508เสียงควํ่าร่างไอลอว์/ตั้ง45อรหันต์


เพิ่มเพื่อน    

 

ที่ประชุมรัฐสภาโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ รับร่างรัฐบาล-ฝ่ายค้านไปพิจารณา ตั้ง กมธ. 45 คน กรอบทำงาน 45 วัน เพื่อไทยพลิกวินาทีสุดท้าย เล่นกลโกยคะแนนจากน้ำมือม็อบ 3 นิ้ว "จอน" ออกทะเล เหน็บรัฐสภาแย่กว่ารัฐสภาเก่าเยอะ อาคารที่ถูกล้อมโดยค่ายทหาร

    ที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ได้พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับต่อเป็นวันที่สอง ทั้งนี้ ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวถึงภาพรวมการพิจารณาร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาว่า ไม่ค่อยพอใจกับการทำหน้าที่ของ ส.ว.บางคน ซึ่งมีลักษณะกล่าวหาใส่ร้ายองค์กรที่ตนภูมิใจ นั่นก็คือไอลอว์ เพราะเราเป็นองค์กรที่ทำทุกอย่างถูกต้องโปร่งใส
    "หากท่านไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคประชาชน เรายินดี  เพราะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่มาใส่ร้ายกล่าวหาว่าทุจริตบ้าง ได้เงินจากแหล่งทุนบ้าง โดยไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ผมถือว่าไม่แฟร์"
    เมื่อถามว่า จะชี้แจงอย่างไรกรณีที่ว่าแหล่งทุนนั้นเป็นแหล่งทุนเดียวกับการให้ม็อบฮ่องกง นายจอนปฏิเสธว่า ไม่ทราบว่าแหล่งทุนใดให้ทุนกับม็อบฮ่องกง แต่ถ้าเป็นการให้ทุนกับองค์กรที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
    อย่างไรก็ตาม นายจอนยอมรับว่า คาดอยู่แล้วว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์จะถูกตีตก คิดว่าซีกหนึ่งของสภานี้ไม่ได้อยู่กับความเป็นจริงของสังคมที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่กำลังมาเรียกร้องประชาธิปไตย ถ้าสภาส่วนหนึ่งไม่ตื่นตัวกับเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะจะทำให้สถานการณ์แย่ลง
    ขณะที่ท่าทีของพรรคเพื่อไทยนั้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เรียก ส.ส.ของพรรคเข้าร่วมประชุมเพื่อขอมติก่อนโหวตร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนที่เสนอโดยไอลอว์
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า เมื่อก่อน ส.ส.พรรคเพื่อไทยมีความกังวลว่าจะมีการตีความว่าจะเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ แต่วันนี้เราคลายกังวลแล้ว เพราะถ้ามีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญเราจะรอดได้ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้วินิจฉัยแล้วว่าร่างฉบับประชาชนได้มีการตรวจสอบแล้ว ไม่มีข้อใดที่ไปขัดกับมาตรา 255
    "ซึ่งหมายความว่าไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ ดังนั้นคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาจึงเป็นสิ่งที่สมาชิกยึดถือและเชื่อมั่น เมื่อประธานวินิจฉัยแล้วบรรจุเข้ามาสู่การพิจารณา หากจะผิดประธานก็จะต้องผิดเป็นคนแรก เราจึงมั่นใจในส่วนนี้ และจะยกมือผ่าน"  
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นสอบถามกลางที่ประชุมว่า ในร่างของประชาชนไม่มีเรื่องการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ใช่หรือไม่ นายสมพงษ์กล่าวยืนยันว่า "แน่นอนครับ และร่างของเราที่เสนอไปเป็นร่างแรกก็ไม่มีในส่วนนี้"
    จากนั้น นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ถามย้ำอีกครั้งว่า จะไม่มีการแตะหมวด 1 และหมวด 2 และขอมติจากทาง ส.ส. ซึ่ง ส.ส.ของพรรคก็ยกมืออย่างพร้อมเพรียง  
"จอน"อัดรัฐสภาแย่กว่าเก่า
    สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส.รัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา สลับกันขึ้นอภิปราย
    กระทั่งเวลา 12.35 น. นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวอภิปรายสรุปว่า รัฐสภานี้แย่กว่ารัฐสภาเก่าเยอะ แย่กว่าหมายถึงอาคารที่ถูกล้อมโดยค่ายทหาร ประชาชนที่จะมาที่นี่รู้สึกไม่ปลอดภัย การใช้กำลังของตำรวจไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ตนอยากให้สภานี้มีลานหรือห้องประชุมใหญ่ที่ต้อนรับตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อให้รัฐสภาและประชาชนได้คุยกัน ตนคาดหวังว่ารัฐสภานี้จะช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ และสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชน เปิดโอกาสได้คุยกัน นี่คือความหวัง ถ้าท่านทำให้ผิดหวัง ประเทศเราจะแย่ ท่านมีภารกิจที่หนักที่ต้องสร้างความเข้าใจและลดความตึงเครียดในสังคม และทำให้ข้อเรียกร้องของประชาชนได้รับความสนใจ
    ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม กล่าวชี้แจงกรณีที่นายจอนพาดพิงการทำงานของรัฐสภาว่า ทหารไม่ได้อยู่ในนี้ วันก่อนที่เขาเข้ามาก็ขอให้ออกไป ถ้าการชุมนุมโดยสงบ หากเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงย่อมมีความผิดแน่นอน จึงต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้ทุกอย่างเกิดความกระจ่าง โดยเฉพาะคนที่ถูกยิง รัฐสภาของเราต้องเป็นที่พึ่ง หากมีปัญหาก็ต้องช่วยแก้ไขกันไป
         ต่อมานายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เป็นฝ่ายค้านที่อภิปรายคนสุดท้าย อภิปรายถึงเอกสารของสำนักเลขาธิการรัฐสภาวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยื่นโดยภาคประชาชนกลุ่มไอลอว์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไม่มีหลักการใดต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 255 ที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐกระทำไม่ได้ จึงยืนยันจะลงมติรับหลักการ
        แต่นายชวนชี้แจงว่า การวินิจฉัยของประธานรัฐสภาใช้ในการบรรจุระเบียบวาระ เมื่อเห็นว่าไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการบรรจุระเบียบวาระ ก็สามารถบรรจุได้ แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีสิทธิ์ไปห้ามความคิดต่าง ซึ่งคนที่คิดไม่เหมือนกันก็มีสิทธิ์ให้ความเห็นได้ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน
    จากนั้น เวลา 13.00 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เข้าสู่กระบวนการลงมติ ด้วยวิธีการขานชื่อเป็นรายบุคคล โดยเลขาธิการรัฐสภา เริ่มขานชื่อสมาชิกรัฐสภาเรียงลำดับตามตัวอักษร ก่อนที่สมาชิกแต่ละคนจะขานมติว่า รับ-ไม่รับ-งดออกเสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละร่าง ตั้งแต่ร่างที่ 1-7       
ส.ส.รัฐบาลแหกโผ
    เมื่อการลงมติผ่านไปได้ 200 คน ปรากฏว่าสมาชิกรัฐสภาซีกรัฐบาลและ ส.ว.ส่วนใหญ่ลงมติรับหลักการ ร่างที่ 1-2 ตามที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ และลงมติงดออกเสียงในร่างที่เหลือ ขณะที่ ส.ส.ซีกฝ่ายค้านลงมติรับหลักการทั้ง 7 ร่างตามที่ได้แสดงจุดยืนร่วมกันก่อนหน้านี้   
    แต่ก็ยังพบสมาชิกรัฐสภาบางส่วนลงมติคนละแนวทางกับพรรค เช่น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ รมว.ศึกษาธิการ ลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ รมว.ดีอีเอส งดออกเสียงในร่างที่ 1-2 และไม่รับหลักการร่าง 3-7 ซึ่งเป็นการแหกมติวิปรัฐบาล, นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำ กปปส. ได้ลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ซึ่งเป็นการลงมติเหมือนกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เป็นการแหกมติพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงมติรับหลักการในร่างที่ 1 และ 2 ส่วนร่างที่ 3-7 งดออกเสียง แต่นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์และ รมช.คมนาคม อดีตแกนนำ กปปส. ลงมติตามมติพรรคประชาธิปัตย์, นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่ลงมติไม่รับร่างทั้ง 7 ฉบับเช่นกัน ขณะที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ในซีกรัฐบาล ได้ลงมติรับหลักการทั้ง 7 ฉบับ ส่วน ส.ส.พรรคภูมิใจไทยก็ลงมติไปในทิศทางเดียวกัน ต่างเพียงตรงร่างที่ 7 ที่ ส.ส.ลงมติทั้งงดออกเสียงและไม่รับหลักการ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ได้ลงมติไม่รับหลักการร่างไอลอว์  
    ในซีกของพรรคฝ่ายค้าน ลงไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีใครแหกมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีเพียงนางพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย และนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ที่เคยลงมติสวนกับแนวทางฝ่ายค้าน ครั้งนี้ไม่ได้เข้าห้องประชุม และไม่ได้แจ้งลา ส่วนนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ช่วงขานมติรับหลักการทั้ง 7 ร่าง ได้ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วขณะที่ขานรับหลักการร่างที่ 7 ของไอลอว์  
       สำหรับ ส.ว. พบว่า นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ส.ว.ลงมติ รับหลักการร่าง 1, 2, 4 และ 7 หรือร่างไอลอว์ นอกจากนั้นยังมีนายพีระศักดิ์ พอจิต และนายพิศาล มาณวพัฒน์ รับร่างไอลอว์เช่นกัน ส่วน พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ส.ว. ลงมติไม่รับทั้ง 7 ร่าง ทั้งนี้สภาใช้เวลาขานชื่อลงมติกันยาวนานเกือบ 5 ชั่วโมง จนเกือบถึงเวลา 18.00 น.  
ร่างไอลอว์ร่วง
    จากนั้นเวลา 19.05 น. นายชวนแจ้งผลการลงมติ ปรากฏว่ามีร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการรับหลักการเพียง 2 ร่างคือ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ของฝ่ายค้าน ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการด้วยคะแนน 576 ต่อ 21 เสียง งดออกเสียง 123  โดยมีเสียง ส.ว.รับหลักการ 127 เสียง  และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายรัฐบาล ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการด้วยคะแนน  647 ต่อ 17 งดออกเสียง 55 โดยมีเสียง ส.ว.รับหลักการ 176 เสียง ทำให้ทั้งสองร่างได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้จำนวน 732 คน หรือ 366 เสียงขึ้นไป และในจำนวนกึ่งหนึ่งที่มีเสียงเห็นชอบนั้น ยังมีคะแนนเสียงของ ส.ว.เกิน 1 ใน 3 จึงถือว่าได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการ  
    ส่วนอีก 4 ร่างที่เหลือมีคะแนนเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ได้แก่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 มีเสียงเห็นชอบด้วยคะแนน 213 ต่อ 35 งดออกเสียง 472 โดยมีเสียง ส.ว.รับหลักการ 4 เสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 มีเสียงเห็นชอบ 268 ต่อ 20 งดออกเสียง 432 โดยมีเสียง ส.ว.รับหลักการ 56 เสียง  
    ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ยกเลิกรับรองประกาศคำสั่งคสช. มีเสียงเห็นชอบ 209 ต่อ 51 งดอกเสียง 460 โดยในร่างนี้ไม่มีเสียง ส.ว.ให้ความเห็นชอบในวาระรับหลักการเลยแม้แต่เสียงเดียว ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.ให้ใช้ระบบบัตร 2 ใบ มีคะแนนเสียงเห็นชอบ 209 ต่อ 19 งดออกเสียง 432 มี ส.ว.รับหลักการ 59 เสียง และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน มีเสียงเห็นชอบ 212 ต่อ 139 งดออกเสียง 369 มีเสียง ส.ว.รับหลักการ 3 เสียง แต่ทั้ง 5 ร่างดังกล่าวมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้ ถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการ  
    จากนั้นที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน แบ่งเป็น ส.ว. 15 คน ส.ส. 30 คน แยกเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคละ 8 คน,  พรรคภูมิใจไทย 4 คน, พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคละ 3 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1 คน สำหรับกรรมการชุดดังกล่าว มี กรอบทำงาน 45 วัน และมีการนัดประชุมครั้งแรกวันที่ 24 พ.ย. เวลา 09.30 น. ห้อง 307 อาคารรัฐสภา จากนั้นนายชวนได้สั่งปิดประชุมเวลา 19.30 น.  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"