RCEPบรรลุใหญ่สุดในโลก


เพิ่มเพื่อน    

 

นายกฯ ประชุมอาเซียน-ยูเอ็น ครั้งที่ 11 ชง 3 แนวทางขับเคลื่อนพัฒนายั่งยืน จับมือสู้โควิดสร้างวัคซีนสาธารณะ ไทยผนึก 14 ประเทศลงนามอาร์เซ็ป ปลื้มเอฟทีเอฉบับประวัติศาสตร์ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดประตูส่งออกสินค้าเกษตร-อุตฯ-บริการสู่ตลาดโลก
    ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 11 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และนายอันโตนิอู กูแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ เข้าร่วมหารือ ภายหลังเสร็จสิ้น  นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
    นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่า การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อรับทราบความคืบหน้าและทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ รวมทั้งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี ดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2016-2020 และรับทราบแผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่ ปี ค.ศ. 2021-2025
    จากนั้น เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวถึงการต่อสู้กับโควิด-19 การรักษาสภาพอากาศ และการต่อสู้กับความท้าทายใหม่ๆ ผู้นำต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 หวังว่าจะเข้าถึงอย่างทั่วถึง ขอเรียกร้องให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดความขัดแย้งในโลก ทั้งนี้ เพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) พร้อมเคียงข้างกับอาเซียนในทุกมิติ และขอบคุณอาเซียนที่มุ่งมั่นสนับสนุนการทำงานของยูเอ็น
    ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สหประชาชาติเป็นเสาหลักในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ส่งเสริมการพัฒนาของประเทศต่างๆ  และดูแลแก้ไขปัญหานานัปการ พร้อมชื่นชมบทบาทในการปฏิรูปสหประชาชาติให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการผลักดันให้วัคซีนและยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะระดับโลก
    ทั้งนี้ นายกฯ ได้เสนอแนวทางเพื่อให้สานต่อและขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 ประการ คือ 1.การปรับแนวทางการดำเนินการ ด้วยการจัดลำดับสาขาความร่วมมือระหว่างกันใหม่ โดยเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ให้อาเซียนสามารถยืนหยัดและรับมือกับภาวะฉุกเฉินและความท้าทายต่างๆ 2.การเปิดโอกาสในการส่งเสริมงานอาสาสมัครภายในประชาคมอาเซียน โดยสามารถแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านความร่วมมือใต้-ใต้ และความร่วมมือไตรภาคี และ 3.การพัฒนาหุ้นส่วนด้วยการสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งและมีความรับผิดชอบร่วมกัน
    โดยทั้ง 3 ประการ จะสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบแผนฟื้นฟูอาเซียนที่ครอบคลุมและข้อเสนอแนะตามรายงานสรุปเชิงนโยบายของเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่วยขับเคลื่อนข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ของสหประชาชาติ พร้อมเสนอการร่วมมือระหว่างกัน โดยผ่านกิจกรรมของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก
    พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำการยึดมั่นในระบบพหุภาคีนิยม หลักค่านิยมสากล การส่งเสริมความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ และความตั้งใจของไทยที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและสหประชาชาติอย่างใกล้ชิดและแข็งขันต่อไป
หนุนวัคซีนโควิดสาธารณะ
    จากนั้นในช่วงท้าย เลขาธิการยูเอ็นได้ย้ำถึงสนับสนุนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูของอาเซียน การสนับสนุนให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ การยึดมั่นในความร่วมมือในการรักษาสันติภาพ เพื่อความมั่นคง ตลอดจนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจจะสนับสนุนในสาขาที่เป็นยุทธศาสตร์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในโอกาสนี้ ยังกล่าวสนับสนุนมาตรการของไทยในด้านความร่วมมือใต้-ใต้ และนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การร่วมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน
    ต่อมา?เวลา 10.30 น. นายกฯ ได้ร่วมการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุมดังนี้
    นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวถ้อยแถลงว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การประชุมครั้งนี้ สามารถสรุปผลการเจรจาร่วมกันได้ และจะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม RCEP ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับประวัติศาสตร์ โดยทราบดีว่าประเทศสมาชิกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เนื่องจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความอ่อนไหวที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ และล่าสุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
    พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำว่า ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคุณภาพ มาตรฐานสูง และมีนัยสำคัญต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของทุกประเทศ พร้อมเชื่อว่า การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกจะเสริมสร้างให้ภูมิภาค RCEP มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการค้าการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้ประเทศสมาชิกมีความสามารถและความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปสู่การค้าที่เสรีมากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคและประชาชนของพวกเราได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนต่อไป
    หลังจากนั้น นายกฯ ได้เข้าร่วมพิธีลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยผู้แทนจาก 15 ประเทศ ในส่วนของไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนาม และนายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยานในการลงนาม
    ทั้งนี้ นายจุรินทร์ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมการประชุมผู้นำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคว่า ในการประชุม จะมีผู้หารือประกอบด้วย กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และมีประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อีก 5 ประเทศเป็นกลุ่มการตกลงทางการค้าการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีมูลค่าการค้า หรือจีดีพี ถึงหนึ่งในสามของโลก และตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ได้มีความพยายามทำให้การเจรจาประสบผลความสำเร็จทั้ง 20 ข้อบท เมื่อปี 2562 ที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน สำหรับประเทศอินเดีย ที่ไม่ได้เข้าร่วมในครั้งนี้ ในอนาคตเมื่อประเมินสถานการณ์เห็นว่ามีความเหมาะสมแล้ว ก็สามารถเข้าร่วมหารือได้ และทั้ง 15 ประเทศ ก็ยินดีต้อนรับให้เข้าร่วมในโอกาสต่อไป อย่างไรก็ตาม ทั้ง 15 ประเทศ ที่มีอยู่ถือเป็นตลาดใหญ่มากแล้วควบคุมทั้งจีดีพีและมีประชากรถึงหนึ่งในสามของโลกแล้ว
เปิดประตูตลาดใหญ่โลก
    "ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับในการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจฯ คือเราจะเปิดตลาดการค้าการลงทุนได้ในอีก 14 ประเทศ ในการส่งออกสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา แป้งมันสำปะหลัง สับปะรดสินค้าประมง อาหารแปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมถึงหมวดสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าพลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ รถจักรยานยนต์ และหมวดบริการ ได้แก่ การก่อสร้าง ธุรกิจสุขภาพ ภาพยนตร์ แอนิเมชัน เป็นต้น" รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ระบุ
    ในช่วงเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าร่วมพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 โดยในพิธี นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวถ้อยแถลง และส่งมอบค้อนประธานอาเซียนให้แก่เอกอัครราชทูตบรูไนประจำเวียดนาม และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ทรงกล่าวถ้อยแถลงตอบ
    ทางด้านนายบรรสาน บุนนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 12-15 พ.ย.2563 ทั้ง 14 การประชุมในกรอบอาเซียน และ 2 การประชุมในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทย ดังนี้  1.ปลอดภัยจากโควิด-19 มีความเข้มแข็งด้านสาธารณสุข และมีภูมิคุ้มกันจากโรคระบาดในอนาคตมากขึ้น? โดยอาเซียนจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ การจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งญี่ปุ่นประกาศให้เงินสนับสนุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ออสเตรเลีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ประกาศให้เงินสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 ประเทศละ 1 ล้านเหรียญฯ นอกจากนี้ ทุกประเทศ รวมทั้งสหประชาชาติได้ยืนยันที่จะร่วมมือกับอาเซียนในด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน โดยให้ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าถึงวัคซีนเป็นประเทศแรกๆ
    2.บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น? ผ่านกรอบการฟื้นตัวอย่างครอบคลุมของอาเซียน ซึ่งนายกฯ เน้นการให้ความช่วยเหลือ SME กลุ่มเปราะบาง และเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน 3.สร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยและภูมิภาคในระยะยาว? การลงนาม RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก 4.ช่วยแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทย? โดยสหประชาชาติ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะให้ความร่วมมือในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการภัยพิบัติ ในขณะที่ไทย สหรัฐและจีนจะร่วมกันจัดการสัมมนาออนไลน์เพื่อร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหาขยะทะเล? 5.เยาวชนไทยจะเข้าถึงโอกาสในการศึกษามากขึ้น?โดยประเทศคู่เจรจา ทั้งสหรัฐ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แสดงความพร้อมที่จะให้ทุนการศึกษา และฝึกอบรมในด้านต่างๆ และ 6.คนไทยจะมีความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้น? โดยเฉพาะการเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์
    น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ขอขอบคุณข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมากจากเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย, เอกอัครราชทูตอังกฤษ, เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น, เอกอัครราชทูตเยอรมนี และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ที่เสนอในเวทีเสวนาผ่านสื่อมวลชน ทุกข้อเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศจากผลกระทบโควิด-19 อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการอยู่ ทุกเรื่องจะรับไปพิจารณา และมีหลายเรื่องที่ได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งจะพัฒนาให้ดีขึ้นอีก เพื่อครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ ให้มากขึ้น.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"