หมดโควิดศก.ยังเจอพายุใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

    ดูเหมือนสัญญาณเศรษฐกิจในหลายๆ ปัจจัยเริ่มจะคลายความกังวลได้มากขึ้น โดยล่าสุด “กระทรวงการคลัง” ได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2563 ดีขึ้น เป็นติดลบ 7.7% ต่อปี จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 8.5% ต่อปี โดยอานิสงส์หลักๆ มาจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จนส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มแนวทางการเปิดประเทศเพื่อรับต่างชาติอีกครั้ง

                ส่วนประเด็นเรื่อง “ความวุ่นวายทางการเมือง” ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น กระทรวงการคลัง กลับมองว่า “เชื่อว่าประเด็นเรื่องการเมืองจะไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าได้ตามปกติ แม้จะมีกิจการบางส่วนปิดบ้าง แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น อีกทั้งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงจุดยืน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความชัดเจนทางการเมือง ทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะยังเดินหน้าได้ตามปกติ

                ขณะที่ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” มองว่า ในไตรมาส 3/2563 การบริโภคก็กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง หากมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบก็จะทำให้การบริโภคหดตัวลงไปอีกครั้ง และต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะกลายเป็นตัวสร้างความกังวลให้กับกำลังซื้อของภาคเอกชนให้สะดุดลง แต่ขณะนี้ถ้ามองจากแรงส่งในช่วงที่ผ่านมา การบริโภคยังคงขยายตัวต่อไปได้

                ในอีกมุมหนึ่ง หลายฝ่ายยังกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิในช่วง 1-2 ปีหลังจากนี้ ซึ่งเป็นความท้าทายสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการปรับตัวให้อยู่รอดในยุค Disruption เศรษฐกิจจึงอยู่ภายใต้ “พายุใหญ่แห่งยุค” หรือ Perfect Storm ที่มีความรุนแรงและไม่แน่นอน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดย “ผยง ศรีวณิช”  ประธานสมาคมธนาคารไทย มองว่าประเทศไทยอาจจะเจอกับความท้าทายมากกว่าหลายๆ ประเทศ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย อาทิ พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในระดับสูง ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการเข้าสู่สังคมสูงอายุ

                “ผยง” มองว่า พายุใหญ่แต่ละครั้งจะทิ้งมรดกแห่งการเปลี่ยนแปลงไว้ ในคราวนี้มองว่ามี 3 ประเด็นสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น New Paradigm ที่เกิดขึ้น คือ การฟื้นตัวจะเป็นแบบ K-Shaped Recovery จะไม่ได้เป็นการกลับไปอยู่ที่จุดเดิม หรือ status quo โดย K-Shaped Recovery หมายถึงทิศทางการฟื้นตัวที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มแรกที่สามารถกลับสู่จุดเดิมได้เร็ว และกลุ่มที่สองที่กลับมาได้ช้า หรือกลับมาไม่ได้ โดยในระยะสั้นเห็นได้ชัดว่าหลายกิจกรรมยังโดนจำกัดโดยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ฟื้นตัวได้ยาก และยังไม่รู้จุดสิ้นสุดของมาตรการ นอกจากนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเกิดเป็น New Normal ซึ่งธุรกิจที่เก็บเกี่ยวโอกาสได้ เช่น ธุรกิจ platform จะเติบโตได้ดี  ขณะที่มีธุรกิจอีกจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ทัน

                นอกจากนี้ แนวคิดทางนโยบายที่เปลี่ยนไปจากเดิม ธนาคารกลางและ Think Tank อย่าง IMF ออกมาบอกว่า สามารถใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยที่ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาหนี้สาธารณะตามมามีค่อนข้างน้อย และไม่ต้องรีบถอนนโยบายเหมือนในอดีต สหรัฐและยุโรปจึงมีแนวโน้มจะมีการใช้ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่เข้มข้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเบื้องต้นแนวคิดใหม่นี้อาจทำให้ตลาดการเงินคลายความกังวลในเรื่องหนี้สาธารณะ และลดโอกาสเกิดปัญหาหนี้ซ้อนปัญหาสาธารณสุขโดยไม่จำเป็น แต่ก็แลกมาด้วยการสั่งสมความเปราะบางในระยะยาวที่มากกว่าเดิม

                และการจัดใหม่ของระบบทุนนิยม โดยโลกเสี่ยงที่จะแบ่งขั้ว หรือ Deglobalize ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนจะยังดำเนินต่อไป ขณะที่ระบบทุนนิยมจะโดนเรียกร้องให้ปรับตัวในหลายมิติ อาทิ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อระบบนิเวศมากขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ เพราะนี่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของระบบทุนนิยมเดิม โดยเฉพาะการที่ Digital Disruption มักทำให้เกิด Winner และ Loser ในลักษณะ Winner takes all และนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางสังคมที่ขยายกว้างขึ้น

            “ธุรกิจต้องเดินไปข้างหน้าอย่างยืดหยุ่น และต้องกล้าทำในสิ่งใหม่ๆ โดยยึดหลักที่ว่า การลองผิดลองถูกนั้นจะช่วยให้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มโอกาสในการหา The right solution ภายใต้ต้นทุนของการผิดพลาดที่ต่ำ เปรียบได้กับการใช้ Speed boat เพื่อความคล่องตัว และก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลง” นายผยงระบุ.

 ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"