ได้เวลา ปฏิวัติประเทศไทย 


เพิ่มเพื่อน    

     ทุกฝ่ายก็เสียสละ คือยอมซึ่งตำแหน่งหน้าที่การงาน ยอมซึ่งข้อเรียกร้อง ยอมซึ่งผลประโยชน์ต่างๆ ที่ตัวเองเคยมีเคยได้ออกเสีย และกระทำในสิ่งที่จะก่อให้เกิดความสงบสุข จัดระเบียบวางอำนาจกันใหม่...แม้แต่จะทำรัฐประหารก็ต้องทำร่วมกับประชาชน เพื่อให้เป็นการปฏิวัติประเทศครั้งใหญ่...จะปล่อยให้คงสภาพแบบที่เกิดขึ้นวันนี้โดยไม่มีท่าทีว่ารัฐบาลจะแก้ได้ดำรงต่อไปอีกไม่ได้.

 

ปลดล็อก สถานการณ์ยืดเยื้อ

ถึงเวลา ทุกฝ่ายยอมเสียสละ      

      การเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้วยังคงดำเนินต่อไป โดยล่าสุดมีการนัดหมายรวมตัวกันในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนยันจะเคลื่อนไหวต่อไป ภายใต้ 3 ข้อเรียกร้องเดิม คือ 1.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลาออกจากตำแหน่ง  2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากประชาชน 3.ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

      การเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มยืดเยื้อจนยากจะประเมินสถานการณ์ตอนจบได้ เรื่องนี้มีทัศนะ-มุมวิเคราะห์จาก นิติธร ล้ำเหลือ-ทนายนกเขา ซึ่งในทางการเมือง เขาเคยเป็นทั้งผู้นำม็อบและแนวร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง เช่น กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.), แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.), แนวร่วม กปปส.ที่ตั้งเวทีหน้าอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยหลังเงียบหายทางการเมืองไปนาน ทนายนกเขา  กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงม็อบสามนิ้ว เมื่อเขาบุกเดี่ยวยืนถือกระดาษเขียนข้อความ ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ห้ามผ่าน เพื่อขวางขบวนผู้ชุมนุมเรือนหมื่น ที่บริเวณแยกศรีอยุธยา-พญาไท  เมื่อ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นต่อมาก็เป็นแกนนำกลุ่มประชาชนไปยื่นหนังสือแก่สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทย

      นิติธร-ทนายนกเขา ใช้ประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาวิเคราะห์สถานการณ์ต่อจากนี้ว่า คงสู้กันหลายยก เป็นการเมืองที่จะสู้กันอีกยาว ระหว่างฝ่ายม็อบสามนิ้วกับพลเอกประยุทธ์ และกองเชียร์รัฐบาล ซึ่งผลที่ตามมาก็คือทำให้ระบบต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจเกิดสภาพชะงักงัน ที่ไม่เป็นผลดีในระยะยาว จึงเห็นว่าแนวทางการปลดล็อกเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทุกฝ่ายในกระดานการเมืองอำนาจทางการเมืองอาจต้องยอมเสียสละเดินออกมา เพื่อเปิดพื้นที่การเมืองให้โล่งแล้วจัดระบบใหม่ เพื่อนำไปสู่การ "ปฏิวัติประเทศไทย" ซึ่งแนวทางดังกล่าวหากสุดท้ายจำเป็นต้องมีการทำรัฐประหารก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องเป็นการรัฐประหารแบบใหม่ที่เรียกว่า ปฏิวัติประชาชน

      เพราะเหตุใด นิติธร-อดีตแนวร่วม กปปส. ถึงคิดเช่นนี้ เขาลำดับความโดยมีมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองเวลานี้ว่า สถานการณ์การชุมนุม การไม่ยอมลาออกของนายกฯ รวมถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านม็อบสามนิ้ว เช่นกลุ่มเสื้อเหลืองที่ออกมาแสดงพลังการจงรักภักดีต่อสถาบัน ทำให้ สถานการณ์ก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดจบ อาจมีการหยุดพักเว้นช่วง แต่ก็จะดำเนินไปตลอดแบบนี้ โดยประเด็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมจะไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้สถานการณ์ต่อจากนี้จุดที่จะพบกันได้มันไม่มี เพราะข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมกับการแสดงออกของพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถมาพบกันได้  เพราะแต่ละฝ่ายก็ยึดหลักของตัวเองอยู่       โดยบางเรื่องที่เกิดขึ้นเวลานี้อย่างเรื่อง การละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการบ่มเพาะมานานแล้วตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ยุค คสช.จนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าไม่มีการเข้าไปแก้ปัญหาเลย

      ทำให้สถานการณ์ต่อจากนี้ดูแล้วไม่มีทางคลี่คลาย เพราะม็อบก็ต้องเดินไปตามทางของตัวเอง ส่วนคนที่รักสถาบันก็จะแสดงตัวตามโอกาสต่างๆ เช่นไปเฝ้าฯ รับเสด็จในโอกาสต่างๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมแสดงออกถึงความจงรักภักดีเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ ส่งผลให้กระบวนการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายไม่มีทางที่จะมาบรรจบกันได้ นับวันจะยิ่งห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ  เพราะเมื่อม็อบเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก แต่พลเอกประยุทธ์ไม่ลาออก มันก็ไปกันคนละทาง  ส่วนการแก้ไข รธน.เหมือนจะใกล้กัน แต่ถึงที่สุดแล้วเมื่อลงเนื้อหาก็จะวนกลับมาที่เดิม เพราะฝ่ายผู้ชุมนุมต้องการทุกข้อ แต่ฝ่ายรัฐบาลทำได้แค่บางข้อ ทำให้แม้จะมีการตั้งสภาร่าง รธน. แต่สุดท้ายก็อาจไม่ตอบโจทย์ผู้ชุมนุม ทำให้ถึงที่สุดแล้วเส้นทางของทุกฝ่ายไม่มีทางมาเจอกัน

       นิติธร วิเคราะห์สถานการณ์ต่อไปว่า จากสภาพการชุมนุมช่วงที่ผ่านมาทำให้เห็นได้ว่า มีการสั่งการแน่นอนแต่จากใครก็ไม่รู้ที่ไม่ปรากฏตัว จะเป็นบุคคลลึกลับหรือองค์กรลึกลับที่ไม่หวังดีต่อประเทศไทย และยังมีข้อน่าสงสัยอีกว่าจะเกี่ยวข้องกับต่างประเทศเข้ามาด้วยหรือไม่ ซึ่งผู้ชุมนุมเองก็ไม่สามารถคลี่คลายปมตรงนี้ได้ ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดความระแวง ไม่สามารถให้ความเชื่อใจ ไว้วางใจให้กับผู้ชุมนุมได้ ทำให้การรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมจากฝ่ายประชาชนด้วยกันเองจึงมีน้อยมาก เพราะเหมือนกับเป็นการชุมนุมที่ไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผย ที่แม้จะชุมนุมโดยสันติวิธี

      ...ความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุม เขาต้องการความเปลี่ยนแปลงถึงในระดับโครงสร้าง และต้องการ ลบล้างคุณค่าบางอย่าง ต้องการเปลี่ยนและสร้างวัฒนธรรมใหม่ และถึงที่สุดแล้วสิ่งหนึ่งที่จะตามมาก็คือ การช่วงชิงอำนาจทางการเมือง เพราะชัดเจนอยู่ว่ามีปรากฏคู่กรณีกันอยู่ รวมถึงไม่ปรากฏคู่กรณี แต่จะเข้ามาอาศัยประโยชน์จากสถานการณ์

เช่นเดียวกับเรื่องข้อเรียกร้อง ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ก็ยังมีประชาชนจำนวนมากมองว่าไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ยังไม่มีความจำเป็นเพราะมองว่าสถาบันก็ไม่ได้ล้าสมัยไม่ได้ล้าหลัง อีกทั้งมองว่าเรื่องการปฏิรูปสถาบันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถไปใช้อำนาจจากส่วนไหน หรือกองกำลังใดก็ตามมาจัดการเรื่องนี้ได้ เพราะความผูกพันนี้มันเชื่อมโยงมาหลายร้อยปี ที่ผู้ชุมนุมบางส่วนบอกว่าต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปฏิรูป ก็ต้องถามว่าจะให้ปฏิรูปส่วนไหนและแบบใด และถ้าทำแล้วผลดีจะเป็นอย่างไร ตรงจุดนี้เมื่อผู้ชุมนุมสื่อสารออกมากับประชาชนไม่ได้และไม่เคยทำ เลยทำให้เป็นเรื่องที่ประชาชนหลายคนก็มองไม่ออก เพราะผู้ชุมนุมไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นรูปธรรมได้

     ทนายนกเขา-นิติธร ให้ความเห็นอีกว่า ที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก เราก็จะได้ยินนายกฯ พูดว่า ผมผิดอะไร ทำไมต้องลาออก มีงานต้องทำ อันที่หนึ่ง เรื่องนี้นักศึกษาที่เป็นผู้นำการชุมนุมก็อธิบายไม่ชัด ขณะเดียวกันนายกฯ ก็ตอบไม่ตรง โดยที่กลุ่มผู้ชุมนุมควรใช้สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ถามว่า "ผมผิดอะไร" เพราะจริงๆ แล้วพลเอกประยุทธ์ควรรู้ตัวเอง การที่ประชาชนทั่วไปคิดไปในแนวว่า หากจะปกป้องสถาบัน ต้องเอาตัวพลเอกประยุทธ์ไว้เป็นนายกฯ ต่อไปถึงจะปกป้องสถาบันได้ แนวคิดแบบนี้ก็ทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ก็ไม่คิดว่าพลเอกประยุทธ์ผิดอะไร แล้วจะมีใครดีกว่า พลเอกประยุทธ์ในการมาทำหน้าที่ปกป้องสถาบัน ทั้งที่หากวางหลักก่อนว่าพลเอกประยุทธ์ทำผิดอะไร  ก็ต้องนำเรื่อง รัฐธรรมนูญ มาเป็นหลักพิจารณาก่อนลำดับแรก เช่นดูว่าที่มาของ รธน.ปัจจุบันเกิดได้อย่างไร รวมถึงเนื้อหาใน รธน.ปัจจุบัน โดยอันแรกให้ดูที่คำปรารภของการร่าง รธน.ฉบับปัจจุบัน ที่จะบอกถึงปัญหาของประเทศในช่วงที่ผ่านมา 4-5 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อไปดูการทำงานของรัฐบาล คสช.หลังรัฐประหารที่มีอำนาจเต็มที่ เช่นมีมาตรา 44 แล้วถามว่าพลเอกประยุทธ์ทำครบไหม หรือเรื่องการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เช่นปฏิรูปตำรวจที่อยู่ใน รธน. ถามว่าวันนี้สำเร็จไหมทั้งที่อยู่ใน รธน. หรือเรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ (การโจมตี) เรื่องนี้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ปฏิเสธได้ไหมว่าตัวเองก็มีส่วนทำให้เรื่องนี้ถูกขยายผลมาถึงปัจจุบัน เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่มันมีที่มาที่ไป และมันเข้มข้นขึ้นในช่วงพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ หลังรัฐประหาร แล้วทำไมปล่อยให้เป็นขนาดนี้ ที่มีการให้ใช้ถ้อยคำหยาบคายในพื้นที่สาธารณะได้โดยเสรี โดยรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหา ทำไมถึงปล่อยให้มีคนเข้าไปใกล้ชิดรถยนต์พระที่นั่งในขบวนเสด็จฯ ใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมได้ถึงขนาดนั้น

     ทั้งหมดมันสั่งสมมาโดยลำดับ โดยเฉพาะสัญญาณจากโซเชียลมีเดียและจากพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง โดยต้องถามว่าที่ผ่านมา รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีการตระหนักคิดถึงการให้ความสำคัญกับสถาบัน เพียงพอหรือไม่ และที่บอกว่ารัฐบาลแก้ปัญหาความสงบได้ ถามว่ามันแก้ได้จริงหรือไม่ วันนี้มีคำตอบออกมาแล้ว รวมถึงเรื่องทุจริตคอร์รัปชันที่องค์กรตรวจสอบพังทั้งระบบ กับคำอธิบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าเป็น "นาฬิกาเพื่อน" ที่ทำให้ระบบการตรวจสอบขององค์กรอิสระถูกพังราบเป็นหน้ากลอง  นี่แค่ตัวอย่างที่พลเอกประยุทธ์ถามว่าผมทำผิดอะไร

      วันนี้สังคมต้องมองกันให้ชัดว่าหากพลเอกประยุทธ์ยังอยู่ ทุกอย่างจะเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงหรือไม่ การชุมนุมจะหยุดเลยหรือไม่ ซึ่งหากยังมีการชุมนุมต่อไป ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร  วันนี้การชุมนุมของม็อบไม่ว่าผู้ชุมนุมจะเพิ่มหรือลดลง แต่ปัญหามันคงสภาพแบบนี้ต่อไปแบบยืดเยื้อแน่นอน จนทำให้ทุกคนถูกดึงให้จมปลักอยู่กับปัญหานี้ไปตลอด

     ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมการสู้คดีก็ยังดำเนินไปแบบไม่ถูกต้อง เช่นมาเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำที่ถูกควบคุมตัว ทั้งที่ไม่ใช่อำนาจของรัฐบาลในการไปสั่งปล่อยตัว เพราะกรณีนี้พ้นเขตแดนของฝ่ายบริหารไปแล้ว ไปอยู่กับฝ่ายกระบวนการยุติธรรม-ศาลแล้ว ฝ่ายผู้ชุมนุมควรสู้เรื่องนี้ให้ถูกต้องตามช่องทาง

เสนอผ่าทางตัน ปฏิวัติประเทศไทย

     นิติธร-อดีตแนวร่วม กปปส. มองว่า หากม็อบยังดำรงสภาพแบบนี้ต่อไป การจะชุมนุมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายก็ไปไม่ได้ เพราะเป็นการชุมนุมที่นอกจากกระทบต่อสถาบันแล้ว ยังทำลายความเป็นชาติ ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ ไม่ได้ชุมนุมแบบสันติวิธีอย่างที่กล่าวอ้าง ผลจึงไม่ได้แค่กัดกินตัวเอง แต่ยังทำลายสถาบันทั้งหมดของประเทศนี้ จึงไม่แปลกที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยจะมองว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้ต่างอะไรจากการทำลายชาติและประชาชนด้วยกันเอง สุดท้ายการชุมนุมก็จะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลจะอ้างการดำรงอยู่ในภาวะนี้ มันก็ไม่สง่างาม รัฐบาลก็ต้องยอมรับว่าตัวเองก็ผิด ต้องยอมรับว่าเป็นรัฐบาลที่ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ตัวเองเกี่ยวข้องมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การตั้งกรรมการร่าง รธน. จนถึงการให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ จนทำให้พลเอกประยุทธ์ได้ประโยชน์เต็มๆ จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จนคนออกมาต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งที่ฝ่ายรัฐบาลควรต้องแก้ไข รธน.ตั้งแต่แรกๆ ไม่ใช่มารอจนคนออกมาเรียกร้อง

      วันนี้ถ้ามองแบบเสียสละ ไม่ได้มองแบบแพ้ชนะ เพราะเรื่องบ้านเมืองต้องไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเรื่องแพ้ชนะอยู่ในความคิดเด็ดขาด เพราะหากมีจะทำให้มองปัญหาที่แท้จริงไม่ชัด จนอาจนำไปสู่การใช้วิธีการต่างๆ ที่แม้เอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ แต่คนก็รู้สึกได้ว่าไม่เป็นธรรม จนอาจนำมาซึ่งความรุนแรงจนยากเกินกว่าจะเยียวยา

      การแก้ปัญหาวันนี้จึงไม่ใช่การที่รัฐบาลไปบอกให้นักศึกษา-ผู้ชุมนุมต้องถอย และไม่ใช่แนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ด้วย โดยหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ สิ่งที่จะบอบช้ำมากที่สุดก็คือสถาบัน เพราะเรื่องนี้จะไม่ยุติ จะถูกพูดไปตลอด เพราะเป็นเรื่องที่จะไม่มีคำตอบ เพราะว่าตัวผู้เรียกร้องก็ไม่ทำความเข้าใจ ไม่ศึกษาค้นคว้า ส่วนฝ่ายที่จงรักภักดีต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ธำรงไว้อย่างยั่งยืนและสง่างาม ซึ่งผมก็ต้องการแบบนั้น ก็ไม่ได้มีพื้นที่ซึ่งจะสื่อสาร-ให้ความรู้กับผู้ชุมนุม ส่วนรัฐบาลก็ไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้ และประการสำคัญสถาบันจะไปทำหน่วยงานประชาสัมพันธ์เองก็ไม่ได้ เพราะท่านก็ต้องให้ความเมตตากับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้ประชาชนส่วนนั้นจะไม่ยอมรับต่อสถาบัน

       เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามนี้ก็จะเห็นเลยว่า สถานการณ์ก็จะวนอยู่ในลูปของมันไปอย่างนี้ จะไม่หายไปไหน ก็จะมีอยู่สองทาง คือพักรอเวลากับขยายตัวเดินหน้าต่อไป ส่วนจะไปใช้วิธีจับกุมคุมขังผู้ชุมนุม  เอากฎหมายไปจัดการ ซึ่งแม้ทำเช่นนั้นถามว่าคนเหล่านั้นจะเข้าใจต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นหรือไม่ เพราะหากทำก็อาจทำให้ครอบครัวของกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้ถูกดำเนินคดี ที่แม้อาจไม่เห็นด้วยกับการที่คนในครอบครัวลูกหลานออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบัน แต่เขาก็คงยากที่จะทนดูคนในครอบครัวต้องถูกกระทำโดยกฎหมายในข้อเรียกร้องเหล่านี้

      ...ผมก็เห็นว่าหากจะแก้ปัญหานี้ให้มันเสร็จและยั่งยืนกันจริงๆ ทุกคนต้องช่วยกันทำให้พื้นที่อำนาจทางการเมืองมันโล่ง ให้มีพื้นที่โล่ง คือหยิบทุกคนจากกระดานออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอำนาจ-นิติบัญญัติ-กลุ่มผู้ชุมนุม หยิบออกให้หมด แล้วกลับไปสู่สถานะเดิมของตัวเอง คือความเป็นประชาชน แบบไม่มีเงื่อนไข สละข้อเรียกร้อง สละตำแหน่งอำนาจหน้าที่การงานเพื่อทำพื้นที่ตรงนี้ให้โล่ง แล้วให้ประชาชนทั้งหมดร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือทหาร

      ผมยกตัวอย่าง เอาเป็นว่าในขณะนี้ทหารยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทอะไร ถ้ามองในขณะนี้ก็ต้องถือว่าทหารยังเป็นกลางอยู่ ทหารไม่ได้เข้ามาแทรกแซงในกิจการของรัฐบาลเลย รวมถึงไม่ให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับผู้ชุมนุม โดยทหารดำรงตนอยู่ในที่ตั้ง ทำให้ขณะนี้ทหารก็ยังไม่ได้เข้ามาเป็นคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง แล้วทุกฝ่ายก็เสียสละ คือยอมซึ่งตำแหน่งหน้าที่การงาน ยอมซึ่งข้อเรียกร้อง ยอมซึ่งผลประโยชน์ต่างๆ ที่ตัวเองเคยมี เคยได้ออกเสีย และกระทำในสิ่งที่จะก่อให้เกิดความสงบสุข จัดระเบียบวางอำนาจกันใหม่ วางกติกาบ้านเมืองที่ควรจะเป็นจะให้เป็นอย่างไร ซึ่งถ้าจะมีการทำอะไรหลังจากนี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าทุกฝ่ายคิดยังไง แต่ก็ควรมาร่วมกัน แล้วทุกคนไม่ต้องไปถูกให้หยิบออกจากกระดาน แต่เดินออกกันเองเพื่อให้เกิดพื้นที่โล่ง เช่น ครม.ก็ลาออกไป รวมถึง ส.ส.-ส.ว.-กลุ่มผู้ชุมนุม ถอยตัวเองออกไป

     “ส่วนทหารก็อาจเริ่มต้นด้วยวิธีการประกาศกฎอัยการศึก แล้วคงรัฐธรรมนูญไว้เพียงเท่าที่ไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่การทำนั้นต้องทำร่วมกับประชาชน หรือแม้แต่จะทำรัฐประหารก็ต้องทำร่วมกับประชาชน เพื่อให้เป็นการปฏิวัติประเทศครั้งใหญ่ โดยคงความเป็นราชอาณาจักรเหมือนเดิม-การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็คงไว้เหมือนเดิม”

     ...ส่วนอำนาจและสถานะหน้าที่ของพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ถ้ายังไม่มีข้อคิดเห็นที่ดีกว่าก็ต้องใช้เวลาในการศึกษาไป แต่ระหว่างนี้ให้ดำรงไว้ให้ครบถ้วน แต่ยืนยันว่าสถาบันเวลานี้ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้เป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจ ไม่ใช่กระทบสถาบัน หากมองกันแบบลึกๆ ละเอียดๆ วันนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ยังมั่นคงอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์และยังมีความสง่างามเหมือนเดิม ยังเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของทุกคนอยู่ ไม่ได้สั่นคลอนแม้แต่น้อยเลย

     ดังนั้น รัฐบาลจะมาอ้างว่าอยู่เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะคนที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง สง่างามถาวร คือประชาชนทั้งประเทศ ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น สิทธิเสรีภาพประชาชน-การตรวจสอบความโปร่งใสให้คงไว้ แล้วทหารกับประชาชนออกมาทำร่วมกัน เป็นการปฏิวัติประเทศครั้งใหญ่ แล้วมากำหนดร่วมกันว่าจะให้รัฐธรรมนูญเป็นแบบไหน การเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจทางการเมืองจะออกมาแบบไหน ทำกันใหม่เพื่อให้มันมั่นคงยั่งยืนไปอีกยาวนาน ยืนยันว่าแนวทางนี้ทำได้แน่นอน หากทุกคนยินยอมพร้อมใจและสุจริตใจที่จะทำเพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาติ

นิรโทษกรรมม็อบสามนิ้ว

หลังปฏิวัติประชาชน 

      นิติธร-ทนายนกเขา กล่าวต่อไปว่า แนวทางดังกล่าวหากมีการทำรัฐประหาร ฝ่ายประชาชนก็ต้องเข้าร่วมในการทำรัฐประหารด้วย หากทหารจะออกมาทำรัฐประหารเฉยๆ แล้วมาสั่งให้ประชาชนกลับบ้าน แบบนี้ไม่เอา ถ้าจะรัฐประหารประชาชนก็ออกมาเลย แล้วมาคุยกันระหว่างทหารกับประชาชน ว่าจะทำอย่างไรกับวิกฤติบ้านเมืองที่เกิดขึ้นตอนนี้ เพราะวันนี้หากทหารทำรัฐประหารแล้วทุกคนถอยกลับ  โอกาสที่มันจะวนซ้ำกลับมาแบบเดิมมันเกิดขึ้นแน่นอน จึงต้องหาทางไม่ให้มันเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้บ้านเมืองเดินหน้าอย่างมั่นคง จะปล่อยให้คงสภาพแบบที่เกิดขึ้นวันนี้โดยไม่มีท่าทีว่ารัฐบาลจะแก้ได้ดำรงต่อไปอีกไม่ได้

     จากนั้นพอทุกอย่างเสร็จแล้ว ฝ่ายที่ทำรัฐประหารก็ถอยหลังกลับไป เพื่อดูแลความมั่นคงสงบเรียบร้อย เสร็จแล้วก็ให้มีคณะบริหารหรือ ครม.เป็นฝ่ายพลเรือน โดยทุกฝ่ายทั้งประชาชนและทหารก็ทำรายชื่อออกมา เช่น ได้ชื่อมาร้อยคน ก็เอาชื่อทั้งหมดกลับไปให้ประชาชนพิจารณา ทำความเห็นเข้ามาแล้วกรองรายชื่อ ก็จะเหลือรายชื่อที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ก็จะได้ ครม.ที่เป็นของประชาชน โดยทำงานภายใต้กรอบเวลาและภารกิจที่ต้องทำชัดเจน เช่น การตั้งสภาร่าง รธน.มายกร่าง รธน.-ตั้งกรรมการปฏิรูปทุกภาคส่วน ที่ต้องทำให้เสร็จเห็นผลภายในหนึ่งปี-ค้นคว้าศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ทุกคนมีความรู้เรื่องสถาบันอย่างแท้จริง

      ...ขณะเดียวกันก็ควรมีการพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมบุคคลที่แสดงออกถึงพฤติการณ์ที่มีความมุ่งหมายทางการเมืองอย่างแท้จริงไปด้วย ตลอดจนนิรโทษกรรมให้คนยากจนต่างๆ เช่น ชาวบ้านซึ่งรุกที่เพราะไม่มีที่ดินทำกิน ทั้งหมดคือการสร้างสังคมใหม่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน ที่ประเทศชาติ ประชาชนทุกคนให้โอกาสซึ่งกันและกันในการเข้ามาร่วมกันสร้างประเทศ

      เพราะหากไม่มีการหยุดเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ข้างต้น มันก็จะติดชะงักกันไปอยู่อย่างนี้ ไม่มีทางจบ ในทางการเมืองก็ไม่จบ ในความรู้สึกขัดแย้งก็ไม่จบ แล้วจะดันทุรังกันไปแบบนี้หรือ ผมว่าครั้งนี้ทุกคนต้องยอมเสียสละเพื่อให้เวลากับประเทศในการฟื้นฟูและการพัฒนาประเทศบ้าง โดยให้ทำออกมาในรูปแบบทุกคนร่วมกันทำอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดการปฏิวัติประเทศ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเจอปัญหาที่จะวนกลับมาแบบที่ผ่านมาอีกเรื่อยๆ ข้อเสนอข้างต้นที่บอก ก็คืออีกหนึ่งทางเลือก หากทุกคนยอมเสียสละภายใต้ความเชื่อใจกัน ซึ่งโดยสถานการณ์และสภาพบังคับเวลานี้ มันจะล็อกไม่ให้ทุกฝ่ายโกหกหรือหักหลังกันได้ เพราะทุกคนทำร่วมกันหมด ตรวจสอบซึ่งกันและกันหมด แนวทางนี้ไม่มีตรงไหนขัดกับหลักการประชาธิปไตย เพราะเป็นความร่วมมือ ความเสียสละ ความสมัครใจของคนทั้งประเทศ

      การดำเนินการข้างต้นจะดำเนินการได้ก็ให้ยึดถือตามที่บูรพมหากษัตริยาธิราชปฏิบัติต่อๆ กันมา คือ 1.มีความเมตตาต่อกัน 2.ทุกฝ่ายต้องเสียสละเพื่อทำภารกิจฟื้นฟูประเทศครั้งใหญ่ 3.สร้างความเข้าใจระหว่างกัน

     ...ถ้าดำเนินการตามนี้ทุกอย่างก็จะไปได้อย่างงดงามและยั่งยืน เพราะมีไหมประชาชนคนไหนไม่ต้องการความสงบ มีไหมใครไม่ต้องการความเป็นธรรม เมื่อตอนนี้มันติดล็อกในประเด็นเหล่านี้ทั้งหมด จึงเป็นโอกาสที่ดี เป็นวิกฤติที่ดีที่ต้องทำพื้นที่นี้ให้ว่างโดยเริ่มต้นด้วยการเสียสละ เราก็จะพลิกโฉมหน้าประเทศไทยไปอย่างงดงาม ทำให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงและสมบูรณ์เกิดขึ้นได้จริงในประเทศนี้ ขณะเดียวกันปัญหาต่างๆ ของประเทศเวลานี้ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ก็จะได้รับการคลี่คลายตามไปด้วย เพราะเมื่อเกิดความสงบ คนก็จะมีเวลาทำมาหากินกันได้มากขึ้น ชีวิตก็กลับมาเป็นปกติสุข

     หากทำตามข้อเสนอข้างต้น ทุกฝ่ายก็ได้รับการตอบสนองหมด เงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่ก็หมดไปโดยไม่มีใครเสียหน้า ทุกคนทุกฝ่ายจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เริ่มต้นที่ทำให้ประเทศเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมั่นคงและเป็นปึกแผ่น โดยธำรงไว้ซึ่งรากเหง้าต่างๆ ที่มีมายาวนานของสังคมไทย ไม่มีใครแพ้ใครชนะ ไม่มีใครผิดใครถูก ไม่มีใครเสียหน้าเลย และไม่ได้เรียกว่าถอย เพราะทุกคนเปลี่ยนจากถอยเป็นความเสียสละเพื่อปฏิวัติประเทศไทย โดยไม่ต้องกลัวว่าที่เสียสละไปจะไปอยู่ในมือพลเอกประยุทธ์ หรือนายพล-กลุ่มนักวิชาการคนไหน เพราะที่เสียสละไปทั้งหมดจะตกอยู่กับประเทศชาติ 

     ทั้งหมดข้างต้นคือการวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง และข้อเสนอเพื่อคลี่คลายสถานการณ์การเมืองในเวลานี้จากนิติธร-ทนายนกเขา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"