กมธ.บี้ตำรวจเล่นงานม็อบสหภาพโวยใช้รถเมล์ขวาง


เพิ่มเพื่อน    

 

ตร.แจง "กมธ.ตำรวจ" ใช้น้ำผสมแก๊สน้ำตาชนิดเจือจางสลายการชุมนุมแยกปทุมวัน อ้างสถานการณ์ส่อรุนแรง ยันทำตามมาตรการควบคุมของยูเอ็น "กมธ.ป.ป.ช." ฉุน "ผบ.ตร.-ผบช.น." ไม่มาชี้แจงใช้กำลังอายัดตัว "เพนกวิน-ไมค์" จากเรือนจำ "ส.ส.ก้าวไกล" ไล่บี้ ผบ.เรือนจำกรุงเทพ "สหภาพ ขสมก." โวยใช้รถเมล์ขวางม็อบ

    ที่รัฐสภา วันที่ 12 พ.ย. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.เป็นประธานในการประชุม ได้เชิญ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย รอง ผบช.น. และ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผบก.น.6) เข้าชี้แจงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา
    นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ โฆษก กมธ.การตำรวจ แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและสามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการปฏิบัติภายใต้กฎหมายที่บัญญัติ โดยได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ มีการบังคับใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก เป็นไปตามสากล การดำเนินการในแต่ละขั้นตอนมีการประกาศแจ้งเตือนผู้ชุมนุมให้ทราบทุกครั้ง เริ่มจากการแจ้งเตือนว่าการชุมนุมผิดกฎหมาย ขอความร่วมมือให้เลิกการชุมนุม หากไม่ได้รับความร่วมมือและผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์ที่จะใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์ที่จัดเตรียมมาในการควบคุมผู้ชุมนุม ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน
    "กมธ.ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการควบคุมการชุมนุมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1.กรณีที่ผู้ชุมนุมและบุคคลที่มีความเห็นต่างกับผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่กลุ่มชุมนุม ตำรวจควรมีแนวทางในการระงับเหตุเพื่อไม่ให้เหตุการณ์มีการใช้ความรุนแรง 2.ควรมีการสาธิตหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับขั้นตอนในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ประชาชนได้รับทราบ 3.ควรใช้วิธีการที่ละมุนละม่อมต่อผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น" โฆษก กมธ.การตำรวจกล่าว
    ส่วนนายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธาน กมธ.การตำรวจ คนที่ 2 กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ชี้แจงสารเคมีที่ใช้ผสมน้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุมคือ สารเมทิลไวโอเลตทูบี ไม่มีอันตราย เพราะใช้อย่างเจือจางเพียงแค่ 3% เพื่อให้ระบุตัวตนว่าเป็นผู้มาร่วมการชุมนุม แต่เมื่อไม่สามารถหยุดผู้ชุมนุมได้ จึงเปลี่ยนมาใช้เป็นน้ำผสมแก๊สน้ำตาฉีดใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งใช้ในปริมาณเจือจาง 3% เช่นกัน เป็นไปตามมาตรการควบคุมการชุมนุมของยูเอ็น
    "กมธ.ให้ข้อสังเกตตำรวจไปว่า ถึงแม้สารเคมีที่ใช้จะเป็นปริมาณเจือจาง แต่อยากให้คำนึงถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมี เพราะถ้าเกิดเข้าปากอาจสร้างผลกระทบได้ ส่วนสาเหตุที่ต้องฉีดน้ำใช้สลายการชุมนุมนั้น ได้รับคำชี้แจงจากตำรวจว่า เหตุการณ์ที่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 เนื่องจากเริ่มมีความรุนแรงที่ส่อไปในทางควบคุมไม่ได้ เริ่มมีการปะทะระหว่างการ์ดกับเจ้าหน้าที่ จึงเริ่มมีการใช้น้ำฉีดสกัด แต่เมื่อไม่ได้ผลจึงเพิ่มระดับมากขึ้น" นายสัญญากล่าว
    รองประธาน กมธ.การตำรวจ กล่าวว่า ในส่วนเหตุการณ์ที่สนามหลวง ตำรวจชี้แจงว่าเพราะผู้ชุมนุมเริ่มตัดรั้วลวดหนาม ขยับการชุมนุมเข้าไปใกล้พื้นที่ควบคุม ถ้าปล่อยให้เข้าไปอาจจะควบคุมไม่ได้ จึงฉีดน้ำสกัด เป็นการฉีดในวิถีโค้ง เมื่อฉีดไปแล้วผู้ชุมนุมก็ไม่ได้รุกคืบเข้าไป
    วันเดียวกัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ได้เชิญ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. รวมทั้งผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เข้าชี้แจงกรณีที่ตำรวจใช้อำนาจกฎหมายอาญา มาตรา 116 จับกุมตัวแกนนำคณะราษฎร 2563 รวมทั้งการใช้กำลังอายัดตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ในวันที่ 30 ต.ค.2563
บี้แจงอายัดตัว 'เพนกวิน'
    อย่างไรก็ตาม ผบ.ตร.และ ผบช.น. มอบหมายให้ พล.ต.ต.พัฒนา เพศยนาวิน ผบก.น.2 และ ผกก.สน.ประชาชื่น มาชี้แจงแทน แต่ทางคณะกรรมาธิการไม่ได้ซักถามประเด็นใด โดยระบุว่าการแก้ไขปัญหาต้องทำในระดับนโยบาย รวมทั้งการแสวงหาความจริงจำเป็นต้องเสาะหาข้อมูลในหลายพื้นที่ เพราะการชุมนุมและการออกหมายจับไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเขตพื้นที่ บก.น.2 เท่านั้น ผบ.ตร.และ ผบช.น.ควรมาตอบด้วยตนเอง
    นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการฯ สอบถามต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ถึงอำนาจหน้าที่ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และหลักการอายัดตัวที่เกิดขึ้นมีระเบียบอะไรรองรับหรือไม่ หรือเป็นดุลยพินิจ ทางเจ้าหน้าตำรวจมีหนังสือมาขออายัดตัวหรือไม่ มีการเซ็นรับและส่งตัวให้ใคร และจากภาพข่าวปรากฏว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบได้ทำร้ายทั้ง 2 คน ทางเรือนจำปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีการกักขัง หน่วงเหนี่ยวหรือไม่ อีกทั้งมีข้อเท็จจริงหลายส่วน และมีข้อโต้แย้งจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า หมายจับที่เอามาจับนั้น ผู้ที่ถูกหมายเรียกได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว จึงไม่ควรต้องมีการออกเป็นหมายจับอีก จึงอยากทราบว่าทางเรือนจำได้มีการตรวจสอบหรือไม่ ถึงความชอบธรรมของหมายจับ
    นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ในประเด็นเรื่องการอายัดตัว ไม่ได้มีระเบียบลงลึกในรายละเอียด ตามปกติจะมีหนังสือแจ้งอายัดตัวมาที่เรือนจำ พร้อมทั้งจะมีการส่งสำเนาหมายจับแนบมาด้วย หากไม่มีหมายจับ ทางเรือนจำจะสอบถามและขอให้แนบหมายจับมาให้ด้วย ซึ่งการอายัดตัววันที่ 30 ต.ค. นายพริษฐ์และนายภาณุพงศ์ได้พูดคุยเจรจากับตำรวจประมาณครึ่งชั่วโมง โดยต่อสู้ในประเด็นว่าหมายจับหมดอายุไม่มีอำนาจอายัดตัว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเสร็จสิ้นการประชุม นายธีรัจชัยยังได้ขอมติจากที่ประชุมขอให้มีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงคือ เจ้าหน้าที่เวรเรือนจำพิเศษกรุงเทพหน้าประตู 2 คนที่อยู่ในเหตุการณ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน นายภาณุพงศ์, นายพริษฐ์, นายปฏิภาณ, ผบ.ตร.และ ผบช.น.มาในครั้งต่อไป
    วันเดียวกัน นายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) แถลงข่าวคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการนำรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ของ ขสมก.ไปปิดถนน เพื่อขวางทางไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่ต่างๆ ว่า การกระทำดังกล่าวทำให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่า ขสมก.ร่วมกับฝ่ายการเมืองวางตัวไม่เป็นกลาง ทำให้เสียภาพลักษณ์ตามมา
    นายบุญมากล่าวว่า ที่ผ่านมาตำรวจได้ขอสนับสนุนนำรถเมล์ไปสกัดผู้ชุมนุมทั้งหมด 3 ครั้ง รวม 121 คัน แบ่งเป็นวันที่ 14 ต.ค.63 จำนวน 22 คัน, วันที่ 25 ต.ค.63 จำนวน 44 คัน และวันที่ 8 พ.ย.63 จำนวน 55 คัน ซึ่งทั้ง 3 ครั้ง ทำให้รถเมล์ได้รับความเสียหายทั้งหมด 6 คัน แบ่งเป็นวันที่ 14 ต.ค. จำนวน 1 คัน, วันที่ 25 ต.ค. จำนวน 2 คัน และวันที่ 8 พ.ย. จำนวน 3 คัน เพราะกระจกบังลมหน้าแตกเสียหาย สีถลอก และที่ปัดน้ำฝนชำรุด ส่งผลทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถที่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก เพราะรถเมล์มีอายุใช้งานมากกว่า 30 ปี อะไหล่นำมาซ่อมเริ่มหายากและใช้เวลาในการนำเข้าจากต่างประเทศ
    "ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย เพราะปัจจุบัน ขสมก.ต้องจ่ายค่าเหมาซ่อมราคา 1,401 บาทต่อคันต่อวัน ค่าจีพีเอส 30 บาทต่อคันต่อวัน ค่าการบริการเดินรถด้านสังคม (PSO) ที่รัฐบาลสนับสนุนในการเดินรถ กม.ละ 38 บาทต่อคัน ค่าจ้างพนักงาน 800 บาทต่อวัน รวมทั้งค่าเสียหายที่จะได้จากค่าโฆษณา ทั้งนี้ ช่วงที่นำรถเมล์มาสกัดผู้ชุมนุมยังพบว่า ขสมก.เสียโอกาสในการเดินรถ ทำให้สูญเสียรายได้รวม 363,000 บาท คือวันที่ 14 ต.ค. รถ 22 คัน มีรายได้ 66,000 บาท หรือเฉลี่ยคันละ 3,000 บาท, วันที่ 25 ต.ค. รถ 44 คัน มีรายได้ 132,000 บาท และวันที่ 8 พ.ย. รถ 55 คัน มีรายได้ 165,000 บาท ซึ่งตำรวจจะต้องเป็นผู้ที่จ่ายค่าซ่อมรถเมล์ที่ได้รับความเสียหาย" นายบุญมากล่าว
    ประธาน สร.ขสมก.ยืนยันว่า ถ้าในอนาคตตำรวจขอความร่วมมือจาก ขสมก.สนับสนุนรถเมล์เพื่อไปสกัดผู้ชุมนุมอีก จะเดินหน้าไปยื่นศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้คุ้มครองไม่ให้นำรถเมล์ไปใช้ในกรณีดังกล่าวอีก
    ด้านเฟซบุ๊กแฟนเพจ MOB FEST เผยแพร่หนังสือ ด่วนที่สุด ขอเชิญร่วมงาน MOB FEST #แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ ที่ส่งถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมสิ่งที่ส่งมาด้วย 1.กำหนดการจัดงาน "MOB FEST #แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ" 2 ใบปิดกิจกรรม "MOB FEST #แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ"
    เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ใคร่ขอเชิญท่านลงจากหอคอยงาช้างมารับฟังปัญหาที่แท้จริงของราษฎรในกิจกรรม "MOB FET #แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ" ในวันเสาร์ที่ 14 พ.ย.2563 เวลา 14.00-24.00 น. ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย.
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"