‘ไทย’สุดเนื้อหอม ประชุมลุ่มนํ้าโขง ลงนามแดนจิงโจ้


เพิ่มเพื่อน    

 

เนื้อหอม! "บิ๊กตู่-ผู้นำอาเซียน" ถกผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น-เกาหลี เสนอ 3 ข้อรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 ชู EEC, SEC และ Land Bridge เชื่อมภูมิภาค ถกนายกฯ ออสเตรเลีย เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ความมั่นคง การทหาร เศรษฐกิจ ฯลฯ
    เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากเวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย
    ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีเวียดนามในฐานะประธานร่วมกับญี่ปุ่นได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุม ว่าเป็นการประชุมเพื่อทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ 3 สาขาหลักของยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ.2018 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น รวมทั้งหารือทิศทางของความร่วมมือให้สอดคล้องกับ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.แผนแม่บท ACMECS 2.ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง และ 3.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคโควิด-19
    ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องเร่งสร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติ เพื่อความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาค กลไกความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นจะช่วยขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของภูมิภาค โดยญี่ปุ่นได้สนับสนุนทั้งเงินทุน ทักษะ โครงการ และการพัฒนาศักยภาพของชุมชน เป็นต้น
    ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในลักษณะพหุภาคีและความเป็นหุ้นส่วนกัน เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และอนุภูมิภาค โดยสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการมากที่สุดคือการเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้รวดเร็วและยั่งยืน โดยใช้วิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสในการวางรากฐานทางเศรษฐกิจใหม่ และยกระดับมาตรฐานในทุกด้าน ทั้งด้านความมั่นคงของมนุษย์ และด้านโครงสร้างพื้นฐานและการประกอบธุรกิจ โดยเสนอความร่วมมือ 3 ประการ ดังนี้ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการทำให้อนุภูมิภาคบรรลุระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) โดยสามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และความสามารถของไทยในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ความสามารถการเข้าถึงยาและวัคซีนที่เท่าเทียมกัน ในราคาสมเหตุสมผล รวมทั้งสนับสนุนให้ยาและวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะของโลก
    การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้ไร้รอยต่อ ยืดหยุ่น และยั่งยืน โดยไทยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคผ่านโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการสะพานไทย ซึ่งเชื่อมโยงอีอีซีกับเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) และโครงการ Land Bridge ซึ่งเชื่อมโยงถนนระหว่างท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งญี่ปุ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ ดังกล่าวได้ รวมทั้งความสำคัญของความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบและความเชื่อมโยงทางดิจิทัล โดยสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมการเชื่อมโยงดังกล่าว
    การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาระดับรากหญ้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นในการจัดเวทีหารือกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 ณ ประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ด้านระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่ไทยใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
    ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์แสดงความยินดีที่ญี่ปุ่นประกาศให้ปี 2564 เป็นปีแห่งความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น เพราะจะเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระดับประชาชนในช่วงหลังโควิด-19 และจะได้กลับมาพบปะกันอีกครั้งในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 13 ที่กรุงโตเกียว เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่ภูมิภาคต่อไป
    นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และนายมุน แจอิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วมด้วย
    นายอนุชาเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เน้นย้ำความสำคัญ 2 เรื่องหลัก สำหรับกรอบความร่วมมือระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยการแบ่งปันประสบการณ์ที่ดี และแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศในการรับมือกับการระบาด ซึ่งไทยเพิ่งได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้กองทุน MKCF ครั้งที่ 4 การบังคับใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การสนับสนุนให้มีวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ในราคาสมเหตุสมผล สำหรับประชาชนในภูมิภาคอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาค เพื่อกลับมาเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักลง เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคขึ้นมาแทน เพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 มีความต่อเนื่อง
    วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ และนายสกอต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย เข้าร่วมพิธีลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับออสเตรเลีย (Joint Declaration on the Strategic Partnership between the Kingdom of Thailand and Australia) ผ่านระบบการประชุมทางไกล
    โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะได้ร่วมลงนามสนับสนุนการยกระดับความสัมพันธ์ไทยและออสเตรเลียให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อไปสู่มิติใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าจะใช้โอกาสนี้กระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แนบแน่นและลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งในด้านความมั่นคง การทหาร เศรษฐกิจ ตลอดจนสาขาที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การศึกษา สาธารณสุข เกษตร และสิ่งแวดล้อม
    ทั้งนี้ ภายหลังการลงนามในปฏิญญาร่วมฯ หน่วยงานต่างๆ ของไทยและออสเตรเลียจะร่วมกันพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Plan of Action) เพื่อเป็นกรอบแผนงานในการส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"