ลุ้นอสส.ส่งคำร้องศาลล้มตั้งสสร.


เพิ่มเพื่อน    

  ส.ว.ปลอบใจ "ไอลอว์" แม้ร่างแก้ไข รธน.ตกไป ภาคปชช.ยังมีสิทธิ์เสนอประเด็นแก้ไขได้อีกหลายขั้นตอน "กลุ่มไทยภักดี" ยังฮึด หวังอัยการสูงสุดส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ล้มกระดานแก้ 256 ตั้งสภาร่าง รธน. "วรงค์" ดักคอหากสุดท้ายต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ ต้องระวังเปิดช่องทุนสามานย์กลับมาอีกรอบ "จตุพร" ยังเชื่อสุดท้ายไม่มีทางแก้ รธน.สำเร็จ รัฐสภาจ่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประชามติเดือนหน้า

    ภายหลังรัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่เสนอให้แก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมสามฝ่ายที่จะพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาวาระสองและวาระสามต่อไป
    ความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ต่อเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ภารกิจที่สำคัญ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา จำเป็นที่จะต้องแสวงหาความเห็นชอบร่วมกันในวาระที่สอง ในชั้นคณะกรรมาธิการ และยังมีวาระที่สามที่เสียงของสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 3 ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมกันคิด ทำให้สำเร็จ รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นของฝ่ายค้าน ไม่ได้เป็นของฝ่ายรัฐบาล ไม่ได้เป็นของสมาชิกวุฒิสภา แต่เราจะต้องทำให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนและประเทศ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การหาความเห็นพ้องจากประชาชนก็เป็นส่วนสำคัญ ในชั้น กมธ. ในส่วนของพรรคจะมีการเสนอให้รับฟังเสียงจากประชาชนให้มากที่สุด เมื่อประชาชนได้มีส่วนร่วม แน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่การทำประชามติความสำเร็จที่ประชาชนจะเห็นด้วยก็มีมากขึ้น
    ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเช่นกันว่า หวังว่า ส.ส.ร.ที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่จะได้นำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของสภาผู้แทนราษฎร ไปพิจารณาด้วย และเชื่อว่าเนื้อหาบางส่วนในญัตติอีก 5 ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็คงจะนำไปใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแน่นอน
    นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ความเห็นว่า ยังมีขั้นตอนทางกฎหมายที่จะต้องดำเนินการก่อนอีกพอสมควร เช่น กรรมาธิการที่ตั้งโดยรัฐสภา จะต้องไปทำการศึกษาหาข้อยุติ ถกแถลงความเห็นและการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา ทำให้กระบวนการและวิธีการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาให้ดีที่สุด เป็นที่พอใจของประชาชนให้มากที่สุด คงใช้เวลาสัก 60-90 วัน เมื่อผ่านวาระ 2 และวาระ 3 แล้ว ก็คงเป็นขั้นตอนการลงประชามติ และเมื่อผ่านความเห็นจากประชาชนแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อโปรดเกล้าฯ ลงมา จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนเลือก ส.ส.ร. นี่แหละคือตัวแทนของประชาชนที่จะมาทำกันต่อไป ข้อโต้แย้งเรื่องรัฐธรรมนูญก็น่าจะจบไปได้ด้วยกระบวนการดังกล่าว
สภาสูงปลอบใจไอลอว์
     นายวันชัยกล่าวว่า แม้ร่างของไอลอว์จะตกไป ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ภาคประชาชนจะวิตกกังวลเกินไป เพราะในขั้นตอนของกรรมาธิการก็ดี หรือขั้นตอนการยกร่างในชั้น ส.ส.ร.ก็ดี หรือชั้นในการทำประชามติก็ดี ภาคประชาชนยังมีสิทธิ์เสนอประเด็นการแก้ไขได้อีกหลายขั้นตอนเยอะแยะมากมาย และเชื่อว่าแต่ละชั้นทุกขั้นตอนต้องฟังเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ เสียงของไอลอว์ก็จะมีบทบาทในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยอย่างยิ่ง อย่าไปคิดว่าสมาชิกรัฐสภาเทข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ได้สองร่างนี้ก็ถือว่าได้กันทุกฝ่ายแล้ว ประเทศนี้ต้องประนีประนอมกันบ้าง
     "เรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็ไปได้แล้วเปลาะหนึ่ง ส่วนเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นประเด็นเป็นปัญหาข้อเรียกร้องก็ต้องว่ากันต่อไป ใครจะอยู่หรือจะไปก็น่าจะเป็นเรื่องของแต่ละคนแต่ละอำนาจหน้าที่ แต่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญได้เดินมาแล้วถึงจุดนี้ ส่วนตัวผมในฐานะสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่ง ได้ผลักดันต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มาอย่างเต็มที่ และก็ได้ผลอย่างที่ปรากฏ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ" นายวันชัยกล่าว
    นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นเช่นกันว่า การที่รัฐสภาลงมติรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 2 ฉบับ เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ไม่ได้ทำให้ตนแปลกใจ เพราะตนยืนยันมาตลอดว่าร่างของเราที่ขอตั้ง ส.ส.ร. มีความสมบูรณ์และจะผ่าน ส่วนร่างอื่นๆ จะไม่ผ่าน จนตนต้องทะเลาะกับคนในพรรคและเพื่อนต่างพรรคที่กดดันให้พวกตนเสนอแก้ไขมาตราอื่นเพื่อปิดโน่นปิดนี่ด้วย เพราะเห็นแต่แรกว่าเปลืองแรงและเสียเวลาเปล่า สิ่งที่น่ายินดีคือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นตามครรลอง ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ ส่วนร่างขอแก้ไขอีก 5 ฉบับไม่ผ่านการพิจารณา โดย ส.ส.ส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ลงมติให้นั้น สำหรับตนยอมรับได้
    "ส่วนที่ยังมีผู้ชุมนุมและไม่พอใจการลงมติ ผมเห็นว่าผู้ชุมนุมควรต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเช่นกัน เพราะหาก ส.ส. เหล่านั้นลงมติโดยฝืนความรู้สึกของประชาชน ทั้ง ส.ส.และพรรคการเมืองนั้นจะถูกลงโทษโดยประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเอง สิ่งที่ผมจะเรียกร้องคือ ขอให้ทุกฝ่ายยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสันติ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบนี้จบแล้ว ส่วนที่ยังมีคนพยายามปั่นกระแสหลอกต้มชาวบ้านว่าร่างทั้ง 2 ฉบับที่ผ่านรัฐสภาไม่สามารถแก้ไขได้ครบทุกเรื่องก็บิดเบือน เพราะการยกเว้นไม่แก้หมวด 1 และ 2 นั้นไม่ใช่หลักการ จึงสามารถแปรญัตติเพื่อให้ ส.ส.ร.แก้ไขได้ทุกหมวดอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ หากเห็นด้วยก็แก้ไขได้ทุกเรื่อง" นายวัฒนาให้ความเห็น  
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวถึงการที่รัฐสภาไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชน การที่ทุกคนไม่ช่วยกันหาทางออก เท่ากับเป็นการผลักไสให้ผู้ชุมนุมพุ่งเป้าหมายไปที่ข้อเรียกร้องข้อที่ 3 คือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์แต่เพียงข้อเดียว ซึ่งทุกคนต่างรู้ว่าเมื่อวานหากมีการรับหลักการทั้ง 7 ร่าง แล้วไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ยังมีมาตรา 255 ที่จะควบคุมการแก้ไขเอาไว้ โดยไม่สามารถที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ส่วนการที่มีความพยายามจะปั่นกระแสว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับไอลอว์จะทำให้อดีตนายกฯ กลับประเทศไทยนั้น ก็ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำให้ใครกลับบ้านได้
"จตุพร"ฟันธงไม่ได้แก้รธน.60
    “ในแต่ละเรื่องราว ถ้านายกรัฐมนตรีได้มองสถานการณ์ว่าถ้าไม่ช่วยแบกรับเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือปัญหาต่างๆ ที่ตัวเองจะต้องเสียสละเป็นคนแรก หรือเรื่องรัฐธรรมนูญเพียงท่านเปล่งวาจาว่าจะให้ผ่านแล้วไปแก้ในวาระที่ 2 ผมเชื่อว่าทั้ง ส.ว.และพรรครัฐบาลก็รับกันไปทั้ง 7 ร่าง วัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น แล้วไปว่ากันในชั้นคณะกรรมาธิการ ก็จะลดทอนปัญหา แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ แปลว่าทั้งรัฐบาลและรัฐสภาต่างช่วยเป็นด่านหน้าแบกรับ ซึ่งควรจะเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ว่าตัวเองเอาตัวรอด แล้วให้สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับผลกระทบ อันนี้เป็นเรื่องที่ควรต้องได้รับการตำหนิ” นายจตุพรกล่าว
    นอกจากนี้ นายจตุพรยังขอพยากรณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าไม่มีวันจะได้รับการแก้ไขโดยเด็ดขาด เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่จะถูกฉีก ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทั้งการขนกำลังเพื่อให้เกิดการปะทะกันเป็นเงื่อนไขเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกฉีก เพราะฉะนั้นมีการออกแบบมาตั้งแต่ต้นว่าไม่ได้ร่างไว้เพื่อให้สามารถแก้ไขได้ แต่มีไว้เพื่อส่งให้กับคณะรัฐประหารชุดใหม่ เพราะฉะนั้นการที่ไม่รักษาบรรยากาศทั้ง 2 วันมันชี้ได้ชัดว่าต่างก็รู้ปลายทางว่าอย่างไรก็ตามนั้นมันต้องจบเหมือนที่เคยจบ ทั้งรัฐบาลและรัฐสภาต่างไม่ช่วยเป็นด่านหน้าเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ถ้าสองส่วนนี้ต่างช่วยกัน ตนเชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย แต่นี่พิสูจน์ได้ชัดว่าต่างคนต่างเอาตัวรอด ไม่ได้ปกป้องสถาบัน
    นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี โพสต์แถลงการณ์กลุ่มไทยภักดี ผ่านเฟซบุ๊กว่า ตามที่สมาชิกรัฐสภาลงมติเห็นชอบวาระแรก ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของ ส.ส.ฝ่ายค้านและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลรวม 2 ร่าง นำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แม้กลุ่มไทยภักดีจะไม่เห็นด้วย แต่เคารพการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภา สิ่งที่กลุ่มไทยภักดีได้ดำเนินการต่อไป และเชิญชวนพี่น้องประชาชน 16.8 ล้านเสียงติดตาม นั่นคือ เราได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ร้องผ่านอัยการสูงสุด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ระงับยับยั้งการกระทำของรัฐสภา เพราะเราถือว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ถือว่ากลไกทางการเมือง องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องถูกยกเลิกไป เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง
    นพ.วรงค์ให้ความเห็นอีกว่า ขณะเดียวกัน ถ้าผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้โอกาสมีการตั้ง ส.ส.ร.ได้ แม้จะไม่มีการแตะต้องมาตราที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ กลุ่มไทยภักดีขอให้พี่น้องจับตาที่มาของ ส.ส.ร. และพวกเราต้องช่วยกันติดตาม ประเด็นสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นั่นคือประเด็นที่ทุนสามานย์จะเข้ามาครอบงำระบบการเมือง นั่นคือ
ทุนสามานย์ล้มเจ้าต้องการแก้รธน.
     1.ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ส.ส.จากบัตรใบเดียว เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงไปสู่บัตรสองใบตามรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 ทุนสามานย์และเงินที่ครอบงำพรรคการเมืองจะฟื้น มีพลังอำนาจมากขึ้นมาทันที และนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองเหมือนในอดีต 2.ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงการคัดเลือก ส.ว.ตามระบบใหม่ของรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นคือให้ ส.ว.คัดเลือกจากประชาชนกลุ่มอาชีพ เพราะถ้ายอมแก้ไขให้ ส.ว.คัดเลือกจากจังหวัดต่างๆ เหมือนเดิม ส.ว.ก็อาศัยฐานเสียงพรรคการเมือง จะทำให้ ส.ว.อยู่ภายใต้บงการพรรคการเมือง นำไปสู่เผด็จการรัฐสภา 3.ต้องไม่มีการแก้ไขรายละเอียดการปราบโกง ทั้งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4.ต้องไม่มีการแก้ไขมาตราเรื่องงบประมาณ ที่นำไปสู่การแทรกแซง ให้มีงบ ส.ส. 5.ต้องไม่มีการแก้ไขเพื่อนิรโทษกรรม คดีทุจริต คดีถูกตัดสิทธิ์การเมือง ของนักการเมืองที่ถูกลงโทษไปแล้ว
     "ที่กล่าวมาคือสาระสำคัญของอนาคตประเทศประเทศ ที่พี่น้องประชาชนต้องช่วยกันจับตา ติดตาม เพราะนี่คือความพยายามของกลุ่มทุนสามานย์ กลุ่มทุนล้มเจ้า (ทั้งในและนอกประเทศ) ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" แถลงการณ์กลุ่มไทยภักดีระบุไว้
    ด้านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการบรรจุวาระร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติว่า ขณะนี้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้บรรจุร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติเข้าสู่ระเบียบวาระที่ประชุมรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ระบุวันชัดเจนว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวันใด ต้องรอหารือกับวิป 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ในสัปดาห์ก่อนหน้า เพื่อกำหนดวันประชุมและรูปแบบการพิจารณาให้ชัดเจนก่อน แต่คาดว่าร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ น่าจะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้ในเดือน ธ.ค.นี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"