ผวาม็อบโหวตรธน.กลางวัน


เพิ่มเพื่อน    

  "ชวน" เผย 17-18 พ.ย. สภาพิจารณาแก้ รธน. แต่ผวาม็อบ วิป 4 ฝ่ายขอลงมติกลางวัน จบข่าว "วิษณุ" ฟันธงการตั้งส.ส.ร.ตามหลักกฎหมายสามารถทำได้ ไม่มีอะไรขัด รธน. แต่ประธานวิปรัฐบาลยังซื่อตาใส ไม่ได้เล่นเกมสองหน้า แค่ต้องการความชัดเจน ครวญถ้าใครมีชีวิตเป็น ส.ส. ก็จะเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ด้านเลขาธิการพรรคก้าวไกลสวน เลิกพายเรือให้โจรนั่งเสียที

    เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  เรียกประชุมวิป 4 ฝ่าย อาทิ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล, นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน,  นายสมชาย แสวงการ ส.ว., นายมหรรณพ เดชพิทักษ์ ส.ว. ตัวแทนวิปวุฒิสภา เป็นต้น เพื่อหารือเกี่ยวกับการประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลาในการหารือเกือบ 2 ชั่วโมง
         จากนั้นนายชวนกล่าวว่า ที่ประชุมขอให้มีการนัดประชุมเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว และกฎหมายที่ประชาชนได้มีการเสนอเข้ามา ฉะนั้นจะบรรจุเพียง 2 วาระนี้ วาระอื่นไม่มี ส่วนกำหนดการในการพิจารณานั้น ต้องรอดูว่าเราจะพิจารณาเสร็จในช่วงเวลาใด ซึ่ง ส.ว.ไม่อยากลงมติในช่วงเวลากลางคืน เพราะหวั่นวิตกในเรื่องการชุมนุม ซึ่งตนได้เรียนว่าที่ผ่านมาโดยทั่วไปผู้ชุมนุมให้ความร่วมมือดี ครั้งก่อนตนจะนำตำรวจมา 13 กองร้อย ก็ไม่ได้นำมา และก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
    “แต่ครั้งนี้ท่านก็เป็นห่วงว่าจะมีปัญหา จึงมอบให้ผมเป็นผู้วินิจฉัยในเวลานั้น ว่าสามารถพิจารณาได้เสร็จในตอนกลางวันก็สามารถลงมติได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง แล้วนับคะแนน และต้องมีบัตรพิเศษ เพื่อให้เห็นว่าวุฒิสมาชิกที่เห็นด้วยครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการลงมติครบทั้ง 7 ร่าง”
    นายชวนยังกล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาคัดค้านไม่ควรบรรจุร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า เรื่องนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายดูอยู่ว่ากฎหมายใดจะเข้าสภาอย่างไร แต่มีคนค้านว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ ซึ่งจากที่ได้อ่านดูรายละเอียดในรายงาน เห็นว่าได้ทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว ทั้งนี้ การพิจารณาต้องเป็นไปตามกฎหมาย การประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาได้กี่อย่าง มีกำหนดไว้อยู่แล้ว ซึ่งตนจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะเข้าข้อบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ ทางฝ่ายรัฐบาลเสนอมาให้พิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภา
ไม่มีอะไรขัดรัฐธรรมนูญ
    เมื่อถามว่า ถ้ามีการบรรจุร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นวาระพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภา แล้วฝ่ายค้านนำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย จะทำให้การออกกฎหมายล่าช้าหรือไม่  ประธานรัฐสภาตอบว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญบางเรื่องสมาชิกอาจเข้าชื่อกัน แล้วยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย แต่บางเรื่องก็ต้องยื่นผ่านประธานรัฐสภา เพื่อให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อ เช่น ยื่นให้ศาลวินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส. เป็นต้น
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่ากรณี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐบางส่วนยื่นเสนอญัตติให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตั้ง ส.ส.ร.ตามหลักกฎหมายสามารถทำได้  เพราะบรรดา ส.ส.และ ส.ว.ที่ยื่นไปนั้น คงเห็นว่าอยากให้แก้ไข แต่ยังมีข้อสงสัย และอาจถูกอ้างว่าทำให้ล่าช้า ซึ่งเป็นการทำคู่ขนานกันไป เพราะเมื่อดูตารางเวลาแล้ว ทุกอย่างไปพร้อมกัน ไม่ได้ล่าช้าแต่อย่างใด
    "ผมไม่ได้คิดว่าเขาไม่อยากให้แก้ เพียงแต่เขาบอกว่ามันมีข้อสงสัย เดี๋ยวมีมือดีแอบไปส่งศาลตอนหลังจะยุ่ง ดังนั้นก็ส่งให้ศาลตีความเสียตอนนี้จะได้หมดเรื่อง ที่ผ่านมารัฐบาลก็ประกาศความชัดเจนในส่วนของรัฐบาลแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาตามข้อที่ 31 โดยใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา 40 เสียง และให้รัฐสภา 750 คนใช้เสียงข้างมาก หากรัฐสภาเห็นก็ส่งไปให้ศาลวินิจฉัย หากไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องส่ง แต่จะส่งหรือไม่ส่ง การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีอะไรหยุดอยู่แล้ว''
    รองนายกฯ ยืนยันว่าส่วนตัวเห็นว่าไม่มีอะไรขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เหมือนกับที่อีกหลายคนเห็น ถ้าให้อธิบายก็อธิบายได้ แต่พูดไปก็จะยาว เอาเป็นว่าตนเห็นว่าไม่ขัด โดยเฉพาะการตั้ง ส.ส.ร.ไม่ขัดรธน.
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้ พล.อ.ประวิตรไปบอก ส.ส.ให้ถอนชื่อในการส่งญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดย พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า ใครให้ถอน นายกฯ ไม่ได้บอกอะไรตน
    ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ยืนยันว่าไม่ได้เล่นเกมสองหน้า มีหน้าเดียว และที่ดำเนินการเช่นนั้น เพราะต้องการให้เกิดความชัดเจน เหมือนกับที่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญในทำนองเดียวกันกับปี 2555 ซึ่งการดำเนินการปัจจุบันเป็นการทำคู่ขนานกันไป หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญทุกอย่างก็เดินหน้าต่อ
    เขาบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ในวันที่ 17-18 พ.ย. การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ยังดำเนินการต่อไป และเชื่อว่าการลงมติจะราบรื่น เพราะได้มีการประสานงานกับ ส.ว.จนเกิดความเข้าใจกันแล้ว
ใครมีชีวิตเป็น ส.ส.ก็จะเข้าใจ
    เมื่อถามว่า การที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเป็นทั้งผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและยื่นให้ศาลตีความ ถือเป็นความผิดปกติหรือไม่ นายวิรัชตอบว่า ถ้าใครมีชีวิตเป็น ส.ส.ก็จะเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้ แต่ก็เป็นเพียงความเห็นที่ไม่มีผลผูกพัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนจึงต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เพื่อให้เกิดผลผูกพัน ยืนยันว่าไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น เพราะหากมีเจตนาเป็นอย่างอื่นคงยื่นให้ประธานรัฐสภาโดยตรง และเรื่องคงถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เราใช้ขั้นตอนของรัฐสภาเพื่อให้มีมติ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าแม้ในอนาคตหากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาจะไม่มีผลต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเสร็จก่อนกระบวนพิจารณาของรัฐสภา
    นายวิรัชกล่าวว่า วุฒิสภาได้ขอเวลา 5 ชั่วโมงครึ่ง ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ญัตติ ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ จะพยายามให้เสร็จภายใน 1 วัน ถ้าไม่จบก็คงจะต้องขยายไปอีก 1 วัน วันนี้องคาพยพของการที่จะมีมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทั้งนี้ จะได้เสียงสมาชิกวุฒิสภา 84 เสียง จึงจะรับหลักการวาระ 1 ได้
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ที่ ส.ส.พลังประชารัฐกระทำได้ แต่จะต้องผ่านการพิจารณาถึง 3 ด่านด้วยกัน ด่านที่ 1 คือการวินิจฉัยของประธานรัฐสภาว่าเป็นญัตติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ด่านที่ 2 คือหากผ่านด่านแรกมาได้ ก็ต้องมาขอมติจากที่ประชุมรัฐสภา และด่านที่ 3 ซึ่งเป็นด่านสุดท้าย คือการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
เล่นการเมืองสองหน้า?
    อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายอย่างแน่นอน เพราะผ่านการตรวจสอบและการพิจารณาจากหลายฝ่ายก่อนจึงจะมาบรรจุเข้าที่ประชุมรัฐสภา ถ้าไม่ชอบจะเสนอได้อย่างไร ดังนั้น จึงไม่มีความกังวลกับการพยายามเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่อย่างใด
         เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นพรรคที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะลงมติคัดค้านการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ นายจุรินทร์ตอบว่า เป็นเรื่องที่คุยกันในที่ประชุมพรรคว่าเราต้องยืนยันในร่างของเรา แต่พรรคยังไม่ได้มีการพูดไปถึงเรื่องการลงมติดังกล่าว ยังไม่อยากพูดไกลถึงขนาดนั้น เพราะต้องผ่านด่านการพิจารณาของประธานรัฐสภาก่อน
    ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ประกาศสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถือเป็นการเล่นสองหน้าของพรรคพลังประชารัฐ นายจุรินทร์กล่าวว่า จะเป็นการเล่นสองหน้าของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ต้องไปถามพรรคพลังประชารัฐ แต่สำหรับเราเดินตรงมาตลอดที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ"
    ขณะที่นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคยืนยันไปแล้วว่ามีการแก้ไขและธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามที่ พล.อ.ประวิตรได้ให้นโยบายไว้ คงไม่มีประเด็นอื่นนอกเหนือไปจากนี้ หรือมีอะไรเปลี่ยนแปลง
    "ผมเคยบอกไปแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การเล่นเกม การเมือง และเคยถามไปแล้วว่าเมื่อถึงวันที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริง คนที่เคยกล่าวหาว่าพวกเราเล่นเกมยื้อเวลาจะรับผิดชอบอย่างไร ที่เราดำเนินการให้แก้ไข เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยบอกว่า ในวันนั้นถ้าไม่ดำเนินการจะทำให้เกิดปัญหา และจะทำให้วันนี้เกิดความลำบากมากกว่าเดิม และช่วงเวลาแค่หนึ่งเดือนที่เคยพูดไว้มาถึงวันนี้จะไปเล่นเกมทำไม" นายอนุชากล่าว
ยังร่วมพายเรือให้โจรนั่ง
    เมื่อถามถึง ส.ส.พรรค พปชร.ไปร่วมลงชื่อเสนอญัตติให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ เลขาธิการพรรค พปชร. ตอบว่า ถือเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน และเราได้พูดคุยกันในพรรคแล้ว
    นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อม ส.ส.ของพรรค แถลงว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่านายไพบูลย์เป็นบุคคลสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคมาโดยตลอด พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องว่า แม้จะบอกว่าจะยอมผ่านวาระที่ 1 แต่การไปยื่นญัตติดังกล่าวดักรอไว้เพื่อปิดประตูการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งรัฐบาลและนายกฯ เคยแสดงท่าทีว่ายินดีพร้อมที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ตกลงแล้วมีจุดยืนอย่างไร
    เขากล่าวว่า ที่สำคัญคือพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศจุดยืนว่าจะสนับสนุนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการมี ส.ส.ร. เห็นด้วยหรือไม่กับญัตตินี้ และจะร่วมโหวตญัตติที่ให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามที่นายไพบูลย์และคณะเสนอญัตติหรือไม่ หากญัตตินี้ผ่านจะถือเป็นการปิดประตูยุติการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เราเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลรับผิดชอบและแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะยังร่วมพายเรือให้โจรนั่งหรือไม่ หรือจะตลบตะแลง แสวงหาผลประโยชน์กับ พล.อ.ประยุทธ์ไปตลอด
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐต้องเข้าใจว่าปัญหาการไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลเผชิญกับความยากลำบาก เศรษฐกิจวิกฤติ นโยบายไม่สามารถผลักดันได้จริง ยิ่งมาแสดงความไม่จริงใจและความพยายามซื้อเวลามากเท่าไหร่ ที่สุดรัฐบาลจะถึงจุดวิกฤติจนไม่สามารถกอบกู้อะไรได้
    "ประชาชนตั้งคำถามว่า ตกลงชื่อพรรคพลังประชารัฐ หรือ ประชารัดโอกาส และดับความหวังประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำพาประเทศชาติและประชาชนออกจากวิกฤติความขัดแย้ง" นายอนุสรณ์กล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"