ปฏิรูปเลิกกตช. วางเกณฑ์เข้ม แต่งตั้งตำรวจ


เพิ่มเพื่อน    

 

    กรรมการปฏิรูปตำรวจชุดมีชัยยกเลิกก.ต.ช.เหลือแค่ "ก.ตร." พร้อมวางหลักเกณฑ์เข้มแต่งโยกย้ายตำรวจ หากแตกแถวมีโทษถึงอาญา 157 ขณะที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจหนุน แต่ติงสัดส่วน ก.ตร.นายตำรวจเยอะเกินไป
    นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการฯ พิจารณาในประเด็นองค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และหลักเกณฑ์พื้นฐานของการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในทุกระดับ โดยเบื้องต้นเห็นควรให้ยกเลิกคณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และโอนภารกิจทั้งหมดมาให้ ก.ตร.ปฏิบัติแทน 
    นายคำนูณกล่าวว่า สำหรับองค์ประกอบใหม่ของ ก.ตร. มี 15 คน ดังนี้ กรรมการโดยตำแหน่ง 7 คน ได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลเป็นประธาน โดยจะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาประชุมด้วยตนเอง 2.ผบ.ตร. 3.รอง ผบ.ตร. 2 คนที่มาจากแท่งสืบสวนสอบสวน และแท่งป้องกันปราบปราม และจเรตร. 1 คน 4.อัยการสูงสุด 5.เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นอกจากนี้ จะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเลือกโดยข้าราชการตำรวจทั่วประเทศโดยตรงและเป็นการลับ 8 คน ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ 5 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ 3 คน โดยเลือกจากรายชื่อที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา ฝ่ายละ 3 คน 
    นายคำนูณกล่าวอีกว่า ที่สำคัญ อำนาจหน้าที่ของ ก.ตร.จะปรับเปลี่ยนไปโดยพื้นฐาน จากองค์กรที่ทำหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายเป็นหลัก มาเป็นองค์กรกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ และกำกับควบคุมการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ โดยจะยังคงอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายเฉพาะตำแหน่ง ผบ.ตร.เท่านั้น และอาจจะรวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสูงอีกบางตำแหน่งที่จะได้พิจารณากันในโอกาสต่อไป
    “กฎเกณฑ์ในการแต่งตั้งโยกย้าย จะเขียนระบุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลัก ไม่ใช่กฎหมายลำดับรอง และห้ามแก้ไขยกเว้น เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นสุดวิสัย” นายคำนูณกล่าว 
    นายคำนูณกล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นนี้กำหนดให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการตำรวจที่จะได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไว้ล่วงหน้า โดยข้าราชการตำรวจแต่ละคนจะได้รับคะแนนเฉพาะตัวจากเกณฑ์ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.อาวุโส 2.ผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด มีหลักฐานและมีดัชนีชี้วัดชัดเจน และ 3.ความพึงพอใจของประชาชน โดยคะแนนที่แต่ละคนจะได้รับ ทิ้งน้ำหนักที่องค์ประกอบที่หนึ่ง 50% องค์ประกอบที่สอง 30% และองค์ประกอบที่สาม 20% เกณฑ์ทั้ง 3 ประการนี้ จะเขียนรายละเอียดไว้ในกฎหมายหลัก ทั้งความหมาย ตัวชี้วัด กรรมการผู้ให้คะแนน ระบบการให้คะแนน การปรับคะแนนรวมถึงกลไกที่สามารถให้ข้าราชการตำรวจทุกคนสามารถตรวจสอบและมีสิทธิโต้แย้งคะแนนที่ตนเองได้รับ ทั้งนี้ หากมีการแต่งตั้งโยกย้ายผิดหลักเกณฑ์เกิดขึ้น และศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำผิด ให้ถือว่าการแต่งตั้งโยกย้ายนั้นเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157.
    ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ และเป็นสมาชิกเครือข่ายติดตามการปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการตำรวจชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เผยผลถึงพิจารณาถึงยกเลิก ก.ต.ช.เหลือแต่ ก.ตร. พร้อมวางหลักเกณฑ์การโยกย้ายตำรวจหากผิดมีโทษอาญา 157 ว่า โดยหลักการมันก็ดีอยู่บ้าง นายกฯ มานั่งเป็นประธานกก.ตร.เอง และบังคับให้เข้าประชุมด้วยตัวเอง ส่วนนี้ยอมรับว่าดีมาก มีข้อติติงอยู่คือสัดส่วนของคณะกรรมการ ก.ตร. มีตำรวจมากไปหน่อย 15 คน เป็นตำรวจถึง 9 คนแล้ว มากไปหน่อย ตำรวจไม่ควรเกิน 5 คน ทั้งราชการและนอกราชการก็ว่าไป ส่วนสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกน่าจะมากกว่านี้ ลดสัดส่วนของตำรวจให้ภาคประชาชนเข้าไปส่วนร่วม โดยส่วนรวมก็ถือว่าดี
     ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายให้น้ำหนักด้วยกัน 3 ส่วน คืออาวุโส ถ้า 100 ส่วนอาวุโสก็ได้ไป 50  คะแนนอาวุโส ผลการปฏิบัติงาน และความพอใจของประชาชน หลักการมันดี แต่ปัญหาตัวชี้วัดหรือเกณฑ์วัดผลการปฏิบัติงานยังไม่เป็นรูปธรรม มันต้องมีความชัดเจน โดยหลักการดีที่นายกฯ ลงมาดูแลเอง แต่ที่สำคัญ สำนักงาน ก.ตร.เป็นหน่วยงานธุรการของ ก.ตร. ควรจะไปสังกัดสำนักนายกฯ เพราะทุกวันนี้การประชุม ก.ตร.นายกฯ ไม่ควรมาประชุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายกฯ ควรจะเป็นประธานนั่งประชุม ก.ตร.ที่ทำเนียบฯ นายกฯ อยู่ที่ไหน คณะกรรมการ ก.ตร.ต้องไปประชุมที่นั่น มันจะทำให้นายกฯ มีพลังมากขึ้น ที่สำคัญหน่วยทางธุรการจัดเรื่องจัดราวก็ควรจะสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะนายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
    พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวต่อว่า นายกฯ จะต้องมีมือไม้ความจริงคือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการ ก.ตร. ต้องเพิ่มปลัดสำนักนายกฯ เข้าไปด้วย จะได้เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่เลขานุการ การประชุมต้องไปประชุมที่ทำเนียบฯ เช่น ถ้าเป็นปลัดกระทรวงแล้วจะต้องมาประชุมที่ ตร.ทำไม ปลัดกระทรวงต้องไปประชุมที่กระทรวง แต่ที่ผ่านมานายกฯ ต้องมาประชุมที่ ตร. นายกฯ ก็ไม่อยากมา ได้มอบหมายให้รองนายกฯ มาแทน และอีกอย่าง ปลัดกระทรวงมหาดไทยไม่มีบทบาทตรงนี้ เพราะโดยหลักการการทำงานของตำรวจต้องเกี่ยวพันกับกระทรวงมหาดไทย ต้องลดสัดส่วน ตร.เอาปลัดมหาดไทยใส่แทน
    ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย ถ้ามีการทำผิดอาจถูกลงโทษคดีอาญา 157 นั้น เป็นเรื่องที่ดี ถ้าศาลปกครองเพิกถอนและมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 157 ส่วนจะแก้ไขได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพราะการแต่งตั้งชอบไม่ชอบมันก็ชอบตามที่หลักเกณฑ์ที่กำหนด เพราะเวลาแต่งตั้งเขาไม่ไปทำผิดหลักเกณฑ์ แต่เกณฑ์มันยืดหยุ่นอย่างเช่นความรู้ความสามารถเอาอะไรไปฟ้อง จะต้องมีกระบวนการรายละเอียดล็อกผลการปฏิบัติงานในสเต็ปแรก 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน รวมคะแนน เหมือนการชกมวย ต้องรวมคะแนนทุกยก ไม่ใช่ 5 ยกแล้วมารวมคะแนนมันมั่วได้ ทั้งหลายทั้งปวงหลักการดี แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างไร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"