'บ้านพักตุลาการ' รื้อ-ไม่รื้อ?


เพิ่มเพื่อน    

      ก็อย่างที่คุยกันไปเมื่อวานนั่นแหละ..............

      เรื่อง "บ้านพักตุลาการ" ที่เชิงดอยสุเทพ นั้น มีข้อเสนอจากภาคประชาสังคม เป็น ๒ นัย คือ

      "รื้อ" กับ "ไม่รื้อ"!

      นับเป็นหัวข้อเสนอที่ต้องฟัง

      แต่ภาพพี่น้องชาวเชียงใหม่ออกมาแสดงให้เห็นถึงใจที่ผูกพันกับป่ากับดอยสุเทพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

      ประกอบกับฟังแกนนำประกาศ ถ้าไม่รื้อ จะออกกันมาแบบนี้อีก นั้น

      ก็เลยมีความคิดว่า.........

      "รื้อ-ไม่รื้อ" ไม่มีปัญหา ค่อยพูดจาตกลงกันในรายละเอียดวันต่อๆ ไป ก็ไม่มีอะไรเสียหายมากไปกว่าที่เสียอยู่แล้วตอนนี้

      เพราะที่แน่ๆ.........

      ตามแนวทางรัฐบาล ยังไงๆ ก็ไม่ให้ศาลใช้สถานที่ตรงนี้อยู่แล้ว

      ส่วนจะเอาไปทำอะไร ค่อยช่วยกันคิด

      สำหรับข้อเสนอให้ "รื้อ" นั่นก็ถือเป็น "ทางออกที่ดี" ทางหนึ่ง เท่าที่คิดเห็นกันได้ตอนนี้

      แต่อาจมีทางออก "ดีกว่านั้น" ก็ได้.........

      ถ้าทุกฝ่ายใช้ใจสร้างสรรค์ "สติมา-ปัญญาเกิด" ปรึกษาหารือกันเพิ่มเติม

      แทนใช้ "ทัศนคติปฏิปักษ์" หนักทางอารมณ์ รวบรัดฟันธง!

      ทางเสนอของผม คือ........

      ถ้าจะออกมากันอีก แค่เดินไป-เดินมา ชูป้าย ตะโกน รื้อ..รื้อ เสร็จแล้ว แยกย้ายกันกลับ

      เจ้าว่างาม ผมก็งามไปตามเจ้า.........

      แต่เสียดาย "พลังงาน-พลังคน" ที่มากันเป็นร้อย-เป็นพัน ไม่สูญเปล่า ก็เหมือนสูญเปล่า

      เพื่อไม่ให้ "พลังงาน-พลังคน" สูญเปล่า เอาอย่างนี้ดีไหม?

      ไหนๆ จะออกกันมาทั้งที

      เพื่อไม่ให้ใครค่อนขอด "รักป่าแต่ปาก" พี่น้องเชียงใหม่หรือใครก็ตามที่ออกมา

      แทนที่จะเดินชูป้าย-ตะโกน-แจกริบบิ้น อย่างที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้อะไรมาก

      ก็เปลี่ยนเป็น....

      ให้ "แต่ละคน" นำต้นไม้ "คนละต้น"

      ต้นอะไรก็ได้ ติดมือมาจากบ้าน หรือมาเอาที่ "จัดเตรียมไว้ให้" ก็ได้

      เมื่อรวมตัวแสดงพลังกันแล้ว ก็ชักแถวขึ้นไป "ปลูกต้นไม้" ในพื้นที่ ที่เรียกกันว่า "หมู่บ้านป่าแหว่ง" นั่นแหละ

      คิดดูซี.........

      สมมุติ ชุมนุม ๕,๐๐๐ คน ได้ต้นไม้ ๕,๐๐๐ ต้น

      ปี-สองปี ผ่านไป

      จากกล้า น่าจะรอดพร้อม "เป็นไม้ใหญ่" กลบรอย "แหว่ง" ตรงนั้น สมานคืนเป็นป่า "ผืนเดียวร่วมดอย" เหมือนเดิมได้อยู่

      ถือเป็น "นิมิตมงคล" จากคนเมือง

      ประชาชนคนเมืองเจิมให้แล้ว จากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของคนรัฐ "มีหน้าที่" ต้องรักษาและสานต่อ

      แบบนี้ น่าจะได้มวลสารมากกว่า

      สมคำร่ำลือ "เชียงใหม่..เมืองคนใจงาม" จะทำอะไรก็มีเหตุ-มีผล อยู่บนฐาน "คนมีศีลประจำจิต-มีธรรมประจำใจ"

      เหตุผลประกอบของผมก็คือ...........

      ไม่ว่า "มติสุดท้าย" เป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ "คิดตรงกัน" และ "ต้องทำ" เหมือนกัน คือ

      "ป่าแหว่ง" ต้องหายไป

      "ป่าไม้" ต้องคืนดอย!

      ในขณะที่ "การทำ" อย่างใด-อย่างหนึ่ง จะใช้แค่ "ต้องการ-พอใจ" ของใครอย่างเดียว-ฝ่ายเดียวไม่ได้

      ต้องยึด "กฎหมาย" เป็นทางเดินด้วย

      เพราะต้องไม่ลืม บ้านพักตุลาการนี้ เป็นของหลวง ใช้งบประมาณหลวง

      เมื่อจะรื้อ.........

      หรือจะแปลงสภาพผิดไปจากเจตนาเดิม ไทยเราก็เป็นชาติที่เจริญพอจะไม่ทำอะไรชนิด "เหยียบย่ำ-ข้ามกฎหมาย"

      ฉะนั้น ใจเย็นๆ ใช้เหตุ-ใช้ผล เยี่ยงชนอารยะ

      "ของหลวง" คือ "ของเราทุกคน"

      อยู่ป่า ต้องยึด "รอยสัตว์" เป็นทางเดินของคนป่า

      อยู่เมือง ก็ต้องยึด "กฎหมาย" เป็นทางเดินคนเมือง!

      ในระหว่าง "ภาครัฐ-ภาคชาวเมือง" ระดมคิดหาทางออกอยู่นี้ยังไงๆ ก็ต้อง "ใช้เวลา" อีกระยะหนึ่ง

      เพื่อไม่ให้ช่วงเวลานั้น "เปล่าประโยชน์".........

      ไหนๆ ก็ต้องปลูกป่า "กลบรอยแหว่ง" อยู่แล้วมิใช่หรือ?

      ยังไม่ต้องแตะ "บ้านพักตุลาการ" สี่สิบกว่าหลังนั่นหรอก พักวางไว้อย่างนั้นก่อน

      "ผู้รับเหมา" ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ยังไม่ได้ส่งมอบ ก็ให้ผู้รับเหมาเขาทำให้เสร็จตามสัญญา

      ช่วงเวลานี้.........

      "คณะกรรมการ" ทั้งรัฐบาล-ศาล-ทหาร-ชาวบ้าน-ป่าไม้ ก็ประชุมหารือกันซิว่า

      อีกเดือน-สองเดือน "ฝนก็จะมา".........

      เพื่อยังประโยชน์แห่งป่าดอยสุเทพให้ถึงพร้อมร่วมกัน แทนที่จะงงงันกันอยู่อย่างนี้

      ลองตั้งสติแล้ว "นัดพร้อม" ออกสำรวจพื้นที่ป่าแหว่งนั้นไม่ดีกว่าหรือ?

      สำรวจเพื่อ "วางแผน-วางผัง" พื้นที่เตรียมปลูก กำหนดชนิดต้นไม้ที่จะปลูก ว่าควรเป็นชนิดไหน-ปลูกตรงไหน?

      พร้อมใจกันแล้ว ..........

      ก็เคลียร์พื้นที่ตามหลักวิชาการ กำหนดจุด "ลงกล้าไม้" ชวนทั้งชาวเมืองร่วมรัฐ เอาทีเดียวให้มันเต็มพื้นที่ไปเลย!

      กว่าจะลงเสร็จ ก็พอดี "หน้าฝน"

      หรือฝนยังไม่มา คนรักป่าทั้งเมือง ทั้งทหาร ทั้งรัฐบาล ทั้งศาล ที่เตรียมการในเรื่องนี้อยู่แล้ว

      ถ้าไม่มีปัญญาหาน้ำมาเลี้ยงกล้าในระยะรอฝน

      อย่างนั้น ก็.......

      สุดแต่พระเดช-พระคุณท่าน จะเอากันยังไง ก็เชิญตามสบายเหอะ!

      ผมเชื่อว่า พื้นที่ป่าแหว่ง ต้องมีถนนเข้าถึงทุกแปลง ถนนนี้ เท่ากับเสริม "วิกฤติเป็นโอกาส" ที่ลงตัว

      ใช้เป็นจุดอำนวยในการขึ้นไป "อนุบาล" ต้นกล้าที่ปลูก และใช้เป็นเส้นทางเข้าไปดูแลรักษาพื้นที่ป่าบริเวณนั้น

      ซึ่งแน่นอน..........

      อนาคต "พื้นที่ป่าแหว่ง" ตรงนี้ จะเป็นตำนาน เป็นจุดมีประวัติร่วมของคน/ของดอย

      "ป่าแหว่ง" จะเป็น "ศัพท์ศึกษา" ทางการต่อสู้เพื่อป่าทางจิตวิญญาณของชาวเชียงใหม่

      และจะต้องถูกบรรจุเป็น "แหล่งท่องเที่ยว" ทางการศึกษา

      "มัคคุเทศก์" จะเล่าเป็นฉาก........

       ถึงความเป็นมาในเส้นทางบรรจบน่าทึ่ง ระหว่าง "กฎหมายกับกฎสังคม" ที่ลงตัวแบบ "เสียในได้-ได้ในเสีย"

      และที่ "เป็น-อยู่-คือ"............

      "ป่าแหว่ง" เมื่อกาลโพ้น คือ "ป่าผืนเดียวห่มดอย" ปัจจุบัน!

      ครับ....

      นี่คือ "สิ่งควรทำ" ในระหว่างเถียงกันอยู่ถึงทางออก เพราะ "มติสุดท้าย" ไม่ว่าจะ "รื้อ-ไม่รื้อ" ก็ต้องปลูกป่าอยู่แล้ว ก็ปลูกกันซะเลย

      ส่วน "บ้านพักตุลาการ" นั้น

      พูดกันตรงๆ นอกจากคนเชียงใหม่ คนภายนอกส่วนมาก จะเห็น "ป่าแหว่ง" จากภาพถ่ายตามสื่อมากกว่า

      ยิ่งดู "มุมสูง" ที่ถ่ายทางอากาศ ยิ่งน่าเกลียด อยากให้รีบรื้อทิ้ง!

      แต่ ต่อให้ "รื้อ" นาทีนี้.........

      ภาพ "ป่าแหว่ง" ก็จะยังคงอยู่ให้เห็นเป็นปีๆ แม้ลงมือปลูกป่าแต่นาทีนี้ ภาพ "กระดำ-กระด่าง" ในดงเขียวของดอย ก็ไม่หายทันที

      ด้วยความจริงข้อนี้.....ถ้าจะรื้อ

      "รื้อช้า-รื้อเร็ว" ค่าเท่ากัน!

      ถ้าอย่างนั้น พักเรื่อง "รื้อ-ไม่รื้อ" ไว้ก่อนไม่ดีกว่าหรือ มาช่วยกันสร้างบ้าน-แปงเมือง คนละไม้คนละมือ ทั้งรัฐ-ทั้งราษฎร์

      ปรับภูมิทัศน์ตรงนั้น ลงกล้าไม้

      ฟูมฟักให้มันค่อยๆ โต คืนสภาพเขียวให้แก่พื้นที่ ซักพรรษา-สองพรรษา

      ถึงตอนนั้น ทุกฝ่ายสามารถใช้ทั้งสภาพจริงบวกจินตนาการตัดสินใจได้ว่า

      บ้านพักนั้น เป็นอุปสรรคต่อความเป็น "ป่าเต็มรอยต่อ" หรือไม่?

      ถ้าต้นไม้เหล่านั้นโตและสูงขึ้นสู่สภาพป่าแล้ว กิ่งก้านจะผสานกลบกลืนทั้งบ้านพักและความเป็น "ป่าแหว่ง" หายไปหรือไม่?

      เมื่อพินิจบนฐาน "เป็นจริง" แล้ว..........

      เราอาจ "เห็นประโยชน์" ที่จะใช้จากบ้านพัก เป็น "ของแถม" ในทางตอบโจทย์ "ผลประโยชน์ทางสาธารณะ" แทนรื้อทิ้งก็เป็นได้

      ไม่ต้องห่วง ว่าเมื่อไม่ให้คนอยู่ แล้วจะเอาไปทำอะไร จะเอาเงินที่ไหนจ้างคนดูแล?

      ตอนนี้ ยังไม่เห็น ทิ้งให้ความคิดนอนก้นสักพัก ไปช่วยกันแก้ "รอยขี้กลาก" บนดอยก่อน แล้วจะค่อยๆ เห็นเอง

      เรื่องนี้ ใช้สมองคิดทางแก้ไขเพื่อ "ผลได้" ในทางที่ "เสียไป" ดีกว่า

      จะใช้เป็นเหตุปัจจุบัน "ฉะรัฐบาล คสช." ก็ได้แค่สะใจ

      ครั้น "รื้ออดีต" ถึงตัวการ ก็ได้แค่ประจาน กับ "ขี้เถ้า"

      "เรา" คือ "ประชาชน" นี่แหละ........

      ปั่นกันไป-ปั่นกันมา ลงท้าย "ไม่ได้อะไรเลย"!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"