เปิดลงทะเบียนเบี้ยผู้สูงอายุ ฟุ้งคนละครึ่งเสียงตอบรับดี


เพิ่มเพื่อน    

 

ข่าวดี! รัฐบาลเปิดลงทะเบียน "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ปีงบประมาณ 2564 แล้ว ส่วนโครงการคนละครึ่งจะเปิดลงทะเบียนรอบสอง 11 พ.ย.นี้ เผยล่าสุดลงทะเบียนแล้วกว่า 5.23 แสนร้านค้า มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 7.1 ล้านคน ฟุ้งเสียงตอบรับดีช่วยกระตุ้นยอดขายร้านค้ารายย่อยได้จริง ลดภาระค่าใช้จ่าย ปชช.ได้มาก
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 6 พฤศจิกายน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 และเดือนมกราคม-กันยายน 2564 สำหรับผู้สูงอายุรายใหม่ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว และผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2565
    โดยนับอายุจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2565 ต้องเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2505 เนื่องจากผู้สูงอายุที่เกิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2505-1 ตุลาคม 2505 เป็นผู้สูงอายุที่จะมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไปจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ คือเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2566 ดังนั้น กลุ่มผู้สูงอายุที่เกิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2505-1 ตุลาคม 2505 สามารถลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
    นายอนุชากล่าวอีกว่า สำหรับเอกสารหลักฐานประกอบแบบคำขอลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้แก่ 1.บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย 2. ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน 3.สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร กรณีขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้ 1.รับเงินสดด้วยตนเอง 2.รับเงินสดโดยบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ 3.โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิ 4.โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ
    ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนได้
    “สำหรับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 เห็นชอบจัดให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท, อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท, อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท ทั้งนี้ เป็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณโครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ ให้กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย รวม 66,016,930,800 บาท เพื่อจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุรวมทั้งสิ้น 8,296,573 คน โดยไม่รวมเทศบาลนครและเทศบาลเมือง จำนวน 214 แห่ง ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณตรง” โฆษกรัฐบาล กล่าว
    ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งครบ 10 ล้านคนแล้ว เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 โดยข้อมูลล่าสุดปรากฏว่ามีผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์และไม่เริ่มใช้สิทธิ์ภายในกำหนด 14 วัน จึงได้มีการเริ่มตัดสิทธิ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป มีจำนวน 1,967,046 สิทธิ์ โดยยอดลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบและสิทธิ์ที่ถูกตัดในแต่ละวันจะถูกรวบรวมนำมาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนอีกครั้ง ซึ่งจะเริ่มเปิดให้มีการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 (11/11) ระหว่างเวลา 06.00-23.00 น. ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com จนกว่าจะครบจำนวน ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่เคยได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งมาก่อน และผู้ประสงค์จะใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งจะไม่สามารถใช้สิทธิ์มาตรการช้อปดีมีคืน
    สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 เวลา 12.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5.23 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิ์แล้วจำนวน 7,161,488 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 7,629 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 3,888 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 3,741 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย  216 บาทต่อครั้ง โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ
    รองโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการคนละครึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งประชาชนและร้านค้าว่า การใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันใช้งานได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ช่วยกระตุ้นยอดขายของร้านค้ารายย่อยได้จริง อีกทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประจำวันให้ประชาชนได้มาก จึงขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจเตรียมลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งก่อนจำนวนสิทธิ์จะหมดลงอีกครั้งในวันที่ 11/11 สำหรับผู้ประกอบการร้านค้ายังสามารถลงทะเบียนได้ต่อเนื่องผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ในช่วงเวลา 06.00-23.00 น. หรือ ณ สาขาหรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทย
    ทั้งนี้ การจ่ายเงินส่วนที่รัฐร่วมจ่ายให้ร้านค้ายังคงจ่ายทุกวันทำการถัดไป และเร่งพิจารณาแนวทางการจ่ายเงินทุกวัน เพื่อมิให้กระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการรายย่อยที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ดี หากกระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทยตรวจสอบพบการใช้จ่ายของร้านค้าหรือประชาชนที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ จะมีการระงับการใช้แอปพลิเคชันและระงับการจ่ายเงินร้านค้าทันที อีกทั้งผู้ที่มีส่วนในการสนับสนุนการกระทำความผิดจะมีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
    "ขอความร่วมมือประชาชนและร้านค้าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ อย่าให้มีการดำเนินการไปในทางมิชอบ เพื่อมิให้ทำลายบรรยากาศของการดำเนินโครงการคนละครึ่ง" นายพรชัยกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"