สว.-พปชร.ส่งศาลสกัดตั้งสสร.


เพิ่มเพื่อน    

 แก้ รธน.ส่อระอุ พปชร.ตีสองหน้า! 25 ส.ส.ร่วมสังฆกรรม 48 ส.ว.ซื้อเวลาแก้ รธน. ดันเสนอญัตติขอมติที่ประชุมรัฐสภาส่งศาล รธน.สกัดตั้งสภาร่าง รธน.-ขวางลำร่างฉบับประชาชน ยกปมสงสัย "ไอลอว์" รับเงินต่างประเทศมาป่วนการเมืองไทย สภาสูงลั่นไม่หวั่นเติมเชื้อไฟม็อบสามนิ้ว วิปรัฐบาลสั่งเดินหน้าลุยโหวต 17-18 พ.ย. "คำนูณ" ข้องใจร่างประชาชนเปิดช่องนิรโทษกรรมคดีโกง

     ความเคลื่อนไหวก่อนถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า 17-18 พ.ย. หลังมีกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้าชื่อร่วมกันเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอมติเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  
    โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยว่า  คณะ ส.ว.ประมาณ 40 คนได้เข้าชื่อเพื่อยื่นถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างแก้ไขที่เสนอโดยคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) 2.ร่างแก้ไขที่เสนอโดย ส.ส.ฝ่ายค้าน และ 3.ร่างแก้ไขที่เสนอโดยกลุ่มภาคประชาชน นำโดยไอลอว์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อาจทำให้มีประเด็นทางกฎหมายว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มาจากการทำประชามติของประชาชน จึงมีข้อสงสัยว่าในการแก้ไขจะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ยืนยันว่าการยื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการประวิงเวลาหรือคัดค้านท่าทีของนายกรัฐมนตรี แต่ ส.ว.ต้องการให้เกิดความรอบคอบ และต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
    นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้กลุ่ม ส.ว.ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างแก้ไขของไอลอว์ โดยเฉพาะสถานะทางกฎหมายของไอลอว์ ว่าเป็นองค์กรที่มีหน้าที่มารวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอมายังสภาได้หรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าไอลอว์รับเงินสนับสนุนมาจากต่างประเทศ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการรับเงินจากต่างประเทศเข้ามาสร้างความวุ่นวายในประเทศไทยหรือไม่
    "ที่นี่ประเทศไทย ต้องแก้โดยคนไทยเท่านั้น หากองค์กรที่รับเงินมาจากต่างชาติแล้วมาสร้างความวุ่นวายในประเทศ ผมคิดว่ายอมไม่ได้เด็ดขาด จะแสนชื่อหรือกี่ล้านชื่อก็ไม่ว่ากัน แต่ให้เปิดตัวมาว่าผู้นำเป็นใคร ประชาชนถามผมมาเยอะว่ามีพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรคใช่หรือไม่อยู่เบื้องหลังไอลอว์  ดังนั้นเปิดหน้ามาเลยจะได้มาคุยกัน ว่าท่านทำถูกต้องหรือไม่" นายกิตติศักดิ์กล่าว
    เมื่อถามว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญของ ส.ว.จะมีผลทำให้เพิ่มแรงกดดันในการชุมนุมหรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ม็อบทุกม็อบมีสิทธิ์ชุมนุมตามที่กฎหมายกำหนด แต่การชุมนุมดังกล่าวจะต้องไม่ใช้เสรีภาพอย่างเลยเถิด ประชาธิปไตยจะต้องมีขอบเขต จะละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่ายังมีอีกฝ่ายที่มีจำนวนมหาศาลติดตามอยู่ ไม่อยากเห็นคนไทยต้องฆ่ากันเอง แต่อยากให้คนไทยหันหน้าเข้ามาเจรจากัน
ชี้ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้น นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ร่วมกันเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาได้มีการยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่ 1 และประชาชนเข้าชื่อยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งอยู่ในระหว่างประธานรัฐสภาเตรียมบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยปรากฏว่าญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับ ได้มีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น
    ญัตติดังกล่าวระบุว่า โดยเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติให้มีหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น ตามหลักกฎหมายมหาชน "ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ" หมายความว่าหากไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจไว้จะกระทำมิได้ รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภามีอำนาจเฉพาะที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 คือ ให้มีแต่อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น การกระทำใดๆ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5
    สำหรับสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนในการเสนอญัตติดังกล่าวมีทั้งสิ้น 73 คน แบ่งเป็น ส.ว.  48 คน ที่น่าในใจมี ส.ส. 25 คน มาจากพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด ประกอบด้วย 1.นายสมพงษ์ โสภณ  ส.ส.ระยอง 2.นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 3.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส 4.นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย 5.นายยงยุทธ สุวรรณบุตร ส.ส.สมุทรปราการ 6.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7.นายสาธิต อุ๋ยตระกูล ส.ส.เพชรบุรี 8.นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม. 9.นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 10.พันตำรวจโท ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี
    11.นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.สมุทรปราการ 12.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ 13.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 14.นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส.สุโขทัย 15.นางพิชชารัตน์  เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 16.นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช 17.นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 18.นายประทวน สุทธิอำนวยเดช ส.ส.ลพบุรี 19.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 20.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 21.นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช 22.นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 23.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 24.น.ส.กานต์กนิษฐ์  แห้วสันตติ ส.ส.กทม. และ 25.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์
รบ.-พปชร.ตีมึนยื่นศาล รธน.
    ด้านท่าทีจากฝ่ายรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถ้าหากมีการยื่นตีความก็จะทำให้การพิจารณาของสภาล่าช้า ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วตีตกก็ไม่มีผล แต่ถ้าศาลรับไว้พิจารณาหรือวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องไปดูรายละเอียด และยังไม่รู้ว่าจะยื่นตีความในประเด็นใดเพราะยังไม่ได้นำเข้าที่ประชุมรัฐสภา จึงนึกไม่ออกว่าจะร้องในประเด็นใด แต่ถ้าสภาพิจารณารับหลักการแล้วยื่นตีความสามารถทำได้ แต่กรณีนี้ยังนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะมาอย่างไร
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวหลังสื่อถามเรื่องนี้เพียงว่า " ยังไม่รู้"
    ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 พ.ย.นี้ วันเดียวอาจจะไม่เพียงพอ อาจจะต้องมีการประชุมถึง 2 วัน ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย. ขณะเดียวกันก็มีประเด็นปัญหาถกเถียงกัน เนื่องจากมีร่างของกลุ่มไอลอว์เข้าสู่การพิจารณาด้วย ดังนั้นประธานรัฐสภาจึงจะมีการเรียกวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายค้าน รัฐบาล และ ส.ว.หารือร่วมกัน เพื่อกำหนดกรอบเวลา แนวทางการพิจารณาและลงมติว่าจะต้องมีการพิจารณาร่างไอลอว์ก่อนแล้วค่อยลงมติ หรือลงมติญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่างไปก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาร่างของไอลอว์ รวมถึงหารือถึงประเด็นที่ ส.ว.เข้าชื่อกันเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 3 ญัตติ
    นายวิรัชกล่าวอีกว่า เชื่อว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะไม่ทำให้การพิจารณาของรัฐสภาสะดุด เพราะสามารถทำพร้อมกันได้เลย ส่วนที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญก็ส่งไปตามระบบ ส่วนที่พิจารณาก็พิจารณาตามกระบวนการขั้นตอน มั่นใจว่าวันที่ 17-18 พ.ย.นี้จะแล้วเสร็จในวาระแรกแน่นอน อีกทั้งมั่นใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสร็จสิ้นก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาวาระ 3 และมั่นใจว่าจะไม่ถือเป็นความผิดใดๆ
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า เป็นสิทธิที่ผู้เกี่ยวข้องจะทำได้ แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มีการตั้ง  ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะหมวด 1 กับหมวด 2 ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก่อนที่จะได้มีการพิจารณายื่นนั้น ถือว่าได้มีการพิจารณาตรวจสอบโดยรอบคอบแล้วว่า ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งประชาธิปัตย์เป็นส่วนหนึ่งในนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้กังวลในเรื่องนี้
    ส่วนท่าทีจากพรรคฝ่ายค้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นการยื่นเร็วไป ตามกระบวนการทำได้หลังโหวตผ่านวาระ 3 ส่วนจะทำให้กระบวนการแก้ไขล่าช้าออกไปหรือไม่ คงต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ เพราะญัตติเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว  และคำร้องที่ยื่นไปนั้นที่ ส.ว.เห็นว่าเป็นการยกร่างฉบับใหม่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ร่างที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่อาจเพราะภาษาพูดที่อาจสื่อความหมายว่าเป็นการยกร่างฉบับใหม่ แต่คงไม่ใช่ประเด็นอะไร
ข้องใจร่างไอลอว์ล้างคดีทุจริต
    ขณะเดียวกัน มีความเห็นต่อร่างแก้ไข รธน.เพิ่มเติมที่เป็นร่างฉบับประชาชนหรือร่างไอลอว์ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาเช่นกัน โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ร่างของไอลอว์มีบางประเด็นจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงเป็นสถานการณ์อันน่าวิตกของบ้านเมือง ได้ยกประเด็นมาตั้งข้อสังเกตไว้หลักๆ โดยเน้นไปที่ว่าร่างดังกล่าว ที่ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับสิ้นผลไป นิรโทษคดีทุจริต หลักการจะมีผลต่อกระบวนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคดีทุจริตประพฤติมิชอบอื่นๆ แน่นอน เพราะการไปกำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เป็นฐานกำหนดความผิดโดยตรงมีอันสิ้นผลไป หรือพูดง่ายๆ ว่ายกเลิกนั้น จะมีผลเสมือนเป็นการนิรโทษกรรมคดีทุจริตในทางปฏิบัติ ตามหลักกฎหมายอาญาที่ว่ากฎหมายมีผลย้อนหลังได้หากเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด
    "ผลข้างเคียงเบิ้มๆ ที่เป็นเสมือนการนิรโทษคดีทุจริตและปล่อยให้บ้านเมืองตกอยู่ในสุญญากาศไร้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตครึ่งค่อนปี ผมเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และจะโหวตเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับแน่นอน แต่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายที่เสมือนเป็นการนิรโทษคดีทุจริต และยิ่งไม่เห็นด้วยกับการทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในสุญญากาศไร้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตครึ่งค่อนปี" ส.ว.คำนูณระบุ
     ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า ไอลอว์ต้องการจะแก้ไขเรื่องที่มาขององค์กรอิสระ แต่เนื่องจากมีเขียนในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก เราก็ต้องเสนอแก้ไข โดยอำนาจของประชาชนจะเสนอแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรายมาตราไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิค เรามีเจตนาเพียงแค่ยืนยันว่าเราต้องการที่มาขององค์กรอิสระที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล เมื่อเขียนอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เราจึงเสนอยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย ไม่มีเจตนาที่จะยกเลิกคดีทุจริต มันอาจจะกระทบคดีทุจริตบางคดีบ้าง ก็ขอให้ไปว่ากันในรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการวาระที่ 2-3
     เมื่อถามว่า การให้กฎหมายดังกล่าวสิ้นผลไปก่อนจะมีผลต่อคดีทุจริตจริงหรือไม่ นายยิ่งชีพ  กล่าวว่า ก็มีระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้มีทั้งหมด คนที่ถูกดำเนินคดีทุจริตมีทั้งข้อหาตามกฎหมาย ป.ป.ช. หรือประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ขึ้นอยู่กับเขาไปทำอะไรมา กฎหมายฉบับอื่นยังมีอยู่ ความผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นความผิดหลักในประมวลกฎหมายอาญาไม่ถูกยกเลิกไป คดีทุกคดีที่ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญาจะต้องดำเนินต่อไป.
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"