'ประยุทธ์' เสนอ 5 ทิศทางพัฒนากลุ่มประเทศ 'แม่โขง - ล้านช้าง'


เพิ่มเพื่อน    

10 ม.ค. 61 - ที่สำนักนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 2  ภายใต้หัวข้อ “แม่น้ำแห่งสันติภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเรา”   โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอีก 5 ประเทศร่วมประชุม ได้แก่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน  สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา  นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นาย มิ้นต์ ส่วย รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา  และนาย เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม  

โดย พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญว่า  นายกฯกล่าวชื่นชมกัมพูชาและจีนที่เป็นประธานร่วมในการจัดการประชุม แม้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง  (MLC) จัดตั้งในระยะเวลาเพียงไม่นาน แต่ได้พัฒนาการตามเจตนารมณ์ของผู้นำที่ตั้งใจทำให้กรอบความร่วมมือ MLC เป็นกรอบความร่วมมือที่เน้นการดำเนินการจริง ไม่ใช่เพียงกรอบแห่งการเจรจาหารือ โดยไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามปฏิญญาซานย่า ที่เน้นหลักการว่าด้วยความเท่าเทียมกัน ความสมัครใจ การมีส่วนร่วม และชื่นชมจีนที่ประกาศจะให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากที่เคยประกาศไว้ในการประชุมผู้นำครั้งที่ 1 เมื่อ 13  เดือนที่ผ่านมา

พล.ท.วีรชน เปิดเผยอีกว่า นายกฯได้ระบุว่าสำหรับภารกิจที่ท้าทาย คือการกำหนดวิสัยทัศน์ของกรอบ MLC เพื่อความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งแนวทางความร่วมมือที่มุ่งผลลัพธ์   ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งสาขาความร่วมมือที่มีความสำคัญเร่งด่วน 5 สาขา  ภายใต้การทำงานของ 6 คณะทำงาน การดำเนินโครงการระยะเริ่มแรก (Early Harvest) รวมทั้งการอนุมัติในโครงการต่าง ๆ แล้ว จำนวน 132 โครงการ จากโครงการที่เสนอทั้งหมด 250 โครงการ การจัดตั้งสำนักเลขาธิการและศูนย์ประสานงาน แม่โขง – ล้านช้างในแต่ละประเทศสมาชิก การจัดตั้งศูนย์ด้านทรัพยากรน้ำ ศูนย์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างเครือข่ายทางวิชาการ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความร่วมมือระหว่างสมาชิก อันจะนำไปสู่การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน และการเป็นสายน้ำแห่งความเข้าใจกัน  

พล.ท.วีรชน กล่าวอีกว่า กรอบ MLC มีลักษณะที่พิเศษที่แตกต่างจากกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ คือ เป็นกรอบความร่วมมือเดียวที่มีสมาชิกทั้งจากแม่น้ำโขงตอนบน (ล้านช้าง) และแม่น้ำโขงตอนล่าง รวมทั้งหลักการที่เห็นพ้องกัน คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและทุกระดับ และความสมัครใจตามหลักฉันทามติ โอกาสนี้ นายกฯได้กล่าวเสนอทิศทางของความร่วมมือในอนาคต ประการที่ 1 กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ควรส่งเสริมให้อนุภูมิภาคนี้มีความทันสมัย ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม มีความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์ และลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างกัน

พล.ท.วีรชน กล่าวอีกว่า ประการที่ 2 เป็นกลไกหลักสนับสนุนให้อนุภูมิภาคนี้ สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก ซึ่งประเทศสมาชิกมีพื้นฐานเศรษฐกิจเป็นภาคการเกษตร จึงต้องร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย  โดยรัฐบาลไทยกำลังเร่งพัฒนาพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้เกษตรกรสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลและตลาดโลกผ่านโครงการดิจิตอลชุมชนและอินเตอร์เน็ตประชารัฐโดยร่วมกับภาคเอกชน และการให้ความสำคัญกับกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น โดยมีกองทุนสนับสนุนและให้ข้อมูล และได้มีการจัดงาน Startup Thailand ซึ่งเป็นงานระดับนานาชาติที่มีหลายประเทศหลายบริษัทให้ความสนใจเข้าร่วม

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ประการที่ 3 การเชื่อมโยงในภูมิภาค เป็นเครื่องมือสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล โดยไม่ละเลยกลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล รวมทั้งการเข้าถึงของภาคประชาสังคมด้วย ซึ่งไทยมีบทบาทแข็งขันในการจัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงทั้งในกรอบ ACMECS  ASEAN  BIMSTEC และ IORA สนับสนุนการเชื่อมโยงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านกฎระเบียบเพื่อการค้าและการลงทุน และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน  ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของจีน ในการจะจัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ซึ่งจะช่วยให้อนุภูมิภาคเชื่อมโยงเข้ากับนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน และเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

พล.ท.วีรชน เปิดเผยว่า ประการที่4   ไทยสนับสนุนการจัดทำระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง – ล้านช้าง  และผลักดันให้ระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคเชื่อมต่อเข้ากับระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งกรอบทวิภาคีและ GMS ทั้งแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก  แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ แนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ และเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านตะวันออกของไทย (EEC) โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจจีน –  อินโดจีน ยังสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย + 1  ซึ่งสนับสนุนการลงทุนและการค้าแบบบูรณาการ การผลิตร่วมกัน และขยายการเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานกับตลาดภายนอก โดยเริ่มต้นจากกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป สินค้าอุปโภค และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการลงทุนด้านการเชื่อมโยงและการคมนาคม และการท่องเที่ยวร่วมกัน ซึ่งทั้ง 6 ประเทศต้องหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความเชื่อมโยงตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งด้านความต้องการพื้นฐาน การตระหนักรู้ การเข้าถึงทรัพยากรและการศึกษา ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของบุคลากร ให้สอดคล้องกับสังคมแห่งการเรียนรู้  

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า และประการที่ 5 ไทยเห็นพ้องกับจีนที่เสนอให้ขยายสาขาความร่วมมือของกรอบ MLC จาก 3+5 เป็น 3+5+X โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพร้อมของประเทศสมาชิกทุกประเทศ และ “จิตวิญญาณแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี”  โดยสาขาที่สามารถขยายความร่วมมือร่วมกันในอนาคตได้แก่ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการศึกษา เป็นต้น และไทยยังให้ความสำคัญความร่วมมือด้านน้ำ เพราะเชื่อว่าน้ำเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญในลำดับต้น ที่จะส่งเสริมให้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิด ทั้งด้านการเมือง การส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำท่วมและน้ำแล้งในประเทศลุ่มน้ำ ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาการที่ยั่งยืน ความสุขสงบ และสันติภาพของประเทศลุ่มน้ำโขง กรอบความร่วมมือ MLC ต้องมีความเชื่อมโยงมากขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างครอบคลุม ครบวงจรและรวดเร็วยิ่งขึ้น

พล.ท.วีรชน กล่าวอีกว่า ไทยยินดีจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านทรัพยากรน้ำในปีนี้ (ค.ศ. 2018)และพร้อมสนับสนุนให้แม่น้ำโขง เป็นสายน้ำแห่งสันติภาพ และมีความยั่งยืนต่อการพัฒนาของประชาชนในลุ่มน้ำโขงมากที่สุด ต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อสร้าง “แม่น้ำแห่งสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” แม่น้ำโขงจะเป็นแม่น้ำตัวอย่าง และ MLC จะเป็นกรอบความร่วมมือต้นแบบ ที่สอดรับเป้าประสงค์ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติปี ค.ศ. 2030 อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า  ไทยในฐานะประธาน กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค : ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ( ACMECS )ในปีนี้ ขอขอบคุณจีนที่สนับสนุนประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง ซึ่งเป็นสมาชิก ACMECS และกำลังจัดทำแผนแม่บท ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค โดยจะให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ การเชื่อมโยงประสานแนบชิด และการเชื่อมโยงที่ทันสมัยและยั่งยืน ทั้งนี้ แผนแม่บท ACMECS และปฏิญญากรุงเทพ จะปรากฏผลเป็นรูปธรรมในอีก 6 เดือนข้างหน้า เชื่อว่า ACMECS จะเกื้อหนุนกรอบแม่โขง – ล้านช้าง โดยจะเป็นตัวเชื่อมประเทศลุ่มน้ำโขงเข้ากับ ระเบียบเศรษฐกิจอนุภูมิภาคเชื่อมโยงหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) อันจะนำไปสู่โครงสร้างห่วงโซ่มูลค่าของโลกต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"