ตามเส้นทาง 'พระราชดำริ'


เพิ่มเพื่อน    

 

                ผมไป "แม่ฮ่องสอน" มาครับ

                เรื่องมันมีอยู่ว่า.........

            พบ "พลเอกนิพนธ์ ภารัญนิตย์" ท่านบอกจะไปเยี่ยมเยียนพรรคพวกเพื่อนฝูงเก่าที่ "ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดําริ" ที่แม่ฮ่องสอน

            ผมก็เลยขอตามไปด้วย ท่านก็โอเค

            พอดีคุณบรรพต หงษ์ทอง สมัยเป็นปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้มีส่วนถวายงานในโครงการ

            มีนัดหมายนำอุปกรณ์การเรียน-การกีฬาไปมอบให้นักเรียน "โรงเรียนร่มเกล้าปางตอง" ที่ตั้งอยู่ในศูนย์พอดี ในฐานะท่านเป็นประธานบอร์ด "ทิพยประกันชีวิต"

            ก็เลยตกลงเป็นว่า เพื่อการเข้าถึงการเที่ยวแม่ฮ่องสอนแบบเสียวซ่านครบรส ทั้งหมดรวมเป็นหนึ่ง นั่งรถบัสนับโค้งไปจนถึงแม่ฮ่องสอนเลยดีกว่า

            ใครอ้วกแตกตรงไหน ก็แวะตรงนั้น หลงเสน่ห์รายทางตรงไหน ก็แวะตรงนั้น ไม่ไหว...พักครึ่งที่ปาย ก็พัก เวียนหัวหายแล้วค่อยไปกันต่อ

            ถนนไปแม่ฮ่องสอน "พันโค้ง" แซ่บสมคำร่ำลือจริงๆ

            แต่ดีและสนุก ตื่นตา-ตื่นใจ ชนิดลืมปวดฉี่ ใครนั่งเครื่องบินไปแม่ฮ่องสอนตะพึด บอกเลย พลาดกำไรในโอกาสชีวิต ชนิดต้องพูด คำว่า "เสียดาย" ยังน้อยไป

            วิศวกรการทางฯ เขาเก่ง.........

            ตัดโค้งพอดีองศา ต่อให้วิ่งสวนกันตรงโค้ง แทนที่จะเสียว กลับเฟี้ยวฟ้าว เหมือนหนุ่มโค้งสาว ชวนรำวง

            แต่ผมไม่รำ เพราะหลับตลอด!

            ไว้ว่างๆ จะเล่าเรื่องราวของศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริให้ฟัง แล้วเราจะรู้ว่า

            "แม่ฮ่องสอน" แดนชนแดนพม่า เป็นจังหวัดคนหลายชาติพันธุ์ ไกลสุดไกล ในอดีต เปราะบางด้านความมั่นคง

            แต่ทุกวันนี้ จังหวัดที่คนหลากหลาย แต่รวมเป็นหนึ่ง สงบร่มเย็น ดำรงเอกลักษณ์แข็งแกร่ง ไม่มีทั้งความแปลกแยกและแตกแยก

            เป็นเมืองภูเขาในม่านหมอก อุดมคนดี คุก-ตะรางแทบร้าง เพราะไม่มีนักโทษ แม่ฮ่องสอน เป็นเมืองน่าทึ่ง เสน่ห์เร้นลับ ดำรงเอกลักษณ์แข็งแกร่ง ต้องยกนิ้วให้

            ทั้งด้านวิถี-วัฒนธรรม ด้านรักษาป่า รักษาธรรมชาติ รักษาต้นน้ำ-ลำธาร

            เป็นเมืองป่าสัก ป่าไผ่ สมบูรณ์ ไม่ว่ามองตรงไหน คำว่า "ภูเขาหัวโล้น" ไม่มีในพจนานุกรมแม่ฮ่องสอน

            เพราะอะไร?

            เพราะ "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร"

            และ "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง" เสด็จฯ มาแม่ฮ่องสอน นับแต่ก่อนๆ โน้น

            ปี พ.ศ.๒๕๒๒ พระราชทานพระราชดําริให้จัดตั้ง "ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดําริ" ขึ้น มีหน้าที่ ผลิต ส่งเสริม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์เมืองหนาว ให้หมู่บ้านเป้าหมายของโครงการ

            เน้นความเรียบง่าย ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อนและประหยัด ทรงให้ทุกหน่วยงานได้ "ร่วมคิด-ร่วมทํา" เป็นการบริหารแบบเบ็ดเสร็จ

            เป้าหมายขั้นต้น ให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรมากที่สุด เน้นนําไปสู่ความ "พอมี-พอกิน" และความ "กินดี-อยู่ดี"

            เป้าหมายขั้นสูงสุด เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ คืออนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ในวิถี "เรียบง่าย-ประหยัด-ไม่ซับซ้อน"

            ศูนย์นี้ เป็นศูนย์แม่ มีพื้นที่ประมาณ ๕ พันไร่ แยกย่อยงานตามกิจกรรมหลายแขนง หลายหน่วยงาน เข้ามาทำงานร่วมกัน

            ทั้งกรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมโยธาธิการ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการฯ กรมอุทยานฯ กรมปศุสัตว์ และกรมทหารฯ

            "พลเอกนิพนธ์" ท่านเป็นผู้ประสานงานโครงการตามพระราชดำรินี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ โน่น

            การกลับไปครั้งนี้ของท่าน เหมือนกลับไปเยี่ยมบ้านและเจ้าหน้าที่เก่า-ใหม่ที่ศูนย์นั้น

            มีโอกาสจะเล่าเรื่องราวของศูนย์นี้ให้ฟัง บางทีอาจเป็นคำตอบให้คนรุ่นใหม่-รุ่นเก่าก็เถอะ ที่ถามกันว่า "ในหลวงทำอะไรให้ประเทศชาติและประชาชน" ได้รู้กันว่า......

            ที่มีชีวิตอิสระและสุขสบายได้มีแรงยืนตะโกนล้มเจ้า-ล้มสถาบันกันวันนี้

            ก็เพราะวันนั้น คือวันที่ประเทศถูกรุกราน ประชาชนว้าวุ่น จากภัยรอบด้าน สับสน ไร้ทิศ ไร้หนทางทำมาหากิน ไม่รู้จะไปทางไหน

            "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ ๙ และ "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ" ในรัชกาลที่ ๙ สองพระองค์นี้แหละ

            เสด็จฯ "เหนือ-ใต้-ออก-ตก"

            ทรงศึกษาพื้นที่ วิถี ชีวิต แต่ละพื้นถิ่น จากนั้น มีโครงการตามพระราชดำริขึ้นมา

            ทรงเน้น เรียบง่าย ประหยัด พึ่งพาตัวเองในทางพัฒนาสู่ "อยู่ดี-มีสุข" สู่ทางยาวที่ยั่งยืน

            แต่ละโครงการ เมื่อมองวันนี้ จะทะลุเห็นถึงแก่นพระราชดำริ

            เป็นรั้วกันภัย เป็นเสาเข็มตอกตรึงแผ่นดินมิให้สะเทือนไหว เป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ สัตว์  พืช เป็นธรรมชาติสมดุลดำรง คงชีวิต "ลมหายใจ" ไทยสมบูรณ์

            ฟังผมพูดโดยไม่เห็นภาพสัมผัส แน่นอน ไม่อิน ไม่เชื่อ

            ก็เข้าใจ.......

            อยากให้หาโอกาสไปแม่ฮ่องสอนกัน หนทางอาจไกล แต่ผู้คน บ้านเมืองที่นี่ ทั้งน่ารัก ทั้งแนบชิด "อารยชาติ" ที่ต้องยกย่อง ไม่มีอย่าง "ที่เห็น-ที่เป็น" ขณะนี้ ในเมืองกรุง

            ไปแล้ว เข้าไปที่ศูนย์ปางตอง ทุกข้อสงสัยว่า "ในหลวงทรงทำอะไรบ้าง" จะพบคำตอบด้วยของจริงครบทุกด้าน

            ผมถามเขาว่า เปิดให้คนเข้าชมไหม เขาบอกว่า ตอนปกติ ที่ไม่มีโควิด จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมเป็นพัน-เป็นหมื่น

            ผมขอแนะนำเลย.......

            จะไปแม่ฮ่องสอนให้มีรส-มีชาติ ต้องนั่งรถนับโค้งไป ไม่อ้วก แสดงว่ายังไปไม่ถึง ถนนสายหลัก สุดแต่วนซ้าย-วนขวาไปบรรจบตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเหมือนกัน แนะ ๒ เส้นทาง

            -เชียงใหม่(ฮอด)-แม่สะเรียง-แม่ลาน้อย-ขุนยวม-แม่ฮ่องสอน ๓๔๕ กม.

            -เชียงใหม่(แม่แตง)-ปาย-ปางมะผ้า-แม่ฮ่องสอน ๒๔๖ กม.

            ถ้าถนนไม่พันโค้ง แป๊บเดียวถึง ผมไปทางปาย-ปางมะผ้า ถนนเหมือนงูเมาเหล้าเลื้อย กว่าจะได้แต่ละกิโลเหมือนนั่งรถไฟเหาะวนอยู่อย่างนั้น

            พักนอนอ้วกที่ปายซักคืน จะชื่นสะดือที่สุด เช้าค่อยเลื้อยตามไหล่เขาต่อ!

            ที่แวะให้ ฉี่ แถมด้วย ชิมและแชะ เยอะแยะ สินค้าชาวบ้าน เชื่อถือได้สด-ใหม่จากไร่ ไม่ใช่จากโกดังห้าง มีให้เลือกซื้อ เลือกชิม

            "ถั่วลายเสือ" เป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำถิ่น ใครไปก็ซื้อ ผมเลยไม่ซื้อ จกคนโน้นกำ คนนี้กำ ก็ขี้เกียจจะขมิบก้นบนรถแล้ว!

            มีข่าวดี แต่อาจเป็นข่าวร้ายกวนกระเป๋าท่านก็ได้ที่ผมจะบอก ในศูนย์ฯ ปางตองนั้น

            ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ มีพระเมตตาต่อชนเผ่าตามดอยสูง มีพระราชดำริให้ตั้ง.....

            "โรงเรียนร่มเกล้าปางตองในโครงการตามพระราชดำริ" ขึ้นด้วย สำหรับเด็กชนเผ่าไต่จากดอยลงมาเรียน

            ปีนลงดอยมาเกือบครึ่งวัน ครั้นจะได้ปีนกลับหลังเลิกเรียนอีกครึ่งวัน หายใจทางเหงือกคงไม่ทัน

            ก็เลยต้องให้เป็นนักเรียน "กิน-นอน" อยู่กับโรงเรียน วันหยุด อยากกลับบ้านก็ให้ปีนขึ้นดอยไป ตอนนี้มีอยู่ประมาณ ๑๒๐ คน

            ความลำบากยากจน ความอัตคัดขาดแคลน ไม่ใช่เครื่องหมายของคำว่า "ไม่เจริญ-ไม่พัฒนา"

            ความเป็นระเบียบ สะอาด มรรยาทสวยงาม มีวินัย นั่นตะหากคือ เครื่องหมายของคำว่า "เจริญ-พัฒนา"

            เด็กนักเรียนชนเผ่าเหล่านี้ จากการอบรมบ่มเพาะของครูหนุ่ม-สาว ๕-๖ คน ภายใต้ผู้บริหาร "นายปุรเชษฐ์ มธุรส"

            ในป่า-ในดง ถ้าไม่เข้าไปลึกๆ จะไม่รู้เลยว่า จะมีผู้คนอยู่ กลับเจอคนหนุ่ม-สาว สละความสุข ความสนุกตามวัย มาทำหน้าที่ "คุณครู" สุดประเสริฐ สอนชนเผ่าให้รู้จักประเทศไทย ภาษาไทย

            ที่สำคัญ การปลูกฝังให้ชนเผ่าตะเข็บชายแดนได้ "รักชาติ-รักสถาบัน" นั่นคือ การปิดทองใต้แผ่นดินของคุณครูเหล่านั้น ที่ผมขอนับถือ

            ให้ผมมาเที่ยว มาอยู่วัน-สองวันได้ แต่ให้อยู่เป็นปี เป็นสิบปี อย่าง ผอ.หนุ่ม อกแตกตายก่อนแน่!

            "ทิพยประกันชีวิต" นำอุปกรณ์การเรียนและสิ่งของมอบให้นักเรียนตามที่นักเรียนอยากจะได้แล้ว  ผมเห็นอาคารโล่งหลังคาสังกะสีพรุน ถาม ผอ.ว่า นั่นเป็น "หอดูดาว" หรืออะไร?           ผอ.บอกว่า เป็นโรงครัวทำอาหารให้นักเรียน หลังคาผุ-พรุนหมดแล้ว ฝนตกก็เหมือนฟ้ารั่ว

            ถามเล่นๆ ว่า "จะทำใหม่ใช้เงินซักเท่าไหร่?"

            ผอ.ปุรเชษฐ์บอกว่า ราวๆ ๒ แสน

            ผมเลยบอก "ท่าน ผอ.ไปหาช่างมาทำเลย ตามงบ ๒ แสน ผมจัดการให้"

            นี่...เมื่อกลางวัน รวบรวมจากบัญชีโน้น-นี้แล้ว พอได้ ๒ แสน จะโอนไปให้ ผอ.ปุรเชษฐ์วัน-สองวันนี้

            แต่มีติ่งอยู่นิด ท่าน ผอ.บอกว่า นักเรียนมีกินแค่ ๒ มื้อ เช้ากับเย็น กลางวันอด คืองบไม่พอ

            เอาเป็นว่า ท่านใดเหลือกิน-เหลือใช้ อยากส่งไปเป็นค่าอาหารเด็กก็ยินดี ผมให้เวลาซัก ๓-๔ วัน  ถ้าไม่มี ก็ถือว่ารายการนี้ ปิดบัญชีแค่นี้

            ครับ........

            ไม่ได้คุยการเมือง-การม็อบ ท่านคงเซ็ง คงไม่เป็นไรนะ รายการกวนเมืองยังมีอีกยาวแหละ

            ช่วงนี้ ผมคงต้องไหว้วาน "ผักกาดหอม" มาถี่หน่อย หวังว่าถูกใจแฟนๆ อยู่แล้ว

            เพราะผม...ก็อย่างว่า "รุ่นเก่า" ถึงยุคต้องถอยไป

            "คุก" เป็นอนาคตของคน "รุ่นใหม่" เขาแล้ว!

            


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"