอจะ มีเงินบ้างก็สามารถเข้าร่วมโครงการกับ พอช.ได้  แต่คนที่ไม่มีเงินเลยก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนมารองรับ  เทศบาลนครขอนแก่น จึงมีแนวคิดที่จะเสนอให้ พอช.สร้างอาคารสูงเพื่อให้เป็นที่พักอาศัยของประชาชนกลุ่มนี้  โดยเทศบาลฯ จะขอเช่าอาคารจาก พอช.  เพื่อนำมาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเช่าในราคาถูก  ถือเป็นบริการสาธารณะสำหรับคนที่ไม่มีเงินและกำลังจะกลาย เป็นคนไร้บ้าน”  นายธีระศักดิ์กล่าวถึงแนวคิดของเทศบาลนครขอนแก่นในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากการ พัฒนาเส้นทางรถไฟ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"