สมช.เช็กมวลชน3นิ้วลดฮวบ!


เพิ่มเพื่อน    

 

  "บิ๊กตู่" ปรามกลุ่มหนุนอย่าจัดม็อบชนม็อบกระทบกระทั่งเด็ดขาด ประณามทำร้ายชาวต่างชาติเสียภาพลักษณ์ทั้งประเทศ สมช.ประเมินผู้ชุมนุมแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทั่วประเทศไม่เกิน 5 หมื่นคน นายกฯ สั่งสื่อสารเรื่องดีๆ ของบ้านเมืองให้ ปชช.เข้าใจ "จุฬาราชมนตรี" นำชาวมุสลิมร่วมพลังปกป้องสถาบันขอพร "ดุอาอ์" ให้ชาติร่มเย็น "ชวน" เผยโทร.คุย "สุรยุทธ์" แล้วแต่ไม่สามารถให้ความเห็นทางการเมือง แนะให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม ยันเดินหน้าตั้ง กก.สมานฉันท์แม้ไม่ครบ 7 ฝ่าย

    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 10 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ประกาศพร้อมชนกับผู้ชุมนุมที่เห็นต่างว่า การประกาศพร้อมชนตนไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ถ้าชนหมายถึงการเผชิญหน้า กระทบกระทั่งกัน ตนคิดว่ามันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ซึ่งต่างคนต่างแสดงความคิดเห็นได้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ละเมิดกฎหมาย และจะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เข้าข้างใคร แม้กระทั่งทำผิดกฎหมายรัฐบาลยังต้องดูแล เพราะไม่ต้องการให้ทุกคนเกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน หรือ เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น
    "แต่เรื่องสำคัญที่สุดต้องมองอีกแง่หนึ่งด้วย การที่ชาวต่างชาติถูกทำร้ายร่างกาย ผมเห็นว่าไม่สมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยด้วยกัน และยิ่งเป็นคนต่างชาติ เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร แม้จะด้วยวาจาหรืออะไรกันบ้าง แต่ไม่ใช่เข้าไปทำร้ายเขาแบบนี้ ทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศไทย ของคนไทยทั้งหมด"
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เราเคยพูดไว้แล้วว่าความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติของวิถีทางประชาธิปไตย ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ เราต้องอยู่ตรงกลางให้ได้ รัฐบาล ฝ่ายกฎหมาย เราพยายามอดทนอดกลั้นมาหลายๆ เรื่องมาแล้ว ขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย เขาเหนื่อยเขาเครียดเหมือนกัน เขาอดทน อดกลั้นเท่าไหร่ แต่เขาทำเพื่อใคร เขาทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่หรือเปล่า ขอยืนยันว่าอย่าให้เกิดการกระทบกระทั่งกันโดยเด็ดขาด และพยายามอย่าฝ่าฝืนกฎหมายกันจนเกินเลยหรือเลยเถิด แต่หากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติก็ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งตอนนี้เราก็พยายามใช้ทุกมาตรการอยู่แล้ว หลายอย่างอยู่ในกระบวนการรัฐสภา หลายอย่างอยู่ในกลไกการแก้ปัญหา ถ้าทุกคนไม่รับอะไรกันเลยแล้วมันจะไปทางไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน
    ผู้สื่อข่าวถามว่า พร้อมจะทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ หากมีข้อเสนอมา พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า เขายังไม่ตั้งคณะกรรมการเลย
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวแกนนำราษฎรขอลี้ภัยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาว่า เรื่องนี้ตนยังไม่รู้เรื่อง ไม่มี ฝ่ายความมั่นคงยังไม่มีรายงานมา  
    เมื่อถามว่า ในส่วนพรรค พปชร.และพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการหารือร่วมกันเพื่อหาทางให้การเมืองสงบ โดยเฉพาะการชุมนุมในเวลานี้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เขาทำอยู่แล้ว ให้เป็นเรื่องของประธานวิปรัฐบาล โดยมี ส.ส.ร่วมด้วยอยู่แล้ว ทางสภาเอาอย่างไรก็เอาอย่างนั้น ส่วนจะต้องให้ ส.ส.แต่ละพื้นที่ทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่กับสถานการณ์ในตอนนี้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ต้องทำทุกพรรค
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์  เป็นประธาน พล.อ.ประยุทธ์มีหน้ายิ้มแย้ม ไม่มีสีหน้าเคร่งเครียด ขณะที่ช่วงหนึ่ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รายงานถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎรว่า ก่อนหน้านี้ที่จำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากไม่พอใจเจ้าหน้าที่ที่สลายการชุมนุมโดยใช้รดฉีดน้ำความดันสูงที่แยกปทุมวันในที่ 16 ต.ค. แต่หลังจากวันที่ 24 ต.ค. ปรากฏว่า จำนวนผู้ชุมนุมเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการจัดชุมนุมแต่ละครั้งจะมีประชาชนมาร่วมประมาณ 10,000-15,000 คน เฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 คน ส่วนการชุมนุมทั่วประเทศจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 50,000 คน แบ่งเป็นใน กทม.ประมาณ 17,000 คน โดยแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีการเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย โดยอาศัยประเด็นทางการเมือง อย่างเช่นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการเคลื่อนไหว แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือเรื่องมือที่สาม ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าเราต้องเน้นช่วยกันสื่อสารเรื่องดีๆ ของบ้านเมืองให้ประชาชนเข้าใจ
ม็อบ 3 นิ้วทำผิด พรบ.คอมพ์อื้อ
    ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในช่วงท้ายการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงเรื่องส่วนตัว กรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย เรื่องพักอาศัยอยู่ในบ้านพักทหารหลังเกษียณอายุราชการแล้ว ถือเป็นการจงใจไม่ทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (3) หรือไม่ ว่าเป็นเรื่องของศาล ศาลจะว่าอย่างไรก็อยู่ที่ศาลตัดสิน
     นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มราษฎรวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่อาจมีเนื้อหาในลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายว่า จากการตรวจสอบการใช้งานทางโซเชียล พบว่ามีผู้เข้าข่ายกระทำผิดมากขึ้น โดยนับตั้งแต่วันที่ 8-9 พ.ย.นี้ที่ผ่านมา ได้มีการตรวจสอบการเข้าใช้งานของทุกฝ่าย พบมีจำนวนโพสต์และแชร์ข้อความรวมประมาณ 5 แสนโพสต์ ซึ่งทางกระทรวงดีอีเอสต้องไปตรวจสอบแยกแยะว่าโพสต์หรือแชร์ใดที่เข้าข่ายผิดกฎหมายบ้าง หากพบว่ากระทำผิดจริงก็จะต้องดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ เราปฏิบัติลักษณะนี้มาโดยตลอด ไม่ได้เลือกปฏิบัติ
    ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เพื่อแจ้งความให้ปิดเฟซบุ๊กนายสุนัย จุลพงศธร ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ และหมิ่นสถาบันฯ
    โดยนายสนธิญากล่าวว่า มาแจ้งความ ปอท. 3 ประเด็น คือ 1.ให้ปิดกั้นระงับยุติการเผยแพร่สื่อออนไลน์ทั้งหมด อาทิ เพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ เป็นต้น ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสถาบัน 2.เอาผิดเพจเฟซบุ๊ก "สุนัย จุลพงศธร" นักโทษหนีคดี ตาม ม.112 หลังมีการไลฟ์สดจากต่างประเทศ ช่วงประมาณ 19.00 น. ทุกวัน ซึ่งจาบจ้วงสถาบันมาโดยตลอด และ 3.ตรวจสอบบุคคลโพสต์แสดงความคิดเห็นที่จาบจ้วงสถาบันในเพจเฟซบุ๊กของสุนัยประมาณ 1,500-2,000 ราย เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยให้มีข้อมูลจาบจ้วงสถาบันมาตลอด จึงอยากให้ ปอท.ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดให้ถึงที่สุด
     นายสนธิญากล่าวด้วยว่า อีกประมาณ 2 สัปดาห์ ตนจะไปทวงถามความคืบหน้าที่ สน.ชนะสงคราม กรณีแจ้งความเอาผิด น.ส.อินทิรา หรือทราย เจริญปุระ ฐานเป็นผู้สนับสนุนม็อบกระทำความผิดตามกฎหมายและจาบจ้วงสถาบัน เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย.63 ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรแล้วบ้าง
    ช่วงเช้าวันเดียวกัน นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” โดยมีชาวไทยมุสลิมจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรม ณ หอประชุมศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กทม.
รวมพลังมุสลิมปกป้องสถาบัน
    ก่อนหน้านี้ สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ออกแถลงการณ์ชี้แจงการจัดงาน “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ที่สำคัญยิ่ง พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ศาสนาอิสลามจึงส่งเสริมให้แสดงความกตัญญูและสำนึกในบุญคุณของผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะผู้ที่ช่วยทำนุบำรุงความเจริญของศาสนา และเพื่อให้พี่น้องมุสลิมได้ร่วมกันขอพร (ดุอาอ์) ให้สังคมและประเทศชาติมีความร่มเย็นเป็นสุข สำนักจุฬาราชมนตรีตระหนักดีว่าปัจจุบันสังคมไทยมีความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองสูง สำนักจุฬาราชมนตรีและองค์กรศาสนาอิสลามทุกระดับเป็นองค์กรศาสนาที่ต้องดำรงความเป็นกลางทางการเมือง จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเปิดพื้นที่เพื่อการพูดคุยหาทางออกให้สังคมอย่างมีไมตรีจิตเพื่อสร้างความสงบสันติให้เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยเร็ววัน
    ที่ สน.หัวหมาก นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ทนายความ พานายธนวินท์ ฟักสุขจิตต์ อายุ 32 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น และนายศราวุธ ประยูร อายุ 29 ปี ซึ่งเป็นคนที่ทุ่มลำโพง ซึ่งเป็น 2 ใน 9 ของกลุ่มภาคีเครือข่ายเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกออกหมายเรียกพบ พ.ต.ท.นพพร ศรีสุชาติ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.หัวหมาก เพื่อรับทราบข้อหาตามหมายเรียก ในคดีเหตุทำร้าย นศ.รามคำแหง น.ส.ฐิติมา บุตรดี หรือแบม อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง บาดเจ็บจากเหตุการณ์กลุ่มคนสวมเสื้อเหลืองที่จัดชุมนุมชนกับกลุ่มนักศึกษาเผชิญหน้ากัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา
    นายทินกร ปลอดภัย แกนนำกลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เปิดเผยว่า ได้นำพยานหลักฐาน โดยเฉพาะภาพจากกล้องวงจรปิดที่รวบรวมไว้ได้มามอบให้กับตำรวจ ซึ่งคนที่โดนกล่าวหาว่าต่อยบุคคลอื่นนั้นมีหลักฐานมายืนยันว่าชายชุดดำเป็นผู้ลงมือทำร้ายก่อน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าเวลาที่คนตกใจจะต้องทิ้งสิ่งของ เช่นในกรณีนี้ น.ส.ฐิติมาผู้ได้รับบาดเจ็บยังคงถือไมค์ยืนพูดอยู่บนรถ ซึ่งเป็นการผิดธรรมชาติที่ควรจะเป็น เรายืนยันที่จะต้องสู้โดยใช้กฎหมายเช่นเดียวกัน เพื่อให้ปรากฏความจริง
    ด้านนายวันธงชัยเปิดเผยว่า นายธนวินท์และนายศราวุธมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อหาตามหมายเรียก ซึ่งทั้งสองคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะแจ้งความกลับคู่กรณีในข้อหาแจ้งความเท็จหรือไม่
องคมนตรีแนะเห็นแก่ส่วนรวม
    นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ หัวหน้าการ์ดม็อบคณะราษฎร 63 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า จำไว้ ! อย่าขวางประชาชน อย่าถ่วงรั้งสายธารการเปลี่ยนแปลง ค่ำคืนวันที่ 8 พ.ย.63 มีแนวรถเมล์ร้อน ขสมก ซึ่งสิริรวมอายุรถน่าจะมากกว่าอายุเฉลี่ยของผู้ชุมนุมด้วยซ้ำ จอดขวางอยู่ 3 คัน ถัดจากรถเมล์ไป เป็นลวดหนามหีบเพลงยาว และซ้อนกันหลายชั้น ผูกยึดด้วยลวดโลหะอีกหลายตลบ ยังมีแผงเหล็กที่นำมากั้น และผูกยึดบนล่างด้วยโซ่และสลิงขนาดใหญ่ แนวถัดไปถึงจะเป็นแนวของรถตู้ตำรวจ ซึ่งจอดขวางเป็นแนวอยู่ 4-5 คัน และหลังแนวรถตู้ตำรวจไป ก็จะเป็นแนวโล่มนุษย์ ตำรวจควบคุมฝูงชน และหลังแนวตำรวจไปก็คือแนวของทหารที่ใส่เสื้อเหลือง ในเวลาอันรวดเร็วหลังเจ้าหน้าที่ ตัดสินใจใช้น้ำฉีด พวกเขา ผมไม่เชื่อว่า ตร.มือลั่นในการฉีดน้ำ ตรงกันข้ามคือ ผู้ชุมนุมแนวหน้ากลับวิ่งเข้าใส่แนวกีดขวางของ จนท.ทุกทิศทาง และทุกอย่างก็สงบลงเมื่อ ตร.ยุติการใช้แรงดันน้ำเหตุผลที่เขาสั่งให้หยุดการฉีดน้ำ เพราะเขารู้ว่าเอาไม่อยู่ เพราะคนไม่กลัว เป็นสาเหตุหลักที่ตำรวจหยุด และยอมถอย ยอมขอโทษ และยอมให้เราทำกิจกรรมจนจบภารกิจยื่นจดหมาย
    ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ได้คุยกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ทางโทรศัพท์ ซึ่งได้ให้ความเห็นในฐานะองคมนตรีว่า ไม่สามารถให้ความเห็นทางการเมืองได้ แต่พล.อ.สุรยุทธ์ก็ขอให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม
    นายชวนกล่าวว่า ขอประชาชนอย่าเป็นกังวล งานที่รับมาก็ต้องทำ ส่วนความเห็นที่ขัดแย้งไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องธรรมดา หากไม่มีคงเป็นเรื่องไม่ปกติ ซึ่งกรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐบางคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ จนทำให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ต้องออกมาขอโทษนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีอะไรไปโกรธใคร แต่เมื่อมีการพาดพิงถึงบุคคลภายนอก ก็จำเป็นต้องปกป้อง ไม่เช่นนั้นอาจจะไปทาบทามบุคคลใดก็จะลำบาก ซึ่งผู้ใหญ่อดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนให้ความเห็นที่ดี โดยเมื่อเช้านี้ได้พูดคุยกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ให้ความเห็นว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ก็ยินดีอย่างยิ่ง และจะให้ความร่วมมือในการคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง
     เมื่อถามถึงโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์ นายชวน กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าจะส่งโครงสร้างมาที่สภาผู้แทนราษฎรภายในวันนี้ ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมามีความพยายามทำให้โครงสร้างรูปแบบที่ 1 คือการหารือฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่ายเกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งหากต้องการจะทำให้ครบทุกฝ่าย ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าได้เท่าไหร่เอาเท่านั้นไปก่อน และคณะที่ได้มาก็ทำงานไป ส่วนโครงสร้างรูปแบบที่ 2 ก็จะเป็นโครงสร้างที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์รอบรู้ เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวข้างหน้าต่อไป และขอให้อดทน ค่อยๆ เจรจาให้ทุกฝ่ายมาร่วมงานกัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"